ว่างงานจากโควิด-19 ประกันสังคมจะเยียวยาคุณอย่างไร?

ว่างงานจากโควิด-19 ประกันสังคมจะเยียวยาคุณอย่างไร?

By Krungsri Plearn Plearn
สำหรับตอนนี้ที่สถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้น หลายธุรกิจที่เพิ่งฟื้นตัวจากการระบาดรอบแรกในช่วงกลางปี 2020 ก็ได้รับผลกระทบในรอบใหม่ซ้ำเติมเข้าไปอีก จากเหตุการณ์นี้พนักงานและลูกจ้าง ในธุรกิจประเภทร้านอาหาร รวมถึงโรงแรมต่าง ๆ ต้องถูกสั่งปิดเนื่องจากเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้คนมากมายตกอยู่ในสถานะ “ว่างงาน” แต่รู้ไหมถึงตอนนี้เราจะเผชิญกับความยากลำบากในชีวิต แต่ยังมีหน่วยงานที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 และหน่วยงานที่ว่าก็คือ “สำนักงานประกันสังคม” นั่นเอง ไม่ว่าเราจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือผู้ประกันตนเอง เราก็มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือเงินเยียวยาในกรณีว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 มาดูกันดีกว่าสิทธิประโยชน์ของเราที่จะได้รับมีอะไรกันบ้าง แล้วเราต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้
สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมกรณีโควิด-19 รอบใหม่

"เงื่อนไข" ของผู้ที่จะได้สิทธิประกันสังคมหรือเงินชดเชยจากประกันสังคมในกรณีที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19"

  1. เป็นลูกจ้างหรือพนักงาน ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบครบ 6 เดือน หรือใน 15 เดือน
  2. ไม่ได้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 หรือนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนตามคำสั่งของทางรัฐบาล

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับจากกรณีว่างงานจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
ว่างงานจากโควิด-19 ประกันสังคมจะเยียวยาคุณอย่างไร

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับจากกรณีว่างงานจากโควิด-19 ระลอกใหม่


ตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

สำหรับคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความรวมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

ผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังหรือมีคำสั่งปิดสถานที่รวมกันไม่เกิน 90 วัน
 

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเพื่อการเบิกสิทธิประโยชน์ประกันสังคมและผู้ประกันตนกรณีว่างงาน


ก่อนที่เราจะขึ้นทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์รับเงินช่วยเหลือในกรณีว่างงานจากโควิด-19 อย่าลืมตรวจสอบเงื่อนไขให้เรียบร้อย ซึ่งเงื่อนไขก็คือ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน เช่น หากว่างงานในเดือนมกราคม 2564 ต้องนับระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงานคือ เดือนกันยายน 2562 ถึง เดือนธันวาคม 2563

ซึ่งจะต้องมีการจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไปในช่วงเดือนกันยายน 2562 ถึง เดือนธันวาคม 2563 จากนั้นสามารถไปขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานเพื่อการเบิกสิทธิประกันสังคมได้ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้านภายใน 30 วัน เพื่อแสดงสิทธิ์ โดยไม่จำเป็นต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพราะหากไปช้ากว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิประกันสังคมทดแทนกรณีว่างงานนั่นเอง
5 ขั้นตอนการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากโควิด-19

และในช่วงเวลานี้เราสามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมแบบออนไลน์ได้ง่ายๆ ตามขั้นตอนดังนี้


1. ลูกจ้าง กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) แล้วส่งให้นายจ้างพร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก เราสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.sso.go.th

2. นายจ้างหรือเจ้าของธุรกิจ นายจ้างรวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์แทน (สปส.2-01/7) จากลูกจ้างให้ครบถ้วน

3. บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service (สปส.2-01/7) พร้อมแนบเอกสารดังต่อไปนี้
  • ข้อมูลลูกจ้างตามแบบ (สปส.2-01/7)
  • หนังสือรับรองการงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว (นายจ้างที่ใช้ระบบ e-Sevice ในครั้งแรกกรุณาลงทะเบียนผ่านทาง www.sso.go.th ก่อน)

4. นำส่งแบบคำขอรับประโยชน์แทน (สปส.2-01/7) ของลูกจ้างที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service ไปที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ส่งแบบลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service

5. หากสำนักงานประกันสังคมได้รับข้อมูลของนายจ้างถูกต้องครบถ้วนจะทำการอนุมัติจ่าย รอบแรกเงินเข้าบัญชี ภายใน 5 วันทำการ ส่วนที่เหลือจะโอนเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือนจนครบ

ทั้งนี้หากมีข้อมูลอยากสอบถามเพิ่มเติมสามารถเข้าไปได้ที่ sso.go.th สายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มาขอข้อมูล sso.go.th
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา