เคล็ดลับความสำเร็จจากพ่อค้าญี่ปุ่น...ผู้สร้างบริษัทอายุเกิน 100 ปี

เคล็ดลับความสำเร็จจากพ่อค้าญี่ปุ่น...ผู้สร้างบริษัทอายุเกิน 100 ปี

By เกตุวดี Marumura

ห้างสรรพสินค้าไดมารู ห้างสรรพสินค้า Takashimaya ชุดชั้นใน Wacoal รถยนต์ Toyota รถยนต์เพื่อการเกษตร Yanmar

ธุรกิจต่อไปนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ผู้ก่อตั้งบริษัททุกคน เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าในเมืองโอมิ
พ่อค้าโอมิ (近江商人) เดิมเป็นแค่พ่อค้าในเขตจังหวัดชิกะที่ซื้อของมาแล้วขายไป แต่ค่อย ๆ ขยายกิจการไปเรื่อย ๆ จนเริ่มสร้างบริษัทในจังหวัดต่าง ๆ และผลิตสินค้าเป็นของตนเอง หากพิจารณาดูบริษัทญี่ปุ่นที่มีอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป จะพบว่า กว่าครึ่งเป็นบริษัทที่พ่อค้าเมืองโอมิเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น
เหตุใดธุรกิจของพ่อค้าในเขตนี้ จึงสามารถคงอยู่ได้เป็นศตวรรษ พวกเขามีวิธีการดำเนินธุรกิจเช่นไร
ดิฉันขอยกคำสอน 3 ประการที่พ่อค้าโอมิพยายามปลูกฝังและถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลัง จนทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ที่ตระกูลพ่อค้าเหล่านี้ทำล้วนอยู่ได้อย่างยั่งยืน
1. หลักสามได้

  • ผู้ขายได้​
  • ผู้ซื้อได้
  • สังคมได้
อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้ขายเพียงอย่างเดียว ต้องหาทางให้ผู้ซื้อได้ประโยชน์ ตลอดจนสังคมได้ประโยชน์ด้วย
สำหรับผู้ซื้อนั้น บริษัทต้องผลิตสินค้าดี มีคุณภาพ และเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เช่น บริษัท Nishikawa Sangyo ในอดีต เป็นกลุ่มพ่อค้าที่เดินทางขายมุ้งไปทั่วประเทศญี่ปุ่น จากนั้นเริ่มตั้งร้านค้าและโรงงานผลิตมุ้งของตนเอง จนเมื่อความต้องการมุ้งเริ่มลดลงบริษัทจึงหันมาผลิตและพัฒนาที่นอน จนปัจจุบันทำที่นอนคุณภาพดีเพื่อสุขภาพ และมีร้านให้คำปรึกษาด้านการนอนโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ พ่อค้าเมืองโอมิส่วนใหญ่มักจะบริจาคทรัพย์จำนวนมากเพื่อช่วยคนยากจนในท้องถิ่นนั้น ๆ ช่วยสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ อาทิ เขื่อน โรงเรียนให้แก่คนในชุมชน ขณะเดียวกัน พวกเขาเชื่อในหลักการปิดทองหลังพระ กล่าวคือ ทำความดี แต่ไม่ป่าวประกาศ แนวคิดนี้ทำให้พวกเขารู้จักการเสียสละและคิดถึงผู้อื่น คิดถึงสังคม ไม่หลงมัวเมาไปกับรายได้และกำไร หรือไม่เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไปจนตัดสินใจทางธุรกิจผิดพลาด

กรณีศึกษา
ตอน Idemitsu Sazo ผู้ก่อตั้งบริษัท Idemitsu (บริษัทน้ำมันระดับโลก) มุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจจำหน่ายน้ำมัน Hita Jutaro นักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่นเห็นแววความตั้งใจของ Idemitsu ตั้งแต่ตอนที่ Idemitsu มาสอนพิเศษลูกชายตน

Hita จึงให้เงินสดมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาทในปัจจุบันให้แก่ Idemitsu เพื่อนำไปลงทุน เขากล่าวว่า “ผมไม่ได้สนใจในกิจการคุณ จงทำตามสิ่งที่คุณปรารถนา และไม่ต้องคืนเงินผม ขออย่างเดียว อย่าบอกเรื่องนี้กับใคร”
2. กำไรน้อย ขายมาก

จงขายสินค้าในราคาที่ไม่สูงเกินไป ราคาที่ดี คือ ราคาที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า สินค้าดีขนาดนี้ ทำไมราคาไม่แพงเลย
บริษัทของพ่อค้าโอมิเหล่านี้ยอมได้กำไรน้อย แต่เน้นสร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์ ซึ่งจะนำไปสู่ยอดขายสูงในระยะยาว
นอกจากนี้ อย่าโก่งราคาหรือตั้งราคาสูงเกินไปแม้จะเป็นยุคที่น่าจะขายของได้ราคางามก็ตาม อย่ากักตุนสินค้า อย่าหลงไปกับกำไรระยะสั้นจนทำลายความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของลูกค้า

กรณีศึกษา
Ryugetsu (柳月) ร้านขนมชื่อดังเก่าแก่ในฮอกไกโดพยายามใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุดในการผลิตขนมเค้ก ขนมเค้กบามคูเฮนของร้านได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดขนมนานาชาติ ทว่า ทางร้านมิได้จำหน่ายขนมในราคาแพง เค้กร้าน Ryugetsu ราคาเพียงชิ้นละ 50-60 บาทเท่านั้น ผู้ก่อตั้งบริษัทเชื่อว่า ขนมเป็นสิ่งที่สร้างความสุขและความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนในครอบครัว เขาจึงพยายามตั้งราคาไม่สูงนักเพื่อให้พ่อแม่สามารถซื้อเค้กแสนอร่อยไปให้ลูก ๆ ทานที่บ้านได้บ่อย ๆ นั่นเอง
3. ความถูกต้องมาก่อน กำไรมาทีหลัง

กำไรไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับแรกในการทำธุรกิจ หากบริษัทเน้นความถูกต้อง ทำสิ่งที่ไม่ผิดต่อศีลธรรมหรือจริยธรรม เช่น ไม่นำสินค้าที่ใกล้หมดอายุมาจำหน่าย ไม่โกหกเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้า หากทำได้ กำไรจะตามมา

กรณีศึกษา
เมื่อ 100 ปีก่อน Morimura Ichizaemon ได้ก่อตั้งบริษัท Noritake โดยมุ่งผลิตเครื่องเซรามิคคุณภาพดี เขากล่าวเสมอว่า บริษัทที่ดีต้องไม่โกหก Morimura พยายามผลิตสินค้าให้ดีและประณีตยิ่งกว่าสินค้าตัวอย่าง (Sample) ที่ส่งไปให้ลูกค้า
ในช่วงปีใหม่ Morimura ถึงกับขอบริษัทคู่ค้าว่า จะไม่รับของขวัญใด ๆ เนื่องจากเกรงว่า จะเกิดความรู้สึกเกรงอกเกรงใจกันทั้งสองฝ่าย ทำให้ไม่กล้าพูดตักเตือนกันตรง ๆ หากวันใด สินค้าที่ตนผลิตไม่ได้มาตรฐานหรือมีตำหนิ ทั้งสองฝ่ายอาจจะประนีประนอมกัน ไม่กล้าตักเตือนกัน และเผลอปล่อยสินค้าเหล่านั้นไปถึงมือลูกค้าได้

ปัจจุบัน Noritake กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์เซรามิคพรีเมี่ยมที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
จาก 3 เคล็ดลับความสำเร็จข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในการทำธุรกิจนั้น สิ่งที่พ่อค้าในเมืองโอมิให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือการสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจกับลูกค้า มิใช่การมุ่งสร้างกำไรให้องค์กร (ลองอ่านบทความ “ทำไมใคร ๆ ก็ติดใจสินค้าญี่ปุ่น” เพื่อเข้าใจแนวทางการตลาดแบบญี่ปุ่นให้มากขึ้น)

 
เม็ดเงินสร้างได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ต้องใช้ความซื่อสัตย์และความจริงใจในการสร้าง และต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะ แต่หากทำได้ ก็จะนำไปสู่ความสัมพันธ์และความสำเร็จอันยั่งยืนของบริษัท
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา