ดูแลตัวเองยังไงดี? ถ้าไม่อยากเป็นโรคภูมิแพ้ จากฝุ่นละออง

ดูแลตัวเองยังไงดี? ถ้าไม่อยากเป็นโรคภูมิแพ้ จากฝุ่นละออง

By Krungsri Plearn Plearn
เมื่อเข้าสู่หน้าหนาว นอกจากเราจะได้สัมผัสกับอากาศเย็น ที่นาน ๆ จะมาสักทีให้เราได้ชื่นใจ แต่มีสิ่งหนึ่งที่มักจะมาพร้อมกับลมหนาวที่หลายคนไม่อยากพบเจอนั่นคือ “ฝุ่น” ที่มาตามนัดทุกปีในช่วงหน้าหนาว ซึ่งเจ้าฝุ่นตัวร้ายนี้ นอกจากจะสร้างความรำคาญให้กับเราเพราะมันจะติดไปตามเสื้อผ้าที่เพิ่งซัก รถยนต์ที่พึ่งล้างใหม่ ๆ ได้ไม่กี่วัน ก็เต็มไปด้วยคราบฝุ่น
นอกจากนี้มันยังส่งผลไม่ดีกับร่างกายของเราก่อให้เกิด “โรคภูมิแพ้” ทั้งภูมิแพ้อากาศ ทำให้จามไม่หยุด มีอาการน้ำมูกไหล เกิดอาการแสบหรือคันคอ หรือเกิดเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง ในบางคนคันตามบริเวณร่างกาย เป็นผื่นแดง หากรุนแรงอาจเกิดเป็นแผล หรือติดเชื้อได้
ต้นกำเนิดของโรคภูมิแพ้ มาจากไหน?
แล้วเจ้าฝุ่นตัวร้ายสาเหตุของโรคภูมิแพ้มันมาจากไหน แล้วจะรับมือทั้งฝุ่น และโรคภูมิแพ้อย่างไรกันดี วันนี้เราจะขอพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมกัน แล้วต่อจากนี้พวกเราจะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยอีกต่อไป

ไขปริศนาฝุ่น ต้นกำเนิดโรคภูมิแพ้ มาจากไหน?

สำหรับฝุ่น นั้นเกิดขึ้นมาทั้งแบบธรรมชาติ และมนุษย์สร้างขึ้น สำหรับฝุ่นที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ หรือฝุ่นจากพื้นดิน ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเป็นอันตรายกับร่างกาย แต่ฝุ่นตัวร้ายที่เป็นอันตรายกับร่างกายที่ส่งผลให้เราเป็นโรคภูมิแพ้ ส่วนใหญ่เรามักเจอคือ การเผา ไม่ว่าจะเผาเศษหญ้า เผาขยะ ไม่ว่าจะเผาอะไรก็ตาม ของแถมที่ได้มาคือเศษฝุ่นจำนวนมหาศาล ฝุ่นแบบนี้ในช่วงหลายปีเราเรียกมันว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่อนุภาคของมันเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า รู้ตัวอีกทีมันก็เข้าสู่ร่างกายของเรา ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ซะแล้ว
แต่ทำไมเรามักได้ยินชื่อนี้ทุกทีในช่วงหน้าหนาว นั่นก็เพราะว่าในช่วงหน้าหนาวสภาพอากาศในบ้านเราจะเป็นช่วงอากาศปิด ปกติอากาศในฤดูอื่น ๆ จะลอยตัวขึ้นไปเหนือพื้น ลอยขึ้นไปเรื่อย ๆ ไปถึงชั้นบรรยากาศ และพัดพาฝุ่น ควัน หรือสิ่งอื่น ๆ พัดไป แต่ในหน้าหนาว บ้านเรามีความกดอากาศจากทางภาคเหนือลงมาปกคลุม ส่งผลให้อุณหภูมิต่ำลง พื้นดินก็คายความร้อนอย่างรวดเร็ว อากาศในพื้นดินก็เย็นลง แต่ความร้อนที่คายออกมาไม่หายไปไหน มันกลับไปแทรกอยู่ตรงกลางของอากาศ ทำให้อากาศไม่ไหลเวียนตามปกติ ฝุ่นหรือควันไม่สามารถระบายได้ เราจึงได้รับผลกระทบในเรื่องของฝุ่นมากที่สุดในช่วงหน้าหนาว หลายคนถ้ารู้สึกว่า ทำไมนะเราเป็นโรคภูมิแพ้ในช่วงเวลานี้บ่อย ๆ คงได้รับคำตอบกันสักที

ป้องกันฝุ่นแบบไหนดี ถึงปลอดภัยจากโรคภูมิแพ้?

ป้องกันโรคภูมิแพ้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ชนิดมีฟิลเตอร์กรองฝุ่น

1. สวมหน้ากากอนามัย ชนิดมีฟิลเตอร์กรองฝุ่น

ถึงโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากฝุ่นจะร้ายกับเราแค่ไหนแต่เราสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย แต่เราอาจต้องเลือกชนิดที่มีฟิลเตอร์กันฝุ่น โดยปกติเราสวมหน้ากากอนามัยกันอยู่แล้ว แต่นั่นอาจเป็นชนิดบางที่ป้องกันเรื่องของเชื้อโรคโควิด-19 แต่หน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันฝุ่นให้ดูสัญลักษณ์ N95 จะช่วยป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้ดี ลองใช้หน้ากากแบบนี้แล้วรับรองได้เลย ปลอดภัยทั้งฝุ่น เชื้อโรคโควิด-19 และยังช่วยลดโอกาสป่วยจากโรคภูมิแพ้ได้ดีทีเดียว เลือกให้ดี ชีวิตดีขึ้นเยอะ!
หลีกเลี่ยงอยู่ในที่กลางแจ้ง ค่าฝุ่นรุนแรง เพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้

2. หลีกเลี่ยงอยู่ในที่กลางแจ้ง ค่าฝุ่นรุนแรง

ช่วงนี้ที่การออกไปข้างนอกยังเป็นเรื่องที่เสี่ยงทำให้เรามีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะการต้องไปที่มีฝุ่นหนาแน่น แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าที่ตรงไหนมีค่าฝุ่นเท่าไหร่ เราสามารถดูได้ในสมาร์ทโฟนของเราได้เลย เพียงโหลดแอปฯ AirVisual ติดเครื่องไว้ เราก็สามารถเช็กสภาพอากาศ ปริมาณฝุ่นในแต่ละโซนรอบ ๆ ตัวเราได้เลย รวมถึงยังมีการแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเจออากาศเลวร้าย มีแอปฯ นี้ติดเครื่องเอาไว้ ช่วงนี้จะออกไปไหนก็จะได้เตรียมพร้อมรับมือ ปิดโอกาสโดนกระตุ้นโรคภูมิแพ้ จากฝุ่นได้อีกด้วย
ใช้เครื่องฟอกอากาศ ที่สามารถช่วยกรองฝุ่นในห้องลดโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้

3. ใช้ตัวช่วยกรองฝุ่น ช่วยลดโรคภูมิแพ้

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อต้องเจอกับสภาวะฝุ่นที่รุนแรง อย่างเช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ ที่สามารถช่วยกรองฝุ่นในห้อง ให้มีอากาศที่สดชื่นและปลอดภัย ช่วยลดโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้อากาศได้ดี ซึ่งเจ้าเครื่องนี้หากได้มีไว้ติดห้อง อาการของโรคภูมิแพ้อากาศที่เคยส่งผลให้เรามีอาการคันคอหรือไอจามจะค่อย ๆ ลดน้อยลงจนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือใครที่กำลังเจออาการภูมิแพ้ผิวหนัง การมีเครื่องอบผ้าติดบ้านก็ช่วยได้ เพราะปกติหลังจากที่เอาผ้าไปตากกับแสงแดด ดูจากตาเปล่าก็เหมือนจะแห้งปกติ แต่เสื้อผ้าของเรากลับเต็มไปด้วยฝุ่นติดเต็มเสื้อผ้าไปหมด การใช้เครื่องอบผ้าจะช่วยกรองฝุ่น ทำให้เสื้อผ้ามีความสะอาด ไร้ฝุ่นที่เป็นตัวการกระตุ้นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ลองได้อบสักที อาการคันยุกยิกตามร่างกาย แทบจะหายไปเลย
ใช้เครื่องดูดไรฝุ่นกับของใช้ หมอน โซฟา เพื่อลดโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้

4. ทำความสะอาดของใช้ วีคละครั้ง!

รู้ไหมว่าฝุ่นที่ทำให้เราเป็นโรคภูมิแพ้มักเจอใกล้ตัวเราอย่างเช่น หมอน ตุ๊กตา หรือผ้าห่มที่เราใช้ทุกวัน ซึ่งฝุ่นแบบนี้มีทั้งฝุ่นละอองและไรฝุ่น เป็นตัวการที่คอยกระตุ้นอาการของโรคภูมิแพ้อากาศ และภูมิแพ้ผิวหนังให้กำเริบ สำหรับฝุ่นที่อยู่ในของใช้ในห้องมักปลิวมาตามกระแสลม เมื่อเวลาเราเปิดหน้าต่างให้อากาศในห้องหมุนเวียน ตัวฝุ่นเองก็สามารถเล็ดลอดเข้ามาได้เหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่มุ้งลวดตามบ้านจะมีช่องที่ใหญ่กว่าอนุภาคฝุ่น หรือเราอาจได้รับฝุ่นที่ลอยติดมาโดนเสื้อผ้าเมื่อใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน ถ้าอยากป้องกันอาการโรคภูมิแพ้ ลองหยิบของใช้เหล่านี้มาทำความสะอาด ซักบ่อย ๆ หรือถ้าซักแล้วยังคิดว่าไม่พอ อาจต้องใช้เครื่องดูดไรฝุ่นกับของใช้ที่เราสัมผัสบ่อย ๆ เช่น หมอน, โซฟา หรือผ้าห่ม อย่างน้อยวีคละครั้ง แล้วอาการของโรคภูมิแพ้จะดีขึ้น รู้สึกหายใจได้เต็มปอด หรือนอนหลับโดยไม่รู้สึกคันตามร่างกาย รู้แบบนี้แล้วอย่ารอช้า รีบไปทำความสะอาดกัน
ลดการสร้างฝุ่นที่ไม่จำเป็นเพื่อลดโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้

5. ลด ละ เลิกการสร้างฝุ่นที่ไม่จำเป็น เพื่อลดโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้

บางครั้งฝุ่นอาจเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจจากตัวเรา ถ้าไม่อยากให้บ้าน หรืออากาศโดยรวมมีฝุ่นเพิ่มขึ้นไปอีกเราอาจจะต้องปรับนิสัยบางอย่างใหม่ เช่น เลิกการจุดธูปหรือเทียนภายในบ้าน นอกจากจะช่วยลดการเผาไหม้ที่เป็นต้นเหตุของฝุ่น กลิ่นธูป หรือเทียนบางครั้งยังเป็นตัวกระตุ้นของโรคภูมิแพ้อากาศ สำหรับคนแพ้อีกด้วย และการไม่จุดธูปเทียนในบ้าน ยังช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้อีกด้วย นอกจากนี้การเผาเศษหญ้า เศษขยะ ถ้าเลิกได้ก็ดีเพราะนอกจากจะทำให้เกิดฝุ่นควันในปริมาณมาก หากควบคุมบริเวณการเผาได้ไม่ดี บางครั้งไฟมันอาจลามไปโดนทรัพย์สินอื่น ๆ ให้เสียหายอีกด้วย
จากที่เราได้นำเสนอวิธีป้องกันฝุ่น หวังว่าจะเป็นไอเดียดี ๆ ให้กับทุกคนได้ลองหยิบนำไปลองทำตาม เรื่องของฝุ่นและโรคภูมิแพ้ สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คู่กัน ต่อจากนี้เราอยากให้ทุกคนสนใจเรื่องสุขภาพ รักษาความสะอาดให้มากขึ้น ถ้าเราทำจนเป็นนิสัยพวกโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับเราก็จะค่อย ๆ หายไปเอง เมื่อถึงตอนนั้นเราจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ต้องกลัวโรคภูมิแพ้อีกต่อไป ถึงแม้จะเจอฝุ่นหนักมากแค่ไหนก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา