เตือนภัย! ScamTok มิจฉาชีพแบบใหม่ระบาดใน Tiktok

เตือนภัย! ScamTok มิจฉาชีพแบบใหม่ระบาดใน Tiktok

By Krungsri Plearn Plearn
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันนั้นสื่อโซเชียลที่ได้รับความนิยมในการใช้เป็นแพลตฟอร์มสร้างสรรค์คอนเทนต์และความบันเทิงต่าง ๆ คือ TikTok ที่นอกจากจะทำให้เราสามารถเห็นคอนเทนต์ดี ๆ ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นอันหลากหลายแล้ว แอปฯ นี้ก็ยังเปิดโอกาสให้เราสรรค์สร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย แต่เมื่อมีผู้ใช้งานมากเท่าไหร่ เหล่ามิจฉาชีพก็ยิ่งเข้ามาได้ง่ายมากเท่านั้น วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ ScamTok มิจฉาชีพติ๊กต๊อกที่คุณควรรู้ให้เท่าทันจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลลวงเหล่านี้
มิจฉาชีพในแบบ Scamtok
ScamTok หรือ Scam TikTok คือ มิจฉาชีพที่จะใช้กลวิธีในการหลอกลวงผ่านทางแอปฯ โซเชียลมีเดีย TikTok ซึ่งเป็นแอปฯ ในด้านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งก็มีผู้ใช้งานหลายล้านคนทั่วโลก และเมื่อแอปฯ นี้มีผู้ใช้งานมากก็ทำให้มิจฉาชีพสามารถแฝงตัวเข้ามาได้ง่ายมากเช่นเดียวกัน

กลลวงของ ScamTok ส่วนใหญ่มีด้วย 5 รูปแบบดังนี้

มิจฉาชีพหลอกให้รัก และชวนลงทุน

1. อ้างเป็นอินฟลูเอนเซอร์ชวนลงทุน

อินฟลูเอนเซอร์ นับว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ TikTok อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อถือทั้งในเรื่องของการรีวิวสินค้าแล้วก็เรื่องการลงทุนต่าง ๆ ซึ่ง ScamTok ที่มาในรูปแบบของอินฟลูเอนเซอร์นั้น ก็มักจะมีการแอบอ้างผ่านทางบัญชีส่วนตัว หรือทักมาชวนให้เราลงทุนต่าง ๆ และหากใครที่พลาดลงทุน หรือโอนเงินไปที่บัญชีส่วนตัวแบบนี้ไปแล้ว ก็อาจจะต้องเสียเงินไปฟรี ๆ เพราะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพนั่นเอง
มิจฉาชีพชักชวนสร้างรายได้

2. อ้างว่ามาจากบริษัทให้ดูคลิปสร้างรายได้

สำหรับข้อนี้เรียกได้ว่าเป็นอะไรที่หลาย ๆ คน ก็โดนกันไปเยอะแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งพวกเขาก็จะมาในรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อ้างว่าตนนั้นมาจากบริษัท TikTok ที่จะมาเปิดช่องทางการสร้างรายได้ให้กับเรา โดยจะมาพร้อมกับข้อเสนอในการให้เราได้ดูคลิปออนไลน์ และเมื่อดูจบตามจำนวนที่กำหนดก็จะมีการโอนเงินเข้ามา ซึ่งก็จะดำเนินการต่าง ๆ ผ่านช่องทาง LINE ในช่วงแรกจะมีการโอนเงินให้จริงเพื่อให้เราไว้ใจ แต่หลังจากนั้นจะมีการหลอกให้เราได้ลงทุนเพิ่มเพื่ออัปเกรดรายได้ในแต่ละคลิป ทำให้หลาย ๆ คนที่หลงเชื่อมิจฉาชีพต้องเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก และยังตามตัวจับได้ยากอีกด้วย

3. Dropshipping หรือการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้สินค้าที่ไม่มีอยู่จริง

มิจฉาชีพชักชวนให้สต๊อกสินค้า
Dropshipping หรือการเป็นตัวแทนจำหน่าย ที่ไม่ต้องสต๊อกสินค้าแต่ต้องทำการโพสต์เพื่อเรียกให้ลูกค้านั้นมาสั่งสินค้ากับทางเรา ซึ่งก็มักจะถูกหลอกในรูปแบบของการให้โอนเงินไปที่บัญชีของมิจฉาชีพก่อน แต่พอมาหาข้อมูลกันจริง ๆ เราจะพบได้ว่าสินค้า หรือบริษัทที่ติดต่อมานั้น ไม่เคยมีอยู่จริง หากได้รับการติดต่อแบบนี้ให้รีบตัดสาย หรือลบข้อความเชิญชวนไปเลย เพราะส่วนใหญ่ตัวแทนสินค้าแบบนี้จะไม่มีอยู่จริง ๆ

4. หลอกให้ซื้อผู้ติดตามบน TikTok แต่ยอดไม่เพิ่ม

มิจฉาชีพหลอกให้ดูวิดีโอ
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นตามโฆษณาต่าง ๆ หรือตามหลายแอคเคาท์บน TikTok ที่หากเราจ่ายเงินในจำนวนหนึ่งแล้ว ทางผู้ที่เป็นพ่อค้า หรือแม่ค้า ก็จะดำเนินการให้ยอดผู้ติดตามของเรานั้นเพิ่มขึ้นตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่เมื่อเราได้ทำการจ่ายเงินไปแล้ว ทางร้านก็จะบอกว่าใช้เวลาประมาณหนึ่ง เมื่อเรารอไปเรื่อย ๆ จะพบว่าเรานั้นถูกบล็อกไปเสียแล้ว เสียทั้งเงินให้กับมิจฉาชีพ แถมผู้ติดตามก็ยังไม่เพิ่มขึ้นอีกต่างหาก เจ็บใจทั้งสองทางเลย

5. ใช้บัญชีธุรกิจปลอมหลอกให้คลิกลิงก์

มิจฉาชีพหลอกให้คลิกลิงก์ดูดเงิน
เมื่อเราเห็นธุรกิจที่ได้รับความน่าเชื่อถือในประเทศไทยที่มีการให้เราได้ร่วมลงทุนนั้น หลาย ๆ คน ก็อยากที่จะมีรายได้เสริมจากส่วนตรงนี้กันอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมาในรูปแบบของโปรไฟล์ที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น อ้างว่ามาจากบริษัทดังยักษ์ใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะให้เรานั้นได้ทำการลงทุนไปกับตัวเว็บไซต์ของเขา ที่หากเราลงทุนไปแล้วจะได้ผลตอบแทนกลับมาเท่ากับเปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้านั้น ๆ พร้อมกับการโฆษณาที่บอกว่าได้เงินหลักพัน หลักหมื่นภายใน 2-3 วัน ซึ่งก็จะมีการล่อลวงให้เรานั้นเข้าไปอยู่ในกลุ่ม LINE ที่มีแต่มิจฉาชีพอยู่ในกลุ่ม และทำให้แช็ตมีความน่าเชื่อถือจนเรานหลงเชื่อทำตามไป

โดยในครั้งแรกนั้นก็อาจจะได้เงินในจำนวนที่ได้ทำการกล่าวอ้างจริง แต่หลังจากนั้นทางแอดมินก็จะมีการบอกให้เราลงทุนเพิ่มเพื่อที่จะสามารถถอนเงินออกมาจากเว็บไซต์เหล่านั้นได้ และยังต้องโอนให้เรื่อย ๆ จนบางคนถึงขั้นหมดตัว และต้องเป็นหนี้สินก็มีเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเราไม่ได้ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์จริง ๆ ก่อนก็อาจจะหลงเชื่อมิจฉาชีพ Scamtok ได้ง่าย ๆ เลย

เจอมิจฉาชีพ ScamTok หลอกให้ลงทุน จะตามจับได้อย่างไรบ้าง?

1. รวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่มีทั้งช่องทางการสนทนาด้วยการแคปหน้าจอพร้อมทั้งใส่คำบรรยายประกอบรูปภาพนั้น ๆ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับอะไร ไม่ว่าจะเป็น
  • ข้อความหรือบทสนทนาที่เราได้ทำการพูดคุยกับมิจฉาชีพ Scamtok
  • โปรไฟล์ร้านค้า หรือหน้าเว็บไซต์ของมิจฉาชีพ Scamtok
  • หลักฐานการโอนเงิน เช่น สลิปการโอนเงินไปยังบัญชีมิจฉาชีพ Scamtok
  • หน้าสมุดบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพ Scamtok
  • สำเนาบัตรประชาชนของมิจฉาชีพ Scamtok ที่ติดต่อเรามา
  • ชื่อ นามสกุล / ที่อยู่ / บัญชีของร้านค้าที่เป็นมิจฉาชีพ Scamtok
การแจ้งจับมิจฉาชีพ Scamtok
2. ให้นำเอาหลักฐานทั้งหมดไปทำการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการอายัตบัญชีหากเป็นธนาคารกรุงศรีสามารถโทรติดต่อได้ที่เบอร์ 1572 กด 5 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ควรรีบไปติดต่อเจ้าหน้าที่ให้เร็วที่สุดโดยอยู่ในช่วง 3 เดือน หลังจากที่โดนมิจฉาชีพหลอกลวง หรือหากใครที่ต้องการความรวดเร็วในการค้นหามิจฉาชีพด้วยนั้น ก็สามารถที่จะเข้าไปติดต่อ หรือแจ้งความได้ที่แจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน https://thaipoliceonline.com/ ก็ได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องเดินทางมายื่นเอกสารด้วยตัวเองจะดีที่สุด

เพราะฉะนั้นการใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องมีก็คือ สติที่จะต้องตรวจสอบ และไตร่ตรองให้ดีก่อนเสมอว่าคนที่เราได้สนทนาอยู่นั้นเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือหรือไม่ หรือหากมีการอ้างว่ามาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือนั้น ก็ต้องนึกถึงความเป็นจริงเอาไว้ก่อนเสมอว่าการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวตามที่มีคนชักชวนเรา สามารถให้ผลตอบแทนมากมายในเวลาไม่นาน แบบนี้มีจริงหรือไม่ อย่าเพิ่งหลงเชื่อแล้วโอนเงินไปลงทุน ไม่อย่างนั้นอาจเสียใจเพราะโดนหลอกเป็นแน่

หากจะเอาให้ชัวร์ก็ควรที่จะทำการเสิร์ชข้อมูลผ่านกูเกิ้ลเพื่อสร้างความมั่นใจว่าบุคคล หรือบัญชีที่เข้ามาชักชวน มีประวัติในการหลอกลวงผู้อื่นมาหรือไม่ เพื่อที่จะทำให้คุณไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ScamTok เหล่านี้นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow