คนญี่ปุ่นกังวลหรือไม่ เมื่อประชากรในประเทศลดลงตลอดเวลา

คนญี่ปุ่นกังวลหรือไม่ เมื่อประชากรในประเทศลดลงตลอดเวลา

By Japan salaryman
ถ้าถามว่าคนญี่ปุ่นกังวลหรือไม่ที่ประชากรในประเทศของเขาลดลงทุกวัน ๆ

ผมอยากพาเพื่อน ๆ ทุกคนมาดูพาดหัวเรื่องเกี่ยวกับประชากรตามสื่อต่าง ๆ ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ครับ
คนญี่ปุ่นกังวลหรือไม่ เมื่อประชากรในประเทศลดลงตลอดเวลา
“ปี 2020 ผู้หญิงครึ่งประเทศจะอายุมากกว่า 50 ปี”
“ปี 2024 ประชากร 1 ใน 3 ของประเทศมีอายุมากกว่า 65 ปี”
“ปี 2033 บ้าน 1 ใน 3 หลังจะกลายเป็นบ้านว่าง ไม่มีใครอาศัย”
“ปี 2042 จำนวนประชากรผู้สูงอายุจะถึงขั้นสูงสุด”
จากหนังสือ Mirai no Nenhyou สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามลำดับเวลา เมื่อประชากรในประเทศลดลง เขียนโดยอาจารย์ คาวาอิ มาซาชิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยรับมือกับสถานการณ์ประชากรลดลงประเทศญี่ปุ่น

“ตัวเลขประชากรญี่ปุ่นลดลงจากปีที่แล้วมากกว่า 500,000 คน เป็นจำนวนการลดลงของประชากรที่มากที่สุดตั้งแต่เคยสำรวจมาตั้งแต่ปี 1968 และติดลบต่อเนื่องมา 11 ปีแล้ว”
จาก ANNnewsCH ออกอากาศวันที่ 6 สิงหาคม 2020

“ประชากรญี่ปุ่นจะลดลงเหลือ 88 ล้านคน ในปี 2065 และเหลือ 50 ล้านคนในปี 2115” (ตัวเลขสถิติประชากรญี่ปุ่น ณ วันที่ 1 กันยายน 2020 มีจำนวน 125.6 ล้านคน)
ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น

แค่อ่านพาดหัวสามอันนี้ก็รู้สึกตกใจแทนคนญี่ปุ่นแล้วใช่มั้ยครับ ใช่ครับ..ในประเทศญี่ปุ่นประเด็นการลดลงประชากรเป็นที่ถกเถียงกันทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้บริหาร นักการเมือง ประชาชนทุกคน กังวลกับอนาคตข้างหน้า ทั้งอนาคตประเทศ และอนาคตตัวเราเอง ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาเมื่อประชากรลดลงก็มีมากมายจนน่าปวดหัว
สำหรับประเทศไทยเองก็ไม่ต่างกัน จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ประกาศไว้ว่า

ในปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนมากกว่า 12 ล้านคน หรือราว 18% ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มเป็น 20% ในปี พ.ศ.2564 (ค.ศ. 2021)

ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วเหมือนกัน และกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเรียนรู้กันและกันเกี่ยวกับปัญหาที่อาจตามมาจากการมีประชากรลดลง

คนญี่ปุ่นประเมินไว้ว่าจะมีปัญหาอะไรบ้างหลังจากประชากรลดลง

เรื่องต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างปัญหาที่คนญี่ปุ่นประเมินเอาไว้ว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ประชากรลดลง ต้องหาวิธีแก้ไขและรับมือโดยด่วน
1. หมดสิ้นยุคแห่งความสะดวกสบายที่เกิดจากการให้บริการของผู้คน
เมื่อประชากรลดลงจะทำให้คนซื้อสินค้า คนขายสินค้า คนขนส่งสินค้าลดลง สิ่งเหล่านี้จะทำให้บริการต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนจะลดลง และอาจปิดตัวไปได้ ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นปัญหาขาดพนักงานขับรถเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศ ญี่ปุ่นประเมินไว้แล้วว่าอีก 10 ปีหลังจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นจะขาดพนักงานขับรถถึง 300,000 คน

ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ กับบริการที่ใกล้ตัวเรา ตอนนี้ถ้าเราอยากทานอะไรเราก็เข้า App สั่งอาหาร แล้วกดสั่งอาหาร ไม่นานนักก็จะมีคนส่งถึงหน้าบ้าน แต่ลองคิดดูครับว่า ถ้าวันไหนประชากรลดลงแล้วไม่มีคนส่งของ หรือคนให้บริการเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็อาจเป็นวันสิ้นสุดของความสะดวกสบายก็ได้
2. รูปแบบสังคมเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ Super Aged-Society
องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ให้คำนิยามผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัย หมายถึง ประชากรเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และแบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไว้ 3 ประเภทคือ
  1. ระดับก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึงประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ
  2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ
  3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประเทศ
คนญี่ปุ่นกังวลหรือไม่ เมื่อประชากรในประเทศลดลงตลอดเวลา
อัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากรญี่ปุ่นและวิวัฒนการสังคมผู้สูงอายุ https://www.tyojyu.or.jp
ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ปี 1970 หลังจากนั้นอัตราผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 1994 และท้ายที่สุดกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) ในปี 2007 ที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยจากข้อสรุปของสำนักงานสถิติแห่งชาติสรุปไว้ว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ปี 2005 โดยมีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในช่วงปี 2024-2025 นี้ อีกไม่นานประเทศของเราก็อาจจะมีสภาพสังคมคล้ายกับของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน

เมื่อประชากรลดลง และรูปแบบสังคมกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่จะเกิดปัญหาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอาจไม่ทั่วถึง คุณหมอ บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ถ้าไปญี่ปุ่นแล้วมีโอกาสได้ไปโรงพยาบาลเพื่อน ๆ จะเห็นภาพนี้ค่อนข้างชัด เพราะถ้าไปในช่วงเวลากลางวันจะพบว่าสัดส่วนคนที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ และรอคิวกันนานมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกมากมายเมื่อสังคมกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เช่น ปัญหาเงินบำนาญ ตลาดแรงงานของการดูแลผู้สูงอายุเกิดความไม่สมดุล เป็นต้น
3. วิธีการทำงานเปลี่ยนไป อนาคตอาจหมดยุคแห่งการเกษียณ
เมื่อประชากรวัยทำงานลดลง จึงมีความจำเป็นที่ผู้สูงอายุต้องทำงานต่อไปเรื่อย ๆ โดยปกติวัย 50 ถึง 60 ปีเป็นการทำงานช่วงสุดท้ายก่อนเกษียณออกไปใช้ชีวิตหลังทำงาน แต่ภายใต้สังคมที่มีประชากรน้อยลงไปเรื่อย ๆ อาจจะมีความจำเป็นที่คนวัย 50 ปี และ 60 ปียังต้องทำงานอยู่ ฉะนั้น นิยามคำว่าเกษียณอายุอาจจะหายไปในอนาคตก็ได้

ในประเทศญี่ปุ่นมีวิวัฒนาการการปรับอายุการเกษียณตามสภาพสังคมที่เกิดขึ้น ดังนี้
1980 มีการขอความร่วมมือให้ขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี
1990 อนุมัติให้สามารถจ้างงานต่อได้หลังเกษียณ
1998 กำหนดให้อายุเกษียณคือ 60 ปี
2000 มีการขอความร่วมมือให้จ้างงานจนถึงอายุ 65 ปี
2006 กำหนดให้จ้างงานจนถึงอายุ 65 ปี

*ในขั้นนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นบังคับให้ผู้ว่าจ้างเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง “การใช้ระบบการจ้างงานต่อเนื่อง” “การกำหนดอายุเกษียณเป็น 65 ปี” หรือ “การยกเลิกระบบเกษียณอายุ” ทำให้ผู้จ้างงานเป็นจำนวนมากเริ่มเลือกใช้ “การกำหนดอายุเกษียณเป็น 65 ปี” ในช่วงเวลาดังกล่าว 2013 บังคับให้ผู้ว่าจ้างจ้างงานต่อเนื่องจนถึงอายุ 65 ปี (สำหรับลูกจ้างทุกคนที่มีความประสงค์)

ซึ่งการปรับเปลี่ยนอายุเกษียณและมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการจ้างงานผู้สูงอายุได้ปรับเปลี่ยนเยอะมากตั้งแต่ 1980 หลังจากประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และยังคงมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่แปลกใจครับเมื่อไปญี่ปุ่นจะเห็นผู้สูงอายุหลาย ๆ ท่านยังคงทำงานอยู่ ในมุมของนักท่องเที่ยวแบบเรา จะสังเกตเห็นได้ง่ายเวลาเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น เช่น พนักงานที่ให้บริการที่สายพานกระเป๋าเดินทางเป็นคุณลุงค่อนข้างเยอะ เวลาใช้บริการแท็กซี่ก็จะเห็นผู้สูงอายุมาเป็นคนขับค่อนข้างเยอะเช่นกัน

นอกจากนี้ที่ญี่ปุ่นเองผู้ประกอบการหลายแห่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โรโบติกส์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศด้วย
4. รูปแบบครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป
ผมอยากให้นึกภาพตามนะครับ ญี่ปุ่นในยุคหลัง ๆ จะพบว่าคนหนุ่มสาวจะแต่งงานช้าลง บางคนตัดสินใจที่จะไม่แต่งงานไปตลอดเลยก็มี ทำให้มีเด็กเกิดใหม่ในประเทศลดลงเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างจากกราฟด้านล่างนี้คือกราฟอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate: TFR) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีแต่ละคนในประชากรนั้น ๆ จะให้กำเนิดตลอดวัยมีบุตรของตน (15-49 ปี) ถ้าต้องการรักษาระดับประชากรในระยะยาว จะต้องมีอัตราเจริญพันธุ์รวมนี้มากกว่า 2.0 (Replacement Fertility Rate) ซึ่งในปี 2019 ที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเจริญพันธุ์รวมอยู่ที่ 1.36 และยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
คนญี่ปุ่นกังวลหรือไม่ เมื่อประชากรในประเทศลดลงตลอดเวลา
ข้อมูลสถิติประชากรประจำปี 2019 จากกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น (ประกาศเมื่อ 5 มิถุยายน 2020) https://resemom.jp
ประชากรวัยทำงานบางกลุ่ม อาจจะต้องออกจากงาน เพื่ออยู่ดูแลพ่อแม่ที่บ้าน ไปพร้อม ๆ กับการเลี้ยงลูก ทำให้แนวโน้มการอยากมีลูกมากกว่า 1 คน ยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ

ฉะนั้น จากหัวข้อ “คนญี่ปุ่นกังวลหรือไม่เมื่อประชากรในประเทศลดลงตลอดเวลา” ผมต้องขอสรุปว่า คนญี่ปุ่นกังวลมาก ๆ และทุกฝ่ายพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้ประเทศพัฒนาไปต่อได้ภายใต้สภาพสังคมในปัจจุบัน
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ในปี 2005 และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) และสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) ตามลำดับไม่ต่างจากประเทศญี่ปุ่น แม้บริบทของประเทศจะแตกต่างออกไปจากประเทศญี่ปุ่น แต่ประเทศไทยคงประสบปัญหาเกี่ยวกับประชากรตามมาไม่แพ้กับที่ญี่ปุ่นประสบอยู่แน่นอน ผมจึงหวังว่าบทความนี้อาจช่วยให้พวกเราฉุกคิดถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และร่วมด้วยช่วยกันหาวิถีการรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามความสามารถและหน้าที่ที่เรามีอยู่ เพราะนี่คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา