5 สัญญาณที่บอกว่าคุณยังไม่พร้อมจะซื้อบ้าน ตอนที่ 2
รอบรู้เรื่องบ้าน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 สัญญาณที่บอกว่าคุณยังไม่พร้อมจะซื้อบ้าน ตอนที่ 2

icon-access-time Posted On 27 กุมภาพันธ์ 2559
By อภินิหารเงินออม
สวัสดีค่ะ จากตอนที่แล้ว เราได้เรียนรู้กันว่า หากจะซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย เราควรหาข้อมูลให้ครบ ไม่ว่าจะจากคนใกล้ตัว อินเทอร์เน็ต เพราะตามเว็บบอร์ดหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ล้วนเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี หรือพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์การซื้อบ้าน นอกจากนั้น เราก็ควรตรวจสอบสภาพทางการเงินของเราว่า มีรายรับรายจ่ายเท่าไหร่ มีหนี้เยอะไหม ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะส่งผลในการซื้อบ้านของเราค่ะ
ในตอนนี้ ขอกล่าวถึงสัญญาณอีก 3 ข้อที่สำคัญในการซื้อบ้านเช่นกัน ดังนี้

3. การรักษาเครดิต


บางคนถือคติว่า “มีหนี้ มีเครดิต” จึงตั้งหน้าตั้งตาสร้างหนี้ต่าง ๆ มากมาย แต่อย่าลืมว่า เครดิตนี้จะหายไป ถ้าเราไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้นะคะ ในขณะที่บางคนมีหนี้สินหลายทางจากการใช้จ่ายอย่างประมาท มองว่าตนเองมีรายได้มั่นคง มีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างสบาย ๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็มียอดหนี้ทะลุรายได้เข้าไปแล้ว จากนั้นก็เข้าสู่โหมดชักหน้าไม่ถึงหลัง เริ่มจ่ายหนี้ขั้นต่ำไปจนกระทั่งจ่ายหนี้ล่าช้า สุดท้ายก็เข้าโหมดสร้างหนี้ใหม่มาชำระหนี้เดิมวนหนี้ไม่สิ้นสุด
รู้หรือไม่ว่าการจ่ายหนี้ช้าเพียงครั้งเดียวอาจทำให้เราเสียโอกาสกู้ซื้อบ้านได้เลยนะคะ เพราะธนาคารที่ปล่อยกู้สินเชื่อบ้านให้เรานั้นจะดูประวัติการชำระหนี้ย้อนหลังจากเครดิตบูโรเพื่อประกอบการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อ ถ้าเรามีประวัติดี จ่ายหนี้ตรงเวลาทุกครั้ง แสดงว่าเรามีวินัยทางการเงินดีเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อได้ แต่ถ้าจ่ายบ้าง ไม่จ่ายบ้าง จนกระทั่งไม่จ่ายเลยก็เตรียมใจเผื่อไว้เลยว่าอาจจะขอกู้ไม่ผ่านนะคะ ดังนั้นควรรักษาเครดิตของตนเองให้ดีที่สุด โดยการชำระหนี้ให้ตรงเวลาเพราะ “เครดิตดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” นะคะ

4. เงินสำรองฉุกเฉิน


การผ่อนบ้านนั้นเป็นหนี้ระยะยาวเกือบ 30 ปี ระหว่างทางก็อาจจะมีอุปสรรคทำให้ผ่อนต่อไม่ได้ เช่น หัวหน้าครอบครัวตกงาน ประสบอุบัติเหตุหรือว่าเสียชีวิต หากครอบครัวผ่อนต่อไม่ไหวก็อาจจะต้องยอมให้บ้านที่เราทุ่มแรงกายแรงใจผ่อนไปแล้วนั้นถูกธนาคารยึดไป
สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คือ การเตรียมความพร้อม โดยการจำลองแผนฉุกเฉินเผื่อไว้ว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เงินสำรองฉุกเฉินก้อนนี้จะผ่อนบ้านต่อไปได้อีกกี่เดือน เพื่อให้เราพอมีเวลาระยะหนึ่งในการปรับตัวสู้วิกฤตและคิดทบทวนว่าจะจัดการชีวิตตนเองและครอบครัวต่อไปอย่างไร
ส่วนแนวคิดว่าจะเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้กี่เดือนนั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละคน โดยหลักการแล้วจะเก็บเงินฉุกเฉินที่ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่าย โดยอาจจะเก็บไว้ในที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น การฝากออมทรัพย์ การซื้อ ประกันชีวิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้หัวหน้าครอบครัว

5. ฝึกวินัยการออมเงิน


การผ่อนบ้านนั้นเป็นการสร้างวินัยการออมที่เราจะต้องส่งต่อเนื่องไปทุกเดือน ๆ จนกระทั่งสูงสุด 30 ปี ช่วงเวลาที่ยากที่สุดจะเป็นช่วงเริ่มต้น ตอนที่เราจ่ายเงินผ่อนบ้านช่วงแรก ๆ ก็จะรู้สึกว่าสภาพคล่องในแต่ละเดือนหายไป เงินใช้ไม่คล่องมือเหมือนแต่ก่อน อึดอัดและสร้างความเครียดให้ชีวิต (อ่านบทความ ประหยัดเงินแบบง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ที่นี่)
ก่อนจะผ่อนบ้านในฝันเราควรเริ่มต้นโดยการซ้อมผ่อนบ้าน เพื่อทำให้เกิดความเคยชิน ปรับการใช้ชีวิตประจำวันกับเงินเดือนที่เหลือน้อยลงได้จากการหาข้อมูล เรารู้แล้วว่าตนเองจะต้องผ่อนบ้านเดือนละเท่าไหร่เราก็เริ่มออมด้วยเงินจำนวนนั้นทันที เช่น ผ่อนเดือนละ 14,000 บาท เมื่อเงินเดือนออกแล้วเราก็ตัดเงิน 14,000 บาทไว้ในบัญชีเงินออมทันที ถ้าทำแบบนี้ได้ทุกเดือนความหวังที่จะผ่อนบ้านหมดก็ใกล้เป็นจริงแล้ว
สรุปสั้น ๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองพร้อมที่จะซื้อบ้านแล้วรึยัง สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญคือ “ข้อมูล” ที่มีมากมายในอินเทอร์เน็ต ยิ่งรู้มากยิ่งได้เปรียบนะคะ ระหว่างหาข้อมูลเราก็เตรียมพร้อมเงินในกระเป๋าของเราไปด้วย โดยทำให้ตนเองมีหนี้น้อยที่สุด รักษาเครดิตจากการจ่ายหนี้ให้ตรงเวลา เตรียมเงินสำรองฉุกเฉินไว้เผื่อช่วงวิกฤตชีวิต สุดท้ายก็ซ้อมออมเงินเพื่อเตรียมการผ่อนบ้านระยะยาว ถ้าทำได้ครบรับรองว่าการมีบ้านในฝันของเราจะต้องเป็นจริงแน่นอน
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา