เปิดโพย! Checklist รีไฟแนนซ์บ้านอย่างไรให้คุ้มที่สุด
รอบรู้เรื่องบ้าน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เปิดโพย! Checklist รีไฟแนนซ์บ้านอย่างไรให้คุ้มที่สุด

icon-access-time Posted On 26 มีนาคม 2567
By Krungsri The COACH
ปัญหาของคนผ่อนบ้านส่วนใหญ่ คือ ธนาคารมักมีโปรโมชั่นดอกเบี้ยบ้านที่ต่ำในช่วง 3 ปีแรก เฉลี่ยประมาณ 3%-4% ต่อปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคาร แต่พอหมดโปรโมชั่นตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป ดอกเบี้ยบ้านจะทะยานกลับมาสูงขึ้นมาก มักกลายเป็นอัตรา MRR (Minimum Retail Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยรูปแบบลอยตัว ทำให้เงินที่เราจ่ายค่าผ่อนบ้านไปนั้น ไปตัดเงินต้นได้น้อยลง เพราะต้องแบ่งส่วนไปจ่ายค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จนรู้สึกว่าผ่อนไปเท่าไหร่หนี้ก็ไม่ลดลงสักที
คู่รักวางแผนรีไฟแนนซ์บ้าน

การรีไฟแนนซ์บ้าน จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เราผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้นแถมได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง แต่อย่างไรก็ตามยังมีเกณฑ์การพิจารณา และเงื่อนไขหลายปัจจัย บทความนี้เราจึงอยากแนะนำเช็กลิสต์สำรวจตัวเอง สำหรับคนที่อยากรีไฟแนนซ์ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องขอรีไฟแนนซ์บ้าน

การรีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร? ทำไมคนผ่อนบ้านควรรู้

สำหรับการรีไฟแนนซ์บ้าน (Refinance) คือ การย้ายสินเชื่อจากธนาคารเดิมไปยังธนาคารใหม่ โดยมีการยื่นกู้ ยื่นเอกสารใหม่เหมือนเราขอสินเชื่อบ้านใหม่ และส่วนใหญ่มีโปรโมชั่นลดอัตราดอกเบี้ยให้เหมือนกับการยื่นกู้ 3 ปีแรก

ผู้ที่ขอยื่นรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่จึงมีโอกาสได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารเดิม เมื่อดอกเบี้ยถูกลง เงินที่จ่ายค่าผ่อนบ้านก็ไปตัดเงินต้นได้มากขึ้น ทำให้ยอดหนี้ลดลงมากกว่าเดิม และผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้น

ความแตกต่างระหว่างการรีไฟแนนซ์บ้าน และรีเทนชั่นบ้าน

“รีไฟแนนซ์บ้าน” เป็นการนำที่อยู่อาศัยที่ผู้กู้ผ่อนชำระอยู่กับธนาคารเดิม ย้ายมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อกับธนาคารใหม่ เพื่อนำเงินไปปิดหนี้ยอดเงินกู้ที่ยังเหลืออยู่กับธนาคารเดิม ทำให้หนี้ของเรากับเจ้าหนี้ซึ่งก็คือธนาคาร หรือสถาบันการเงินเดิมนั้นสิ้นสุดลง พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของหนี้ใหม่กับธนาคาร หรือสถาบันการเงินใหม่

ส่วน “รีเทนชั่นบ้าน” เป็นการติดต่อขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับธนาคารเดิม ส่วนมากจะขอลดดอกเบี้ยเมื่อเรากู้และผ่อนไปแล้วเป็นระยะเวลา 3 ปี ขึ้นไป และระยะเวลาขอรีเทนชั่นบ้านกับธนาคารเดิมมักจะเร็วกว่าการขอรีไฟแนนซ์บ้านไปธนาคารใหม่ เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการตรวจสอบเอกสาร หรือประวัติผู้กู้ เนื่องจากธนาคารเดิมมีข้อมูลของเราอยู่แล้ว
 
เงื่อนไขสำหรับรีไฟแนนซ์บ้าน

การรีไฟแนนซ์บ้าน เหมาะกับใคร?

การรีไฟแนนซ์ส่วนมากจะทำเมื่อผ่อนชำระ 3 ปีขึ้นไป เพราะนอกจากจะเป็นช่วงหมดโปรโมชั่นดอกเบี้ยอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีข้อกำหนดเรื่องค่าปรับในการรีไฟแนนซ์บ้านก่อนกำหนดด้วย คือ หากรีไฟแนนซ์ไปธนาคารอื่น ก่อน 3 ปี มักมีค่าปรับราว 3% ของยอดหนี้คงเหลือ ดังนั้นหากใครที่กู้ และผ่อนมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว ควรที่จะมองหา ศึกษาข้อมูลในการยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง การผ่อนชำระค่าบ้านต่อเดือนจะได้ประหยัดขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามคุณสมบัติผู้กู้ก็มีส่วนสำคัญที่จะเพิ่มทางเลือกให้เราสามารถ รีไฟแนนซ์บ้าน ไปยังธนาคารอื่นได้ ซึ่งคุณสมบัติหลัก ๆ ก็คือ
  1. ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาตรงเวลา ไม่มีปัญหา (ประวัติในเครดิตบูโรดี)
  2. รายได้ของเราเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม
  3. สัดส่วนภาระหนี้สินของเรายังอยู่ในสัดส่วนที่ธนาคารกำหนด
หากเรามีคุณสมบัติหลักครบ การขอรีไฟแนนซ์มีโอกาสสูงที่จะผ่านอนุมัติ

รีไฟแนนซ์ช่วยประหยัดเงินเราได้เท่าไหร่?

เราลองมาเปรียบเทียบกันว่า หากเรายังผ่อนชำระกับธนาคารเดิมไปเรื่อย ๆ กับเรารีไฟแนนซ์บ้าน จะประหยัดเงินในกระเป๋าเรา ๆ ได้เท่าไหร่
 

ยกตัวอย่าง การคำนวณรีไฟแนนซ์บ้าน

นายสมชาย อาชีพเป็นพนักงานประจำ อายุ 32 ปี เดิมกู้กับธนาคาร A โดยนายสมชายกู้ซื้อบ้าน ผ่อนครบ 3 ปี ปัจจุบันนายสมชายเหลือเงินต้นอยู่ที่ 3 ล้านบาท และหลังจากนี้ปีที่ 4 เป็นต้นไป นายสมชายจะเสียอัตราดอกเบี้ย 5.25% ต่อปี
 

กรณี 1 : นายสมชายอยู่ธนาคารเดิมไม่รีไฟแนนซ์บ้าน

เงินต้นที่เหลือจำนวน 3 ล้านบาท ผ่อนชำระเดือนละ 23,100 บาท เหลือผ่อนชำระอีก 20 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 5.90% ต่อปี
  • เงินต้น = 3,000,000 บาท
  • ดอกเบี้ย = ประมาณ 1,792,616.83 บาท
  • รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 4,792,616.83 บาท
 

กรณี 2 : รีไฟแนนซ์บ้าน นายสมชายขอรีไฟแนนซ์เงินต้นที่เหลือจำนวน 3 ล้านบาท

ไปอีกธนาคาร โดยขอผ่อนชำระจำนวนเดิม 23,100 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 20 ปี ได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษปีที่ 1 = 2.85% ต่อปี, ปีที่ 2 = 3.85% ต่อปี, ปีที่ 3 = 4.85% ต่อปี (เฉลี่ย 3 ปี 3.85% ต่อปี) หลังจากนั้นคิด 5.90% ต่อปี
  • เงินต้น = 3,000,000 บาท
  • ดอกเบี้ย = ประมาณ 1,367,722.56 บาท
  • รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 4,367,722.56 บาท

ดังนั้น ประหยัดไปได้ทั้งหมด 424,894.27 บาท
 
ตัวอย่างการคำนวณ เมื่อรีไฟแนนซ์มาที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ยอดเงินกู้คงเหลือ (บาท) ระยะเวลาการกู้ (ปี) ผ่อนaเดือนละ (บาท) ประหยัดbค่าดอกเบี้ยจ่าย
ตลอดสัญญาได้ทั้งสิ้น (บาท)
3,000,000
10 34,700 259,043.87
15 26,800 340,229.91
20 23,100 424,894.27
25 21,100 506,564.00
a. คำนวณจากการผ่อนสินเชื่อบ้านกรุงศรีรีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 = 2.85% ต่อปี, ปีที่ 2 = 3.85% ต่อปี, ปีที่ 3 = 4.85% ต่อปี (เฉลี่ย 3 ปี 3.85% ต่อปี) หลังจากนั้นคิด 5.90% ต่อปี*

b.  คำนวณเปรียบเทียบการผ่อนสินเชื่อบ้านกับธนาคารอื่น ด้วยยอดเงินกู้คงเหลือ 3,000,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.90% ต่อปี และมีค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนเท่ากันกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา

จากการคำนวณเห็นได้ว่าเราสามารถประหยัดไปได้หลายแสนเลยทีเดียว
 
การคำนวณดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้าน

Checklist ดี ๆ ก่อนยื่นเรื่องขอรีไฟแนนซ์บ้าน

1.  อย่าเพิ่งเปรียบเทียบเพียงแค่ % ดอกเบี้ย

ให้ดูอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์เฉลี่ย 3 ปีว่าเป็นเท่าไหร่  เพราะบางครั้งธนาคารจะให้เป็นขั้นบันไดในช่วง 3 ปีแรก หรือ บางธนาคารมีหลายทางเลือกให้เราเปรียบเทียบ เช่น ตัวอย่างด้านล่าง
 
ทางเลือก อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี) อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี
ปีที่ 1 ปีที่ 2 ปีที่ 3 หลังจากนั้น
1 2.85% 3.85% 4.85% MRR-1.5% 3.85%
2 3.15% 3.25% MRR-2.45% MRR-1.50% 3.78%
3 MRR-2.70% MRR-2.65% 4.70%
*MRR = 7.40% ต่อปี
ซึ่งแน่นอนว่าการมีหลายทางเลือกย่อมดีกว่า เพราะเราสามารถเลือกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ เช่น ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นการเลือก Fixed rate แบบทางเลือก 1 นั้นย่อมดีกว่า หรือหากเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลง การเลือกดอกเบี้ยแบบลบจาก MRR อย่างทางเลือก 2 และ 3 อาจได้รับผลประโยชน์มากกว่า
 

2. ค่าใช้จ่ายของการรีไฟแนนซ์

การรีไฟแนนซ์บ้าน (Refinance) จริง ๆ แล้วมีค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องเตรียมกันอยู่ด้วย ซึ่งในส่วนนี้เราจะพูดถึงค่าใช้จ่ายหลัก ๆ กันก่อนเพื่อให้หลายคนที่คิดจะรีไฟแนนซ์บ้านได้เตรียมตัววางแผนงบประมาณค่าใช้จ่ายก้อนนี้ไว้ ได้แก่
  1. ค่าประเมินราคา = 2,000-3,500 บาท (ขึ้นอยู่กับธนาคาร และบางธนาคารก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้)
  2. ค่าจดจำนอง 1% ของยอดสินเชื่อใหม่ (ค่าใช้จ่ายนี้เราเสียให้กรมที่ดิน) หรือ ล้านละ 10,000 บาท นั่นเอง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
  3. ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ (ไม่เกิน 10,000 บาท)
  4. ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ หรือ ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ของธนาคาร
  5. ประกันอัคคีภัย โดยปกติต้องทำทุก 1-3 ปี ตามกฎหมาย
  6. ค่าเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ หรือ MRTA โดยปกติหากเราทำ MRTA ร่วมกับการกู้ขอสินเชื่อ ธนาคารมักจะให้สิทธิพิเศษร่วมด้วย เช่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือฟรีค่าจดจำนอง เป็นต้น
เมื่อรู้ค่าใช้จ่ายของการรีไฟแนนซ์บ้านแล้ว เราควรคำนวณต้นทุนการรีไฟแนนซ์บ้านด้วย โดยเปรียบเทียบค่าดอกเบี้ยที่ลดลงกับค่าใช้จ่ายการรีไฟแนนซ์บ้าน (ต้นทุนการรีไฟแนนซ์) มาหักลบว่าจริง ๆ แล้วเราสามารถประหยัดไปได้เท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจในการเลือกทำธุกรรมได้อย่างเหมาะสม

สำหรับผู้ที่สนใจลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน ขอแนะนำสินเชื่อบ้านกรุงศรีรีไฟแนนซ์ พิเศษ! รับดอกเบี้ยคงที่ 2.85% ต่อปี** นาน 1 ปี หรือเลือกรับดอกเบี้ยทางเลือกฟรีค่าจดจำนอง เมื่อซื้อ MRTA/MLTA ตามเงื่อนไขที่กำหนด ฟรีค่าประเมินหลักประกัน มูลค่า 3,210 บาท

กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว | อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกตลอดอายุสัญญาอยู่ระหว่าง 4.70% - 4.94% ต่อปี**
**สมมติฐานการคำนวณมาจากวงเงินกู้ตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR ณ วันที่ 6 ต.ค. 66 = 7.40% ต่อปี ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ รายละเอียดดอกเบี้ยและการคำนวณเพิ่มเติมดูได้ที่ www.krungsri.com
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา