รู้เท่าทัน 5 กลลวงมิจฉาชีพ หลอกโกงและดูดเงิน

รู้เท่าทัน 5 กลลวงมิจฉาชีพ หลอกโกงและดูดเงิน

By Krungsri Plearn Plearn
เป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมากที่แต่ละวันที่เราจะต้องพบเจอกับมิจฉาชีพหลากหลายรูปแบบ จนบางครั้งเราก็เกือบหลงเชื่อ หรือซ้ำร้ายกว่านี้มีคนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก สูญเสียทรัพย์สินกันไปมากมาย และในวันนี้เราขอพาทุกคนมาดูกันหน่อยว่ามิจฉาชีพรูปแบบไหนบ้างทั้งเก่า และใหม่ที่มีการหลอกลวงมากที่สุดภายในปีนี้ เพื่อเป็นข้อมูลดี ๆ เก็บไว้ระวังตัวกันในปีหน้าจะมีกลโกงอะไรบ้าง? ตามเราไปดูกันได้เลย

5 กลลวงมิจฉาชีพอย่าหลงเชื่อถ้าไม่อยากถูกหลอก โกง หรือ ดูดเงิน!

กลลวงมิจฉาชีพ หลอกโกงเงิน

1. ใช้ AI ปลอมเสียงเป็นคนดัง

ในตอนนี้มิจฉาชีพก็มีการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ในการเลียนแบบเสียงให้เหมือนกับคนดัง ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง หรือนักธุรกิจชื่อดัง ซึ่งก็จะมีการชักชวนให้ไปทำอะไรบางสิ่ง หรือมีการชี้แนะนำเกี่ยวกับการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งก็ทำให้เหยื่อนั้นเกิดการหลงเชื่อ อีกทั้ง AI ที่ปลอมเสียงนั้น ถึงแม้จะมีเสียงที่มีความมีการดัดแปลงอยู่สักนิด แต่หากฟังดี ๆ มีจุดบอดที่แตกต่างจากเสียงของคนที่แอบอ้างมาอยู่แน่นอน

ซึ่งวิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าเป็นคนดัง หรือนักธุรกิจที่ถูกอ้างถึงหรือไม่ คือ การดูเลขรหัสเบอร์โทรศัพท์หากไม่อยู่ในประเทศไทย ก็ไม่ต้องคุยให้เสียเวลา สามารถตัดสายทิ้งได้เลย และข้อสำคัญ คนดัง หรือนักธุรกิจที่ถูกอ้างจะไม่โทรหาเราเองอย่างแน่นอน มั่นใจได้เลย
(Ref. https://www.youtube.com)

2. แก๊งบัญชีม้าหลอกให้กดเงินตู้ ATM

สำหรับวิธีนี้เป็นวิธีที่เหล่ามิจฉาชีพจะเอาไว้ใช้เมื่อต้องการจะกดเงินผ่านตู้ ATM ซึ่งส่วนใหญ่เหยื่อก็จะเป็นคนใจดีที่จะไปกดเงินผ่านตู้ ATM ให้ และแน่นอนว่าหากได้กดเงินด้วยบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตผ่านตู้แล้ว ก็จะมีการบันทึกว่าใครเป็นผู้กดเงินตอนไหน

ซึ่งการที่มิจฉาชีพได้ใช้ให้คุณไปกดเงินแบบนี้ก็เป็นการหลอกลวงที่จะทำให้คุณนั้นเข้าข่ายของการเป็นผู้เสียหายจากการเปิดบัญชีม้าได้อีกด้วย อย่าปล่อยให้ความใจดี ทำร้ายตัวเอง ใครขอให้ช่วยกดเงิน อย่าทำเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นเราจะมีความผิดร่วมกับมิจฉาชีพกลุ่มนี้ได้
(Ref. https://youtube.com)

3. หลอกว่าเป็นคนรู้จัก

สำหรับข้อนี้จะเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คน มักจะเจอกันบ่อยมาก ๆ โดยจะมาในรูปแบบของเบอร์แปลกที่ไม่เคยเห็นมาก่อนโทรเข้ามา และหากเราได้ทำการรับสายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการถามก่อนเลยว่า “จำเราได้ไหม เราคือ...นะ ตอนนี้มีปัญหาขอยืมเงินหน่อย” เพื่อที่จะย้ำให้เรานั้นเข้าใจว่าเป็นคนรู้จักของเรา ซึ่งมิจฉาชีพพวกนี้ก็มักจะมีข้อมูลของผู้ที่เรารู้จักผ่านทางโซเชียลต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ก็เป็นได้ โดยเฉพาะทางเฟสบุ๊ค ที่จะมีการให้เราได้ใส่เบอร์โทรศัพท์เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน แต่ในส่วนนี้เราก็สามารถตั้งค่าการมองเห็นปิดบังข้อมูลส่วนตัวอันนี้ไว้ได้เช่นกัน และมิจฉาชีพที่ได้โทรเข้ามาก็มักจะโทรมาในเวลาที่เราอาจยุ่ง จนไม่ทันได้เช็กข้อมูล กว่าจะรู้ตัวก็เผลอโอนเงินไปให้แล้ว ถ้าไม่อยากเจ็บใจ และเสียเงิน จะสนิทแค่ไหนอย่าให้ใครยืมเงิน
มิจฉาชีพ คอลเซนเตอร์หลอกลวงเงิน

4. โทรมาจากตัวแทนการลงทุน

เป็นมุกประจำของมิจฉาชีพที่มักติดต่อเราโดยอ้างตัวเป็นตัวแทนการลงทุน เช่น เป็นตัวแทนประกัน ซึ่งในตอนนี้ก็จะเห็นได้ว่าประกันชีวิตหลายแห่ง จะมีการใช้เบอร์ปกติโทรเข้ามาเพื่อเป็นเบอร์ปกติที่ขึ้นต้นด้วย 08 หรือ 09 แต่ก็ยังมีที่เป็นเบอร์เฉพาะที่ขึ้นต้นด้วย 02 หรือตัวเลข 4 ตัวที่เป็นเบอร์สายด่วน ซึ่งมิจฉาชีพก็จะอาศัยโอกาสนี้ในการโทรเข้าหาผู้ที่มีประกันอยู่แล้ว ให้ทำการโอนเงินผ่านอีกหนึ่งช่องทาง

ซึ่งหากใครที่มีประกันอยู่ก็อาจจะหลงเชื่อ และทำการโอนผ่านอีกหนึ่งบัญชีที่จะทำให้คุณนั้นต้องทรัพย์สินที่มีอยู่ หรือในบางกรณีก็จะเห็นได้ว่ามิจฉาชีพเหล่านี้จะใช้วิธีการโทรเพื่อขายประกันเสียเองเลย และยังมีเบี้ยที่คุ้มมาก ๆ และหากใครได้หลงเชื่อก็มักจะโดนหลอก ถ้าอยากซื้อประกันจริง ๆ สามารถไปที่ตัวแทนประกันที่มีหน้าร้าน หรือที่สถาบันการเงินได้เลย ซื้อง่าย แถมชัวร์กว่าเยอะ
(Ref. https://www.prakun.com)

5. วางดาวน์สินค้าราคาถูกแล้วให้เอาของไปใช้

เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงจะมีสิ่งของที่อยากได้ อยากใช้กันแบบเร็ว ๆ โดยเฉพาะแก็ดแจ็ตไอที หรือสินค้าแฟชั่น แบรนด์เนม ที่ในปัจจุบันได้มีการเปิดหน้าร้านผ่านทางโซเชียลอย่างมากมาย ซึ่งหากได้ร้านที่ดีคุณก็จะได้รับของตรงปก และเป็นของแท้ ที่มาพร้อมกับการวางดาวน์รับของที่มีอยู่จริง แต่หากใครที่โชคร้ายก็จะเจอกับเหตุการณ์วางเงินดาวน์สูง ๆ แล้วค่อยรับของไปใช้ ที่โอนไปปุ๊ป ก็โดนมิจฉาชีพบล็อกทันที เหมือนกับข่าวดังที่เราเห็นในโซเชียล ที่โดนร้านค้าโกงเงิน ซึ่งเป็นวิธีการให้วางเงินดาวน์สินค้าแบบนี้แหละ หากใครเจอร้านที่ให้วางเงินดาวน์แบบนี้ ไม่ต้องเสียดาย เปลี่ยนไปใช้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีหน้าร้านจริง ๆ ดีกว่า หรือร้านโทรศัพท์บางแห่งก็มีบริการนี้ ของแบบนี้ได้จับของจริงก่อน อย่าเพิ่งเชื่อใจ และโอนเงินให้ใครเด็ดขาด
(Ref. https://www.youtube.com)

4 วิธีรับมือจากกลลวงของมิจฉาชีพสายโกง

1. มีสติ คิดเยอะ ๆ ก่อนพูดข้อมูลกับใคร

ในกรณีที่มีมิจฉาชีพโทรเข้ามาว่าเป็นคนรู้จัก หรือมีการติดต่อมาจากทางตัวแทนบริษัทใหญ่ อย่างที่เราได้ยกตัวอย่างไป ในกรณีนี้ผู้รับสายหากเริ่มรู้ตัวว่ามีความผิดปกติในการสนทนาเข้าแล้ว ให้ชั่งใจ และไม่พูดข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลที่เป็นความจริงออกไป ให้รีบตัดบทสนทนาแล้วตัดสายทิ้งไปได้เลย เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ก่อนที่มิจฉาชีพจะได้ข้อมูลส่วนตัวของเราไปอยู่ในมือ
มิจฉาชีพแก๊งเงินกู้นอกระบบ หลอกให้คลิกลิงก์ดูดเงิน

2. ไม่โอนเงินก่อนเช็กความจริง

หลาย ๆ คนก็เจอปัญหากับการที่มิจฉาชีพหลอกโอนเงินกันมาบ้าง ไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ ที่ผ่านการแอบอ้างว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือการแอบอ้างว่าพัสดุของคุณตกหล่นก็มี อย่าเพิ่งโอนเงินก่อนเช็กความจริงว่าพัสดุของคุณนั้นตกหล่นจริงหรือไม่ และถ้าเอาคืนมิจฉาชีพเหล่านี้เราสามารถหลอกล่อ ล้วงหมายเลขบัญชีจากมิจฉาชีพ แต่อย่าโอนเงินไปนะ นำหมายเลขบัญชีไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีกับมิจฉาชีพแบบนี้ได้เหมือนกัน

3. บันทึกสนทนาในทันทีที่เริ่มรู้ตัว

เมื่อเรารู้สึกว่าปลายสายที่เราได้ทำการพูดคุยนั้นไม่ใช่คนรู้จัก และมีความชัดเจนมากขึ้นว่านี่ล่ะ คือมิจฉาชีพแน่ ๆ สิ่งที่เราควรจะมีติดมือถือไว้เลยก็คือ แอปฯ บันทึกเสียงสนทนา เพราะจะทำให้คุณมีหลักฐานในการสนทนาที่เป็นหลักฐานชั้นดีในการเข้าแจ้งความได้ดำเนินคดีกับมิจฉาชีพได้นั่นเอง

4. เก็บบันทึกประวัติแชต และข้อมูลต่าง ๆ ของมิจฉาชีพให้พร้อม

หากใครที่ถูกหลอกผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของแอปฯ หาคู่ หรือการทำทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องแอดไลน์นั้น ให้ทำการเก็บบันทึกประวัติการแชตเอาไว้ทั้งหมดเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีหากคุณนั้นได้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดนหลอกดูดเงิน ควรรีบไปแจ้งความออนไลน์
ในช่วงนี้ใครที่ยังพบเจอมิจฉาชีพ โทรเข้ามาหรือทักเข้ามาหาคุณ อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวหรือทำการโอนเงินต่าง ๆ ไปให้ใครเด็ดขาด เพราะนั่นอาจจะทำให้ข้อมูลของคุณที่เป็นส่วนตัวกลายเป็นข้อมูลสาธารณะอีกทั้งยังเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

หรือหากใครที่สงสัยว่ามิจฉาชีพรู้ชื่อนามสกุลได้อย่างไร ก็สามารถกดตัดสายไปได้เลย ไม่ต้องไปคุยให้เสียเวลา ไม่ต้องกลัวจะมีความผิด เจอแบบนี้คุยให้น้อยที่สุด จะได้ไม่เสียทั้งเวลา และทรัพย์สินที่เก็บมาอย่างยากลำบาก

ถ้าหากใครตกเป็นเหยื่อ หรือมีแนวโน้มจะโดนหลอก โดนโกง เราสามารถติดต่อไปได้ที่
  • สายด่วนของธนาคารกรุงศรีได้เลย โทร. 1572 กด 5 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • สายด่วน สอท. 1441
  • ศูนย์ PCT O81-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow