หนึ่งร้อยเยน คิดเป็นเงินไทย มีมูลค่าประมาณ 33 บาท
แต่ในสายตาคนญี่ปุ่นนั้น เงินหนึ่งร้อยเยนเป็นเงินที่ถูกมาก ให้ความรู้สึกเหมือนธนบัตร 20 บาทหนึ่งใบ เพราะฉะนั้น ร้านร้อยเยนสำหรับคนญี่ปุ่นนั้น ก็เปรียบได้กับร้านทุกอย่าง 20 บาทในบ้านเรานั่นเอง
แม้สินค้าจะราคาถูกอย่างไร แต่ร้านร้อยเยนต่าง ๆ ใน
ญี่ปุ่น ก็ยังไม่ลืมความใส่ใจ และพัฒนาสินค้าร้อยเยนจนไปอยู่ในระดับที่แม้แต่ลูกค้าญี่ปุ่นเอง ก็ตกใจว่า “นี่หรือคือของร้อยเยน”
ร้านร้อยเยนญี่ปุ่นใส่ใจอย่างไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ
1. ใส่ใจในความน่ารัก
สินค้าร้านร้อยเยน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านร้อยเยนที่ชื่อ Seria นั้น นอกจากราคาถูกแล้วยังหน้าตาน่ารักอีกด้วย
สินค้าตัวหนึ่งที่เป็นที่นิยมมาก คือ ถุงซิปแบ๊ค แทนที่จะเป็นถุงใส ๆ ธรรมดา ร้าน Seria กลับสกรีนเป็นรูปขวดโหลหรือกระปุกต่าง ๆ ทำให้เวลาใส่ของลงในถุงเหล่านี้แล้ว ดูน่ารักขึ้นมาทันตา
อบคุ้กกี้แล้วแบ่งใส่ถุงเล็ก ๆ ไปฝากเพื่อน ก็ดูน่ารักและมีคุณค่า
cr.
locari.jp
2. ใส่ใจในการซาวข้าว
ทั้งคนไทยและญี่ปุ่นทานข้าวเป็นอาหารหลัก หนึ่งปัญหาที่เราลืมไปแล้วว่ามันคือปัญหา คือ การซาวข้าว
คุณผู้อ่านเคยหงุดหงิดเวลาซาวข้าวไหมคะ การที่เราต้องค่อย ๆ ประคองชามใส่ข้าวสารเพื่อรินน้ำออกทีละนิด ๆ และระวังไม่ให้ข้าวหกออกมาหมด
วันนี้ ร้านร้อยเยนยักษ์ใหญ่อย่างไดโสะมีทางแก้ด้วย “ตะกร้าล้างข้าว”
หน้าตาอาจดูเหมือนตะกร้าพลาสติกธรรมดา แต่แฝงไปด้วยความใส่ใจในรายละเอียด เพื่อให้ลูกค้าสามารถล้างข้าวได้อย่างง่ายที่สุด
รูระบายน้ำขนาดเล็กที่เมล็ดข้าวไม่สามารถหลุดรอดผ่านไปได้
cr.
enuchi.jp
เมื่อล้างข้าวเสร็จ ก็มีปากตะกร้า เพื่อให้เทข้าวจากตะกร้าลงหม้อหุงข้าวได้สะดวกที่สุด
cr.
enuchi.jp
ย้ำอีกครั้งว่า นี่คือสินค้าร้อยเยน หาซื้อได้ที่ร้านไดโสะประเทศญี่ปุ่นค่ะ
3. ใส่ใจในการอุ่นและล้าง
สินค้าตัวนี้ ชื่อ กล่องพลาสติกล้างสะดวก (ラクチンパック) ร้านร้อยเยนชื่อ Seria ไปเจอ Pain point หนึ่งของสาว ๆ ได้แก่ การล้างกล่องพลาสติกใส่อาหารนั่นเอง
ฝากล่อง มักจะมีรอยหยัก และขอบลึก ทำให้เศษอาหารเข้าไปติดง่าย เวลาล้าง บางที เราอาจเผลอล้างน้ำยาล้างจานที่ติดตามร่องที่ฝาออกไม่หมด
ทาง Seria จึงพยายามออกแบบกล่องให้ฝาไม่มีขอบหยักเข้าไปด้านใน แถมเพิ่มฟังก์ชั่นพิเศษ คือ สามารถปิดฝากล่องแล้วนำเข้าไมโครเวฟได้ ไม่ต้องกลัวกล่องระเบิด
ฝากล่องถูกออกแบบมาให้ยกตัวขึ้นได้ง่าย หากเข้าไมโครเวฟแล้วมีไอน้ำจากอาหารลอยออกมาดัน (โดยไม่ระเบิดออกมา)
ทางร้านยังทำกล่องประเภทนี้ออกมาหลายขนาด ได้แก่ ขนาด 270 มิลลิลิตร (ประมาณข้าวสวยหนึ่งถ้วย) และ 400 มิลลิลิตร
4. ใส่ใจในการปิดกล่อง
ปัจจุบัน คนยุคใหม่มักสั่งซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ติดตามเรามาด้วย คือ กล่อง/ลังกระดาษนั่นเอง
หลายคนปรารถนาที่จะนำกล่องเหล่านี้มาใส่ของอย่างอื่น แต่อาจมีปัญหาที่ ต้องคอยหาเทปมาปิดฝากล่องใหม่ จะปิดเปิดก็ไม่สะดวก
ร้านไดโสะมีนวัตกรรมใหม่ ชื่อ “DAN CLIP (ダンクリップ)” เพื่อ
ตอบโจทย์ลูกค้า
กลไกง่ายมาก เพียงสอดคลิปเข้าไปในฝากล่อง แล้วปิดฝาอีกด้านลงมาหนีบ ก็จะยึดฝากล่องอยู่แล้ว
เจ้า DAN CLIP นี้ มีหน้าตาแบบด้านล่างเลยค่ะ
ทางไดโสะเอง ทำคลิปเช่นนี้ออกมาหลายสี เช่น ชมพู เหลือง แดง เขียว เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้คลิปต่างสีแยกแต่ละกล่องออกจากกันได้ง่ายขึ้น
จะเห็นได้ว่า สินค้าที่เกิดจากความใส่ใจข้างต้นนั้น ล้วนแล้วแต่ผ่านการคิดไตร่ตรองจากร้านร้อยเยน ทุกร้านพยายามหาปัญหาที่ลูกค้าเผชิญ โดยเป็นปัญหาที่ลูกค้าเอง อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา เช่น การกลัวข้าวหกเวลาซาวข้าว หรือกล่องพลาสติกที่ล้างยาก
หากใส่ใจเพิ่มอีกเล็กน้อย ท่านอาจได้ไอเดียในการปรับสินค้าปัจจุบัน ให้กลายเป็นสินค้าใหม่ที่ผู้บริโภคสุขใจที่จะใช้ก็ได้
ลองมาสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า และใส่ใจในการแก้ปัญหาลูกค้ากันนะคะ ท่านอาจได้
ไอเดียสินค้าใหม่ดี ๆ อีกเยอะเลยค่ะ