เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน “คุณภาพ ดีไซน์ นวัตกรรม” ตอบโจทย์ลูกค้า

เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน “คุณภาพ ดีไซน์ นวัตกรรม” ตอบโจทย์ลูกค้า

By Krungsri GURU SME

ในบรรดาธุรกิจส่งออกที่ทำเงินเข้าประเทศหลักหลายหมื่นล้านบาทมีไม่กี่ประเภท หนึ่งในนั้น คือ สินค้าและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านซึ่งมีผู้ประกอบการในบ้านเราหลายพันราย ทั้งรายเล็กรายใหญ่รวมไปถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่ทำธุรกิจดังกล่าวถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินสะพัดมหาศาล

แม้ปีที่ผ่านมายอดส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น จะลดลงจากปี 2556 แต่ในปีนี้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าตัวเลขส่งออกน่าจะดีขึ้นกว่าปี 2557 แน่นอน เพราะภาพรวมของเศรษฐกิจโลกดีขึ้น
อย่างไรก็ตามในภาวการณ์ตลาดของโลกที่มีการแข่งขันกันสูง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านของไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในเรื่องการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ การดีไซน์ การใช้ประโยชน์ รวมถึงเรื่องราคา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าคู่แข่งของไทยนั้นนอกจากจะมีประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน อย่างเวียดนามและมาเลเซียแล้ว ยังรวมไปถึงจีนอีกด้วยแต่ในขณะเดียวกันจีนก็ถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญอีกราย
ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านของไทยมีคุณภาพแม้ราคาจะต่างจากสินค้าเมดอินไชน่า 2-3 เท่าก็ตาม แต่ลูกค้าต่างประเทศหลักญี่ปุ่นยอมเสียเงินซื้อในราคาที่แพงกว่าเพราะมั่นใจคุณภาพ และชื่นชอบดีไซน์ของผู้ประกอบการไทย ซึ่งตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
อย่างที่เกริ่นไปแต่แรกว่าภาพรวมของตลาดส่งออกใน 2557 กำลังซื้อในยุโรปและอเมริกาลดลง แต่ในส่วนของญี่ปุ่นตลาดนี้ยังไปได้ดี ด้วยเหตุนี้หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยหันมาเน้นตลาดญี่ปุ่นให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพมีกำลังซื้อสูงและนิยมชมชอบสินค้าไทย อาทิ เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา รวมถึงผลิตภัณฑ์เซรามิกทั้งหลาย
ควรผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมของผู้คน
สำหรับการทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นนั้น ผู้ประกอบการจะต้องรู้ข้อมูลก่อนว่า ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนถึง 30% ของประชากร และเป็นผู้มีกำลังซื้อสูง ดังนั้นควรโฟกัสไปที่ลูกค้ากลุ่มดังกล่าว โดยควรผลิตสินค้าในลักษณะที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมของผู้คน นอกจากนี้จะต้องมีความประณีตและเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก พร้อมกับมีเรื่องราวของสินค้านั้น ๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวสินค้า ที่สำคัญการนำวัตถุดิบมาใช้รวมทั้งกระบวนการผลิตจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกยึดถือปฏิบัติกัน
นอกจากผู้ประกอบการไทยจะยังคงเน้นตลาดหลัก ๆ ในการส่งออก ขณะเดียวกันควรมองหาตลาดใหม่ ๆ พร้อมกันไปด้วย เนื่องจากมีกำลังซื้อเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจใหม่ อย่างเช่น BRICS ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ รวมไปถึงตลาดเกาหลีใต้และออสเตรเลียด้วย ซึ่งยังไม่ค่อยรู้จักสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเมดอินไทยแลนด์ดีนัก ประเด็นนี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ หากผู้ประกอบการรายใดที่จะไปรุกตลาดดังกล่าวคงจะต้องศึกษาหาข้อมูลจากสถานทูตในประเทศนั้น ๆ ก่อน
ว่าไปแล้วใช่เพียงสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจะส่งออกและทำรายได้หลักหลายหมื่นให้กับประเทศเราอย่างเดียว แม้ตลาดในประเทศเองก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่ร่ำรวยจากการทำอาชีพนี้เพราะกำลังซื้อในประเทศยังมีอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีเอกลักษณ์และอยู่ในเทรนด์ อย่างกรณีของ “คุณกลอยกมล สุทธิ์สำแดง” เจ้าของธุรกิจขายของตกแต่งบ้านและสวนสไตล์วินเทจที่ใช้ชื่อร้านว่า “ลัลลา โฮม” ปัจจุบันมีสาขาอยู่ 10 กว่าแห่ง และตั้งเป้าจะขยายสาขาให้ได้ปีละ 10 แห่ง
เจ้าของบริษัทลัลลา โฮม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจสินค้าตกแต่งบ้านว่า แม้ตลาดนี้จะเป็นตลาดใหญ่แต่ก็มีผู้เล่นจำนวนมากทั้งแบรนด์เล็กและแบรนด์ใหญ่ ดังนั้นเมื่อเข้ามาแล้วควรจะต้องมาสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไม่ควรจะยึดติดกับรูปแบบที่ตายตัว ควรจะดูเทรนด์ประกอบด้วย เพราะปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสไตล์วินเทจยังอยู่ในกระแส แต่ในสภาพความเป็นจริงก็มีการเปลี่ยนคอลเลคชั่นอย่างต่อเนื่อง
สรุปโดยภาพรวมแล้วสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านของไทยยังคงเป็นธุรกิจที่ยังเติบโตได้ดีในอนาคต แม้ในบางช่วงเวลาอาจจะชะงักไปบ้างจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวลง แต่ก็เกิดขึ้นเพียงครั้งคราว
ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจนี้ยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นสินค้าส่งออกหรือขายภายในประเทศก็ตาม
หัวใจหลักอยู่ที่คุณภาพ รูปแบบการดีไซน์ การใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และราคาสมเหตุสมผล
รวมถึงขั้นตอนการผลิตที่ยึดแนว Eco-friendly (สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) และใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งหากผู้ประกอบการผลิตสินค้าได้ครอบคลุมตามองค์ประกอบที่ว่าย่อมตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกชาติทุกภาษา และนั่นก็หมายถึงความยั่งยืนของธุรกิจ บวกกับความสามารถที่จะแข่งขันได้ไม่ว่าจะเป็นตลาดในหรือนอกประเทศ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา