การเสียภาษีจัดว่าเป็นหน้าที่พลเมืองอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำที่ต้องนำส่งภาษีเข้ารัฐเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐได้เปิดโอกาสให้ประชาชนขอหักลดหย่อนภาษีเพื่อนำส่วนต่างจากการลดหย่อนไปใช้จ่าย หรือลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
การเปิดโอกาสในการขอหักลดหย่อนภาษีนี้เองที่ทำให้การวางแผนภาษีมีความสำคัญในฐานะของเครื่องมือที่ช่วยให้คุณได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีเงินเหลือเก็บ หรือไปลงทุนต่อยอดได้อีกด้วย บทความนี้ Krungsri The COACH จะพาคุณไปดูโครงสร้าง และวิธีการคำนวณภาษีเพื่อให้คุณสามารถวางแผนภาษีให้เหมาะสมกับความต้องการทางการเงินของคุณ
ภาษีเงินได้คิดกันอย่างไร ยื่นแบบไหนดี?
สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งแบบ ภงด. 90 และ ภงด.91 หากรายได้ขั้นต่ำต่อปีถึงเกณฑ์ คุณต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ คือ
แล้วเราควรยื่นแบบ ภงด. 90 หรือ ภงด. 91 ดี? ดูได้ง่าย ๆ จากแหล่งรายได้ หากรายได้ของคุณมาจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียวให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 แต่ถ้ามีรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือนให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 โดยจะต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม ของปีถัดไป
ประเมินเงินได้ของแต่ละคน ต้องคำนวณจากอะไรบ้าง สรุปมาให้แล้ว!
คำนวณมาจากรายได้ทั้งหมดในทั้งปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม มีรายละเอียดดังนี้
- เงินเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนธันวาคม และเงินโบนัส (ถ้ามี) ซึ่งปกติทางบริษัทจะสรุปมาให้ในใบ 50 (ทวิ) อยู่แล้ว สามารถนำมาใช้ยื่นภาษีได้เลย
- รายได้จากแหล่งอื่น ๆ เช่น งานฟรีแลนซ์ ผลตอบแทนจากการลงทุน หรือค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น (ถ้ามี)
ก่อนจะไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้เอาตัวเลขเงินได้ของแต่ละคนไปหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 40 (1) 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เพื่อคิดเป็น “เงินได้สุทธิ” ให้เรียบร้อยก่อนด้วย
แนะนำวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ส่วนวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเบื้องต้นคือ ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ X อัตราภาษี ในที่นี้ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2568 สามารถคิดได้ 2 วิธี คือ
1. การคิดแบบขั้นบันได
สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำเพียงช่องทางเดียว เช่น เงินเดือนประจำ มีอัตราภาษี ดังนี้
เพื่อให้คุณคำนวณภาษีได้ง่าย ๆ เราได้สรุปสูตรคำนวณในแต่ละขั้นบันไดมาให้แล้ว นำไปใช้ได้เลย
- เงินได้สุทธิ 0 - 150,000 บาท : ยกเว้นภาษี
- เงินได้สุทธิ 150,001 - 300,000 บาท : (เงินได้สุทธิ - 150,000) X 5%
- เงินได้สุทธิ 300,001 - 500,000 บาท : [(เงินได้สุทธิ - 300,000) X 10%] + 7,500
- เงินได้สุทธิ 500,001 - 750,000 บาท : [(เงินได้สุทธิ - 500,000) X 15%] + 27,500
- เงินได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 บาท : [(เงินได้สุทธิ - 750,000) X 20%] + 65,000
- เงินได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 บาท : [(เงินได้สุทธิ - 1,000,000) X 25%] + 115,000<>/li>
- เงินได้สุทธิ 2,000,0001 - 5,000,000 บาท : [(เงินได้สุทธิ - 2,000,000) X 30%] + 365,000
- เงินได้สุทธิตั้งแต่ 5,000,001 ตั้งแต่ : [(เงินได้สุทธิ - 5,000,000) X 35%] + 1,265,000
2. การคิดแบบเหมาจ่าย
ในกรณีที่มีรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากรายได้ประจำมากกว่า 120,000 บาทขึ้นไป ให้คำนวณแบบเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมินหลังหักรายได้ประจำออกจากเงินได้ประเภทอื่น ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหากคำนวณแล้วได้ยอดภาษีต่ำกว่า 5,000 บาท ให้ยกเว้นภาษีก้อนนี้ไป
“สูตรการคิดภาษีแบบเหมา = (เงินได้ทุกประเภท - เงินเดือน) X 0.005”
หากคุณมีรายได้ทั้งในรูปแบบของรายได้ประจำ และรายได้อื่น ๆ เกิน 120,000 บาทต่อปี
ให้คำนวณทั้งสองรูปแบบ และจ่ายภาษีตามรูปแบบที่คำนวณแล้วได้ยอดภาษีเงินได้สูงกว่าเท่านั้น
โดยการคำนวณอัตราภาษีทั้งสองรูปแบบนั้นสามารถหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนเพื่อลดเงินได้พึงประเมินลงได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สามารถหักลบได้ในแต่ละปีภาษีนั้นสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนค่าลดหย่อนนั้นจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละบุคคล
อะไรที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้บ้าง อัปเดตสิทธิลดหย่อนภาษี 2568
จะเห็นได้ว่า ค่าลดหย่อนภาษีได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดเงินได้สุทธิลง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีเงินได้ในช่วงที่คาบเกี่ยวระหว่างขั้นภาษีพอดี เพราะค่าลดหย่อนจะทำให้คุณไม่ต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งค่าลดหย่อนภาษีในปี 2568 สำหรับยื่นภาษีปี 2569 แบ่ง
รายการลดหย่อนภาษีเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ คือ
กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว และครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์ และคลอดบุตร หักได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตร โดยถ้าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม จำกัดไม่เกิน 3 คน มีเงื่อนไขดังนี้
- บุตรอายุไม่เกิน 20 ปี ลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท
- ถ้าอายุ 21 – 25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
- กรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 คนละ 60,000 บาท
- บุตรที่นำมาลดหย่อนภาษี ต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา อายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท
- ค่าอุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อนจากประกัน และการลงทุน
- เงินประกันสังคม ไม่เกิน 9,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิต และประกันแบบสะสมทรัพย์ ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพของตนเอง ไม่เกิน 25,000 บาท (รวมกับประชีวิต ไม่เกิน 100,000 บาท)
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา 15,000 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ไม่เกิน 100,000 บาท
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
- ผู้ที่ซื้อกองทุน Thai ESGX ในปี 2568 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
- ผู้ที่สับเปลี่ยนกองทุน LTF มาที่ Thai ESGXในปี 2568 ตามเงื่อนไขที่กำหนด ลดหย่อนภาษีได้ 300,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง 30,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
หมายเหตุ :
*สิทธิลดหย่อนภาษีจากกองทุน Thai ESG, Thai ESGX และผู้ที่สับเปลี่ยนกองทุน LTF มาที่ Thai ESGX จะถูกคิดแยกกันในปี 2568 แต่สำหรับเงินได้ในปี 2569 ที่ต้องยื่นภาษีในปี 2570 จะถูกคิดรวมกัน โดยลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
*ค่าลดหย่อนจาก SSF, RMF และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อนจากเงินบริจาค
- เงินบริจาคเพื่อการกุศล หักได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา เพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคแก่พรรคกลางเมือง 10,000 บาท
กลุ่มที่ 4 ค่าลดหย่อนจากอสังหาริมทรัพย์ และการลดหย่อนอื่น ๆ
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หักได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- Easy E-Receipt 2.0 (Easy E-Receipt 2568) ขอลดหย่อนภาษีตามจ่ายจริงได้สูงสุด 50,000 บาท
Krungsri The COACH แนะนำ : วางแผนภาษีอย่างไรให้มีเงินเหลือเก็บ
เพราะภาษีเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเป็นระบบ และไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ทำให้การวางแผนภาษีให้เหลือเงินออมได้ในทุก ๆ ปีนั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ซึ่งเราอยากให้คุณวางแผนภาษีล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี เพื่อที่คุณจะได้มีแผนทางการเงินของคุณอย่างรอบด้าน ทั้งแผนการออม การลงทุน และภาษี นอกเหนือไปจากการที่คุณจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
โดยการวางแผนภาษีนั้นสามารถทำได้ผ่าน 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. ประมาณการรายได้
โดยปกติฐานภาษีจะคำนวณจากรายได้รวมทั้งปี การประมาณการรายได้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคำนวณยอดภาษีที่ต้องจ่ายในปีนั้น ๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่รายได้คงที่อาจจะคำนวณจากเงินเดือนได้โดยตรง แต่สำหรับฟรีแลนซ์ หรือคนที่มีรายได้ไม่คงที่ ให้ลองเฉลี่ยรายได้ต่อเดือนในปีที่ผ่านมา และใช้ตัวเลขนี้ในการประมาณการรายได้ในปีต่อไป
2. คำนวณสิทธิลดหย่อนภาษีที่มีอยู่แล้ว
เมื่อทราบยอดรายได้ที่คาดว่าจะได้รับในปีนี้แล้ว ให้นำมาหักด้วยค่าใช้จ่าย และสิทธิลดหย่อนทั้งหมดที่เข้าเกณฑ์ ซึ่งจะได้ยอดเงินได้พึงประเมินออกมา และให้ใช้ยอดเงินได้พึงประเมินนี้คำนวณภาษี หากคำนวณแล้วยอดภาษีที่ต้องจ่ายอยู่ในเกณฑ์ที่พอใจ หรืออยู่ในเกณฑ์ที่สามารถขอคืนภาษีได้ก็สามารถหยุดอยู่ที่ขั้นตอนนี้ได้ หากคุณไม่อยากคำนวณภาษีเอง หรือไม่แน่ใจว่าที่คำนวณออกมานั้นถูกต้องหรือไม่ เรามี
เครื่องมือคำนวณภาษีให้คุณเลือกใช้ได้ด้วยเช่นกัน
3. หาสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม
หากคำนวณมาแล้วคุณยังต้องจ่ายภาษีในจำนวนเงินที่สูงอยู่ หรือคิดว่าสามารถลดหย่อนภาษีลงไปได้อีก ขั้นตอนต่อไป คือ การหาเครื่องมือช่วยลดหย่อนภาษีที่คุณยังไม่ได้ใช้ แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะลดหย่อนภาษีในปีภาษีที่จะถึง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือกองทุนลดหย่อนภาษีรูปแบบต่าง ๆ
ข้อควรพิจารณาในที่นี้ คือ ควรชั่งน้ำหนักระหว่างยอดภาษีที่ลดหย่อนได้กับเงินลงทุนขั้นต่ำ และผลตอบแทนที่จะได้รับ รวมไปถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการที่เงินก้อนดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าด้วย เพราะในบางกรณียอดภาษีที่คุณได้ลดหย่อนอาจน้อยกว่าผลตอบแทนที่คุณได้จากการนำเงินไปลงทุนอย่างจริงจัง (หลังหักภาษีแล้ว) ก็เป็นไปได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น หากรายได้ของคุณอยู่ในระดับปานกลาง การลงทุนกับประกันชีวิตและประกันสุขภาพก็อาจเพียงพอต่อการลดหย่อนภาษีในแต่ละปี แต่หากคุณมีรายได้อยู่ในเกณฑ์สูง อาจจะต้องพิจารณาเพิ่ม
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อให้ได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีที่มากขึ้นกว่าเดิม
จะเห็นได้ว่า การวางแผนภาษีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะหากคุณรู้จักวิธีการคำนวณภาษี และรู้จักกับเครื่องมือช่วยลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะเครื่องมืออย่างกองทุน RMF และ SSF ที่ช่วยลดหย่อนภาษีต่อเนื่องได้หลายปีทีเดียว อย่างไรก็ตาม การลดหย่อนภาษีในแต่ละปียังมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นอีกด้วย ดังนั้น ขอแนะนำว่าควรติดตามแนวทางการลดหย่อนภาษีในรูปแบบต่าง ๆ จากภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อให้การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคุ้มค่ามากที่สุด