3 ทางเลือกมนุษย์เงินเดือน การจัดการกับ PVD Fund หากลาออกจากงาน
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

3 ทางเลือกมนุษย์เงินเดือน การจัดการกับ PVD Fund หากลาออกจากงาน

icon-access-time Posted On 29 กุมภาพันธ์ 2567
By ปริตา ธิติปรีชาพล
เหล่ามนุษย์เงินเดือนคนทำงานประจำจะต้องเคยได้ยิน และเกี่ยวข้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) ไม่มากก็น้อยกันมาบ้าง ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจเพียงว่า เป็นการบังคับหักเข้ากองทุนนี้ไปทุกเดือนตามที่ทำข้อตกลงไว้ โดยไม่เข้าใจความหมาย หรือจุดประสงค์ที่แท้จริงของกองทุนนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างร่วมกับลูกจ้างจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รับหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเรียกว่า “บริษัทจัดการ” วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง คือ
  1. เพื่อสนับสนุนวินัยในการออมให้กับลูกจ้าง สำหรับเก็บไว้ใช้เมื่อถึงเวลาเกษียณอายุการทำงาน
  2. เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน เพราะนอกจากลูกจ้างต้องจ่ายเงิน “สะสม” เพื่อเก็บออมไว้ในกองทุนทุก ๆ เดือนแล้ว นายจ้างเองก็มีหน้าที่จ่ายเงิน “สมทบ” ให้กับลูกจ้างทุกเดือนอีกด้วย เท่ากับว่าลูกจ้างจะได้กำไรแน่ ๆ จากเงินสมทบที่ได้รับจากนายจ้าง และเงินทั้ง 2 ส่วนนี้มีโอกาสที่จะได้กำไรเพิ่มเติมจากการที่ บลจ. นำเงินไปลงทุนตามแผนการลงทุนที่ลูกจ้างเลือกด้วย
ซึ่งอัตราส่วนของเงินสะสมและเงินสมทบที่จะนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะอยู่ระหว่าง 2% - 15% ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างและข้อบังคับของกองทุน ทั้งนี้บางบริษัทอาจจะเลือกจ่ายเงินสมทบแบบคงที่ หรือจ่ายเพิ่มขึ้นตามอายุงานที่มากขึ้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายในการจ่ายเงินสมทบของบริษัทเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามลูกจ้างเองยังสามารถเลือกที่จะจ่ายเงินสะสมเป็นจำนวนที่ต่ำหรือสูงกว่าสัดส่วนที่ทางบริษัทจ่ายให้ได้ และยังสามารถปรับพอร์ตเพื่อเลือกการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในแต่ละช่วงวัยได้ด้วย

ทั้งนี้ บริษัทสามารถกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้กับการจ่ายเงินสมทบนั้นแก่ลูกจ้าง กรณีลูกจ้างต้องการออกจากงาน เช่น การกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการทำงานอย่างน้อย 3-5 ปี ลูกจ้างจึงจะได้เงินสบทบ และผลประโยชน์จากเงินสมทบ 50% หรือหากทำงานครบ 10 ปี จะได้เงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสบทบ 100% เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับ PVD เมื่อลูกจ้างต้องการลาออก คือ แนวทางในการจัดการกับ PVD Fund ให้เหมาะสมและได้ประโยชน์สูงสุด
 
3 ทางเลือกสำหรับ PVD เมื่อลาออกจากงาน

ลาออกจากงาน ต้องจัดการ PVD Fund อย่างไร

พนักงานประจำหลายคนมักมีความกังวลเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเงิน PVD Fund ในกรณีที่ต้องการย้ายที่ทำงาน หรือลาออกจากบริษัทด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ความกังวลนี้จะหมดไปหากมีความเข้าใจเงื่อนไขของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลาออกไปจะสามารถเลือกทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตนเอง และเงินที่เก็บออมมา

โดยมนุษย์เงินเดือนมี 3 ทางเลือกยอดนิยมที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดการกับเงิน Provident Fund ที่เก็บออมมาทุก ๆ เดือนตลอดระยะเวลาการทำงาน รับรองว่าเมื่ออ่านจบแล้วจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Provident Fund ได้อย่างสบายใจ
 

1. ย้าย PVD มาบริษัทใหม่

เมื่อมีการย้ายที่ทำงาน กรณีที่บริษัทใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหนึ่งในสวัสดิการให้พนักงานเช่นเดียวกับบริษัทเก่า เราสามารถเลือกได้ว่า เราจะย้าย PVD มายังบริษัทใหม่หรือไม่ หากต้องการย้ายก็เพียงแค่ทำเรื่องขอย้ายจากบริษัทเก่ามายังบริษัทใหม่ โดยผ่าน บลจ. ที่บริหารจัดการให้เรา อย่างไรก็ตามควรรอให้ผ่านช่วงทดลองงานในระยะเวลา 3 - 6 เดือนเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถทำงานที่บริษัทใหม่นี้ได้แล้วแน่ ๆ จึงค่อยทำเรื่องย้ายกองทุนมา แต่อย่างไรก็ดีเราสามารถคงเงินออมของเราไว้กับกองทุนของบริษัทเก่าได้ โดยมีค่าธรรมเนียมไม่เกิน 500 บาทต่อปี ทั้งนี้จะสามารถคงไว้ได้นานหลายปีหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุนด้วย
 

2. ย้ายมาลงทุนต่อใน RMF for PVD

ส่วนสำหรับใครที่ต้องย้ายที่ทำงานไปบริษัทใหม่ที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัวก็ตาม และยังไม่อยากนำเงินออกมาใช้ อยากที่จะลงทุนและออมเงินต่อเนื่อง เพื่อเป็นพอร์ตสำหรับการเกษียณอายุ อีกหนึ่งวิธีการนอกจากคงเงินไว้กับ บลจ. ของบริษัทเก่าแล้ว ก็ยังสามารถที่จะย้ายเงินออมทั้งหมดไปไว้ใน RMF for PVD ได้ เพราะสามารถตอบโจทย์ในการลงทุนต่อในระยะยาว เพื่อเงินเกษียณที่จะงอกเงยในอนาคตได้ และที่สำคัญไม่ต้องเสียสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และไม่มีค่าธรรมเนียมในการคงเงินไว้อีกด้วย

ขั้นตอนสำหรับย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาลงทุนต่อใน RMF for PVD ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ติดต่อกับธนาคารที่ต้องการเปิดบัญชีกองทุน RMF for PVD เพื่อแจ้งความต้องการในการย้ายโอนเงินดังกล่าว ซึ่งจะย้ายไป RMF for PVD กองทุนใดนั้น ก็ขึ้นกับว่ากองทุน RMF ใดมีการระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนว่า เปิดรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยนั่นเอง หลังจากแจ้งความต้องการเรียบร้อยแล้วก็สามารถนำเอกสารที่ธนาคารออกให้ไปแจ้งต่อนายจ้างหลังจากสิ้นสภาพความเป็นลูกจ้างของบริษัทนั้น ๆ ภายใน 30 วัน เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย
 

3. ขาย PVD ออกไปรับเงินสด แต่ต้องเสียภาษี

สำหรับคนที่ต้องย้ายที่ทำงาน แต่บริษัทใหม่ไม่มีสวัสดิการ Provident Fund หรือลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัว และขณะนั้นอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้เงินจากกองทุนที่เก็บสะสมมา ก็สามารถเลือกที่จะขาย PVD ออกไปแล้วรับเป็นเงินสดได้ สิ่งที่ควรรู้หากตัดสินใจขายก็คือ ลูกจ้างที่ขายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนอายุ 55 ปี จะต้องเสียภาษี Provident Fund ในส่วนที่เป็นเงินสมทบของนายจ้าง รวมกับผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบที่เกิดขึ้นจากการถือครองกองทุน เพราะนับเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีนั่นเอง

โดยวิธีในการคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายจากเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถแยกได้เป็น 2 กรณี คือ
  1. กรณีมีอายุงานต่ำกว่า 5 ปี

    จะต้องนำผลประโยชน์เงินสะสมในส่วนของเรา รวมกับเงินสมทบ และผลประโยชน์จากเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง ไปคิดรวมกับรายได้อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างปีภาษี และนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียในสิ้นปี
  2. กรณีมีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

    นำผลประโยชน์เงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบของนายจ้าง สามารถใช้สิทธิ์หักค่าลดหย่อนได้ 2 ส่วน ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายส่วนแรก คือ การนำจำนวนปีที่ทำงานคูณกับ 7,000 ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือสามารถนำมาหักได้อีกครึ่งหนึ่งของเงินที่เหลือ
 

ตัวอย่างการคำนวณ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

นาย A ลาออกจากงาน หลังทำมาแล้ว 6 ปี อายุยังไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ เลือกขาย PVD ออกไปเพื่อรับเงินสด โดยได้รับผลประโยชน์จากเงินสะสม เงินสมทบ และเงินผลประโยชน์ของเงินสมทบของนายจ้าง จำนวน 250,000 บาท

ดังนั้นเงินรายได้สุทธิที่ต้องนำไปคำนวณเพื่อจ่ายภาษีเพิ่มเติมในปีภาษีนั้น สามารถคิดได้ดังนี้

ค่าใช้จ่ายส่วนแรก: 6 x 7,000 = 42,000 บาท นำไปหักกับ 250,000 เหลือ 208,000 บาท

ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2: 208,000 ÷ 2 = 104,000 บาท โดยให้นำเงินก้อนนี้ไปแยกยื่นเสียภาษี ไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน คือ ความจำเป็นในการนำเงินจากกองทุนออกมาใช้ก่อนอายุ 55 ปี เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อเงินเก็บออมเพื่อการเกษียณได้ และที่สำคัญนอกจากภาษีแล้ว อาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขาย PVD ให้กับ บลจ. ตามอัตราที่บริษัทกำหนดอีกด้วย
 
3 กองทุน RMF for PVD ตามระดับความเสี่ยง

แนะนำ 3 กองทุน RMF for PVD น่าสนใจ แยกตามระดับความเสี่ยง

RMF for PVD คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับเงินโอนย้ายจาก PVD Fund โดยเฉพาะ เพื่อให้สมาชิกกองทุนที่ต้องออกจากงานสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ PVD ต่อไปได้ และจะสามารถขายคืนได้ด้วย 2 เงื่อนไข ประกอบด้วย
  1. อายุสมาชิกต้องมีอย่างน้อย 5 ปี โดยนับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่โอนมา
  2. ผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
สำหรับผู้ที่ต้องการย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลงทุนต่อในกองทุน RMF for PVD แต่ไม่มีความรู้และไม่แน่ใจว่าควรลงทุนในกองทุนไหนดี ทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็มีกองทุน RMF สำหรับรองรับ PVD ให้เลือกตามความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ RMF for PVD กรุงศรี ที่น่าสนใจ ก็คือ
 

1. กองทุนเปิดแอคทีฟตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFAFIXRMF)

เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจกองทุนความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ โดยมีความเสี่ยงระดับ 4 เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีคุณภาพดี โดยส่วนที่ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนจะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน สามารศึกษารายละเอียดกองทุนได้ที่ หนังสือชี้ชวน สรุปข้อมูลสำคัญ Factsheet
 

2. กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิคเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFDNMRMF)

เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทย เป็นกองทุนตราสารทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงระดับ 6 มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม ไอ เอ และหุ้นที่อยู่ในระหว่าง IPO โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่สูง สามารศึกษารายละเอียดกองทุนได้ที่ หนังสือชี้ชวน สรุปข้อมูลสำคัญ Factsheet
 

3. กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลแบรนด์อิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFGBRANRMF)

เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจกองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศพื้นฐานดี เป็นกองทุนตราสารทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงระดับ 6 มีนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ Morgan Stanley investment fund-Global Brands fund (Class Z) (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80% ของ NAV ซึ่งกองทุนหลักจะลงทุนในหุ้นทั่วโลก ของบริษัทที่ประสบความสำเร็จ หรือมีชื่อเสียงใน Brand เช่น เครื่องหมายการค้า เจ้าของลิขสิทธิ์สินค้า หรือกลวิธีจัดจำหน่าย และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน สามารศึกษารายละเอียดกองทุนได้ที่ หนังสือชี้ชวน สรุปข้อมูลสำคัญ Factsheet

จะเห็นได้ว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นมีประโยชน์กับมนุษย์เงินเดือนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการออมเงินให้ได้เพิ่มมากขึ้นแบบ 100% ด้วยเงินสมทบจากนายจ้างเมื่อทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ได้ โอกาสของการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการลดหย่อนภาษีในทุก ๆ ปี หรือโอกาสในการลงทุนเพื่อให้เงินออมนั้นงอกเงยอย่างก้าวกระโดดสำหรับไว้ใช้ยามเกษียณอายุ

และที่สำคัญ สำหรับ Provident Fund สามารถลาออกได้ โอนย้าย PVD ได้ หากมีความจำเป็น แต่ก็ขอให้พิจารณาแนวทางในการจัดการเงินออมในกองทุนนี้อย่างเหมาะสม รู้จักการยับยั้งชั่งใจ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน มองการณ์ไกลเข้าไว้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า จะมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณได้อย่างเพียงพอ หรือหากท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูล หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ช่องทางฮอตไลน์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น.-17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • KFGBRANRMF ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนจึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุน หรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • KFAFIXRMF อาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-investment grade) หรือที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bond) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วน หรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในโครงการ

บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา