เก็บเงินให้รวยทำได้ไม่ยาก จริงหรือ?
ในเมื่อลำพังแค่ “เก็บเงิน” หลายคนก็ยังรู้สึกว่ามันยากแสนยากแล้ว
การเก็บเงินเป็นเรื่องพื้นฐานของวินัยทางการเงินที่จะนำเราไปสู่ความมั่นคง ไปสู่ความร่ำรวยมั่งคั่ง และเรื่องเหล่านี้ก็ถูกพูด ถูกสอนกันมาเป็นร้อยปี แต่ทำไมการเก็บเงินจึงเป็นเรื่องยาก เก็บเงินไม่ได้สักที หรือบางทีเก็บได้ แต่สุดท้ายก็ต้องสูญไปกับรายจ่ายที่คาดไม่ถึง หรือต้องพลาดท่าให้กับ
‘ความอยาก’ ที่จู่โจมเข้ามาอย่างไม่เคยหยุดหย่อน
เชื่อว่าการที่คุณเข้ามาอ่านบทความนี้ แสดงว่าคุณคือคนหนึ่งที่มีความตั้งใจอยากจะเก็บเงินให้อยู่ อยากจะเก็บจนรวยให้ได้ มาพยายามอีกครั้งไปด้วยกัน ตั้งหลักกันอีกรอบ ด้วย
หลักการเก็บออมเงินที่ถูกต้องตั้งแต่รากฐาน บอกก่อนเลยว่า ไม่ยากอย่างที่คิด
“เก็บเงินได้” เริ่มต้นที่ “ใช้เงินเป็น”
เคยได้ยินวลีนี้ไหม เก็บเงินได้ ใช้เงินเป็น ประโยคนี้ถ้าหากใส่ “เพราะ” เข้าไป เป็น เก็บเงินได้ “เพราะ” ใช้เงินเป็น คุณพอจะเข้าใจเนื้อความจริงๆ ที่วลีนี้ต้องการสื่อสารไหม... นั่นคือ
ก่อนที่จะเก็บเงินได้นั้น เราจะต้องรู้จักใช้เงินก่อน
รู้จักตั้งงบประมาณ “เงินใช้”
การที่เราจะ
“ใช้เงินเป็น” นั้น อาจหมายถึง เราสามารถควบคุมการใช้จ่ายเราได้เป็นอย่างดีอะไรควรซื้อ อะไรไม่ควรซื้อ รู้จักแบ่งแยกค่าใช้จ่ายที่ “จำเป็น” กับ “ต้องการ” ออกจากกันให้ได้ ทำให้การใช้เงินเป็นเรื่องที่นำสุขมาให้ และไม่ทำให้ชีวิตของเราเดือดร้อนภายหลัง
และวิธีที่เราจะควบคุมเงินของเราได้นั้น เราควรที่จะรู้จัก
“การตั้งงบประมาณ” เพื่อใช้จ่ายในแต่ละเดือน เฉกเช่นการตั้งงบประมาณขององค์กรต่างๆ เพื่อควบคุมรายจ่ายไม่ให้เกินความจำเป็น ลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสินหรืออาการ “ช็อต” ไม่มีเงินใช้
หลักการตั้งงบประมาณรายเดือนส่วนบุคคล
หลักการในการตั้งงบประมาณรายเดือนของเราก็ไม่ยากอะไร เพียงแต่เราต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญ และแยกรายจ่ายจำเป็นและรายจ่ายไม่จำเป็นออกจากกันให้ได้ จากนั้น เราค่อยมาจัดลำดับประเภทงบประมาณที่ต้องเก็บและจ่ายต่อเดือน โดยมีลำดับดังนี้
1. เงินออม ก่อนที่จะไปใช้จ่ายอย่างอื่น เราควรแบ่งเงินเก็บไว้ก่อน เพราะหากใช้ก่อนเก็บ คุณคงรู้ว่ามันยากแค่ไหนที่จะเหลือเงินให้เก็บ สำหรับจำนวนเงินเก็บที่แนะนำก็ตั้งแต่ 10% - 30% ของรายได้ทั้งหมดต่อเดือน หรือจะมากกว่านั้นก็ได้
2. รายจ่ายจำเป็นและรายจ่ายประจำ รายจ่ายส่วนนี้คือรายจ่ายที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นรายจ่ายที่จำเป็นจริงๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าข้าวของเครื่องใช้ และเป็นรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนของ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
3. รายจ่ายไม่จำเป็นหรือรายจ่ายเพื่อความบันเทิง เช่น ค่าดูหนัง ค่าท่องเที่ยว ค่าเลี้ยงฉลอง และรายการใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อความบันเทิง ที่เราสามารถขาดได้ จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราไม่จำกัดงบการใช้ เราก็อาจจะใช้เงินจนติดลบได้ แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องแบบนั้น
สำหรับสัดส่วนในการจัดสรรงบประมาณทั้ง 3 ประเภทนั้น จะขึ้นอยู่กับสถานะการเงิน ความมุ่งมั่นตั้งใจในการออม และเงื่อนไขการใช้จ่ายในชีวิตของแต่ละคน ซึ่งการที่จะตั้งงบประมาณการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับตัวของเราได้นั้น ก็ต้องเริ่มจาก
ทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตัวเองเสียก่อน เพื่อที่จะดูว่ารายจ่ายใดที่จำเป็น และรายจ่ายใดที่เป็น “รูรั่ว” ของกระเป๋าสตางค์ เมื่อเรารู้ เราจึงจะสามารถวางแผนการใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้
ตัวอย่างการตั้งงบประมาณรายเดือนส่วนบุคคล
จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า เริ่มต้นที่การเก็บออมโดยตั้งไว้ว่าจะออมเงิน 25% จากนั้นจึงแจกแจงรายจ่ายจำเป็นออกมา และพยายามตั้งงบประมาณให้เป็นเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสม ซึ่งในที่นี้ คือ 60% จากรายได้ แล้วที่เหลือ 15% จึงสามารถนำไปใช้เป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
และเมื่อเรารู้จัก “เงินใช้” และ “ใช้เงินเป็น” แล้ว เรื่องเก็บเงินคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะเก็บเงินให้รอด เก็บเงินให้รวยได้ยังต้องมีอะไรมากกว่านั้น
“เก็บเงินให้รวย” ด้วยเป้าหมายการออม 3 ระยะ
การเก็บเงินที่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่แค่การแบ่งเงินออกมาเก็บไว้เฉยๆแต่ต้องเป็นการเก็บเงินอย่างมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเราทุกคนต้องเคยทำ ไม่ว่าจะเก็บเงินซื้อของเล่นในวัยเด็ก เก็บเงินซื้อรองเท้า-เครื่องสำอางตอนวัยรุ่น แต่การจะเก็บเงินให้รอดตลอดฝั่ง เก็บเงินให้รวยและมั่นคงได้นั้น ต้องอาศัยหลัก
แบ่งการเก็บเงินเป็น 3 ระยะ ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับการเก็บเงินจนสามารถบรรลุเป้าหมายการเงินได้ โดยเป้าหมาย 3 ระยะนั้น ได้แก่
1. เก็บเงินระยะสั้น
2. เก็บเงินระยะกลาง
3. เก็บเงินระยะยาว
จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ ที่เราตั้งเป้าออมเงิน 25% ทุกเดือน เงินก้อนนี้จะต้องกระจายเป็น 3 ก้อนและแบ่งการเก็บเป็น 3 ระยะ โดยการเก็บเงินในระยะต่างๆ จะแตกต่างกันอย่างไร และเทคนิคเก็บเงินอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและเหมาะสมกับแต่ละระยะมากที่สุด เรามาหาคำตอบกัน
1. เก็บเงินระยะสั้น (ฉุกเฉิน-จำเป็น)
เงินเก็บระยะสั้น เป็นเงินที่เราตั้งใจเก็บไว้เพื่อใช้จ่ายระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เช่น เป็นค่าเทอมลูก เป็นเงินเก็บซื้อของที่อยากได้เป็นเงินเก็บเพื่อท่องเที่ยว หรือเป็นเงินเก็บเผื่อฉุกเฉินในยาม ประสบอุบัติเหตุ ตกงาน เจ็บป่วย หรือเหตุวิกฤตอื่นๆ ดังนั้นจึงควรเก็บเงินในผลิตภัณฑ์ที่มีสภาพคล่องสูงและความเสี่ยงต่ำมาก สามารถถอนหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทุกเมื่อ
ผลิตภัณฑ์การเงินที่แนะนำ
เงินฝากออมทรัพย์มีแต่ได้ ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป คิดดอกเบี้ยทุกวัน และจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน ถอนได้เสมอเหมือนออมทรัพย์ทั่วไป เหมาะสำหรับไว้เก็บเงินเผื่อฉุกเฉิน เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์จำเป็นอื่นๆ
เงินฝากประจำตั้งแต่ 3 - 12 เดือน ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ และด้วยระยะเวลาฝาก ตั้งแต่ 3 - 12 เดือนนั้น เหมาะที่สุดสำหรับการเก็บเงินระยะสั้น เช่น ค่าเทอมลูก หรือจะเก็บเงินไปเที่ยวสิ้นปีทริปท่องทะลใต้ก็ได้ แถมดอกเบี้ยเน้นๆ ให้เงินออมกองใหญ่ขึ้นอีกด้วย
2. เก็บเงินระยะกลาง (เพื่อเป้าหมายที่ต้องการ)
เงินเก็บระยะกลาง จะเป็นเงินที่เราตั้งใจจะใช้อย่างมีจุดมุ่งหมายเฉพาะภายในระยะเวลา 1-3 ปี เช่น เพื่อดาวน์บ้าน เพื่อดาวน์รถ เงินแต่งงาน เก็บเผื่อมีลูก หรือเพื่อเรียนต่อ หรือจะเพื่อทริปท่องเที่ยวต่างประเทศก็ได้ โดยรูปแบบการเก็บเงินไม่จำเป็นต้องมีสภาพคล่องสูง และสามารถเลือกผลิตภัณฑ์การเงินที่มีความเสี่ยงเหมาะสมกับสภาพการเงินของตัวเอง
ประเมินความเสี่ยงเพื่อการลงทุนของคุณได้ ที่นี่
ผลิตภัณฑ์การเงินที่แนะนำ
เมื่อรู้ความเสี่ยงที่สามารถรับได้แล้ว ก็มาเลือกผลิตภัณฑ์การออมการลงทุนให้เหมาะสมกับคุณหรือวางแผนการออมเงินจาก
เครื่องคำนวณเงินออม
เงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน และ 36 เดือน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง ดอกเบี้ยไม่เสียภาษีมีความเสี่ยงต่ำมาก และให้คุณสามารถทยอยฝากเงินเท่าๆกันในทุกๆ เดือน เหมาะกับผู้ที่ต้องการเก็บเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะกลาง และไม่ต้องการความเสี่ยง
กองทุนรวม KFHAPPY-A มีความเสี่ยงปานกลาง และมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำ เพราะมีการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มั่นคงและอุตสาหกรรมที่ทำกำไรได้สูง สำหรับใครที่อยากเก็บเงินนานๆหน่อย รับความเสี่ยงได้บ้าง
กองทุนอื่นๆ เผื่อให้คุณเลือกตามความเสี่ยงที่รับได้ โดยก่อนที่จะออมเงินในกองทุนตัวใดต้องศึกษาให้ดีๆ ยึดเป้าหมายเป็นสำคัญ และต้องจำไว้ว่าเรากำลัง “ออมเงิน” ไม่ใช่ “ลงทุน” เมื่อเงินที่เก็บมีเป้าหมายที่อยากใช้ ก็ไม่ควรนำเงินมาเสี่ยงเกินไป
คุณอาจวางแผนออมเงินแบบผสมทั้งเงินฝากประจำและกองทุนได้ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี
3. เก็บเงินระยะยาว (ความมั่นคงวัยเกษียณ)
ทุกๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า “ออมก่อนรวยกว่า” ดังนั้นเราจึงควร
เก็บเงินระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายกันตั้งแต่เริ่มมีรายได้เดือนแรก เพื่อมีอิสระ มีสุขได้ในวัยเกษียณ มีเงินดูแลตัวเอง มีค่ารักษาพยาบาล มีเงินให้ลูกให้หลานบ้างตามเอ็นดู อยากไปเที่ยวไหนก็ไปได้ โดยไม่ต้องหวังพึ่งใคร...แม้ในวันที่ไม่มีรายได้แล้ว
และเนื่องจากเป็นการเก็บเงินระยะยาวนานมาก ตั้งแต่ 20 - 40 ปี จึงเหมาะที่จะลงทุน ในผลิตภัณฑ์หรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากหน่อย เพราะสามารถเฉลี่ยความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุนได้ ทั้งนี้ ก็จะเลือกผลิตภัณฑ์ลงทุนก็ต้องศึกษาให้รอบคอบก่อน
เริ่มวางแผนเกษียณวันนี้ เริ่มก่อน มั่นคงกว่า ที่นี่
ผลิตภัณฑ์การเงินที่แนะนำ
กองทุนรวมตราสารทุน (หรือกองทุนหุ้น) เปลี่ยนจากออมเงินเป็นออมหุ้น ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก มีความเสี่ยงปานกลาง - ความเสี่ยงสูง เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ และถือนานๆ เพื่อเฉลี่ยการขาดทุน - กำไร ในระยะยาวเพื่อผลตอบแทนที่มากกว่า
กองทุนรวมต่างประเทศ เก็บเงินยาวๆ กับผลตอบแทนสูงๆ เลือกลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ดูอุตสาหกรรมและการเติบโตของประเทศต่างๆ แล้วเลือกออมเงินในกองทุนรวมประเทศนั้นๆ
RMF: กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนที่ออกแบบมาเพื่อการเลี้ยงชีพวัยเกษียณโดยเฉพาะ เพราะสนับสนุนให้ลงทุนต่อเนื่องจนอายุ 55 ปี พร้อมผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก ทั้งยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
กองทุนรวมที่แนะนำ
ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองทั้งชีวิตและจ่ายผลประโยชน์ให้เราได้แบบเงินบำนาญ นั่นคือจะจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอเมื่อถึงกำหนดอายุที่จะต้องจ่ายบำนาญตามเงื่อนไขกรมธรรม์เปรียบเสมือนเป็นเงินเดือนหลังเกษียณ แต่หากเราเสียชีวิตก็จะมีเงินสินใหมจ่ายให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามที่เราแจ้งไว้
การจะเก็บเงินให้รวยไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรารู้หลักการที่ถูกต้อง
เริ่มต้นที่การใช้เงินให้เป็น ตั้งงบประมาณในการใช้จ่ายแต่ละเดือน และใช้หลักการเก็บเงิน 3 ระยะ เราก็สามารถเก็บเงินสำเร็จได้ไม่ไขว้เขวลงข้างทางให้กับเรื่องไม่คาดฝันและความอยากได้ และสามารถสร้างฐานการเงินที่แข็งแรงให้ชีวิตของเราจนกระทั่งชีวิตในบั้นปลายได้
เริ่มต้นได้ดีแล้ว ขั้นต่อไปมาเรียนรู้การ
วางแผนการเงินและ
การลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงแบบทบทวี
บทความโดย
ขวัญชัย รุ่งเรืองกอสว่าง AFPT™
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา