การเริ่มต้นปีใหม่ถือได้ว่าเป็นโอกาสดีที่จะทบทวนสิ่งที่ผ่านมาของเรา และตั้งเป้าหมายสำหรับอนาคต การทบทวนทั้งเป้าหมายส่วนตัว และอนาคตทางการเงินของเราจะช่วยให้เราพร้อมสำหรับความสำเร็จในปี 2566 และปีต่อ ๆ ไป
สำหรับคนที่ยังไม่มีไอเดีย หรือยังไม่รู้ว่าจะตั้งเป้าหมายทางการเงินต้อนรับปีใหม่ยังไงดี มาดูบทความนี้กันเลยที่จะพูดถึง 5 ทักษะสร้าง
สุขภาพการเงินที่ดีต้อนรับปีใหม่ ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินของเรา และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ คนมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งเหล่านั้นต่อไปในปีใหม่ และปีถัด ๆ ไป
5 ทักษะสร้างสุขภาพการเงินที่ดีต้อนรับปีใหม่
1. ทบทวนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
เริ่มต้นปีด้วยการทบทวนค่าใช้จ่ายแต่ละวันของเรา มาประเมินรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของเราดู ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายทุกเดือนเป็นประจำ และค่าใช้จ่ายจิปาถะ จากนั้นเรียงลำดับความสำคัญทางการเงินของเราสำหรับปีหน้า เพื่อที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายรายเดือนให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม การทบทวนรายรับ รายจ่ายของเราใหม่ จะส่งผลดีต่อเราเป็นพิเศษ ณ ตอนนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้หลายครัวเรือนต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายเฉพาะสิ่งของที่จำเป็น เช่น ของใช้ในบ้าน ค่าน้ำมันรถ ฯลฯ
2. มีเงินสำรองฉุกเฉินเพียงพอไหม
ย่อมเป็นเรื่องที่ดีหากเราจะเช็กเงินสำรองฉุกเฉินของเราว่าเพียงพอหรือไม่ ถ้าหากเกิดเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว เงินสำรองฉุกเฉินจะช่วยเราในกรณีฉุกเฉิน เช่น เกิดเหตุต้องเข้าโรงพยาบาล เกิดตกงานกะทันหัน ฯลฯ หลักการทั่วไปสำหรับเงินสำรองฉุกเฉินคือ การประหยัดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน จนกระทั่งมีเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับ 3-6 เดือนข้างหน้า โดยเราไปดูตัวอย่างวิธีคำนวณเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับมนุษย์เงินเดือนตามตัวอย่างนี้กันเลย
เงินสำรองฉุกเฉิน = ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน x ระยะเวลา 6 เดือน
ตัวอย่างเช่น นาย ก. มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 25,000 บาท ฉะนั้น นาย ก. ควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน 25,000 x 6 = 150,000 บาท
ดังนั้น เมื่อได้วิธีคำนวณเงินสำรองฉุกเฉินกันไปแล้ว ก็อย่าลืมลองไปคำนวณของตัวเองดูกันนะว่าจะต้องสำรองเงินไว้เท่าไหร่ถึงจะพอใช้ในยามฉุกเฉิน แต่สำหรับใครที่ลองคำนวณดูแล้ว คิดว่าไม่พอ ต้องการกู้เงินด่วน ก็สามารถกู้ได้กับ
สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล กรุงศรีจะยื่นกู้ผ่าน KMA-Krungsri Mobile App หรือกรอกแบบฟอร์มให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับก็สามารถเลือกได้ เข้าไปดูรายละเอียดกันต่อได้เลย
3. จัดการหนี้ไม่ให้เกิน 40% ของรายได้
การควบคุมหนี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดเป็นวินัย ถึงแม้ว่าเราจะเก่งเรื่องการจัดการหนี้อยู่แล้ว แต่ลองพิจารณาทำตามขั้นตอนนี้ดู เพื่อช่วยลดและรวมหนี้ไว้ ตัวอย่างเช่น หากคิดว่าจะได้เงินเพิ่ม หรือโบนัสปลายปี ให้เราพิจารณานำเงินโบนัสก้อนนี้ไปชำระหนี้ให้เหลือน้อยที่สุด
จากนั้น ให้คิดถึงการรวมหนี้บัตรเครดิตที่เรามีอยู่ให้มารวมอยู่ในธนาคารเดียว ให้เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อที่เราจะได้บริหารจัดการกับหนี้เราได้ง่ายขึ้น และดอกเบี้ยลดน้อยลง และลดความตึงเครียดเรื่องการเงิน อีกทั้งยังเป็นการ
สร้างวินัยทางการเงินที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย
4. จะซื้ออะไรต้องวางแผนก่อนเสมอ
คงเป็นอีกหนึ่งความฝันของใครหลาย ๆ คน ในการซื้อ บ้าน/รถ ต้อนรับปีใหม่ แต่อย่าชะล่าใจไปเพราะในการซื้อของชิ้นใหญ่แบบนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนการเงินให้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาระหนี้สินในการผ่อนชำระในแต่ละเดือน ข้อที่จะแนะนำเลยคือการที่ชำระหนี้ตามกำหนดการที่สถาบันการเงินกำหนดไว้ แต่ถ้าจะเป็นการดีกว่านี้คือการวางแผนการผ่อนชำระหนี้ตั้งแต่เริ่ม เพราะยิ่งเราวางเงินดาวน์มากเท่าไหร่ เงินผ่อนต่อเดือนก็จะน้อยเท่านั้น การตัดสินใจซื้อเมื่อพร้อมบวกเข้ากับการวางแผนทางการเงินที่ดีก็จะทำให้เราสามารถผ่อนชำระได้แบบไม่กดดันตัวเอง อีกทั้งยังช่วยลดดอกเบี้ยในอนาคตได้อีกด้วย
5. เริ่มวางแผนเกษียณ
บางคนทำงานมาก็หลายปีแต่ยังไม่มีเงินเก็บสำหรับวัยเกษียณเป็นชิ้นเป็นอันเลย เพราะเรื่องเงินหลังเกษียณถ้ายิ่งเราวางแผนเร็วเท่าไหร่ พอถึงวัยเกษียณเราก็จะเหนื่อยน้อยลง เพราะถ้าหากเรารอให้เวลาผ่านเลยไปจนถึงวัยที่เกษียณจริง ๆ มันก็อาจจะสายเกินไปแล้ว เพราะฉะนั้นควรที่จะศึกษาวิธีวางแผนการเงิน และการลงทุนไว้
โดยต่อไปเราไปดูวิธีวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือนกัน จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
วิธีวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน
- กำหนดอายุเกษียณของเรา
ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการกำหนดอายุเกษียณ เพราะเป็นตัวชี้วัดว่าเราจะเหลือเวลาก่อนเกษียณอีกนานแค่ไหน
และต้องเตรียมเงินสำรองไว้เท่าไรถึงจะพอ
- เริ่มต้นวางแผนการเงินก่อนเกษียณให้เร็วที่สุด
เพราะยิ่งเราเริ่มต้นวางแผนเกษียณได้เร็วเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสได้รับประโยชน์จากพลังของเวลา และดอกเบี้ยทบต้นมากเท่านั้นในยามที่เราเกษียณ
- กำหนดจำนวนเงินที่ต้องการหลังเกษียณ
กลับมาตรวจสอบค่าใช้จ่ายประจำปีของเราในปัจจุบัน เพื่อที่จะนำมาประมาณการจำนวนเงินที่เราต้องการใช้หลังเกษียณให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพตามที่เราต้องการ
- คำนวณเงินออมในปัจจุบันเทียบกับมูลค่าเงินในอนาคต
แบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินออมหลังเกษียณโดยเฉพาะ และนำเงินที่ออมไว้มาประเมินว่าเราจะสามารถเก็บออมได้จนถึงวันเกษียณเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ดูว่าเพียงพอสำหรับเป้าหมายหลังเกษียณของเราไหม
- ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางอย่างก็จะช่วยให้เรามีเงินเก็บหลังวัยเกษียณเพิ่มขึ้น เช่น ค่าปาร์ตี้สังสรรค์ การซื้อของฟุ่มเฟือย การรับประทานอาหารหรูนอกบ้าน การไปเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ
- วางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ
หากเริ่มวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น หุ้น หรือกองทุนหุ้น RMF จำเป็นอย่างมากที่จะต้องคำนึงถึงอายุ และระดับความเสี่ยงที่คุณสามารถรับได้ เพราะสินทรัพย์บางประเภท เช่น ตราสารทุนซึ่งมีความเสี่ยงสูงแต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อได้ดีกว่าตราสารหนี้ซึ่งมีความมั่นคง และปลอดภัยมากกว่าแต่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า เพราะฉะนั้นสำรวจตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน และศึกษาให้ดีก่อนลงทุนเสมอ
- ติดตามและตรวจสอบแผนเกษียณอายุอยู่เสมอ
แผนเกษียณอายุของเราควรได้รับการตรวจสอบ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเราเป็นระยะ ๆ อย่างน้อยปีละครั้ง เช่น การเปลี่ยนแปลงเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่าย พอร์ตการลงทุน เหตุที่ต้องตรวจสอบแผนเกษียณอยู่เสมอก็เพื่อให้เราแน่ใจว่าเรายังอยู่ในเส้นทางที่เราตั้งไว้
สรุป
เราไม่จำเป็นที่จะต้องทำทุกอย่างทีเดียวพร้อมกันก็ได้เพียงแค่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ และพยายาม และค่อย ๆ ทำทีละขั้นตอน แต่อย่าลืมที่จะย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอถึงเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ เพราะฉะนั้นลองก้าวออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองดู และเริ่มทำเพื่อสุขภาพการเงินที่ดีขึ้นของเราเอง