จัดพอร์ตการลงทุน ต่อยอดเงินล้านให้เหมาะกับวัยที่แตกต่าง

โดย สิรภัทร เกาฏีระ CFP® นักวางแผนการเงิน
07 พฤศจิกายน 2566
จัดพอร์ตการลงทุน ต่อยอดเงินล้านตามวัย
การมีเงินล้านในช่วงวัยที่แตกต่างกัน ทำให้หลายคนไม่ทราบว่า เงื่อนไขด้านอายุนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้การจัดพอร์ตลงทุนมีสัดส่วนที่ไม่เหมือนกันด้วย เพราะในสังคมของเราประกอบไปด้วยผู้คนในช่วงวัยต่าง ๆ คือ เจนเบบี้บูมเมอร์ (เจน B), เจน X, เจน Y และเจน Z ซึ่งในแต่ละเจเนอเรชั่นหมายถึงช่วงอายุที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีความต้องการและทัศนคติเกี่ยวกับการจัดพอร์ตลงทุนที่ไม่เหมือนกัน

จึงเป็นที่มาของการคุยกันในวันนี้ว่า ช่วงวัยมีความสำคัญต่อการจัดพอร์ตลงทุนจริงหรือ แล้วแต่ละเจเนอเรชั่นเหมาะกับการจัดสัดส่วนสินทรัพย์แบบใด และทัศนคติของแต่ละช่วงวัยมีแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนแบบไหน อย่าปล่อยให้คำถามเหล่านี้ค้างคาใจ เพราะคุณจะต้องเติบโตไปสู่ช่วงวัยต่าง ๆ อย่างแน่นอน รีบทำความเข้าใจความต้องการในแต่ละช่วงวัยตั้งแต่วันนี้
 
แนะนำพอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย
 

มองต่างมุมจากต่างช่วงวัย แต่มีเป้าหมายให้เงินล้านช่วยทำงานเหมือนกัน

ช่วงวัยที่แตกต่างกัน ทำให้ความคิดด้านการลงทุนไม่เหมือนกัน เพราะ “ประสบการณ์” ช่วยหล่อหลอมให้แต่ละคนมีการวางแผนชีวิตในแบบของตัวเอง ซึ่งในหัวข้อนี้เราจะมาเริ่มต้นกันด้วยการเจาะลึกไปถึงมุมมองของคนในวัยที่แตกต่างว่า ประสบการณ์ในชีวิตได้หล่อหลอมให้มีทัศนคติเกี่ยวกับการลงทุนอย่างไร และในโลกของการลงทุนอายุไม่ใช่สิ่งสำคัญ กลยุทธ์การจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับอายุต่างหาก ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้
 

1. เจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์

เบบี้บูมเมอร์ คือ ผู้ที่มีอายุเฉลี่ย 57-75 ปี เป็นยุคที่มีคำสอนเป็นชุดความคิดที่สืบทอดต่อกันมาว่า ต้องตั้งใจเรียนให้จบปริญญา เพื่อออกมารับงานราชการ เป็นนายธนาคาร เป็นหมอ หรือทำงานในรัฐวิสาหกิจเท่านั้น จึงจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้แก่วงศ์ตระกูล ซึ่งเมื่อกล่าวถึงชุดความคิดนี้ คนรุ่นใหม่อาจจะมองว่าเป็นการตีกรอบทางความคิด และเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งคุณทราบหรือไม่ว่า “ไม่ใช่เลย” เพราะในยุคนั้นสภาพเศรษฐกิจมีความเอื้ออำนวยต่อชุดความคิดนี้เป็นอย่างมาก ไม่มีการไล่ออกแบบฉุกเฉิน ข้าราชการมีรถและบ้านให้อยู่ฟรี ดังนั้นการได้ทำงานตามคำสอนนี้ จึงสร้างความมั่นคงในชีวิต เรียกได้ว่ามีทั้งเกียรติและศักดิ์ศรี ที่สำคัญมีเงินใช้แบบน้ำซึมบ่อทราย ใช้จนสิ้นชีวิตก็ไม่หมด แถมยังเหลือเป็นมรดกให้ลูกหลานอีกด้วย

สินทรัพย์ที่เหมาะสำหรับการลงทุนของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์

ด้วยคำอบรมสั่งสอนที่เข้มงวด ทำให้คนในยุคเบบี้บูมเมอร์ เป็นผู้ที่มีความขยัน อดทน รอบคอบ และประหยัดอย่างถึงที่สุด ทัศนคติด้านการลงทุน จึงเน้นหนักไปที่สินทรัพย์ที่สามารถจับต้องได้ คือ เมื่อจ่ายเงินไปต้องได้สินทรัพย์มาครอบครอง เช่น ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย, ที่ดินเพื่อทำการเกษตร, บ้านส่วนตัว, ทองคำ, เครื่องประดับล้ำค่า, พระเครื่อง, นาฬิกา และของโบราณ เป็นต้น

และเมื่อกาลเวลาได้เดินทางมาสู่ยุคปัจจุบันแล้ว คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์มีแนวคิดอย่างไร จะเลือกลงทุนอะไรดี เมื่อมีสินทรัพย์ให้เลือกมากมาย ต้องบอกว่า ถ้าเฉลี่ยอายุกันจริง ๆ คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่อายุน้อยที่สุดคือวัย 57 ปี ซึ่งอีก 3 ปีก็จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว ดังนั้นความเสี่ยงที่รับได้ย่อมต่ำลงกว่าช่วงวัยอื่น ๆ หากจะลงทุนอะไรดีความเสี่ยงน้อย สินทรัพย์ต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่จะต้องเลือกวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ ด้วยการเน้นออมเงิน เช่น พันธบัตร, บัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง, เงินฝากประจำ หรือบางคนเลือกออมเงินกับประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น ซึ่งหากสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ว่า แผนการลงทุนจะอยู่ในรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่เน้นความมั่นคง ไม่เสี่ยงสูญเงินต้นนั่นเอง
 

2. เจเนอเรชั่น X

เจเนอเรชั่น X คือ ผู้ที่มีอายุเฉลี่ย 41-56 ปี เป็นยุคของการแข่งขันกันทำงาน และเป็นช่วงวัยที่หาเงินได้มากที่สุด โดยคนรุ่นนี้จะเบี่ยงเบนจากแนวความคิดเดิมว่าต้องทำงานราชการ ไปสู่การทำงานบริษัทเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า มีเงินเดือนสูง มีสวัสดิการดี และมีเงินค่าตอบแทนพิเศษอีกมากมาย ยิ่งถ้าได้ทำงานในบริษัทต่างชาติ หรือบริษัทที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ในประเทศ จะยิ่งการันตีถึงความมั่นคงในอาชีพได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน โดยที่ไม่ต้องรอจัดอันดับอาวุโส จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบันเราจะได้เห็นคนเจน X ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญในองค์กรเอกชนขนาดใหญ่

สินทรัพย์ที่เหมาะสำหรับการลงทุนของคนรุ่นเจเนอเรชั่น X

อายุเฉลี่ยของคนเจน X อยู่ในช่วงวัยที่มีการสร้างครอบครัวและเริ่มสะสมความมั่งคั่ง เป็นวัยที่จะต้องมีรถยนต์ มีบ้าน และยังมีทัศนคติว่า ควรซื้อบ้านหลังที่สองเพื่อการลงทุนสร้างเป็นกระแสเงินสด หรือซื้อที่ดินเก็บสะสมเอาไว้เพื่อการสร้างผลตอบแทน ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า คนเจน X เป็นรุ่นที่ต่อมาจากรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ดังนั้นความรอบคอบ ความมีวินัย และความรัดกุมจึงยังคงมีอยู่สูง หากต้องการซื้อกองทุนอะไรดี เมื่อพิจารณาตามความเสี่ยง จะอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง จึงเลือกลงทุนได้ค่อนข้างหลากหลาย

ในด้านแผนลงทุนของคนเจน X จะมีการวางแผนจัดสรรเงินอย่างเป็นระบบ และเลือกลงทุนแบบระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงในช่วงวัยเกษียณ อย่างกองทุนรวม SSF และกองทุนรวม RMF ที่ช่วยทั้งประหยัดภาษีและเป็นแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุได้ และถ้าหากยังมีเงินเหลือจากการจัดสรร ส่วนใหญ่มักจะนำมาลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ อย่างบ้านเช่า หรือคอนโดมิเนียมให้เช่า ลองสังเกตดูก็ได้ว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของจะอยู่ในช่วงวัยของคนเจน X กันทั้งนั้น ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เงินล้านและความเสี่ยงสำหรับคนเจน X ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องมาคิดกังวลมากเกินไป เพราะด้วยช่วงอายุที่ยังมีเวลาให้เลือกวางแผนได้อีกนานพอสมควร จึงทำให้คนเจน X สามารถวางแผนลงทุนไปตามแผนการใช้ชีวิตได้เลย
 

3. เจเนอเรชั่น Y

เจเนอเรชั่น Y คือผู้ที่มีอายุเฉลี่ย 25-40 ปี เป็นยุคที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ดังนั้นการที่จะให้คนเจน Y จะมาอดทนทำงานภายใต้องค์กรที่ยังคงมีระดับอาวุโส หรือต้องรอเก็บเล็กผสมน้อยกว่าจะเติบโต คงเป็นเรื่องยาก จึงพูดได้เต็มปากว่า คนเจน Y เริ่มให้ความสำคัญกับการทำงานประจำน้อยลง และให้ความสนใจกับการทำอาชีพอิสระ เลือกตามความชอบและความถนัดของตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะงานฟรีแลนซ์ที่ได้รับเงินทันทีเมื่อทำงานเสร็จ อีกทั้งยังไม่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของใคร สามารถรับงานได้หลากหลาย สามารถเก็บสะสมเงินได้เยอะ เนื่องจากไม่มีต้นทุนที่จะต้องเดินทางไปทำงานทุกวัน ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างได้โดยทั่วไปว่า คนที่มีอายุช่วงนี้มักจะมีเงินล้านแรกได้เร็ว อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ใช้เทคโนโลยีได้เก่ง และมีความสามารถรอบด้าน

สินทรัพย์ที่เหมาะสำหรับการลงทุนของคนรุ่นเจเนอเรชั่น Y

สำหรับคนเจน Y ที่มีเทคโนโลยีเป็นพี่เลี้ยงให้เติบโตขึ้นมา มักพร้อมที่จะรับความเสี่ยงในทุกสถานการณ์ ยังมีความต้องการพิสูจน์ตัวเองด้วยการจับงานใหญ่ ๆ, ความกล้าได้กล้าเสีย, ความนิยมในการท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กับการทำงาน และความกล้าที่จะใช้เงินไปกับการเลี้ยงดูเพื่อนฝูงให้ได้กินดื่มราคาแพง นั่นหมายความว่าสามารถรับความเสี่ยงได้สูง

ดังนั้นแนวความคิดด้านการลงทุนของคนเจน Y จึงกล้าตัดสินใจลงทุนกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงทุกชนิด เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนที่มีโอกาศสูงตามไปด้วย เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และกองทุนรวมหุ้น ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าคนเจน Y มีความประมาทในการลงทุน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ความประมาท กลับเป็นความมั่นใจที่พร้อมจะใช้เครื่องมือช่วยเทรดเป็นผู้ช่วยทางเทคนิค ซึ่งเป็นแนวทางที่ตนเองถนัด ทำให้คนเจน Y กลายเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีสัดส่วนมากที่สุดในตลาดหุ้นอีกด้วย
 

4. เจเนอเรชั่น Z

เจเนอเรชั่น Z คือ ผู้ที่มีอายุเฉลี่ย 9-24 ปี ที่ถ้าหากคุณคิดว่าคนเจน Y เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีแล้ว คนเจน Z ก็คือผู้ที่หลอมรวมไปกับเทคโนโลยีอย่างแยกจากกันไม่ได้ เพราะคนเจน Z เกิดและเติบโตมาในยุค Digital Transformation ที่ได้รับการพัฒนามาเรียบร้อยแล้ว และยิ่งการได้เติบโตมาในยุคที่เกิดวิกฤตโรคระบาดที่จำเป็นต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ยิ่งทำให้คนเจน Z เริ่มแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ และฝึกที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากทุกที่ ดังนั้นคนเจน Z จึงมีความรอบรู้ และสามารถเข้าใจเทคโนโลยีทุกชนิดอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่โซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการเพิ่งพาเครื่องมือค้นหาอย่าง Search Engine ที่มีความรวดเร็วในการค้นหาคำตอบ ให้ทุกข้อสงสัยที่ตนเองมี และการที่อายุยังน้อย มีความสามารถในการหารายได้ที่สูงกว่าเจนอื่น ๆ จึงสามารถรับความเสี่ยงสูงได้มากกว่าตามไปด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคาดหวังว่าคนเจน Z จะให้ความสนใจกับงานประจำ คงแทบจะเป็นไปได้ยาก หรือแม้แต่งานฟรีแลนซ์ที่คนเจน Y ให้ความนิยมก็อาจจะไม่ถูกใจด้วยซ้ำ เพราะคนเจน Z มีความสนใจที่จะก้าวกระโดดไปทำธุรกิจสตาร์ทอัปของตัวเองมากกว่า เช่น การเป็นยูทูปเบอร์, การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต, การเป็นนักแคสต์เกม, การเป็นนักขับโดรน หรือแม้แต่การเป็นนักวิเคราะห์ เป็นต้น คนเจน Z บางส่วนยังเริ่มต้นอาชีพผ่านทางอินเทอร์เน็ต และขยายขอบเขตการทำธุรกิจไปยังต่างประเทศโดยที่ไม่มีต้นทุนในการเดินทางได้ด้วย

สินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนของคนเจเนอเรชั่น Z

หากเปรียบเทียบความเร็วในการจับเงินล้าน คนเจน Z สามารถไปถึงจุดนั้นได้เร็วกว่าคนเจน Y ด้วยความอิสระในการทำงานอย่างไร้พรมแดน และความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ต่อยอดไปจากเทคโนโลยีเดิม จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้เห็นคนเจน Z เปิดบัญชีเทรดหุ้น หรือบัญชีกองทุนรวมผ่านช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงการติดตามข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ผ่านสังคมออนไลน์ มากกว่าการอ่านข่าวหรือดูโทรทัศน์ ซึ่งช่วยให้คนเจน Z ได้รับข่าวสารทั่วโลกที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ถือครองในเวลาอันรวดเร็ว

แต่ถ้านับจำนวนนักลงทุนที่อยู่ในกลุ่มเจน Z ในตลาดหุ้นจริง ๆ แล้ว ยังถือว่ามีจำนวนที่น้อยกว่าคนเจน Y ค่อนข้างมาก เป็นเพราะคนเจน Z ยังมีอายุเฉลี่ยน้อย จึงยังมีความต้องการใช้เงินไปกับการซื้อทรัพย์สิน และการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ ๆ มากกว่า แต่ถ้ามีสินทรัพย์ใหม่ที่น่าลงทุน คนเจน Z ก็ไม่พลาดที่จะทดลองอย่างแน่นอน เพราะความกล้าได้กล้าเสียที่มีมากกว่าคนทุกรุ่น ดังนั้นถ้าหุ้นไทย หรือหุ้นต่างประเทศตัวใดเข้าไปอยู่ในความสนใจของคนเจน Z ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงสูงมากแค่ไหน พวกเขาก็พร้อมที่จะลงทุน
 
แนวทางการลงทุนต่อยอดเงินล้านตามช่วงวัยตนเอง
 

ต่อยอดเงินล้านในวัยตนเอง เลือกลงทุนอะไรดี ต้องแบ่งสัดส่วนพอร์ตอย่างไร

เราได้ทราบถึงมุมมองการลงทุนของคนในแต่ละเจเนอเรชั่นกันไปแล้ว ในหัวข้อนี้เราจะช่วยกันจัดสัดส่วนของสินทรัพย์ภายในพอร์ตไปพร้อมกันว่า การต่อยอดเงินล้านสำหรับคนในแต่ละช่วงอายุ จะสามารถจัดพอร์ตลงทุนแบบไหนได้บ้าง
 

1. อายุ 21-30 ปี

อยู่ในช่วงวัยที่ได้เปรียบในการออมเงินและการลงทุนมากที่สุด เพราะอายุยังน้อย ไม่มีภาระต้องรับผิดชอบมาก อีกทั้งเพิ่งเริ่มต้นวัยทำงาน จึงสามารถหารายได้ให้แก่ตัวเองได้สูง สัดส่วนของการนำเงินล้านไปจัดพอร์ตจึงสามารถเลือกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ อย่างการลงทุนในหุ้นประมาณ 90% และอีก 10% ที่เหลือนำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีความปลอดภัย โดยเทคนิคในการเลือกหุ้น ควรเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี เป็นบริษัทที่มีความมั่นคง มีโอกาสที่จะเติบโตในอนาคต และมีประวัติการจ่ายเงินปันผลเป็นที่น่าพอใจ
 

2. อายุ 31-40 ปี

อยู่ในวัยกำลังสร้างครอบครัว เป็นช่วงที่ทำงานอย่างเต็มที่ และมีภาระความรับผิดชอบเข้ามามากกว่าช่วงอื่น และถึงแม้จะมีรายได้เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่รายจ่ายก็ตามมาอย่างไม่ขาดสายด้วยเช่นกัน ทำให้การยอมรับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ลดลงมาจากช่วงอายุ 21-30 ปี การจัดพอร์ตสินทรัพย์ที่เหมาะสมจึงควรลงทุนในหุ้นให้อยู่ในสัดส่วนประมาณ 50% และไปเพิ่มสัดส่วนของเงินฝาก และสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยอื่น ๆ เพื่อเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยง
 

3. อายุ 41-55 ปี

ผ่านช่วงเหนื่อยยากมาสู่ช่วงของความเป็นปึกแผ่นที่มีความมั่นคง มีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น หนี้สินจำเป็นและค่าใช้จ่ายบางอย่างเริ่มเบาบางลง แต่ก็ยังคงมีอยู่บ้าง เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ชีวิตมีความสมดุลและมั่นคง แต่ด้วยช่วงอายุที่เหลือเวลาสำหรับการหารายได้อีกเพียงไม่กี่ปี การวางแผนลงทุนจึงควรศึกษาเรื่องการลงทุนระยะยาว โดยอาจจะแบ่งสัดส่วนประมาณ 70% ไปลงทุนกับกองทุนรวม RMF ที่ใช้เวลาถือครองเพียง 5 ปี หรือถ้าคุณยังอยู่ในช่วงอายุประมาณ 41 ปีต้น ๆ กองทุนรวม SSF ก็มีความน่าสนใจ เพราะใช้เวลาถือครองเพียง 10 ปี ส่วนที่เหลืออีก 30% สามารถนำไปลงทุนในหุ้นระยะยาว เพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้
 

4. อายุ 55 ปีขึ้นไป

เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ และเหลือเวลาสำหรับหารายได้เพิ่มอีกประมาณ 5 ปี ในช่วงวัยนี้หลายคนมีสินทรัพย์หลายล้านแล้ว และกำลังสะสมเงินล้านก้อนต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่อย่าลืมว่าเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น แม้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะเริ่มน้อยลง แต่ปัญหาสุขภาพกำลังเป็นสิ่งที่จะตามมา ดังนั้นพอร์ตการออมเงิน หากแบ่งสัดส่วนประมาณ 90% ให้ประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา หรือจะแบ่งเพิ่มจาก 90% ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำบ้างก็ได้ ส่วนอีก 10% ที่เหลือสามารถนำไปลงทุนในหุ้น เพื่อการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น และเพิ่มความตื่นเต้นให้กับชีวิตวัยเกษียณก็ยังทำได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพอร์ตโดยรวมมากนัก

การจัดพอร์ตที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่การชี้นำแต่อย่างใด เพราะเรามีเจตนาให้ทุกคนได้เห็นถึงภาพรวมของพอร์ตที่ควรจะเป็นในแต่ละช่วงวัย อีกทั้งการจัดพอร์ตยังไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ดังนั้นหากคุณต้องการปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นไปตามความต้องการ ย่อมสามารถทำได้ตามความเหมาะสมที่คุณเองยอมรับความเสี่ยงได้
 

ควรปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไร ให้เหมาะสมกับอายุ และเงินที่เติบโตขึ้น

หัวข้อสุดท้ายนี้ จะช่วยให้นักลงทุนทุกคนได้ทราบว่า เมื่อไหร่เราควรปรับพอร์ตการลงทุน และเมื่อคุณเริ่มเติบโตขึ้น และเงินล้านของคุณก็เริ่มงอกเงยจะต้องทำอย่างไรต่อ เราไปดูปัจจัยที่ช่วยบ่งชี้ว่า ถึงเวลาที่คุณควรปรับพอร์ตแล้วได้เลย
 

1. เมื่อครบกำหนดเวลาที่คุณตั้งเอาไว้ล่วงหน้า

จริง ๆ แล้วคุณสามารถปรับพอร์ตได้ตลอดเวลาที่ต้องการ แต่การปรับพอร์ตบ่อย ๆ โดยไร้หลักการ อาจนำมาซึ่งความเสียสมดุลของสินทรัพย์ภายในพอร์ตอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นคุณควรกำหนดระยะเวลาสำหรับการปรับพอร์ตให้เป็นทุกไตรมาส ทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปี
 

2. เมื่อผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ ทำได้ตามที่กำหนดไว้

นักลงทุนหลายคนเลือกใช้วิธีนี้ คือ การกำหนดอัตราผลตอบแทนเอาไว้เป็นเปอร์เซ็นต์ว่า เมื่อได้ผลตอบแทนครบ 15% หรือ 20% ก็จะทำการปรับพอร์ต 1 ครั้ง
 

3. เมื่อสถานการณ์ของตลาดเปลี่ยนแปลงไป

สถานการณ์ของตลาดมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นคุณจะทราบได้ว่าขณะนี้ตลาดกำลังเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ได้จากการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงให้พิจารณาว่า ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ของคุณอย่างไร เป็นเชิงบวก หรือเชิงลบ และทำให้สัดส่วนของสินทรัพย์มีการเติบโตแตกต่างไปจากค่าตั้งต้นมากหรือไม่ หากทุกอย่างยังอยู่ในความควบคุม คุณสามารถเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงไปเรื่อย ๆ ได้ แต่ถ้าเกิดผลกระทบที่ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลดลง และพอร์ตของคุณมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ควรทำการปรับพอร์ตโดยทันที
 

4. เมื่อภาวะเศรษฐกิจเกิดความผันผวนรุนแรง

เป็นการเฝ้าติดตามข่าวสาร และเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกันกับข้อ 3 เพียงแต่ภาวะเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ ดังนั้นเตรียมวางแผนปรับพอร์ตล่วงหน้า เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะเป็นตัวช่วยให้คุณจัดสมดุลพอร์ตได้ทันเวลามากที่สุด

มุมมองที่มีต่อเงินล้านกับความสนใจด้านลงทุนในแต่ละช่วงวัยที่เราได้คุยกันในวันนี้ ช่วยให้คุณได้เห็นว่า แม้จะมีช่วงวัยที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนล้วนต้องการใช้เงินเพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนเหมือนกัน ซึ่งสัดส่วนของสินทรัพย์ในพอร์ตก็จะเป็นไปตามทัศนคติ และความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของในแต่ละช่วงวัย ด้วยเหตุนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจึงพร้อมอยู่เคียงข้างนักลงทุนทุกช่วงวัย ด้วยทีมเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการเงินและการลงทุนจาก KRUNGSRI PRIME ที่พร้อมให้คำปรึกษา และช่วยวางแผนการลงทุนให้แก่นักลงทุนทุกช่วงวัย เพียงติดต่อมาที่ช่องทางฮอตไลน์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น.-17.00 น. หรือฝากข้อมูล เพื่อให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ