อย่าคิดว่าการวางแผนเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเวลาผ่านไปเร็วกว่าที่คิด คุณทราบหรือไม่ว่า ผู้สูงอายุวัยเกษียณ ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน และที่สำคัญคือ อัตราเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่จะมาลดอำนาจเงินลง จึงจำเป็นจะต้องนำไปวางแผน และคิดรวมกับเงินเกษียณที่คาดว่าจะต้องใช้ในอนาคตด้วย ดังนั้นหากคุณมีเงินล้านในวันนี้ ควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น แบบนี้จะช่วยให้แผนการเกษียณมีประสิทธิภาพ และมีเงินใช้สบาย ๆ อีกทั้งยังเหลือเงินสำหรับมอบให้เป็นมรดกกับลูกหลานได้อีกด้วย
วางแผนเกษียณอย่างมีคุณภาพ ด้วยวิธีนำเงินล้านไปต่อยอดให้เกิดผลตอบแทน
การวางแผนเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ คือ การวางแผนนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนต่อยอดเพื่อให้เกิดเป็นผลตอบแทน ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “เงินล้าน” ในความหมายของแต่ละคนแตกต่างกัน สำหรับบางคนคือการรวมเงินทุกบัญชีในทุกธนาคาร แต่สำหรับบางคนรวมทั้งเงินในบัญชีและทรัพย์สิน
ซึ่งในความหมายของเงินล้านเพื่อการนำไปลงทุนต่อยอดนั้น จะหมายถึง “เงินเย็น” ที่ไม่จำเป็นต้องนำออกมาใช้อะไรเลย และถึงแม้ว่าเงินก้อนนี้จะลดลง หรือจะหมดไป ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งแตกต่างจากการใช้เงินในชีวิตประจำวันมาลงทุน เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดจะขาดสภาพคล่องทางการเงินทันที
และเหตุผลที่เราควรนำเงินล้านที่มีไปเพื่อใช้หลังเกษียณ เพราะหลังจากที่เราเกษียณไปแล้ว รายจ่ายจะสูงกว่ารายได้ และที่สำคัญคือ เรามีภาวะเงินเฟ้อที่ต้องแบกรับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากเรามีเงินเก็บก่อนเกษียณ 3,600,000 บาท และคาดว่าเราจะมีชีวิตต่อไปอีก 20 ปี เราจะสามารถใช้เงินได้สบาย ๆ เดือนละ 15,000 บาท แต่ในความเป็นจริง เราต้องบวกค่าเงินเฟ้อเข้าไปด้วยในค่าเฉลี่ย 3% ดังนั้นเราจะต้องมีเงินเก็บประมาณ 6,500,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ต้องหาเพิ่มอีกไม่น้อยเลย ปัจจัยนี้เองที่ทำให้เราต้องวางแผนการเงินให้ดี ด้วยการนำเงินเก็บที่มีอยู่ไปลงทุนต่อยอด โดยเผื่อเงินเฟ้อเข้าไปในแผนเกษียณของเราผ่านเครื่องไม้เครื่องมือต่อไปนี้
1. การลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว
ธุรกิจส่วนตัวเป็นการลงทุนที่ได้รับความนิยม เพราะสามารถใช้ทักษะวิชาชีพ หรือความสามารถเฉพาะทางมาต่อยอดประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ อีกทั้งยังสามารถควบคุมกระบวนการทำการตลาดได้อย่างครบวงจร กำไรที่ได้รับจะได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็ต้องระวังเรื่องความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการบริหาระรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เพราะการทำธุรกิจเองก็มีโอกาสที่จะประสบการขาดทุนได้เช่นเดียวกับการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ
2. การลงทุนในหุ้น
การลงทุนในหุ้น เป็นรูปแบบการวางแผนเกษียณที่กำลังได้รับความสนใจ เมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิทัล การเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ และความสะดวกในการใช้เทคโนโลยีมีความง่ายดายมากยิ่งขึ้น ทำให้การลงทุนในหุ้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่หุ้นเป็นการลงทุนที่ต้องใช้ทักษะและความรู้ด้านการลงทุน และเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เราต้องใช้ความเข้าใจและศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนทำการลงทุน
3. การลงทุนในกองทุนรวม
กองทุนรวมเป็นการลงทุนที่เริ่มต้นได้ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่หัดลงทุน เพราะมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารจัดการการลงทุนให้ ประกอบกับใช้เงินลงทุนตั้งต้นน้อย แต่เพียงหลักร้อย ก็ลงทุนได้ จึงทำให้แม้ผู้ที่มีความรู้น้อยเรื่องการลงทุนก็สามารถเข้าลงทุนได้
วิธีวางแผนเกษียณ ที่จะช่วยให้คุณเกษียณก่อนถึงอายุอย่างมีความสุข
คงไม่มีอะไรมีความสุขเท่ากับการวางแผนเกษียณอายุของเราประสบความสำเร็จ จนทำให้เราสามารถเกษียณตัวเองได้ก่อนกำหนด ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบอายุ 60 ปีอีกต่อไป หากเรารู้จักการวางแผนการเงินอย่างถูกต้อง ซึ่งเรามีวิธี Early Retire ดี ๆ มาฝาก โดยอันดับแรกเราต้องเช็กความพร้อมของตัวเองก่อนว่า หากตอนนี้ทำงานมาถึงอายุ 30 ปี และมีความคิดว่าต้องการเกษียณตัวเองตอนอายุ 55 ปี เท่ากับว่าจะมีเวลาอีก 25 ปี ในการวางแผนต่อยอดเงินที่มีและเตรียมความพร้อม ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำการบ้านเพื่อตัวเราเองในอนาคต คือ
- เริ่มต้นคำนวณว่า เมื่อเราเกษียณไปแล้วจะต้องการใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ รวมค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน และเงินสำรองฉุกเฉิน อายุขัยหลังเกษียณ ที่สำคัญอย่าลืมบวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย เพื่อให้เห็นถึงตัวเลขที่แท้จริง
- ลองคิดถึงทรัพย์สินที่เราจะมีเมื่อเราเกษียณ เช่น บ้าน และรถยนต์ เป็นต้น ทรัพย์สินเหล่านี้เราจะผ่อนหมดหรือยังเมื่อถึงวันที่เราเกษียณ และถ้าหากเรามีหนี้สินรวมอยู่ด้วย จะต้องเร่งปลดหนี้ให้ได้ก่อนวันที่ต้องการเกษียณ เพราะชีวิตที่ไร้หนี้สินคือชีวิตที่มีความสุข หากไม่สามารถทำได้ เราจะต้องบวกหนี้สินเหล่านี้เข้าไปในเงินเก็บของเราด้วย
- ควรวางแผนเรื่องประกันชีวิต และประกันสุขภาพ เพราะเมื่อเจ็บป่วยก็สามารถมีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีได้ในทุกโรงพยาบาล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยเงินก้อนใหญ่เอง
- หลังจากเกษียณไปแล้วหากต้องการมีเงินใช้สบาย ๆ ไปเรื่อย ๆ วันนี้ควรเริ่มศึกษาเรื่องการลงทุน เพื่อสะสมความรู้ให้แน่น และนำไปใช้ลงทุนหลังเกษียณ เช่น กองทุนรวม หุ้น หรือธุรกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อต่อยอดเงินของเราให้เพิ่มขึ้น
- หมั่นทบทวนเป้าหมายตัวเอง ยิ่งเราคิดว่าจะเกษียณก่อนกำหนด เรายิ่งต้องเริ่มต้นคิด วางแผน และลงมือทำในสิ่งที่ได้กล่าวไปข้างต้นให้ครบ โดยสิ่งที่เริ่มต้นทำได้เลยคือ การออมเงินและการลงทุน และเมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละปีให้เราทบทวนถึงความเป็นไปได้ และความเสี่ยงต่าง ๆ ว่า แผนการของเรามีอะไรจะต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้
เริ่มต้นวางแผนเกษียณด้วยเงินล้านอย่างมั่นคง ชีวิตมีความสุขยั่งยืน
เมื่อเราพูดถึงการวางแผนเกษียณที่อายุ 60 ปี ความรู้สึกก็เกิดขึ้นมาทันทีว่า “ยาวนานเหลือเกิน” แต่จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า หากวางแผนชีวิตและวางแผนการเงินดี ๆ เราจะสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ก่อนกำหนด ซึ่งเรื่องนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เตรียมแผนการลงทุนเพื่อต่อยอดเงินล้านเอาไว้ให้แล้ว ให้คุณสามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ในวันที่ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงานแล้ว
1. กองทุน SSF
กองทุน SSF (Super Saving Funds) หรือกองทุนเพื่อการออม เป็นการลงทุนที่มีเป้าหมายเพื่อการลงทุนระยะยาว และมีสิทธิประโยชน์ในการใช้ลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2563 - 2567 สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้นไทยและต่างประเทศ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนทองคำ เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถเลือกความเสี่ยงในการลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่ต้องการได้ด้วย ซึ่งมีทั้งประเภทที่จ่ายและไม่จ่ายปันผลระหว่างการลงทุนด้วย ชอบแบบไหนเลือกได้เลย
เงื่อนไขสำคัญของ SSF:
- ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ได้แก่ กองทุน SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนการออมแห่งชาติ
- ต้องลงทุนอย่างน้อย 10 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อ ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
- สามารถสับเปลี่ยนกองทุนรวมอื่น ๆ ที่เป็น SSF เหมือนกันได้ระหว่างการลงทุน
- กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไข ไม่ต้องเสียภาษี
กองทุนรวม SSF ที่น่าสนใจ:
- กองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเงิน-เพื่อการออม (KFCASHSSF) มีความเสี่ยงต่ำอยู่ที่ระดับ 1 แบบไม่มีการจ่ายเงินปันผล เหมาะสำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนที่มีไว้สำหรับสร้าง Save Zone โดยกองทุนนี้เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนแบบไม่มีความเสี่ยงในต่างประเทศ มีนโยบายในการลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐไม่ต่ำว่า 70% ของ NAV ในส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน เงินฝากธนาคาร และสถาบันการเงิน
- กองทุนเปิดกรุงศรี SET100-เพื่อการออม (KFS100SSF) ขอแนะนำกองทุนความเสี่ยงสูงในระดับ 6 เพื่อสร้างความสมดุลให้แก่พอร์ต เหมาะสำหรับท่านที่ต้องการซื้อกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดี และมีนโยบายในการจ่ายปันผลหากกองทุนมีกำไรสะสม โดยการจ่ายปันผลนั้นต้องไม่ทำให้เกิดการขาดทุนสะสมของรอบบัญชีนั้น ๆ จะเน้นการลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเลือกเฉพาะบริษัทที่อยู่ในดัชนี SET100 ซึ่งจะทำให้เราเหมือนได้ลงทุนกับหุ้น 100 ตัวเลยทีเดียว
2. กองทุน RMF
การลงทุนกองทุนรวม RMF คือตัวเลือกเพื่อการวางแผนเกษียณอย่างแท้จริง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีเงื่อนไขสำคัญที่ต้องลงทุนระยะยาว โดยจะขายหน่วยลงทุนคืนได้ต่อเมื่อผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปี RMF ยังมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย แต่กองทุนประเภทนี้จะไม่มีการจ่ายเงินปันผล ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับพนักงานประจำที่ไม่มีกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
เงื่อนไขสำคัญของ RMF:
- ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ได้แก่ กองทุน SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ,กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ
- สามารถสับเปลี่ยนกองทุนรวมอื่น ๆ ที่เป็น RMF เหมือนกันได้ระหว่างการลงทุน
- สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปี และลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน)
- กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไข ไม่ต้องเสียภาษี
กองทุนรวม RMF ที่น่าสนใจ:
- กองทุนเปิดกรุงศรีแอคทีฟตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFAFIXRMF) กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ ระดับ 4 เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาว ทั้งในประเทศและนอกประเทศ โดยหากเป็นการลงทุนในต่างประเทศจะมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของจำนวนเงินลงทุน เหมาะสำหรับวัยใกล้เกษียณที่รับความเสี่ยงได้น้อยลง มุ่งเน้นความมั่นคงในการลงทุนมากกว่าการคาดหวังผลตอบแทนสูง
- กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิคเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFDNMRMF) กองทุนรวมตราสารทุนที่มีความเสี่ยงสูงในระดับที่ 6 โดยมีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรืออาจมีการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอร่วมด้วย โดยลงทุนไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ยังอายุไม่มาก และมีเวลาหารายได้อีกหลายปีกว่าจะถึงวัยเกษียณ สามารถรับความเสี่ยงที่สูงได้ เพื่อเปิดโอกาสให้การลงทุนนี้มอบผลตอบแทนที่สูงขึ้น
3. ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ประกันชีวิตแบบบำนาญเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการลงทุนที่มาพร้อมกับความคุ้มครองชีวิต เป็นเครื่องมือช่วยให้ประหยัดภาษีในวันที่ยังต้องทำงานหารายได้ เพราะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ และเป็นหลักประกันรายได้เมื่อถึงบั้นปลายของชีวิต ที่ไม่สามารถหารายได้ได้เหมือนในวัยหนุ่มสาว ทำให้ยังสามารถมั่นใจได้ว่า จะมีรายได้เข้ามาเป็นประจำทุกเดือน ยิ่งหากผู้ทำประกันอายุยืน ยิ่งได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ถือเป็นประกันชีวิตที่ตอบวัตถุประสงค์เพื่อดูแลตนเองในวัยเกษียณอย่างแท้จริง
นอกจากที่กล่าวมานี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังให้บริการที่ปรึกษาทางการเงิน ที่สามารถให้คำปรึกษาด้านการลงทุนให้เป็นไปตามแผนการเกษียณได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยแนะนำและออกแบบแผนที่สมบูรณ์ให้ได้หากท่านยังตัดสินใจวางแผนไม่ได้
การวางแผนเกษียณและการลงทุนด้วยเงินล้าน ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้อย่างไร้ความรู้และชะล่าใจ เพราะกาลเวลาที่ผ่านไปยิ่งทำให้เราเข้าใกล้วัยเกษียณเข้าไปทุกที ดังนั้นเริ่มต้นวางแผนสำหรับการเกษียณของตัวเอง และมองหาช่องทางการลงทุนที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มให้เงินล้านที่มีอยู่งอกเงยได้ และสำหรับท่านที่สนใจด้านการลงทุน ธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุน ให้คุณสามารถติดต่อผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-269-5959 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น.-17.00 น. หรือฝากข้อมูล เพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
- ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- RMF เป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
- กองทุน KFAFIXRMF อาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-investment grade) หรือที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bond) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วน หรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในโครงการ