5 กลยุทธ์กระจายการลงทุน หาที่ใช่ ใช้ที่ชอบ

โดย สิรภัทร เกาฏีระ CFP® นักวางแผนการเงิน
17 เมษายน 2566
5 กลยุทธ์กระจายการลงทุน หาที่ใช่ ใช้ที่ชอบ
สำหรับโลกของการลงทุน “ความเสี่ยง และผลตอบแทน” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอ และวิธีการจัดการความเสี่ยงในการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ การกระจายการลงทุน สำหรับในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอหลักการพื้นฐานของการกระจายความเสี่ยงซึ่งก็คือ การจัดสรรประเภทสิททรัพย์ในการลงทุน หรือ Asset Allocation นั่นเอง

การจัดสรรประเภทสินทรัพย์ในการลงทุน (Asset Allocation) คือ การกระจายการลงทุนของเราไปในหลากหลายสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น สินทรัพย์ทางเลือก อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่เงินสด ตามสัดส่วนที่ตั้งใจไว้ในแต่ละสินทรัพย์ ภายใต้แนวความคิดที่ว่าการลงทุนต้องมีการกระจายความเสี่ยง โดยมีหลักการว่าไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดตลอดเวลา ผู้ชนะเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ การจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์จึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางผลตอบแทนของพอร์ตของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้ความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้

ซึ่งวัตถุประสงค์ของนักลงทุนทุกคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดสรรประเภทสิททรัพย์ในการลงทุนที่แตกต่างกันให้เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละคน ซึ่งควรจะพิจารณาถึงปัจจัย 4 ปัจจัย อันประกอบไปด้วย
  1. เป้าหมายของนักลงทุน
  2. ระยะเวลาในการลงทุน หรือช่วงเวลาในการลงทุน
  3. ความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุน
  4. อายุของนักลงทุน
 
ประเภทสินทรัพย์
 

รูปแบบการจัดสรรประเภทสินทรัพย์ในการลงทุน (Asset Allocation)

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักประเภทสินทรัพย์ที่เราจะเลือกจัดสรรเข้ามาในพอร์ตของเรากันก่อน ได้แก่

ลงทุนในหุ้น

  • หุ้นขนาดใหญ่ เป็นหุ้นที่มีความมั่นคง บริษัทขนาดใหญ่ มีกำไรสม่ำเสมอ และอาจมีการจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง โดยที่การเติบโตอาจไม่สูงนักเนื่องจากธุรกิจได้ขยายตัวไปค่อนข้างมาก เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป โดยหุ้นใหญ่จะมีมูลค่าตลาด ตั้งแต่ 50,000 ล้านบาทขึ้นไป
  • หุ้นขนาดกลาง เป็นหุ้นที่มีโอกาสเติบโตขยายธุรกิจได้มากกว่าหุ้นใหญ่ แต่ธุรกิจอาจมีแนวโน้มมาประมาณหนึ่งแล้วต่างจากหุ้นเล็ก โดยหุ้นขนาดกลางในบางตัว อาจเป็นหุ้นที่นักลงทุนบางคนยังไม่สนใจ จึงอาจทำให้มีหุ้นที่มูลค่าต่ำกว่าราคาจริง ๆ ได้ โดยหุ้นขนาดกลางจะมีมูลค่าตลาด ระหว่าง 10,000 ล้านบาท – 50,000 ล้านบาท
  • หุ้นขนาดเล็ก เป็นหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูง จากการที่ธุรกิจยังสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มาก หากบริษัทมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความโดดเด่น และมีความเสี่ยงที่สูงกว่าหุ้นขนาดกลาง เพราะธุรกิจยังไม่มีรายได้ที่มั่นคง และอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก หุ้นขนาดเล็กจะมีมูลค่าตลาดน้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
 

ลงทุนในตราสารหนี้

  • ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือพันธบัตรรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ซึ่งทำการออกโดยรัฐบาล ซึ่งมีความมั่นคงสูง (ความเสี่ยงคือประเทศล้มละลาย)
  • ตราสารหนี้เอกชน หรือหุ้นกู้ เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับการเพิ่มทุน เพื่อขยายหรือพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม และอาจมีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐ แบ่งได้เป็น 2 เกรด คือ เกรดลงทุน (ออกโดยบริษัทที่มีความมั่นคงสูง) และเกรดเก็งกำไร (ออกโดยบริษัทที่มีความมั่นคงน้อยกว่า แต่ชดเชยด้วยการให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า)
 

เงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่า

เงินสดนั้นถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความคล่องตัวสูงสุด (สภาพคล่อง) สามารถนำมาใช้ได้ในเวลาอันสั้นหรือทันที การลงทุนในเงินสดเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับพอร์ตการลงทุนที่รอจังหวะและโอกาสสำหรับเข้าลงทุนเพิ่มเติม หรือเก็บไว้สร้างเสริมสภาพคล่องในภาวะวิกฤติ
 
Asset Allocation
 

แนวทางในการลงทุน (Asset Allocation Model)

โดยมีแนวทางในการจัดสรรประเภทสินทรัพย์ในการลงทุน (Asset Allocation Model) ที่เป็นที่นิยม จะมีอยู่ 5 แนวทาง ได้แก่

1. Income Model

โมเดลแบบรายได้ จะเน้นการจัดสรรประเภทสินทรัพย์เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นรายรับสม่ำเสมอ เป็นแนวทางที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนคูปอง (coupon-yielding bonds) และหุ้นที่จ่ายเงินปันผล (dividend-paying stocks) เป็นหลัก เพื่อสร้างรายรับที่สม่ำเสมอ โดยการจัดสรรรูปแบบนี้มักมีความเสี่ยงต่ำ ตัวอย่างการจัดสรรประเภทสิททรัพย์ ตามแนวทางนี้ เช่น
  • การลงทุนในตราสารหนี้ 100%
  • การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ 20% และตราสารหนี้ 80%
 

2. Balanced Model / Moderate Model

โมเดลแบบสมดุลหรือโมเดลแบบความเสี่ยงปานกลาง จะเน้นให้นักลงทุนแบ่งแยกการลงทุนของตนเองเท่า ๆ กันในหลักทรัพย์และตราสารหนี้ในมูลค่าที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งการกระจายการลงทุนในลักษณะนี้จะช่วยลดความผันผวนของหลักทรัพย์เป็นไปได้ โดยปกติแล้วพอร์ตโฟลิโอในโมเดลนี้จะมีความผันผวนของมูลค่าในช่วงระยะเวลาสั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามโมเดลนี้สามารถคาดหวังการเติบโตทางการเงินที่เหมาะสม และผลตอบแทนในช่วงระยะเวลากลางถึงยาว ตัวอย่างการจัดสรรประเภทสินทรัพย์ ตามแนวทางนี้ เช่น
  • การลงทุนในหุ้น 40% และตราสารหนี้ 60%
  • การลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้ 50%
  • การลงทุนในหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40%
 

3. Growth Model

โมเดลแบบเน้นการเติบโต จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่ เพราะคาดหวังว่าหุ้นจะเพิ่มมูลค่า และมีศักยภาพการเงินในระยะยาว นักลงทุนต้องยอมรับความผันผวนของมูลค่าที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งในระยะสั้น ๆ ซึ่งโมเดลนี้เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงและมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนาน ตัวอย่างการจัดสรรประเภทสินทรัพย์ ตามแนวทางนี้ เช่น
  • การลงทุนในหุ้น 100%
  • การลงทุนในหุ้น 70% และตราสารหนี้ 30%
 

4. Aggressive model

โมเดลเชิงรุก จะเน้นการลงทุนที่ได้คาดหวังผลตอบแทนที่สูง และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง มีความผันผวนของมูลค่า คล้ายกับโมเดลแบบเน้นการเติบโต ซึ่งโมเดลนี้จะเน้นการลงทุนในหุ้นและหลักทรัพย์ต่างประเทศ และมีระยะเวลาในการลงทุนที่ยาวนาน ตัวอย่างการจัดสรรประเภทสินทรัพย์ ตามแนวทางนี้ เช่น
  • การลงทุนในหุ้นขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก 100%
  • การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 40% การลงทุนหุ้นขนาดกลาง 50% ตราสารหนี้ 10%
 

5. Conservative model

เหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อยหรือแทบจะไม่ได้เลย เน้นการรักษาเงินลงทุนให้ปลอดภัย การลงทุนส่วนใหญ่จึงควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากประจำ ตราสารหนี้ ตัวอย่างการจัดสรรประเภทสินทรัพย์ ตามแนวทางนี้ เช่น
  • การลงทุนตราสารหนี้ 80% และเงินฝาก 20%
  • การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ 15% พันธบัตรรัฐบาล 50% หุ้นกู้ 20% และเงินฝาก 15%

หากคุณต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในด้านวางแผนความเสี่ยงและการลงทุน ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับ นึกถึงที่เงินล้านแรกและการต่อยอดเงินล้าน นึกถึง “KRUNGSRI PRIME”
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ