บทนำ
อีเธอเรียม (Ethereum) เป็นชื่อของระบบบล็อกเชนเครือข่ายหนึ่งที่มีลักษณะการประมวลผลคล้ายคลึงกับระบบของบิตคอยน์ (Bitcoin) โดยมี Native coin1/ ประจำบล็อกเชนที่เรียกว่า Ether หรืออีเธอร์ (ETH) ทำหน้าที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซีของแพลตฟอร์มในการชำระค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมและค่าบริการต่างๆ ซึ่งบล็อกเชนของอีเธอเรียมสามารถรองรับการเขียนโปรแกรมและรองรับการเขียนโค้ดคำสั่งหรือสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) ได้ จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อีเธอเรียมได้รับความนิยมและถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สู่การอัพเกรดศักยภาพของแพลตฟอร์มให้สามารถทำธุรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในพัฒนาการสำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือ “The Merge of Ethereum”
Blockchain Trilemma
ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น โครงสร้างของระบบที่ดีควรมีคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการ อันได้แก่
1. Decentralization: การกระจายศูนย์ หรือความสามารถที่จะดำเนินการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง
2. Security: ความปลอดภัย หรือความสามารถของระบบในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์
3. Scalability: ความสามารถขยายเครือข่าย กล่าวคือ เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น ระบบก็ยังทำงานได้รวดเร็วดังเดิม ไม่ล่าช้า
อย่างไรก็ตาม เหล่านักลงทุนและกูรูด้านบล็อกเชนมองว่าระบบบล็อกเชนในปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาเพื่อให้มีคุณสมบัติทั้ง 3 ประการเกิดขึ้นพร้อมกันได้ หรือที่เรียกกันว่า “Blockchain Trilemma”
ณ ปัจจุบัน เครือข่ายบล็อกเชนส่วนใหญ่ยังคงทำได้เพียงแค่ 2 ใน 3 ข้อนี้เท่านั้น รวมถึง Ethereum ด้วย แม้หลายๆ คนต่างให้ความเห็นว่าจุดเด่นของ Ethereum คือ Security และ Decentralization3/ แต่ยังคงมีจุดอ่อนในด้าน Scalability ดังนั้นการอัพเกรดระบบผ่านกระบวนการ “The Merge of Ethereum” จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพัฒนาระบบบล็อกเชนเพื่อให้อีเธอเรียมมีคุณลักษณะเด่นที่พึงปรารถนาครบทั้งสามประการ
The Merge of Ethereum คืออะไร
ในอดีต ระบบอีเธอเรียมทำงานบน Mainnet หรือเครือข่ายหลัก โดย Mainnet จะอาศัยกลไกฉันทามติ (Consensus Algorithm) แบบ Proof of Work (PoW) ในการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม ข้อมูลธุรกรรม ยอดเงินคงเหลือ หรือแม้กระทั่งสัญญาอัจฉริยะที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนก็จะถูกเก็บไว้บน Mainnet เสมอ แต่กลไก PoW นั้นมีข้อจำกัดในเรื่องของ Scalability อยู่มาก อีเธอเรียมจึงต้องการเปลี่ยนมาใช้กลไกฉันทามติแบบ Proof of Stake (PoS) แทนเพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว ซึ่งการเปลี่ยนกลไก ฉันทามติจาก PoW มาเป็น PoS นั้นประกอบไปด้วยสองขั้นตอนสำคัญ คือ 1) การสร้างเครือข่ายแยกหรือบีคอนเชน (Beacon Chain) ขึ้นมาอีกเลเยอร์หนึ่งโดยใช้ PoS เป็นกลไกการทำงาน และ 2) ขั้นตอนของการรวม Mainnet เข้ากับบีคอนเชน หรือที่เรียกว่า “The Merge”
บีคอนเชนหรือเครือข่ายแยกนี้จัดว่าเป็นอีกชั้นหรือเลเยอร์ (Layer) ของบล็อกเชนที่ถูกสร้างขึ้นภายหลัง ซึ่งในช่วงแรกของการทดสอบกลไก PoS บนระบบนั้น นักพัฒนาได้ออกแบบให้ระบบใหม่ทำงานคู่ขนานกับระบบเก่าไปก่อน เพื่อจะได้มีเวลาทดสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ จนสามารถมั่นใจได้ว่าบีคอนเชนที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นี้ได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์แบบที่สุดและจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ต่อผู้ใช้งานเดิมบนเครือข่ายหลักเมื่อเกิดการรวมเลเยอร์ทั้งสองเข้าด้วยกัน
ในปัจจุบัน “The Merge of Ethereum” หรือการรวมระบบ Mainnet เข้ากับบีคอนเชนนั้นดำเนินการเสร็จสิ้นและประสบผลสำเร็จแล้ว กลไกฉันทามติแบบ PoS จึงได้เข้ามาแทนที่ PoW อย่างสมบูรณ์บนบล็อกเชนอีเธอเรียม
หลังจากที่การรวมระบบและอัพเกรดเสร็จสิ้น เครือข่ายอีเธอเรียมจะนำกระบวนการแยกส่วน (Sharding) ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลในรูปแบบหนึ่งเข้ามาใช้งานภายในบล็อกเชน โดยกระบวนการนี้จะแบ่งการเก็บข้อมูลออกเป็นส่วนๆ ที่เรียกว่า Shard และเชื่อมต่อข้อมูลแต่ละ Shard ด้วยบีคอนเชน ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าจะมีทั้งหมด 64 ส่วน (Shard chains) ที่สามารถทำงานไปพร้อมกันได้ ส่งผลให้แพลตฟอร์มจะสามารถประมวลผลธุรกรรมได้สูงถึง 100,000 ธุรกรรมต่อวินาที (Transactions Per Second: TPS) และจะทำให้อีเธอเรียมกลายเป็นระบบที่มีขีดความสามารถในการขยายเครือข่าย (Scalability) เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะจะสามารถตอบโจทย์การทำธุรกรรมให้รวดเร็วขึ้นได้ในราคาที่ถูกลง
Vitalik Buterin โปรแกรมเมอร์ชาวรัสเซียผู้คิดค้นบล็อกเชนอีเธอเรียมและเหรียญ ETH เคยออกมาพูดถึงการพัฒนาให้อีเธอเรียมสามารถทำธุรกรรมได้ครบทุกด้านตามคุณสมบัติในอุดมคติทั้ง 3 ของ Blockchain Trilemma โดยในการประชุม Ethereum 2022 (EthCC) ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของเครือข่ายอีเธอเรียมที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสที่ผ่านมานั้น Buterin ได้พูดถึงรายละเอียดของการอัพเกรด The Merge ในขณะนั้นว่าเสร็จเรียบร้อยไปมากกว่าร้อยละ 90 แล้ว เหลือเพียงการทดสอบใน Testnet อีกเพียงบางประการ5/ และต่อมาในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565 ระบบ The Merge of Ethereum ได้อัพเกรดเสร็จสมบูรณ์เมื่อเวลา 20:42 น. ตามเวลาประเทศไทย
เมื่อ The Merge of Ethereum เสร็จสมบูรณ์
ที่ผ่านมา คริปโตเคอร์เรนซีนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูงมาก หลายฝ่ายจึงกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อการใช้พลังงานในอนาคต โดยปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2565 ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงถึง 120 – 240 เทระวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งปีของหลายประเทศ เช่น อาร์เจนตินาหรือออสเตรเลีย โดยคิดเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 0.4 - 0.9 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก10/ การใช้ไฟฟ้าของบล็อกเชนอีเธอเรียมก็เช่นกัน โดยก่อนการอัพเกรด The Merge of Ethereum นั้น มีการใช้พลังงานอยู่ระหว่าง 46.31 – 93.98 เทระวัตชั่วโมงต่อปี11/ และมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint)12/ เกิดขึ้นสูงถึง 11,016,000 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Equivalent carbon dioxide: CO2e)13/
ปัญหาการใช้พลังงานบนเครือข่ายบล็อกเชนนั้นมีต้นตอมาจากกลไกฉันทามติแบบ PoW ที่มีการใช้พลังงานสูงสุดเกือบ 100 เทระวัตชั่วโมงต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งปีในประเทศอย่างโคลอมเบียหรือสาธารณรัฐเช็ก จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เครือข่ายอีเธอเรียมตั้งใจนำกลไก PoS เข้ามาทำงานแทนกลไกเดิม เพราะ PoS ใช้พลังงานในการทำหนึ่งธุรกรรมเพียงแค่ 0.0026 เทระวัตต์ หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.01 ของกลไก PoW (กล่าวคือ สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 99.99) หรือใช้พลังงานเทียบเท่าจำนวนครัวเรือนในสหรัฐฯ ราว 2,100 ครัวเรือนเพียงเท่านั้น14/ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ลดการใช้พลังงานลงไปได้มากเนื่องจากกลไก PoS ไม่มีการแข่งขันกันตรวจสอบธุรกรรม หากแต่ระบบจะใช้วิธีการสุ่มเพื่อหา Validator15/ ที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของบล็อกเชนให้เข้ามาตรวจสอบธุรกรรม จึงทำให้มีผู้ตรวจสอบธุรกรรมหนึ่งคนต่อหนึ่งบล็อกเท่านั้น
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการอัพเกรดครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการขยายปริมาณการทำธุรกรรม (Scalability) และลดความหนาแน่นของจำนวนธุรกรรมที่ทำผ่าน PoW ซึ่งส่งผลให้บล็อกเชนอีเธอเรียมมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ครบทั้ง 3 ประการ นอกจากนี้การอัพเกรดยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในระบบมากขึ้น เนื่องจากมี Validator เข้ามาตรวจสอบการทำธุรกรรม และในแต่ละธุรกรรม Validator จะต้องวางเหรียญค้ำประกัน (Staking) เพื่อแลกสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรมจำนวน 32 ETH16/ ซึ่งนัยหนึ่งอาจเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ใช้ความรอบคอบและระมัดระวังในการตรวจสอบธุรกรรมมากขึ้น มิเช่นนั้น Validator อาจสูญเสียเหรียญค้ำประกันที่วางไว้กับระบบได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่ต้องการเข้ามาเป็น Validator จะสามารถทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนไปกับอุปกรณ์และฮาร์ดแวร์ราคาสูงเหมือนก่อน เพราะสำหรับกลไก PoS แล้ว การตรวจสอบธุรกรรมไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีพลังคำนวณมหาศาลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้านความเร็วในการตรวจสอบเหมือนกลไก PoW ดังนั้น เมื่อการเข้ามาเป็น Validator สามารถทำได้ง่ายและทำได้ในวงที่กว้างขึ้น การกระจายการตรวจสอบของเครือข่ายย่อมจะมีมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การอัพเกรดครั้งนี้ยังนำมาซึ่งข้อกังวลถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น อาทิเช่น 1) การหยุดชะงักของบล็อกเชนหรือการยุติการใช้งานบล็อกเชนอีเธอเรียมอันมีเหตุจากการเปลี่ยนกลไกจาก PoW ไปเป็น PoS ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ 2) ความกังวลด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ซึ่งแม้ว่าการอัพเกรดจะช่วยให้ระบบมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่กลไกแบบใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบอาจมีช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาโจมตีบล็อกเชนอีเธอเรียมได้ และ 3) ความไม่แน่นอนของราคาคริปโตเคอร์เรนซีเนื่องจากการอัพเกรด เพราะการควบรวม PoW เข้าด้วยกันกับ PoS อาจส่งผลให้ราคาของเหรียญ ETH ลดลงได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงคริปโตเคอร์เรนซีสกุลอื่นๆ ที่สร้างบนบล็อกเชนอีเธอเรียมด้วย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่การอัพเกรดระบบเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบันซึ่งนับเป็นเวลาร่วม 10 เดือนแล้ว ข้อกังวลทั้งสามประการที่ได้กล่าวมานั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ กล่าวคือ ไม่มีการหยุดชะงักของเครือข่ายและไม่มีประเด็นความปลอดภัยของบล็อกเชนอีเธอเรียมหลังจาก The Merge เสร็จสิ้นเรียบร้อย นอกจากนี้การอัพเกรดครั้งนี้ยังเป็นการยกระดับด้านความปลอดภัยอีกด้วย ส่วนผู้ที่ถือครองเหรียญ ETH ก็ยังสามารถเข้ามาเป็น Validator ในบล็อกเชนได้ และราคาเหรียญ ETH อาจผันผวนบ้างตามกลไกตลาดโดยทั่วไป แต่ก็มิได้ส่งผลกระทบต่อเหรียญอื่นๆ และความผันผวนของราคาไม่ได้เกิดจากการอัพเกรดระบบในครั้งนี้
การพัฒนาในขั้นต่อไปของ Ethereum
Vitalik Buterin ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า The Merge of Ethereum เป็นเพียงขั้นตอนแรกๆ ของการอัพเกรดบล็อกเชนอีเธอเรียมเท่านั้น เพราะหลังจากนี้จะมีการอัพเกรดเครือข่ายอีกเรื่อยๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดขั้นตอนไว้ดังต่อไปนี้
- The Surge: การอัพเกรดที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการทำธุรกรรม ซึ่งปกติแล้วอีเธอเรียมสามารถทำธุรกรรมได้เพียง 15 – 20 ธุรกรรมต่อวินาที แต่ The Surge จะยกระดับการทำธุรกรรมให้อีเธอเรียมได้มากถึง 100,000 ธุรกรรมต่อวินาทีเลยทีเดียว ซึ่งคาดว่าการอัพเกรดนี้จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2566
- The Scourge: การอัพเกรดระบบอีเธอเรียมให้มีความสมบูรณ์และน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ใช้งานในการจ่ายค่า MEV17/ ให้กับผู้ตรวจสอบยืนยันธุรกรรม
- The Verge: การอัพเกรดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้เครือข่ายและประหยัดพื้นที่ในการตรวจสอบได้มากถึงร้อยละ 85 เนื่องจากจะมีการนำระบบ “Verkle tree” เข้ามาใช้งานแทนระบบ “Merkle tree”18/ ในการจัดการระบบตรวจสอบ ซึ่งระบบใหม่นี้จะอาศัยข้อมูลที่น้อยลงในการตรวจสอบธุรกรรมบนเครือข่าย
- The Purge: การกำจัดข้อมูลที่ไม่จำเป็น ในขั้นตอนนี้อีเธอเรียมจะดำเนินการตามมาตรการ EIP-4444: Bound Historical Data in Execution Clients ซึ่งเป็นมาตรการที่จะเข้ามาช่วยกำจัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปบนบล็อกเชน ทำให้บล็อกเชนทำงานน้อยลงในการประมวลผลข้อมูล และช่วยลดระยะเวลาในการถ่ายโอนข้อมูลอีกด้วย
- The Splurge: การอัพเกรดเครือข่ายอีเธอเรียมในลำดับสุดท้าย โดยอาศัยมาตรการ EIP หลักๆ ซึ่งประกอบไปด้วย 1) EIP-1559 ทำหน้าที่ช่วยทำลายหรือ “เผา” (Burn) เหรียญ ETH บางส่วนจากค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในทุกๆ ธุรกรรม เพื่อให้จำนวนเหรียญ ETH ในระบบมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ และ 2) EIP-4337: Account Abstraction ที่จะเข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มความยืดหยุ่นของเครือข่าย โดยขั้นตอนนี้จะนำ Verified Delay Function (VDF) มาใช้ เพื่อช่วยให้การตรวจสอบธุรกรรมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นภายในเครือข่ายสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น
เสียงสะท้อนและการยอมรับของตลาด
The Merge of Ethereum นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของโลกคริปโตเคอร์เรนซีในปี พ.ศ.2565 แต่หลังจากที่ The Merge เสร็จสมบูรณ์ ราคาของเหรียญ ETH กลับมิได้เพิ่มขึ้นดั่งที่นักลงทุนคาดหมายในทันที แต่ในระยะแรกปรับตัวลดลงก่อนจะกลับมาเริ่มทรงตัว ส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดที่ว่าการอัพเกรดครั้งนี้จะเป็นการสร้างเครือข่ายบล็อกเชนใหม่ โดยมีการลือกันว่าเครือข่ายใหม่นี้จะใช้ชื่อ “Ethereum 2.0” และจะมีการสร้างเหรียญใหม่ “ETH2” มาใช้แทนเหรียญเดิม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการอัพเกรดที่ผ่านมามิได้ก่อให้เกิดเครือข่ายบล็อกเชนใหม่และมิได้มีการสร้างเหรียญใหม่แต่อย่างใด นอกจากนี้ ในช่วงดังกล่าวนั้นตลาดคริปโตเคอรเรนซียังมีความผันผวนสูงอันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก เช่น การล่มสลายของกระดานเทรด FTX19/ ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นกระดานเทรดที่มีสัดส่วนมูลค่าตลาดเป็นอันดับสองของโลกรองจาก Binance ส่วนเหรียญ ETH เองก็ได้รับผลกระทบจาก FTX เช่นกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ราคาเหรียญ ETH ลดลงมากว่าร้อยละ 30 จากระดับราคา 1,574.80 ดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 สู่ระดับราคาต่ำสุดที่ 1,083.29 ดอลลาร์สหรัฐในวันรุ่งขึ้น20/ และราคาเหรียญ ETH ยังขึ้นลงหลายครั้งก่อนจะสิ้นสุดปี 2565 ด้วยราคาที่ประมาณ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากความผันผวนของราคาตามสภาพตลาดแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลยังมีประเด็นกับสถานะของเหรียญ ETH อีกด้วย โดย Gary Gensler ประธานสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (US SEC) ได้ให้ความเห็นหลังจาก The Merge สำเร็จลุล่วงเมื่อช่วงปลายปี 2565 ว่าการเปลี่ยนกลไกฉันทามติจาก PoW เป็น PoS ซึ่งมีการ Staking รวมอยู่ด้วยนั้น ทำให้ US SEC ต้องพิจารณาว่าเหรียญ ETH เป็นสินทรัพย์ที่เข้าข่ายหลักทรัพย์ และต้องถูกกำกับดูแลโดย US SEC หรือไม่ โดย US SEC ได้ใช้การทดสอบที่เรียกว่า Howey Test หรือการทดสอบว่าผู้ถือเหรียญ ETH คาดหวังที่จะได้รับกำไรที่เกิดจากความพยายามของผู้อื่นเป็นการตอบแทนจากการถือสินทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าการถือเหรียญ ETH เป็นการลงทุนเพื่อแสวงกำไรหรือไม่ ซึ่งผลการทดสอบพบว่าประชาชนผู้ถือเหรียญคาดหวังที่จะได้รับผลกำไรจากการถือเหรียญ ETH จริงคล้ายคลึงกับการถือครองหลักทรัพย์21/ ในเวลาเดียวกันเอกสารที่ฟ้องร้อง Sam Bankman-Fried อดีตผู้บริหารระดับสูงของ FTX ที่ออกโดยหน่วยงานกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐฯ (The Unites States Commodity Futures Trading Commission: US CFTC) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.256522/ ที่ผ่านมานั้น มีเนื้อหาที่กรรมาธิการกล่าวว่าเหรียญ ETH จัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์คล้ายกับบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดความสับสนในหมู่นักลงทุนถึงสถานภาพของเหรียญว่า ETH ถูกจัดเป็นหลักทรัพย์ (Security) หรือสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) กันแน่ โดยหากเป็นหลักทรัพย์จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ US SEC แต่หากถูกจัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์จะต้องอยู่ภายใต้ US CFTC ซึ่งภายหลังที่มีข้อโต้เถียงกันระหว่างสองหน่วยงาน Dan Berkovitz อดีตที่ปรึกษาทั่วไปของ US SEC ได้ให้ความเห็นผ่าน Unchained Podcast ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ว่ามีความเป็นไปได้ในเชิงกฎหมายที่เหรียญ ETH จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากทั้งสองหน่วยงาน23/
หลังจากที่เกิดความผันผวนดังกล่าว ราคาเหรียญ ETH ได้กลับมารับแรงหนุนจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการที่ Google เปิดตัวบริการ Blockchain node hosting24/ โดยอีเธอเรียมเป็นบล็อกเชนแรกที่ Google เลือกใช้งาน นอกจากนี้ เมื่อ Vitalik Buterin ประกาศการอัพเกรดอีเธอเรียมขั้นต่อจาก The Merge ซึ่งคือ The Scourge25/ ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ Validator เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในการผนวกธุรกรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบล็อกเชน รวมถึงประกาศ Shanghai Upgrade26/ ที่มีจุดประสงค์ให้ Validator สามารถถอนเหรียญ ETH ที่นำไปค้ำประกันไว้บนระบบออกมาได้ ซึ่งสุดท้ายสำเร็จเรียบร้อยไปเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2566 เหตุการณ์ทั้งสองนี้ต่างเข้ามาส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับบล็อกเชนอีเธอเรียมและส่งผลให้ราคาของเหรียญ ETH ดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งหลังจาก Shanghai Upgrade เสร็จสมบูรณ์ ราคาของเหรียญ ETH ได้พุ่งขึ้นไปสูงกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบแปดเดือน
นักลงทุนและเหล่ากูรูต่างมองว่า The Merge of Ethereum ซึ่งเป็นการอัพเกรดครั้งใหญ่นี้ส่งผลดีต่อเครือข่ายEthereum เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรมของบล็อกเชนที่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยที่สูงขึ้น รวมไปถึงการใช้พลังงานที่ลดลง ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจของเครือข่ายอีเธอเรียมได้มาก
มุมมองวิจัยกรุงศรี:The Merge of Ethereum
The Merge of Ethereum นับเป็นหนึ่งในการปฏิวัติวงการคริปโตเคอร์เรนซีครั้งสำคัญในปี พ.ศ.2565 ที่ทั่วทุกฝ่ายต่างให้ความสนใจ เนื่องจากเครือข่ายอีเธอเรียมจะมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ทั้ง 3 ประการตาม Blockchain Trilemma ได้พร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก โดยการอัพเกรดครั้งนี้ได้ช่วยลดข้อจำกัดเรื่อง Scalability ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในมุมของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร การอัพเกรดครั้งนี้มาพร้อมกับแรงกระเพื่อมทั้งในด้านประโยชน์และผลกระทบ โดยในด้านประโยชน์นั้น เนื่องจากอีเธอเรียมเป็นบล็อกเชนที่สามารถรองรับการสร้างแอพพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (Decentralized applications: DApps) รวมไปถึงการทำสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินหลายรูปแบบให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งจากคุณสมบัติของบล็อกเชนที่สร้างความน่าเชื่อถือจากระบบและผู้ใช้งานโดยไม่ต้องพึ่งตัวกลาง นอกจากนี้ สัญญาอัจฉริยะที่ตั้งอยู่บนบล็อกเชนที่ช่วยให้การทำธุรกรรมดำเนินไปได้เองโดยอัตโนมัติเมื่อตัวแปรต่างๆ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการแก้ไขสัญญาในภายหลังได้และทำให้การทำธุรกรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การลดการใช้พลังงานของเครือข่ายอีเธอเรียมอย่างมหาศาลหลังเกิด The Merge of Ethereum อาจดึงดูดนักลงทุนที่เล็งเห็นประโยชน์ของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลและสนใจในการลงทุนที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment Social Governance: ESG) ให้เข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้ให้มีความ ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เพราะในจักรวาลของบล็อกเชนนั้น อีเธอเรียมได้กลายเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ ในแง่ของการเป็นเครือข่ายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green blockchain) มากกว่าเครือข่ายบล็อกเชนอื่นๆ อีกทั้งศักยภาพของบล็อกเชนเองที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาบล็อกเชนมาลดความซับซ้อนในการจัดการเอกสารพร้อมทั้งมีการแปลงสินทรัพย์ให้มาอยู่ในรูปของโทเคนดิจิทัลบนบล็อกเชน (Asset tokenization) อุตสาหกรรมด้านสื่อบันเทิงที่นำเอาบล็อกเชนมาใช้แสดงสิทธิ์ของศิลปิน ป้องกันการถูกละเมิดลิขสิทธิ์และสร้างรายได้กลับมาที่ศิลปินผู้ผลิตผลงานโดยตรง หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมสุขภาพที่นำบล็อกเชนมาใช้ในการเก็บข้อมูลและประวัติการรักษาคนไข้ ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากหลายแห่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถช่วยลดขั้นตอนในการทำงานของหลายๆ งานได้มาก กระบวนการทำงานแบบเดิมอาจมีต้นทุนต่ำลงอีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
ในแง่ของผลกระทบนั้น โครงสร้างพื้นฐานและข้อจำกัดของบล็อกเชนเป็นสิ่งที่ยังคงต้องคิดคำนึง อาทิเช่น ข้อมูลที่ถูกเขียนไปบนบล็อกเชนแล้วจะไม่มีโอกาสย้อนกลับมาแก้ไขได้ จึงมีความเสี่ยงหากใส่ข้อมูลที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินที่ทำธุรกรรมหรือการใส่ Key ที่ทำหน้าที่เสมือนเลขบัญชี นอกจากนี้ อีกปัญหาหนึ่งที่พบในการอัพเกรดครั้งนี้คือ แม้ว่าอีเธอเรียมจะสามารถประมวลผลธุรกรรมได้มากขึ้นหลังการอัพเกรดแล้ว แต่กระบวนการอัพเกรดของระบบกระจายศูนย์นั้นจะมีความยุ่งยากทางเทคนิคมากกว่าระบบรวมศูนย์โดยเปรียบเทียบ การตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระบบจึงต้องอาศัยระยะเวลาที่นานขึ้น ซึ่งหากมีการกำกับดูแลเครือข่ายที่ไม่ดีหรือครอบคลุมเพียงพอ ระยะเวลาการยืนยันธุรกรรมที่ยาวนานขึ้นนี้จะเปรียบเสมือนช่องว่างที่เปิดกว้างขึ้นทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีถือโอกาสตรงนี้เข้ามาแทรกแซงระบบได้ นอกจากนี้ คำสั่งอัตโนมัติในสัญญาอัจฉริยะอาจได้รับผลกระทบจากการเกิดข้อบกพร่องของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการประมวลผล ซึ่งหากโปรแกรมถูกออกแบบมาไม่ดี ย่อมส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อคำสั่งอัตโนมัติที่ถูกเขียนไว้ได้ในที่สุด
แม้ว่าอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารนั้นจะมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้งานมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยมีสัดส่วนการใช้งานบล็อกเชนสูงถึงร้อยละ 29.728/ แต่ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ก็ยังอยู่ในวงจำกัด แม้กูรูในวงการหลายต่อหลายคนจะชูข้อดีหลายประการของการใช้เครือข่ายบล็อกเชนก็ตาม ดังนั้น สิ่งที่ยังคงต้องพัฒนากันต่อไปคือ การศึกษาวิธีใช้ประโยชน์จากบล็อกเชนที่แท้จริง อาศัยศักยภาพของบล็อกเชนที่โดดเด่นเช่น การประยุกต์ใช้บล็อกเชนกับการตรวจสอบและติดตามข้อมูลของสินค้า เอกสาร หรือแม้กระทั่งติดตามที่มาของสินค้า (Traceability) ซึ่งบล็อกเชนสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าทุกอุตสาหกรรมควรจะต้องนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ทั้งหมดเนื่องจากหลายภาคส่วนยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงและข้อจำกัดของบล็อกเชน รวมถึงความไม่มั่นใจว่าการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้จะก่อให้เกิดคุณค่าทางธุรกิจ (Business value) มากกว่าการใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมในแต่ละกรณีการใช้งาน (Use case) ถึงอย่างไรก็ดี ภาคการธนาคารในประเทศญี่ปุ่นนำโดยธนาคารยักษ์ใหญ่ Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ออกมาประกาศว่ากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์ม “Progmat”29/ โดยหนึ่งในความสามารถสำคัญของ Progmat คือการออก Stablecoin ที่ตรึงไว้กับเงินเยนของญี่ปุ่นภายใต้ชื่อว่า “Progmat Coin” โดย MUFG คาดหวังให้เหรียญดังกล่าวนี้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างแพร่หลายในอนาคต ซึ่ง Progmat Coin นั้นจะช่วยสนับสนุนการออก Stablecoin ของธนาคารต่างๆ ในญี่ปุ่นบนเครือข่ายบล็อกเชนชั้นนำ ทั้งอีเธอเรียม Polygon Avalanche และ Cosmos เป็นลำดับแรก และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้ในอนาคตสามารถเกิดการทำธุรกรรมข้ามเครือข่าย อาทิ การให้กู้ยืม (Lending) และการแลกเปลี่ยนเหรียญ (Swaps) บนบล็อกเชนที่สามารถรองรับได้อีกด้วย30/ ซึ่งการอัพเกรดของบล็อกเชนอีเธอเรียมในครั้งนี้ เปรียบเสมือนการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายให้มีศักยภาพมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรองรับการใช้ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นในอีกหลายด้านในอนาคต
สำหรับประเทศไทยนั้น ภาคส่วนต่างๆ จึงอาจยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการศึกษาและทำความเข้าใจอย่างจริงจังก่อนว่าจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนตลอดจนสัญญาอัจฉริยะนี้มาประยุกต์ใช้กับกรณีการใช้งานต่างๆ ได้อย่างไรที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างคุณค่าทางธุรกิจมากกว่าเดิม เพื่อให้บล็อกเชนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการทำธุรกรรมของอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและของเศรษฐกิจไทยต่อไป
References
21shares (Sep 2022) “The Ethereum Merge, Arguably The Most Significant Event in Crypto History”. Retrieved March 28,2023 from https://21shares.com/research/ethereum-merge-primer
Bitkub (Aug 2022) “รู้จัก The Merge การรวมร่างที่น่าตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ Ethereum”. Retrieved March 23,2023 from https://www.bitkub.com/th/blog/ethereum-the-merge-db43450d5c1b
Coindcx (Apr 2023) “Ethereum Shanghai Upgrade Explained: Staking, Withdrawals & Everything in Between!”. Retrieved April 18,2023 from https://coindcx.com/blog/cryptocurrency/ethereum-shanghai-upgrade/
CoinDesk (Aug 2022) “What is the Ethereum Merge”. Retrieved March 14,2023 from
https://www.coindesk.com/learn/what-is-the-merge-and-why-has-it-taken-so-long/
Cointelegraph (Oct 2022) “The Merge brings down Ethereum’s network power consumption by over 99.9%”. Retrieved March 29,2023 from https://cointelegraph.com/news/the-merge-brings-down-ethereum-s-network-power-consumption-by-over-99-9
efinanceThai (Sep 2022) “สรุปประเด็นต้องรู้เกี่ยวกับ The Merge การอัปเกรดครั้งใหญ่ของ Ethereum” Retrieved March 16,2023 from https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=C&id=SWdGZThmT1JLSFk9
Ethereum.org “The Merge” Retrieved March 10,2023 from https://ethereum.org/en/roadmap/merge/
Finnomena (Jun 2022) “The Merge คืออะไรและส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?”. Retrieved March 15,2023 from https://www.finnomena.com/zipmex/the-merge/
Investopedia (March 2023) “What Is the Ethereum Shanghai Upgrade?”. Retrieved March 21,2023 from https://www.investopedia.com/what-is-the-ethereum-shanghai-upgrade-7099021
Icommunity (Feb 2023) “Do you really need blockchain” Retrieved July 6,2023 from
https://icommunity.io/en/do-you-really-need-blockchain/
SCB10X (Jan 2023) “รู้จัก The Merge กับการอัปเดตครั้งสำคัญเพื่อรากฐานอนาคตของ Blockchain”. Retrieved March 25,2023 from https://www.scb10x.com/blog/the-merge-future-blockchain
Techsauce (Sep 2022) “The Merge การอัปเกรดครั้งใหญ่ของ Ethereum คืออะไร ทำไมถึงน่าจับตา?”. Retrieved March 20,2023 from https://techsauce.co/tech-and-biz/what-is-ethereum-the-merge
The ascent (March 2022) “Here's What the Ethereum Merge Means for Investors”. Retrieved March 17,2023 from https://www.fool.com/the-ascent/cryptocurrency/articles/heres-what-the-ethereum-merge-means-for-investors/
Theblock (March 2023) “Ethereum to begin final dress rehearsal today for Shapella upgrade”. Retrieved April 6,2023 from https://www.theblock.co/post/219793/ethereum-to-begin-final-dress-rehearsal-today-for-shapella-upgrade?utm_source=cryptopanic&utm_medium=rss
Theblock (Sep 2022) “The Merge: Everything you need to know about Ethereum's big upgrade”. Retrieved March 29,2023 from https://www.theblock.co/post/166708/the-merge-everything-you-need-to-know-about-ethereums-big-upgrade
Zipmex (Sep 2022) “การอัปเดต The Merge สำเร็จแล้ว พร้อมต้อนรับกลไก PoS บน Ethereum”. Retrieved March 20,2023 from https://zipmex.com/th/learn/what-is-the-merge/
1/ Native coin คือ เหรียญที่ใช้บนระบบเฉพาะเจาะจงของบล็อกเชนนั้นๆ เช่น บิตคอยน์ซึ่งเป็นคริปโตเคอร์เรนซีที่เก่าแก่ที่สุดจัดว่าเป็น Native coin ของบล็อกเชนชื่อเดียวกัน หรือ Ether (ETH) เป็น Native coin ของบล็อกเชน Ethereum
2/ https://academy.binance.com/en/articles/what-is-the-blockchain-trilemm
3/ https://academy.shrimpy.io/post/what-is-the-blockchain-trilemma
4/ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรีเรื่อง “เทคโนโลยีบล็อกเชนในภาคธนาคาร”
5/ https://cryptopotato.com/the-merge-testing-is-90-complete-says-ethereums-vitalik-buterin/
6/ https://twitter.com/VitalikButerin/status/1570306185391378434
7/ https://www.outlookindia.com/business/ethereum-gets-into-the-merge-with-bellatrix-upgrade-today-news-221317
8/ https://www.etfstream.com/articles/ethereum-merge-arguably-the-most-significant-event-in-crypto-history
9/ Ethereum Improvement Proposals (EIP) คือข้อเสนอแผนการพัฒนาระบบที่ระบุคุณสมบัติทางเทคนิคหรือกระบวนการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีเธอเรียม เพื่อแจ้งให้เหล่านักลงทุนหรือบุคคลที่ติดตามบล็อกเชนทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
10/ https://www.whitehouse.gov/ostp/news-updates/พ.ศ.2565/09/08/fact-sheet-climate-and-energy-implications-of-crypto-assets-in-the-united-states/
11/ https://cointelegraph.com/news/the-merge-brings-down-ethereum-s-network-power-consumption-by-over-99-9
12/ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) คือ ปริมาณการปล่อยและดูดกลับของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emissions and removals) ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์หรือบริการตลอดวัฏจักรชีวิต หรือจากกิจกรรมการของแต่ละองค์กร โดยมีหน่วยอยู่ในรูปของตัน (กิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2e)
13/ https://ethereum.org/en/energy-consumption/
14/ https://content.ftserussell.com/sites/default/files/education_proof_of_stake_paper_v6_0.pdf
15/ Validator คือ บุคคลที่ได้รับเลือกให้ตรวจสอบการยืนยันธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนอีเธอเรียม ซึ่งใช้กลไกฉันทามติแบบ Proof of Stake โดยยิ่งมีจำนวน Validator มากเท่าไร จะยิ่งส่งผลให้บล็อกเชนมีความปลอดภัยมากขึ้นตามไปด้วย
16/ การวางเหรียญค้ำประกัน (Staking) ของ Validator นั้นเป็นไปตามข้อกำหนดของบล็อกเชน Ethereum ว่า Validator ต้องวางเหรียญ ETH ค้ำประกันไว้อย่างน้อย 32 ETH ซึ่งการกำหนดอัตราขั้นต่ำดังกล่าวได้ทำให้ Validator หลายรายมีจำนวนเหรียญไม่เพียงพอต่อการค้ำประกัน แต่หาก Validator มีเหรียญต่ำกว่า 32 ETH เครือข่าย Ethereum ก็อนุโลมให้รวมกลุ่มกับ Validator คนอื่นๆ เพื่อวางเหรียญค้ำประกัน (Pooled staking) ได้ เพื่อที่จะได้สิทธิ์เข้าตรวจสอบธุรกรรมของบล็อกเชน Ethereum เหมือนผู้ถือเหรียญรายใหญ่
17/ MEV หรือ Maximal Extractable Value คือ ผลกำไรหรือผลประโยชน์สูงสุดที่ Validator สามารถหาได้จากการกระบวนการตรวจสอบธุรกรรมให้แก่ Ethereum ในระหว่างกระบวนการผลิตบล็อกของเครือข่ายบล็อกเชน โดยอาจมีการสลับสับเปลี่ยนลำดับธุรกรรม ผนวกรวมหรือกำจัดบางธุรกรรมออกไป ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมแก่ Validator เพื่อที่ธุรกรรมของตนจะได้ถูกบรรจุอยู่ในบล็อกและได้รับการตรวจสอบยืนยันในที่สุด
18/ Merkle tree คือการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของบล็อกเชนซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลหลักและองค์ประกอบหลักของบล็อกเชน การเก็บข้อมูลรูปแบบนี้มีลักษณะคล้ายโครงสร้างต้นไม้ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลได้และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบนบล็อกเชน ซึ่งต่อมา Merkle tree ได้ถูกพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็น Verkle tree กล่าวคือ มีการพัฒนาให้การจัดเก็บและการตรวจสอบข้อมูลสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสามารถรองรับการประมวลข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้อีกด้วย
19/ https://capital.com/what-did-bankman-fried-ftx-and-alameda-do-wrong
20/ https://blinkrilo.weebly.com/blog/ethereum-will-drop-consumption-by
21/ https://www.wsj.com/articles/ethers-new-staking-model-could-draw-sec-attention-11663266224
22/ https://www.courtlistener.com/?q=commodities%20id%3A219985730&type=r&order_by=score%20desc
23/ https://cointelegraph.com/news/eth-can-be-security-and-commodity-says-former-cftc-commissioner
24/ https://cloud.google.com/blog/products/infrastructure-modernization/introducing-blockchain-node-engine
25/ https://twitter.com/VitalikButerin/status/1588669782471368704
26/ https://www.coindesk.com/tech/พ.ศ.2565/11/24/ethereum-developers-agree-on-what-could-be-included-in-the-next-upgrade-but-not-when/
27/ https://qz.com/esg-investors-arent-all-sold-on-ethereums-merge-1849504484
28/ https://www.simplifyconsulting.co.uk/blockchain-in-wealth/
29/ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มบังคับใช้กฎหมายห้ามมิใช้สถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารในญี่ปุ่นออก Stablecoin เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
30/ https://cointelegraph.com/news/mufg-to-facilitate-japanese-bank-backed-stablecoins-via-progmat-coin-platform