สังคมสูงวัย โจทย์ใหญ่ที่มาพร้อมกับโอกาส

สังคมสูงวัย โจทย์ใหญ่ที่มาพร้อมกับโอกาส

11 เมษายน 2567

บทสรุปผู้บริหาร

 

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ตั้งแต่ปี 2566 จากจำนวนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่คิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะ 1) การไม่มีรายได้ที่มั่นคงและเพียงพอยามเกษียณ เนื่องจากไม่ได้ทำงาน หรือทำงานแต่ได้รับค่าตอบแทนต่ำ รวมถึงไม่มีเงินบำนาญหรือเงินออมที่เพียงพอ และ 2) การมีรายจ่ายที่สูงขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา ทั้งค่ารักษาพยาบาล และค่าที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแล ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคล ระดับครัวเรือน และระดับประเทศ อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่ง การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงวัย ได้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจหลายประเภท อาทิ ธุรกิจสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ อาหาร ไลฟ์สไตล์ ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งธุรกิจทางการเงิน ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีศักยภาพในการนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการ และลดข้อจำกัดของผู้สูงอายุได้
 

จากสังคม ‘Aging’ สู่ ‘Aged’: เมื่อไทยแก่ลงไปอีกขั้น ทั้งๆ ที่ยังไม่รวย

 

“ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” เป็นประโยคที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลายมายาวนาน โดยนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จำนวนผู้สูงอายุ หรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในไทย คิดเป็น 1 ใน 10 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับที่เรียกว่าสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)1/ แต่ล่าสุดเมื่อปี 2566 ไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 13.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของคนทั้งประเทศ2/ ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งจะเห็นว่าไทยใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีในการเลื่อนขั้นจาก Aging Society เป็น Aged Society ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า นับว่าเร็วกว่าหลายๆ ประเทศ อาทิ สิงคโปร์และจีน (25 ปี) สหราชอาณาจักร (45 ปี) และสหรัฐอเมริกา (69 ปี)3/ นอกจากนี้ ในปี 2566 จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปของไทย คิดเป็น 13.6% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งองค์การสหประชาชาติ4/ คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจนมากกว่า 20% อันจะส่งผลให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ในปี 2572 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของสังคมสูงวัย เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส เป็นต้น ทั้งนี้จะเห็นว่าประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง หรือเป็นประเทศที่ “แก่แต่รวย” ซึ่งตรงข้ามกับไทยที่มีแนวโน้มอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “แก่ก่อนรวย”



ปัจจุบันอายุกึ่งกลางของประชากรไทย (Median Age)5/ อยู่ที่ 41 ปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ 29 ปี6/ ในขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของคนไทย (Life Expectancy) ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะลดลงเล็กน้อยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาอยู่ที่ 78.7 ปี ในปี 2564 และในปีเดียวกันนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ไทยมีจำนวนคนเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย ซึ่งแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อายุขัยที่ยืนยาวขึ้น และอัตราการเกิดที่ต่ำลง ทำให้เกิดความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะการลดลงของกำลังแรงงาน สะท้อนจากอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor Force Participation Rate) เพียง 68.7% ในปี 25667/ ซึ่งมีทิศทางลดลงจากระดับเกิน 70% เมื่อ 10 ปีก่อน ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ (Old-Age Dependency Ratio)8/ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ประชาวัยกรวัยแรงงาน 100 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุถึง 21 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเพียง 13 คน ในปี 2558 (ภาพที่ 2) และอัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
 


 

จะเห็นว่าสังคมสูงวัยเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งของประเทศ เนื่องจากไทยจะต้องขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยกำลังแรงงานที่ลดลง ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความท้าทายของการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ หากมองในอีกมิติหนึ่งจะพบโอกาสที่เกิดขึ้นมากมายจากการขยายตัวของสังคมสูงวัย ที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้บริโภคหลักอีกหนึ่งกลุ่ม และเป็นตลาดสำคัญของการทำธุรกิจหลายประเภท ดังนั้น บทความฉบับนี้จะชวนทุกท่านมาสำรวจความท้าทายที่ผู้สูงอายุไทยต้องเผชิญในด้านต่างๆ รวมทั้งจะฉายภาพเชื่อมโยงไปยังโอกาสทางธุรกิจที่มีศักยภาพในการตอบสนองข้อจำกัดและความต้องการของผู้สูงอายุไทย
 

เพราะเป็นคนแก่จึงเจ็บปวด: สำรวจความท้าทายของผู้สูงอายุไทยในมิติต่างๆ

 

ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากยังคงต้องเผชิญปัญหา (Pain Point) ในการดำเนินชีวิตประจำวันหลายประการ ทั้งด้านรายได้ การทำงาน เงินออม สุขภาพ ที่พักอาศัย และอื่นๆ ซึ่งสามารถสรุปความท้าทายสำคัญของการเป็นผู้สูงอายุในประเทศไทย ได้ดังต่อไปนี้

  • รายได้

ผู้สูงอายุเกินครึ่งมีรายได้หลักจากการพี่งพาผู้อื่น และเกือบครึ่งเผชิญความไม่แน่นอนด้านความเพียงพอของรายได้

รายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ แต่จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 25649/ พบว่า ผู้สูงอายุไทยมีรายได้เฉลี่ยเพียงปีละ 87,136 บาท หรือเดือนละ 7,261 บาท (เฉลี่ยวันละ 242 บาท) ซึ่งน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ10/ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุเกินกว่าครึ่ง (56%) พึ่งพารายได้จากผู้อื่นเป็นหลัก โดยอาศัยรายได้จากบุตรหลานหรือคู่สมรสมากที่สุด ตามมาด้วยเบี้ยยังชีพจากภาครัฐ ส่วนผู้สูงอายุที่มีรายได้หลักจากการทำงานมีเพียง 32% ของผู้ตอบแบบสำรวจ การพึ่งพารายได้จากภายนอกเป็นหลักอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุกว่า 40% เผชิญความไม่แน่นอนด้านความเพียงพอของรายได้ กล่าวคือ รู้สึกว่าตนเองมีรายได้ไม่เพียงพอเลยหรือเพียงพอแค่บางครั้ง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สัดส่วนกลุ่มดังกล่าวสูงถึง 52% ในขณะที่ผู้สูงอายุทั่วประเทศที่มีรายได้เพียงพอจนเหลือเก็บมีไม่ถึง 5% เท่านั้น อีกทั้งในบรรดาผู้สูงอายุที่มีการออม พบว่ากว่า 40% มีเงินออมไม่ถึง 50,000 บาท สอดคล้องกับการที่เงินออมดังกล่าวไม่สามารถเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สูงอายุเกือบครึ่งหนึ่งยังมีหนี้สินของตนเอง และ/หรือหนี้สินของสมาชิกคนอื่นๆ ในครัวเรือนด้วย11/
 


 
  • การทำงาน

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงาน เพราะปัญหาจากตนเองและนายจ้าง ส่วนคนที่ทำงาน มักได้ค่าตอบแทนต่ำ

เมื่อได้เห็นแล้วว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทยมีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพ คำถามต่อมาคือผู้สูงอายุทำงานประเภทใดบ้าง และรายได้จากการทำงานนั้นเพียงพอหรือไม่ การสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในปี 2565 พบว่าผู้สูงอายุทำงานในภาคเกษตรกรรมมากถึง 2.8 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 60% ของผู้สูงอายุที่ยังทำงานทั้งหมด (4.7 ล้านคน) และคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งหมด (12.4 ล้านคน) แม้สัดส่วนการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเกษตรกรรมจะสูงที่สุด แต่ลูกจ้างสูงอายุในภาคเกษตรกรรมกลับมีรายได้เฉลี่ยต่ำที่สุด โดยอยู่ที่เพียง 6,279 บาทต่อเดือน รองลงมาคือสาขาค้าส่งและค้าปลีก ที่จ้างงานผู้สูงอายุราว 6.7 แสนคน หรือ 14% ของแรงงานสูงอายุทั้งหมด แต่จ่ายค่าจ้างเฉลี่ย 9,560 บาทต่อเดือน หรืออาจกล่าวได้ว่า 2 ภาคส่วนนี้เป็นกลุ่ม “จ้างมาก-จ่ายน้อย” (ภาพที่ 4) ในทางตรงข้าม แม้การจ้างงานผู้สูงอายุในสาขาบริการทางการเงิน ไฟฟ้าและก๊าซ และการศึกษา จะมีจำนวนน้อย แต่จ่ายค่าตอบแทนให้สูง (จ้างน้อย-จ่ายมาก) โดยมีเงินเดือนมากกว่าแรงงานอายุ 45-59 ปีอีกด้วย สะท้อนว่าสาขาเหล่านี้ให้คุณค่ากับประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นแม้อายุจะผ่านวัยเกษียณแล้ว



หากเปรียบเทียบการจ้างงานผู้สูงอายุในปี 2565 และ 2561 (ภาพที่ 5) จะเห็นว่าในภาพรวมผู้สูงอายุทำงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสาขาที่มีสัดส่วนแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เกษตรกรรม กิจกรรมในครัวเรือน ที่พักแรม/ร้านอาหาร ศิลปะ/ความบันเทิง และบริการอื่นๆ (เช่น สปา ความงาม ซักรีด) ซึ่งมักเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) และมีผลิตภาพ (Productivity) ต่ำ ดังนั้น แรงงานสูงวัยในสาขาเหล่านี้จึงได้รับค่าจ้างเฉลี่ยไม่เกิน 8,000 บาทต่อเดือน (จ้างเพิ่มขึ้น-จ่ายน้อย) ในขณะที่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาผู้สูงอายุในสัดส่วนลดลง อาทิ การผลิต การทำเหมืองแร่ การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มักเป็นสาขาที่ใช้แรงงานเข้มข้นน้อยกว่า อีกทั้งยังมีศักยภาพในการทดแทนคนด้วยเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี จึงมีความจำเป็นน้อยกว่าในการพึ่งพาแรงงานสูงวัย โดยเฉพาะในสาขา ICT ที่แรงงานอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนน้อยกว่าแรงงานอายุ 45-59 ปีถึง 42 เท่า (เทียบกับค่าเฉลี่ยทุกสาขาที่อยู่ที่ 3 เท่า) และได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าเกือบ 2 เท่า (ค่าเฉลี่ยทุกสาขาอยู่ที่ 1.5 เท่า) ทั้งนี้ ในภาพรวมแรงงานอายุ 45-59 ปี มีรายได้เฉลี่ยเกือบ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมากกว่าแรงงานสูงอายุที่มีรายได้เพียง 13,000 บาทต่อเดือน



ข้อมูลการจ้างงานข้างต้นสะท้อนว่าผู้สูงอายุที่ยังทำงานส่วนใหญ่อยู่ในสาขาที่จ่ายค่าจ้างต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจการทำงานของผู้สูงอายุในปี 256512/ ที่พบว่า 55% ของแรงงานสูงวัยยกให้เรื่องค่าตอบแทนเป็นปัญหาสำคัญที่สุดจากการทำงาน รองลงมาคือปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งภาระงาน ความต่อเนื่องของงาน ช่วงเวลาทำงาน รวมถึงสวัสดิการและวันหยุด

นอกจากผู้ทำงานที่ได้ค่าตอบแทนต่ำแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้จากการทำงานเลย เนื่องจากไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งฝั่งนายจ้างและตัวผู้สูงอายุเอง สะท้อนจากผลการสำรวจโดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน13/ ในภาพที่ 6 ดังนี้

  • ในมุมมองของแรงงาน (Supply Side) ผู้สูงอายุไม่สามารถทำงานได้จากปัญหาสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยมากที่สุด สาเหตุรองลงมา ได้แก่ ไม่ผ่านเงื่อนไขอายุ ต้องดูแลบ้าน/บุตรหลาน ยังขาดความพร้อมด้านทักษะ และไม่เจอตำแหน่งว่างหรืองานที่เหมาะสม ตามลำดับ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุบางส่วนเลือกไม่ทำงานเพราะต้องการพักผ่อน หรือไม่มีความจำเป็นต้องทำงาน

  • ในมุมมองของนายจ้าง (Demand Side) สาเหตุหลักที่ไม่รับผู้สูงอายุเข้าทำงาน มาจากลักษณะงานที่ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ รองลงมา ได้แก่ สถานที่ทำงานยังไม่พร้อมรับผู้สูงอายุ ประสิทธิภาพการทำงานของผู้สูงอายุต่ำกว่า ผู้บริหารขององค์กรไม่เห็นด้วย และกฎระเบียบไม่เอื้อต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ ตามลำดับ

 
  • เงินออมและสวัสดิการภาครัฐ

ผู้สูงอายุจำนวนมากยังไม่มีเงินบำนาญหรือเงินออม ส่วนคนที่มีก็อาจจะไม่พอใช้

นอกจากการทำงานแล้ว ผู้สูงอายุสามารถมีรายได้จากสวัสดิการหรือระบบบำเหน็จบำนาญต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการร่วมออมเงินเข้าระบบระหว่างที่ผู้สูงอายุยังอยู่ในวัยแรงงาน (ภาพที่ 7) ดังนี้

  • ระบบที่ผู้สูงอายุไม่ต้องสมทบเงินมาก่อน (Non-Contributory Scheme) ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคนมีสิทธิ์ได้รับ (ยกเว้นข้าราชการเกษียณ) โดยครอบคลุมผู้สูงอายุราว 10.9 ล้านคน ในปี 2565 ส่วนข้าราชการเกษียณอายุจำนวนประมาณ 8.5 แสนคน จะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ซึ่งเป็นสวัสดิการเฉพาะข้าราชการ

  • ระบบที่ผู้สูงอายุต้องร่วมสมทบเงินมาก่อน (Contributory Scheme) ประกอบด้วย 2 ประเภทย่อย ได้แก่ 1) ระบบภาคบังคับ อาทิ กองทุนประกันสังคม มาตรา 33 สำหรับแรงงานในระบบที่มีนายจ้าง และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อเพิ่มเติมเงินออมหลังเกษียณของข้าราชการ 2) ระบบภาคสมัครใจ อาทิ กองทุนประกันสังคม มาตรา 39 และมาตรา 40 สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้าง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สำหรับแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำนาญที่สมทบโดยภาครัฐหรือนายจ้าง14/ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากกองทุนประกันสังคมทั้ง 3 มาตรา และ กอช. มีราว 8.7 แสนคน



ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ยังไม่มีรายได้จากระบบบำเหน็จบำนาญที่ภาครัฐร่วมสมทบเงิน กล่าวคือ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ระบบบำนาญข้าราชการ หรือ กอช. เลย จึงมีประมาณ 9.3 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ มี 2.6 ล้านคน ที่ต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาทต่อเดือน จากภาครัฐเป็นหลัก15/ ซึ่งเป็นมูลค่าน้อยกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ที่ระดับ 3,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ผู้มีรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพยังมีจำนวนมากกว่าผู้สูงวัยที่อาศัยรายได้หลักจากบำเหน็จ บำนาญ เงินออม หรือทรัพย์สิน กว่า 2 เท่า
 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากไม่มีเงินออมไว้เพื่อใช้จ่ายยามเกษียณ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีระบบบำเหน็จบำนาญภาคบังคับที่ออกแบบมาเพื่อแรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร ผู้รับจ้างอิสระ ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย มีเพียงแต่ระบบภาคสมัครใจ (ระบบประกันสังคมมาตรา 39 40 และ กอช.) เท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้รับความนิยมจากแรงงานนอกระบบมากเท่าที่ควร โดยในปี 2566 จำนวนผู้มีงานทำที่อยู่นอกการคุ้มครองทางประกันสังคม มีราว 21 ล้านคน คิดเป็น 51.2% ของแรงงานทั้งประเทศ16/ นั่นแปลว่าแรงงานกว่าครึ่งหนึ่งมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณ เพราะไม่ได้ถูกบังคับให้ออมเงินขณะที่ยังทำงานอยู่

นอกเหนือจากประเด็นที่ผู้สูงอายุจำนวนมากยังไม่อยู่ในระบบการออมเพื่อวัยเกษียณแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายคือความเพียงพอของรายได้จากระบบบำเหน็จบำนาญ เนื่องจากในปัจจุบันมีเพียงกลุ่มข้าราชการเกษียณเท่านั้นที่ได้รับบำนาญในระดับที่เพียงพอแก่การดำรงชีพ โดยเฉลี่ยที่ 26,000 ต่อเดือน ในขณะที่ระบบอื่นๆ ยังจ่ายบำเหน็จบำนาญน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ของกองทุนประกันสังคม เมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้รับบำเหน็จ/บำนาญโดยเฉลี่ยคนละ 3,000 บาทต่อเดือน และเมื่อรวมกับเบี้ยยังชีพจากภาครัฐแล้ว จะมีรายได้ไม่เกิน 4,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งแม้จะอยู่เหนือเส้นความยากจน แต่ไม่สามารถการันตีคุณภาพชีวิตที่ดีได้


 

แรงงานในระบบเองก็เผชิญความเสี่ยงจากเงินออมที่อาจไม่เพียงพอ โดยในปี 2566 แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 มีจำนวน 12 ล้านคน ทั้งนี้ แม้จะมีโอกาสได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือนเมื่อเกษียณ แต่ลูกจ้าง 1 ใน 4 หรือเพียง 3 ล้านคนเท่านั้นที่จะมีรายได้จากเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) ซึ่งเป็นสวัสดิการภาคสมัครใจที่นายจ้างร่วมสมทบเงินออมเพิ่มเติมจากที่ลูกจ้างสะสมเงินเอง โดยในปี 2566 มีสถานประกอบการในระบบ 22,821 ราย หรือไม่ถึง 5% ของทั้งประเทศ ที่จัดสรรสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับนายจ้างและแรงงานในระบบ โดยทั้งสองฝ่ายต้องร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อการเกษียณอายุ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันร่างกฎหมาย กบช. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา17/

ประเด็นสุดท้ายของระบบเงินออมที่ไม่ควรมองข้ามคือความยั่งยืนของระบบบำนาญไทย ท่ามกลางแนวโน้มผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการลดลงของประชากรวัยแรงงาน อาจส่งผลให้กองทุนบำนาญต่างๆ ประสบปัญหาสภาพคล่อง แม้จะเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ในหลายประเทศ แต่หากเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ ไทยอยู่อันดับที่ 43 จาก 47 ประเทศ จากผลการจัดอันดับระบบบำนาญ (Global Pension Index 2023)18/ โดย Mercer และ CFA Institute สะท้อนว่าระบบบำนาญไทยยังต้องได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การขยายความครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เพิ่มอัตราการสมทบ และเพิ่มจำนวนเงินยังชีพขั้นต่ำ
 

  • สุขภาพ

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งเป็นความท้าทายทั้งในระดับครัวเรือนและระดับประเทศ

ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือสังคมได้ โดยกลุ่มผู้ที่ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง (ติดบ้าน) คิดเป็นเพียง 1.8% ของผู้สูงอายุทั้งหมด ขณะที่อีก 1.3% เป็นผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง และเมื่อมองภาพรวมย้อนหลังในระยะยาวพบว่า สุขภาพของผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจากผลการประเมินสุขภาพของตนเอง (Self-rated Health) ที่มีจำนวนผู้สูงอายุที่รู้สึกว่าตนเองสุขภาพไม่ดีหรือไม่ดีมากๆ ในสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2564 ลดลงกว่าเท่าตัวจาก 20 ปีก่อนหน้า (ภาพที่ 8)

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพมากที่สุด กล่าวคือ 63% ของผู้สูงอายุเคยมีอาการเจ็บป่วยแต่ยังไม่ต้องพักรักษาตัวในสถานพยายาลในช่วง 1 เดือนก่อนการสำรวจ โดยเกือบ 90% มีสาเหตุจากโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวร่วมด้วย ในขณะที่ผู้สูงวัยอีก 5% เคยเจ็บป่วยจนต้องพักรักษาตัวในสถานพยาบาลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังประสบอุบัติเหตุได้ง่ายจากการหกล้ม โดยผู้สูงอายุ 6.4% เคยหกล้มอย่างน้อย 1 ครั้ง ในระหว่าง 6 เดือนก่อนสำรวจ ในด้านสุขภาพจิต ผู้สูงอายุส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองมีความสุขดี แต่ผลสำรวจในปี 2564 พบว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุมีระดับความสุขแตกต่างกันมากที่สุด สะท้อนจากช่องว่างระหว่างสัดส่วนกลุ่ม “สุขมากที่สุด” และกลุ่ม “สุขน้อยที่สุด”  ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความเพียงพอของรายได้ที่ผู้สูงอายุได้รับต่อการดำรงชีพ (ภาพที่ 3) ดังนั้นความสุขของผู้สูงอายุจึงน่าจะขึ้นอยู่กับความเพียงพอของรายได้หลังเกษียณด้วย



ต้นทุนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเป็นความท้าทายทั้งระดับครัวเรือนและระดับประเทศ โดยจากข้อมูลของประเทศญี่ปุ่น พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนญี่ปุ่นจะเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากอายุ 50 ปี และจะเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงอายุถัดๆ ไป19/ เช่นเดียวกับในกรณีของไทย โดยการศึกษาของ TDRI พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานต่อรายได้จะเพิ่มเป็น 2 เท่าเมื่อผู้สูงวัยมีอายุเพิ่มขึ้น 10 ปี แต่หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรค ภาระค่าใช้จ่ายจะยิ่งเร่งสูงขึ้น กล่าวคือ ขณะที่ผู้สูงวัยมีอายุ 60-69 ปี ครัวเรือนจะเผชิญค่าใช้จ่ายราว 2% ของรายได้ แต่เมื่อมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป สัดส่วนค่าใช้จ่ายจะเพิ่มเป็น 14.5% หรือเพิ่มกว่า 7 เท่า20/ (ภาพที่ 9)


 

แล้วเงินในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุมาจากแหล่งใด จากการสำรวจสิทธิการรักษาพยาบาลหลักของผู้สูงอายุเมื่อปี 2564 พบว่า ผู้สูงอายุไทยอยู่ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มากที่สุดถึง 81.9% รองลงมาคือสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 15% ส่วนผู้มีประกันสุขภาพส่วนบุคคลมีเพียง 0.3% เท่านั้น โดยในปี 2565 ผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคนใช้สิทธิบัตรทองเพื่อรับบริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยปีละ 6.3 ครั้ง หรือเกือบ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทุกช่วงวัย (3.5 ครั้ง) ซึ่งเป็นการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) อาทิ ความดันโลหิต เบาหวาน มากที่สุด ทั้งนี้ การใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขเพื่อดูแลผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยวัดจากจำนวนคนและจำนวนครั้งที่รับบริการ21/

จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยจากภาพที่ 10 จะเห็นว่าสหรัฐอเมริกาเยอรมนี และญี่ปุ่น มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อขนาดเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งชาติเหล่านี้ล้วนมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 15% ของทั้งประเทศ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่สูงมาจากต้นทุนการดูแลผู้สูงอายุทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์22/  ในกรณีของไทย ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็น 4.4% ของ GDP ในปี 2563 แม้จะยังไม่มากเมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้สูงอายุและเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็มีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์ว่ารายจ่ายสาธารณะด้านการดูแลสุขภาพ รวมกับรายจ่ายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ อาทิ บำนาญข้าราชการ และเบี้ยยังชีพ จะมีสัดส่วนสูงถึง 11.5% ของ GDP ประเทศไทยในปี 260323/ ต้นทุนดังกล่าวมีแนวโน้มเร่งขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด โดยจากบทเรียนของญี่ปุ่นพบว่า ภายในเวลา 15 ปีหลังการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด อัตราส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อ GDP เพิ่มจาก 7.7% ในปี 2549 เป็น 10.9% ในปี 2563 (ภาพที่ 11)




 

  • การอยู่อาศัย

ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอยู่ลำพังมากขึ้น และที่พักสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันยังเน้นรองรับกลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง

ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส บุตรหลาน ญาติ หรือบุคคลอื่น อย่างไรก็ดี สัดส่วนผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 6.3% ในปี 2545 เป็น 12% หรือราว 1.6 ล้านคน ในปี 2564 (ภาพที่ 12) เช่นเดียวกับจำนวนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่แค่สองคนกับคู่สมรสที่มีทิศทางเติบโตขึ้น จนอยู่ที่ 2.8 ล้านคนในปี 256424/ สะท้อนว่า ผู้สูงวัยไทยใช้ชีวิตกันโดยลำพังมากขึ้น



 
โดยทั่วไปเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ผู้สูงอายุที่พอดูแลตัวเองได้อาจพักอาศัยในบ้านเดิมของตนเอง (Aging in Place) หรือบ้าน/คอนโดมิเนียมที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุ (Independent Living) ซึ่งมีพื้นที่ส่วนกลางให้พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ส่วนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในการดำรงชีวิต สามารถอยู่อาศัยในบ้านพักเฉพาะผู้สูงอายุ (Residential Care Home / Assisted Living Community) ที่มีผู้ดูแลคอยให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงสถานบริบาล (Nursing Home) ซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมาก เพราะมีผู้เชี่ยวชาญดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยราคาที่พักผู้สูงอายุจะแพงขึ้นตามสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการช่วยเหลือ

 

ในปัจจุบัน ที่พักสำหรับผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอ และเน้นรองรับผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงเป็นหลัก สะท้อนจากการสำรวจโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (Real Estate Information Center: REIC) ในปี 256625/ ที่พบว่า โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการหรือไม่สามารถอยู่บ้านเดิมของตนเอง รองรับผู้สูงอายุได้สูงสุด 19,490 คน ซึ่งคิดเป็นเพียง 1.2% ของจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้ โครงการส่วนใหญ่เหมาะกับกลุ่มผู้มีฐานะปานกลางค่อนข้างดีและฐานะดีขึ้นไป อีกทั้งยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลถึงเกือบ 60%

ทั้งนี้ รูปแบบที่พักอาศัยที่มีจำนวนโครงการมากที่สุดคือ Nursing Home แต่อัตราการเข้าพักของโครงการรูปแบบนี้อยู่ที่เพียง 63.7% ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากความไม่สอดคล้องของราคาและความสามารถในการจ่าย กล่าวคือ เกือบ 80% ของ Nursing Home มีราคาอยู่ในช่วง 10,001-30,000 บาทต่อเดือน ส่วนโครงการที่ราคาไม่เกิน 10,000 บาทมีเพียง 1.5% เท่านั้น ซึ่งตรงข้ามกับผลสำรวจความยินดีที่จะจ่าย (Willingness to Pay) ค่าที่พักผู้สูงอายุที่พบว่า กว่า 22% ของผู้ตอบแบบสำรวจยินดีจ่ายไม่เกิน 10,000 บาท26/ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในช่วงราคา 30,000 บาทขึ้นไป จะเห็นว่าสัดส่วนที่พักและสัดส่วนกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างสอดคล้องกัน (ภาพที่ 13)



 

เมื่อพิจารณาที่พักประเภทสถานสงเคราะห์หรือมูลนิธิ พบว่ามีอัตราการเข้าพัก 100% และมีความหนาแน่นของผู้พักสูงที่สุดถึง 103 คนต่อโครงการ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าใช้จ่ายน้อย สะท้อนว่าที่พักประเภทดังกล่าวยังมีน้อยกว่าความต้องการ (Undersupply) ในขณะที่บ้านพักเฉพาะผู้สูงอายุ (Residential) เช่น สวางคนิเวศ สภากาชาดไทย บุศยานิเวศน์ และโครงการเวลเนสซิตี้ มีอัตราการเข้าพักสูงรองลงมาที่ 73% เนื่องจากบางโครงการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จึงมีราคาที่จับต้องได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยยังคงมีแนวโน้มขาดแคลนที่อยู่อาศัยอย่างมาก โดยการสำรวจของ REIC ระบุว่าปัจจุบันที่อยู่อาศัยของภาครัฐบางแห่งมีผู้ลงชื่อรอขอเข้าอยู่อาศัยถึง 2,500-3,000 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับความสามารถในการรองรับผู้สูงอายุ (Capacity) ของที่พักประเภทสถานสงเคราะห์หรือมูลนิธิทั้งหมดราว 2,700 คน อาจกล่าวได้ว่ายังมีความต้องการส่วนเกิน (Excess Demand) สำหรับที่อยู่อาศัยของภาครัฐอีกจำนวนมาก
 

  • เทคโนโลยีและการเงิน

ผู้สูงอายุมีทักษะและการเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการทางการเงินดีขึ้น แต่ยังน้อยกว่าคนวัยอื่น

ผู้สูงอายุที่ใช้อินเทอร์เน็ตมีจำนวนเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2566 พบว่า เกือบ 60% ของผู้สูงวัยในไทยเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (ภาพที่ 14) โดยเฉพาะกลุ่มสูงวัยตอนต้น (อายุ 60-69 ปี) ที่มีสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกินกว่า 70% อย่างไรก็ดี กว่า 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุที่ยังไม่ใช้อินเทอร์เน็ต ให้เหตุผลว่าไม่มีความรู้หรือทักษะในการใช้ รองลงมาคือ ไม่สนใจหรือไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ ส่วนในด้านการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต พบว่า แม้ 83% ของผู้สูงอายุจะใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน แต่ผู้สูงอายุ 8 ใน 10 คนยังพบปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล โดยอุปสรรค (Pain Point) 3 อันดับแรก ได้แก่ ไม่เข้าใจคำสั่งภาษาอังกฤษ (69% ของผู้ใช้งาน) ไม่ทราบวิธีใช้งาน (55%) และกังวลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ (47%)27/ ดังภาพที่ 15 ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนว่าความรู้และทักษะทางเทคโนโลยียังเป็นข้อจำกัดสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุ





 

ในด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน พบว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) มากที่สุดกลุ่มหนึ่งทั้งบริการเงินฝาก การโอน และการชำระเงิน โดยมีสาเหตุหลักจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริการ และฐานะทางการเงินที่ไม่ดี28/ นอกจากนี้ เมื่อทักษะด้านเทคโนโลยีผนวกกับข้อจำกัดด้านทักษะทางการเงิน จึงทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลได้น้อยกว่าคนวัยอื่นด้วย กล่าวคือ จากการวิเคราะห์ข้อมูลการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)29/ พบว่า ผู้สูงอายุไทยยังทำธุรกรรมออนไลน์น้อยกว่าคนวัยอื่นมาก โดย ณ สิ้นปี 2564 มีผู้สูงอายุเพียง 17% ที่ใช้บริการการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ต (Mobile/Internet Payment) และสัดส่วนผู้ใช้งานไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น (ภาพที่ 16) อีกทั้งผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มที่มีความถี่ของการใช้งาน e-Payment ต่ำที่สุด ในขณะที่กลุ่มอายุ 50-59 ปี ก็มีสัดส่วนผู้ใช้งานไม่ถึงครึ่ง


ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญต่อการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้สูงอายุ มาจากทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy) และทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ดังนี้

  • ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy): จากการสำรวจของวิจัยกรุงศรี เมื่อปี 256330/ พบว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้บริการธนาคารออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) ของผู้สูงอายุ คือความกังวลด้านความปลอดภัย ทั้งระบบของธนาคาร การถูกหลอกจากมิจฉาชีพ และการใช้รหัสผ่าน รองลงมาคือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ผู้ใช้ (User Experience: UX) และส่วนเชื่อมต่อกับผู้ใช้ (User Interface: UI) หรือเรียกรวมว่า UX/UI เช่น ขนาดตัวอักษร ขั้นตอน และการใช้ภาษา (ภาพที่ 16) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัญหาสำหรับการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลของผู้สูงอายุเช่นกัน

  • ทักษะทางการเงิน (Financial Literacy): รายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2565 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย31/ ระบุว่าแม้ทักษะทางการเงินของผู้มีอายุ 57 ปีขึ้นไป จะมีพัฒนาการขึ้นจากปี 2563 แต่ยังน้อยกว่าระดับเฉลี่ยของทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในมิติความรู้ทางการเงิน (Financial Knowledge) เช่น มูลค่าของเงินตามกาลเวลา การคำนวณดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใช้บริการธนาคารเพียงขั้นพื้นฐานถึงขั้นกลาง อาทิ โอน-ฝาก-ถอนเงิน ตรวจสอบยอดเงิน บัตรเครดิต/เดบิต และชำระค่าบริการ ในขณะที่บริการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การลงทุน และประกัน ยังมีการใช้งานน้อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนคะแนนภาพรวมพฤติกรรมทางการเงิน (Financial Behavior) ที่ดีของผู้สูงอายุ เช่น การจัดสรรเงินก่อนใช้ การเปรียบเทียบข้อมูลก่อนซื้อ ไม่ได้ด้อยกว่าวัยอื่นมากนัก

 

 

โอกาสทองในเศรษฐกิจสีเงิน (Silver Economy)

 

แนวโน้มระดับสังคมสูงวัยของไทยที่เข้มข้นขึ้น นำมาซึ่งความท้าทายหลายประการดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้น อย่างไรก็ดี ในมุมมองคู่ขนาน การขยายตัวของจำนวนผู้สูงอายุย่อมหมายถึงการเติบโตของเศรษฐกิจผู้สูงวัย หรือเศรษฐกิจสีเงิน (Silver Economy) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการสำหรับผู้สูงอายุ (Silver Generation) ทั้งนี้ โอกาสของ Silver Economy ในประเทศไทย กระจายอยู่ในธุรกิจหลากหลายประเภท โดยกลุ่มธุรกิจที่โดดเด่น มีดังนี้


 

  • ธุรกิจสุขภาพ

เป็นที่แน่นอนว่าสังคมผู้สูงอายุจะมาพร้อมกับความต้องการสินค้าและบริการทางสุขภาพที่เติบโตขึ้น ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจึงมีโอกาสอันดีท่ามกลางการขยายตัวของตลาด Silver Generation โดยธุรกิจโรงพยาบาล และศูนย์ดูแลสุขภาพจะได้รับอานิสงส์จากสังคมสูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและครอบครัวที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ แนวโน้มการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Medicine) และการดูแลสุขภาพเชิง Wellness ซึ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาโรค จะได้รับความสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจสุขภาพยังมีโอกาสจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุและผู้รับบริการในด้านต่างๆ ดังนี้ (ภาพที่ 18)

  • ธุรกิจเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกขึ้นผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น หมอดี (MorDee) ชีวี (Chiiwii)  ZeekDoc โดยผู้สูงอายุสามารถพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรักษาผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ หรือที่เรียกว่าการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

  • ​ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ (Caregiving) มีศักยภาพในการเติบโตตามความต้องการผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 ผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล แต่ต้องการผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวัน มีถึง 2.6 แสนคน อย่างไรก็ดี การหาผู้ดูแลอาจไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเกิดแพลตฟอร์มที่ช่วยจัดหาผู้ดูแลตามความต้องการ (On-demand) เช่น Health at Home ใส่ใจ (SAIJAI) แทนคุณ (tankoon) ทั้งนี้ บางธุรกิจยังมีบริการพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลด้วย อาทิ JoyRide เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกไปพบแพทย์ตามลำพัง

  • ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น จากลูกค้าสูงอายุทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างธุรกิจที่เล็งเห็นโอกาสดังกล่าวคือ Healthticket ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวมแพ็กเกจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยสามารถจองสปา โปรแกรมตรวจสุขภาพ และโรงพยาบาลได้



 
  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ในปัจจุบัน ที่พักสำหรับผู้สูงอายุของประเทศไทยยังมีไม่เพียงพอและเน้นเจาะตลาดกำลังซื้อสูงเป็นหลัก ธุรกิจที่พักผู้สูงอายุจึงยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะในตลาดของผู้มีรายได้ปานกลางลงมา สะท้อนจากอัตราการเข้าพัก 100% และผู้รอคิวเข้าพักจำนวนมากในโครงการบ้านพักคนชราที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือมูลนิธิต่างๆ ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายน้อย ดังนั้น จะเห็นว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพคือผู้สูงอายุที่ต้องการที่พักซึ่งตอบโจทย์ด้านการดูแลช่วยเหลือ ด้านสังคม และด้านสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งตลาดนี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามขนาดของ Silver Generation

ที่ผ่านมาธุรกิจที่พักสำหรับผู้สูงอายุกำลังเติบโตขึ้น สะท้อนจากการมีผู้เล่นหลายรายในตลาด (ตารางที่ 3) โดยลักษณะที่พักที่พบได้มาก มี 2 ประเภท ดังนี้ 

  • ที่พักรูปแบบ Nursing Home เน้นตลาดกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ที่ต้องการพักฟื้นหรือรับการดูแลระยะสั้น เนื่องจากมีบริการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้เข้าพักจะจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน ซึ่งราคาส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 10,000-30,000 บาท เช่น บ้านลลิสา Sansiri Home Care และ Asia Nursing Home ทั้งนี้ เนื่องจากจำนวนธุรกิจ Nursing Home เติบโตมาก และราคายังเกินความสามารถของคนส่วนใหญ่ จึงทำให้อัตราการเข้าพัก Nursing Home ยังน้อยกว่าที่พักประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการสามารถเพิ่มความหลากหลายของราคา อาจขยายส่วนแบ่งตลาดได้ เพราะแนวโน้มผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวและจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

  • บ้านหรือคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุ เหมาะกับผู้สูงอายุต้องการพักอาศัยระยะยาว โดยผู้อาศัยต้องจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์อยู่อาศัยระยะยาว ตลอดชีพ หรือซื้อขาด ธุรกิจนี้จึงเน้นเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูง ยังช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ต้องการการอำนวยความสะดวกและความเชื่อมโยงกับสังคม (Community) โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1.5 ล้านบาท เช่น Supalai Wellness Valley, Wellness city, วิลล่ามีสุข และ NAYA Residence



 

นอกจากนี้ เนื่องจากบ้านพักผู้สูงอายุในปัจจุบันยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่เป็นหลัก จึงมีโอกาสของการลงทุนในโครงการที่พักอาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจบ้านพักผู้สูงอายุคือภาพลักษณ์ของบ้านพักคนชราที่เปลี่ยนไปจากเดิมในทางที่ดียิ่งขึ้น เพราะที่พักเหล่านี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีสังคมของวัยเดียวกันหรือต่างวัย ในขณะเดียวกัน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านตนเองหรือครอบครัว (Aging in Place) สามารถเพิ่มเติมการออกแบบและการใช้วัสดุเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ห้องนอนที่มีเตียงปรับระดับได้ ราวจับในบ้านหรือห้องน้ำ วัสดุพื้นกันลื่น ซึ่งการออกแบบเหล่านี้จะกลายเป็นจุดขายสำคัญที่ขาดไม่ได้ในตลาดผู้สูงอายุ
 
  • ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยมีขนาดใหญ่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านอาหารคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของรายจ่ายครัวเรือนไทย32/ และเมื่อผู้สูงอายุได้กลายเป็นผู้บริโภคหลักอีกกลุ่มหนึ่ง (20% ของประชากรทั้งประเทศ) จะทำให้ตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุมีศักยภาพในการเติบโตขึ้นตาม โดย Deloitte คาดการณ์ว่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มจะมีสัดส่วนสูงที่สุดใน Silver Economy ของไทย หรือประมาณ 27% ในปี 257333/

เนื่องจากวัยสูงอายุเป็นวัยที่ต้องใส่ใจเรื่องอาหารมากขึ้น ผู้สูงอายุจึงมักซื้ออาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพตลอดจนอาหารเสริมรูปแบบต่างๆ เช่น นม ข้าว รังนก ในขณะที่อาหารที่ส่งผลเสียต่อร่างกายหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น ครีมเทียม ไข่ไก่ ผงชูรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะเป็นสินค้าที่ผู้สูงอายุบริโภคลดลง34/ นอกจากนี้ ข้อมูลจาก The 1 Insight ยังพบว่าสินค้าขายดีในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีรายได้สูง ได้แก่ ผลไม้นำเข้า ผักออร์แกนิก และโยเกิร์ตรสธรรมชาติ35/ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในสังคมผู้สูงอายุ ได้แก่

  • อาหารที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Aging-friendly Foods) อาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุต้องเคี้ยวง่าย กลืนง่าย ย่อยง่าย อุดมไปด้วยสารอาหาร รวมทั้งต้องมีโซเดียม น้ำตาล และไขมันต่ำ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุคือ อาหารที่เคี้ยวง่ายและย่อยง่ายแบรนด์ “Creator” เช่น แกงจืดเต้าหู้หมูสับ ข้าวต้มปลากะพง ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ซีพีแรม จำกัด (ในเครือซีพี) หรือในสิงคโปร์มีผลิตภัณฑ์อาหารบดปั่นสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืน ภายใต้แบรนด์ “GentleFoods”
  • อาหารฟังก์ชัน (Functional Foods) คืออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการพื้นฐานต่อร่างกาย และยังมีส่วนช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ซุปไก่สกัดที่เพิ่มสารสกัดจากสมุนไพร อาทิ ถั่งเช่า โสม และแปะก๊วย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เพิ่มโปรตีนเพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว และผลิตภัณฑ์โภชนเภสัช36/ ช่วยลดคอเลสเตอรอล

 

นอกจากการคำนึงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพผู้สูงอายุแล้ว ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือรสชาติ รูปลักษณ์ และกลิ่นของอาหาร ที่สามารถกระตุ้นความอยากอาหารที่ลดลงตามวัย รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เข้าใจง่าย สื่อสารคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ได้อย่างครบถ้วน ด้วยการใช้ภาพและสีที่เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม (Universal Design)
 

  • ธุรกิจไลฟ์สไตล์ 

ผู้สูงอายุจะกลายเป็นประชากรกลุ่มหลักของประเทศในอีกไม่ช้า สินค้าแฟชันและความงามจึงมีโอกาส หากสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุได้ โดยข้อมูลจาก The 1 Insight พบว่าผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูง นิยมซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีจุดเด่นด้านสุขภาพ อาทิ รองเท้าผ้าใบเพื่อสุขภาพ ที่นอนเพื่อสุขภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพื่อชะลอวัย (Anti-Aging Skincare) และเครื่องสำอาง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จัดเป็นผู้ที่เต็มใจจ่ายเพื่อความสุขและเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้ สินค้าและบริการที่ได้รับการออกแบบอย่างใส่ใจเพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้สูงอายุพบเจอในชีวิตประจำวัน จะมีโอกาสเติบโตได้ดี ตัวอย่างเช่น เก้าอี้ที่มีเท้าแขนข้างเดียว ซึ่งช่วยให้เคลื่อนย้ายคนเข้าออกได้สะดวกขึ้น แท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ ที่ให้บริการโดยผู้ผ่านการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลและการดูแลผู้ป่วย ช่วยให้ผู้สูงอายุเชื่อมั่นในความปลอดภัยยิ่งขึ้น เมื่อต้องการเดินทางไปทำธุระต่างๆ

วัยสูงอายุเป็นช่วงชีวิตที่มีเวลาว่างมากขึ้น การทำกิจกรรมยามเกษียณจึงนับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเหงาและสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชอบทำเมื่ออยู่บ้านจะได้รับอานิสงส์ เช่น การตกแต่งบ้าน การเลี้ยงสัตว์ การปลูกผักและทำสวน สื่อและความบันเทิง ในขณะเดียวกัน โอกาสทางธุรกิจยังเกิดขึ้นกับกิจกรรมนอกบ้าน เช่น การท่องเที่ยวหลังเกษียณ หรือกิจกรรมร่วมกับชุมชนผู้สูงอายุหรือวัยอื่นๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีธุรกิจหลายรายที่มุ่งสร้างชุมชนผู้สูงอายุผ่านการแบ่งปันข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ทำร่วมกัน ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพมากขึ้น (ภาพที่ 20)



 
  • ธุรกิจดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งผลให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น เครื่องช่วยฟังที่ปรับคุณภาพเสียงผ่านแอปพลิเคชันได้ ไม้เท้าอัจฉริยะ เก้าอี้นวดไฟฟ้า หุ่นยนต์ที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวของผู้สูงอายุ รวมถึงอุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับวัดค่าต่างๆ ทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดระดับออกซิเจน หรือ Smart Watch ที่ช่วยติดตาม แจ้งเตือน และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพได้หลายรายการ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการในตลาดผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ โอกาสยังอยู่ในธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าและบริการเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการบำบัดและดูแลรักษาอาการป่วยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น แว่นตาที่ใช้เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ในการสร้างโลกความเป็นจริงเสมือนแก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเทคโนโลยี VR สามารถกระตุ้นความทรงจำและช่วยลดพฤติกรรมซ้ำๆ ของผู้ป่วยได้ สายรัดข้อมือ (Wristband) หรือ QR CODE ที่เปรียบเสมือนคลังข้อมูลสุขภาพบนระบบคลาวด์ ซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาความจำและเสี่ยงต่อการพลัดหลง วีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ควบคุมด้วยสายตา สำหรับผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยอัมพฤกษ์/อัมพาต แอปพลิเคชันประเมินบาดแผลผ่านภาพถ่ายโดยเทคโนโลยี AI และบอกแนวทางดูแลรักษาเบื้องต้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน


 
  • ธุรกิจทางการเงิน

ธุรกิจทางการเงินมีโอกาสมหาศาลใน Silver Economy เนื่องจากผู้สูงอายุไทยจำนวนมากยังประสบปัญหาเรื่องความเพียงพอของรายได้ และการเข้าถึงบริการทางการเงิน ดังนั้น สถาบันการเงินจึงสามารถเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น บัญชีเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูง และมีความยืดหยุ่นในการเบิก-ถอน สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ นอกจากนี้ วัยเกษียณเป็นวัยที่ต้องเผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังพึ่งพาสิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล จึงเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ สินเชื่อเพื่อการรักษาพยาบาล บัตรเครดิตที่ส่งเสริมหรือให้รางวัลการใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีขึ้น ตั้งแต่การป้องกัน คัดกรอง และดูแลรักษา 

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุมีความหลากหลาย ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ เงินฝาก สินเชื่อ ประกัน และบัตรเครดิต/เดบิต ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1) เงินฝากพิเศษเพื่อผู้สูงอายุ สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีอายุ 55 หรือ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมักเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำปลอดภาษี โดยผู้ฝากใช้เงินเริ่มฝากไม่มาก และได้รับดอกเบี้ยสูง นอกจากนี้ ธนาคารหลายแห่งยังมีบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับบุคคลทั่วไปรวมถึงผู้สูงอายุด้วย โดยบัญชีเหล่านี้มักจ่ายดอกเบี้ยสูง ในขณะเดียวกันก็อนุญาตให้เบิกถอนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด

2) สินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุ เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีโอกาสเติบโตสูง แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายแก่สถาบันการเงิน เนื่องจากผู้สูงวัยเผชิญความไม่แน่นอนทั้งเรื่องรายได้และอายุขัย ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อผู้สูงอายุจึงมักมุ่งไปที่ข้าราชการเกษียณหรือผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งโดยทั่วไปมีศักยภาพในการชำระหนี้มากกว่า อย่างไรก็ดี ยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าหลายช่วงวัย รวมถึงผู้สูงอายุ โดยสินเชื่อที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน อาจแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

  • สินเชื่อข้าราชการบำนาญ สถาบันการเงินหลายแห่งมีสินเชื่อสำหรับข้าราชการบำนาญ ซึ่งใช้สิทธิในบำเหน็จตกทอด37/ เป็นหลักประกันเงินกู้ จึงสามารถกู้สูงสุดได้ไม่เกินวงเงินที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองสิทธิบำเหน็จตกทอด สินเชื่อประเภทนี้มีระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 30 ปี และมักกำหนดอายุผู้กู้เมื่อรวมระยะเวลาผ่อนทั้งหมดแล้วไม่เกิน 90 ปี โดยสามารถชำระหนี้ผ่านการหักเงินบำเหน็จ/บำนาญให้กับธนาคารเป็นรายเดือนได้

  • ​​สินเชื่อสนับสนุนอาชีพและธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs) หรือผู้เริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้นที่ไม่ได้เจาะกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะ แต่กำหนดหลักเกณฑ์อายุผู้กู้ที่ครอบคลุมจนถึงอายุ 70 ปี จึงเป็นสินเชื่อที่ส่งเสริมการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุได้

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุขอสินเชื่อระยะยาวเพื่อใช้ในการจัดหา ต่อเติม และซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รวมถึงรีไฟแนนซ์ (Refinance) หรือกู้มาใช้หนี้บ้านเดิม ทั้งนี้ โดยทั่วไปธนาคารกำหนดให้อายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลากู้ต้องไม่เกิน 70-75 ปี และกำหนดระยะเวลาผ่อนสูงสุดไม่เกิน 30-40 ปี

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือการจำนองอสังหาริมทรัพย์แบบย้อนกลับ (Reverse Mortgage)38/ โดยผู้ที่มีอายุ 60-80 ปี สามารถนำที่อยู่อาศัยที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ มาเป็นหลักประกันในการจำนองกับธนาคาร หรือเรียกว่า “เปลี่ยนบ้านเป็นรายได้” โดยผู้กู้สามารถอาศัยอยู่ในบ้านที่นำมาเป็นหลักประกันได้ แต่เมื่อเสียชีวิตหรือครบสัญญาแล้ว และไม่มีการไถ่ถอนบ้านคืนโดยผู้กู้หรือทายาท บ้านดังกล่าวจะตกเป็นของธนาคาร ทั้งนี้ แม้ Reverse Mortgage จะมีโอกาสเติบโตได้จากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพังหรือไม่มีทายาท อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินอาจเผชิญความท้าทายต่างๆ เช่น ความยินยอมของทายาท และการไม่ได้รับรายได้จนกว่าจะครบสัญญา

 
3) ประกันสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจประกันจะได้รับอานิสงส์จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันที่ตอบโจทย์ความเสี่ยงของผู้สูงอายุในด้านสุขภาพและการเงินได้ ในปัจจุบันประกันชีวิตสำหรับผู้สูงวัย ได้ขยายเงื่อนไขให้ครอบคลุมผู้สูงอายุมากขึ้น โดยทั่วไปผู้มีอายุ 50-75 ปี สามารถซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อรับความคุ้มครองจนถึงอายุ 80-90 ปี หรือตลอดชีพ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุสามารถซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งเบี้ยประกันจะเพิ่มขึ้นตามอายุและความเสี่ยงของแต่ละบุคคล อีกทั้งยังมีประกันที่เลือกความคุ้มครองเฉพาะโรค เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง ส่วนผู้ที่ยังไม่เข้าสู่วัยสูงอายุ แต่ต้องการวางแผนทางการเงินเพื่อให้มีเงินไว้ใช้หลังเกษียณ สามารถเลือกซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) ได้ตั้งแต่อายุ 20-25 ปี โดยประกันประเภทนี้จะเริ่มจ่ายบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี และจ่ายอย่างน้อยจนถึงอายุ 85 ปี หรืออาจขยายจนถึง 99 ปี ทั้งนี้ ผู้ซื้อสามารถเลือกความถี่ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายผลประโยชน์ได้39/

4) บัตรเครดิต/เดบิต ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต/เดบิตที่เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ อาจแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ บัตรที่ออกแบบเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เช่น กำหนดอายุขั้นต่ำของการสมัครไว้ที่ 40 ปี40/ และบัตรทั่วไปที่ครอบคลุมผู้สูงอายุ เช่น บัตรเครดิตที่กำหนดให้ผู้สมัครมีอายุ 20-70 ปี41/ รวมถึงบัตรเดบิต สำหรับผู้มีอายุ 18-80 ปี42/ นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบัตรบางรายยังมีโปรโมชันเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายของผู้สูงอายุ เช่น ของขวัญจากการใช้จ่าย ณ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือโรงพยาบาล43/ เงินคืนจากการแบ่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้สูงอายุ44/ คูปองตรวจคัดกรองโรคสำหรับลูกค้าบัตรเครดิต45/ ทั้งนี้ เนื่องจากรายจ่ายด้านสุขภาพเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของผู้สูงอายุ สิทธิพิเศษจากบัตรเหล่านี้จะช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่ให้มาใช้บริการ รวมถึงรักษาฐานลูกค้าเดิมด้วย

นอกเหนือจากบริการทางการเงินข้างต้น ยังมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ อาทิ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF)46/ บริการให้คำปรึกษา และวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณ รวมถึงการจัดการมรดก ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์และบริการเหล่านี้ต้องมีความหลากหลาย เหมาะสมกับลักษณะรายได้ สุขภาพ และการใช้ชีวิตหลังเกษียณของผู้สูงอายุที่แตกต่างกัน และสิ่งสำคัญคือรูปแบบและช่องทางส่งมอบบริการต้องเป็นมิตรกับผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านทักษะทางการเงินและทักษะทางเทคโนโลยี


มุมมองวิจัยกรุงศรี: สังคมสูงวัย โจทย์ด้านนโยบายที่ต้องคิด กับโอกาสทางธุรกิจที่ต้องคว้า


สังคมผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Megatrend) ของโลก ซึ่งไทยเองนับว่าเผชิญกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้วเมื่อปี 2566 และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุดในอีกไม่ช้า ทั้งนี้ แม้จะมีความท้าทายเกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่สังคมสูงวัยก็นำมาซึ่งโอกาสอีกไม่น้อยเช่นกัน วิจัยกรุงศรีจึงมองว่าสังคมสูงวัยเป็นโจทย์ใหญ่ด้านนโยบายที่ต้องคิด ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจที่ต้องคว้า ดังนี้

โจทย์ใหญ่ของผู้ดำเนินนโยบาย

เนื่องจากผู้สูงอายุไทยเผชิญปัญหาและข้อจำกัดทั้งด้านรายได้และรายจ่าย ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประจำวัน ดังนั้นผู้ดำเนินนโยบายควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ 1) มีรายได้ที่มั่นคง เพียงพอ และ 2) มีรายจ่ายที่ลดลงแต่ยังคงคุณภาพชีวิตที่ดี

รายได้: เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังพึ่งพารายได้จากผู้อื่นเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือภาครัฐ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงควรมีการสนับสนุนให้ผู้สูงวัยมีรายได้จากการทำงานหรือเงินออมเพิ่มขึ้น ดังนี้

  • ส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยเพียง 37.6% มีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ซึ่งน้อยกว่าอัตราการมีส่วนร่วมของทุกช่วงวัยเกือบครึ่งหนึ่ง โดยผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน ควรได้รับการสนับสนุนให้มีงานทำผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ การขยายอายุเกษียณให้มากกว่า 55 หรือ 60 ปี เช่น ในญี่ปุ่น หรือหลายประเทศในทวีปยุโรปที่ขยายจนถึง 65 ปี ซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุอยู่ในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น47/ การฝึกอบรมทักษะผู้สูงอายุและจับคู่งานเชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะที่ผู้สูงอายุมีและที่นายจ้างต้องการ การคุ้มครองให้ผู้สูงอายุได้รับค่าตอบแทนอย่างเพียงพอ48/ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้สูงวัยพบมากที่สุดจากการทำงาน มาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ49/ รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ50/ เพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับกลุ่มผู้สูงวัยทั้งนี้ มาตรการที่ยกมาข้างต้น ส่วนใหญ่มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องทบทวนประสิทธิผลและความเข้มข้นของการดำเนินการเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการภาคสมัครใจ

  • ผลักดันการออมเพื่อการเกษียณ ผู้สูงอายุจำนวนมากยังไม่มีเงินบำนาญหรือเงินออมที่เพียงพอ โดยเฉพาะแรงงานอิสระที่ไม่อยู่ในระบบการออมภาคบังคับใดๆ ดังนั้น แรงงานกลุ่มนี้ควรได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมกองทุนการออมภาคสมัครใจ อาทิ กองทุนประกันสังคมมาตรา 39 40 และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ส่วนแรงงานในระบบที่มีนายจ้าง ควรมีแหล่งเงินออมเพิ่มเติมนอกเหนือจากการประกันสังคมภาคบังคับ โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรูปแบบการออมที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างตระหนักถึงความสำคัญ นอกจากนี้ ความรู้และทักษะด้านการวางแผนทางการเงินควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ก่อนวัยเกษียณ เนื่องจากสุขภาพการเงินก็สำคัญไม่น้อยกว่าสุขภาพกาย

รายจ่าย: ผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายจำเป็นจากปัจจัยสี่ อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการรักษาพยาบาล  โดยเฉพาะรายจ่ายด้านสุขภาพ และที่พักอาศัย ที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่วัยชรา แต่ผู้สูงอายุอีกจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในวัยเกษียณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรดำเนินการดังนี้

  • ส่งเสริมการดูแลสุขภาพและสิทธิการรักษาพยาบาลทางเลือก เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นตามอายุ และจะสูงขึ้นหากผู้สูงอายุมีโรคเรื้อรังมากกว่า 1 โรค การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันเพื่อให้สูงวัยอย่างแข็งแรงจึงเป็นผลดีต่อทั้งผู้สูงอายุ ครัวเรือน และประเทศ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรได้รับการสนับสนุนให้มีสิทธิการรักษาพยาบาลทางเลือก เช่น ประกันสุขภาพส่วนบุคคล นอกเหนือจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงการรักษาและลดต้นทุนด้านสาธารณสุข

  • สนับสนุนที่พักสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เนื่องจากที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันยังเน้นรองรับกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก ในขณะที่บ้านพักและ Nursing Home ที่มีราคาตรงกับความสามารถในการจ่ายของคนส่วนใหญ่ในตลาด ยังมีน้อย จึงควรมีการสนับสนุนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุรายได้น้อยที่ไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านของตนเอง (Aging in Place) ได้

นอกจากการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุไทยมีคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดีขึ้นในมิติต่างๆ ข้างต้นแล้ว ผู้ดำเนินนโยบายควรส่งเสริมเศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) ไปพร้อมๆ กัน อาทิ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ เทคโนโลยี และบริการสุขภาพ อาหาร อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัย


โอกาสทางธุรกิจใน Silver Economy

ธุรกิจหลายประเภทมีแนวโน้มได้รับประโยชน์มหาศาลจากสังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจสุขภาพ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากความต้องการบริการสุขภาพที่มากขึ้นตามวัย หรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีโอกาสจากความต้องการที่พักที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุหรือมีบริการช่วยเหลือตามความจำเป็น ในขณะที่ธุรกิจอาหาร ไลฟ์สไตล์ ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์จะได้ประโยชน์จากตลาดผู้สูงอายุที่ขยายตัว และกลายเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญที่มีความต้องการสินค้าและบริการที่ต่างออกไป ทั้งนี้คาดว่าธุรกิจใน Silver Economy จะมีศักยภาพในการเติบโตเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • ตลาดประกอบด้วยกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อหลากหลาย ได้แก่ 1) กลุ่มกำลังซื้อสูง ซึ่งมักเป็นผู้สูงวัยที่มีความรู้และประสบการณ์มาก ชอบใช้จ่ายเพื่อความสุข เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก สินค้าความงาม และความบันเทิง2) กลุ่มที่เหลือ แม้มีกำลังซื้อน้อยกว่า แต่เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการเสนอสินค้าและบริการอย่างเต็มที่ (Underserved Market) เช่น ที่อยู่อาศัย บริการสุขภาพ และการเงิน

  • ตลาดมีโอกาสจากผลิตภัณฑ์และผู้บริโภคหลายกลุ่ม โดยลูกค้าอาจแบ่งกลุ่มตามอายุออกเป็น 1) กลุ่มก่อนวัยเกษียณ (Prepare) อายุ 50-59 ปี ซึ่งมีอัตราการใช้เทคโนโลยีและรายได้สูงกว่าผู้สูงอายุ 2) กลุ่มสูงวัยตอนต้น (Young Old: YOLD) อายุ 60-69 ปี และ 3) กลุ่มสูงวัยตอนปลาย (Late Old: LOLD) อายุ 70 ปีขึ้นไป51/ นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งลูกค้าผู้สูงอายุตามสภาพร่างกาย ได้แก่ กลุ่มติดสังคม ติดบ้าน และติดเตียง ซึ่งกลุ่มต่างๆ ข้างต้น มีความต้องการสินค้าและบริการแตกต่างกัน ทั้งนี้ นอกจากผู้สูงอายุแล้ว ยังมีผู้บริโภคอีกหนึ่งกลุ่มที่เป็นผู้ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยคือ กลุ่มที่เรียกว่า Sandwich Generation ซึ่งต้องดูแลพ่อแม่สูงอายุ รวมถึงคู่สมรสและลูกของตนเอง

  • ตลาดมีขนาดใหญ่และการแข่งขันยังไม่รุนแรง ซึ่งได้รับอานิสงส์จากผู้สูงอายุในประเทศและชาวต่างชาติที่ต้องการมาใช้ชีวิตเกษียณที่ไทย รวมถึงตลาดต่างประเทศ เนื่องจากแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดผู้สูงอายุยังไม่รุนแรงมาก (Blue Ocean) เมื่อเทียบกับตลาดวัยทำงาน ซึ่งในอนาคตขนาดตลาดผู้สูงอายุจะใกล้เคียงกับตลาดกลุ่มคนวัยทำงานยิ่งขึ้น


สิ่งสำคัญสำหรับผู้เล่นที่ต้องการคว้าโอกาสใน Silver Economy คือการเข้าใจพฤติกรรม ความต้องการ และ Pain Point ที่แตกต่างกันของผู้สูงอายุหลากหลายกลุ่ม เพื่อให้สามารถแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) และนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ เนื่องจากผู้สูงอายุมีทักษะและสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น จึงนิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งผู้สูงวัยยังชื่นชอบการใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) โดยเฉพาะ Facebook และ Youtube52/ ดังนั้น แพลตฟอร์มเหล่านี้จึงเป็นช่องทางโฆษณาและทำการตลาดที่สำคัญ

ภาคการเงินการธนาคารที่คำนึงถึงสังคม

ธนาคารมีโอกาสจากการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ ในสังคมผู้สูงอายุ โดยผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุในยุค Aged Society ควรมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

  • ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อคุณภาพชีวิตทึ่ดียิ่งขึัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝาก หรือสินเชื่อ ที่สนับสนุนการสร้างรายได้ อาชีพ เงินออม รวมถึงเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้สูงอายุ สำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็นยามเกษียณ เช่น การดูแลสุขภาพ การรักษาพยาบาล การปรับปรุงหรือจัดหาที่พักอาศัย

  • ได้รับการออกแบบที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ โดยตอบโจทย์ข้อจำกัดต่างๆ ของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสภาพร่างกาย ทักษะทางเทคโนโลยี และทักษะทางการเงิน ตัวอย่างเช่น Mobile Banking ที่ออกแบบ UX/UI ให้ตัวเลือกและตัวอักษรมีขนาดใหญ่ เป็นภาษาไทย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการใช้บริการได้

ท้ายที่สุด ธนาคารสามารถมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ด้วยการคำนึงถึงผู้สูงอายุในฐานะลูกค้ากลุ่มสำคัญ รวมทั้งการสนับสนุนธุรกิจเพื่อผู้สูงวัย ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความสำคัญกับมิติสังคม (Social) อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG)



References
 

Deloitte. (2019). The Silver Avalanche Are you prepared?”. 

Department of Older Persons. (2023). “Report on the situation of the Thai elderly in 2022”. Retrieved from https://www.dop.go.th/th/ebook/010

Glinskaya, E., T. Walker, and T. Wanniarachchi. (2021). “Caring for Thailand’s Aging Population”. World Bank.

International Labour Organization. (2022). “Social Protection Diagnostic Review: Review of the pension system in Thailand”. Retrieved from ilo.org/wcmsp5/groups/public/---asia/---ro-bangkok/documents/publication/wcms_836733.pdf

Mercer and CFA Institute. (2023). “Mercer CFA Institute Global Pension Index 2023”. Retrieved from https://www.mercer.com/assets/global/en/shared-assets/global/attachments/pdf-2023-mercer-cfa-global-pension-index-full-report-11-09-2023.pdf

National Statistical Office. (2023). “The 2023 Health and Welfare Survey”.

Siddhartha Sanghi. (2022). “Can Population Aging Explain Rising Healthcare Spending Across Countries?”. Retrieved from https://research.stlouisfed.org/publications/economic-synopses/2022/06/30/can-population-aging-explain-rising-healthcare-spending-across-countries

TDRI. (2023). “How does an aging society affect the social, economic, health, and medical expenses of Thai households?”. Retrieved from https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2023/06/wb202.pdf

World Health Organization. (2020). “How will population ageing affect health expenditure trends in Japan”.

 

1/ องค์การสหประชาติได้แบ่งระดับสังคมผู้สูงอายุเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนมากกว่า 7% 2) สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนมากกว่า 20% หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนมากกว่า 14% และ 3) สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) เมื่อประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ
2/ Department of Older Persons (DOP), https://www.dop.go.th/th/statistics_page?cat=1&id=1
3/ Bangkok Post, https://www.bangkokpost.com/business/general/2643057/thailands-silver-economy-trends-and-opportunities   
4/ UN World Population Prospects 2022
5/ อายุมัธยฐาน (Median Age) คืออายุตรงกลางซึ่งแบ่งประชากรออกเป็นสองส่วนจำนวนเท่า ๆ กัน
6/ Bangkok Post, https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2504556/old-poor-and-unemployable   
7/ National Statistical Office (NSO)’s Labor Force Survey (2023Q3),  
8/ อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ (Old-age dependency ratio) หมายถึง อัตราส่วนของประชากรที่อยู่ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ต่อประชากรในวัยแรงงาน ที่มีอายุ 15-59 ปี
9/ NSO’s Elderly Survey (2021),
10/ ค่าจ้างขั้นต่ำ ณ มีนาคม 2567 อยู่ที่ 330-370 บาทต่อวัน (Ministry of Labor, https://www.mol.go.th/อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ)  
11/ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) พบว่า ในปี 2565 ประชากรกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป มีการก่อหนี้เพิ่มเมื่อเทียบกับ ปี 2562 (ยุคก่อนโควิด-19) ส่วนใหญ่มาจากหนี้เพื่อการเกษตร และการเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ (Thansettakij, https://www.thansettakij.com/business/economy/578569)   
12/ NSO’s Working Elderly Survey (2022),  
13/ Ministry of Labor’s Working Elderly Survey (2022),  
14/ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นกองทุนส่งเสริมการออมภาคสมัครใจเพื่อเป็นหลักประกันหลังเกษียณอายุของแรงงานนอกระบบ โดยเปิดให้คนไทยอายุ 15-60 ปี ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ผู้ค้าขาย ผู้รับจ้างอิสระ และบุคคลทั่วไป ที่ไม่อยู่ในกองทุนประกันสังคมประเภทที่จ่ายบำเหน็จ/บำนาญ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำนาญอื่นที่สมทบโดยรัฐบาลหรือนายจ้าง สะสมเงินเข้ากองทุนไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และภาครัฐสมทบเงินให้ตามเงื่อนไข (สูงสุด 1,800 บาทต่อปี) โดยกองทุนจะจ่ายบำนาญเป็นรายเดือนเมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี (National Savings Fund, https://www.nsf.or.th/sites/default/files/กองทุนการออมแห่งชาติ%20%28กอช.%29%2031.03.2566.pdf)   
15/ NSO’s Elderly Survey (2021)
16/ NSO’s Informal Worker Survey (2023),
17/ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุ 15-60 ปี ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยลูกจ้างและนายจ้างต้องสมทบเงินเข้ากองทุน ฝ่ายละไม่ต่ำกว่า 3% ของค่าจ้าง (เพดานเงินเดือน 60,000 บาท) และจะทยอยปรับเพิ่มอัตราสมทบขั้นต่ำไม่เกิน 10% ในระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ สมาชิกจะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญเมื่ออายุครบ 60 ปี โดยเมื่อปี 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอแล้ว และร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (Fiscal Policy Office, https://www.fpo.go.th/main/Important-economic-policy/7776.aspx)   
18/ Global Pension Index 2023 โดย Mercer และ CFA Institute พิจารณาระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศต่างๆ ใน 3 ด้าน ได้แก่ ความเพียงพอ (Adequacy) ความยั่งยืน (Sustainability) และความน่าเชื่อถือ (Integrity) โดยคะแนนของไทยอยู่ในกลุ่มรั้งท้าย (เกรด D) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ อินเดีย ตุรกี และอาร์เจนตินา ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ในเกรด B+ ส่วนมาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นอยู่ในเกรด C+ (Mercer, https://www.mercer.com/assets/global/en/shared-assets/global/attachments/pdf-2023-mercer-cfa-global-pension-index-full-report-11-09-2023.pdf) 
19/ World Health Organization (2020). “How will population ageing affect health expenditure trends in Japan”. 
20/ TDRI. (2023). “How does an aging society affect the social, economic, health, and medical expenses of Thai households?”. Retrieved fromhttps://tdri.or.th/wp-content/uploads/2023/06/wb202.pdf  
21/ National Health Security Office (NHSO), https://www.hfocus.org/content/2023/10/28769 
22/ Siddhartha Sanghi. (2022). “Can Population Aging Explain Rising Healthcare Spending Across Countries?”. retrieved from https://research.stlouisfed.org/publications/economic-synopses/2022/06/30/can-population-aging-explain-rising-healthcare-spending-across-countries   
23/ Glinskaya, E., T. Walker, and T. Wanniarachchi. (2021). “Caring for Thailand’s Aging Population”. World Bank.
24/ NSO’s Elderly Survey (2021)
25/ Real Estate Information Center (REIC), https://www.reic.or.th/Activities/PressRelease/199  
26/ จากการเก็บข้อมูลราคาบ้านพักผู้สูงอายุ ที่ผู้ตอบ (ทั้งผู้สูงอายุและบุตรหลาน) ยินดีจ่าย โดย Crowdabout (2021), https://crowdabout.io/blog/senior-market-nursing-home/  
27/ NSO’s survey on the use of ICT,  
28/ Bank of Thailand and NSO’s Financial Inclusion Survey (2022), https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/article-2024mar19.html   
29/ จากการวิเคราะห์ข้อมูล e-Payment ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2564 (18 เดือน) จาก 5 ธนาคารใหญ่ ซึ่งครอบคลุมธุรกรรม 80% ของทั้งประเทศ โดยฐิติ ทศบวร และคณะ (Puey Ungphakorn Institute for Economic Research (PIER), https://www.pier.or.th/abridged/2023/05/)
30/ อ่านบทความและผลการสำรวจได้ที่ https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/ri-elders-20  
31/ Bank of Thailand and NSO’s Financial Literacy Survey (2022),
32/ NSO’s Household Socio-Economic Survey (2023),   
33/ Deloitte,
34/ Bangkok Bank SME,  https://www.bangkokbanksme.com/en/silver-economy-marketing-elderly   
35/ The 1 Insight, https://workpointtoday.com/the-1-silver-spenders/   
36/ โภชนเภสัช (Nutraceutical) คืออาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีสรรพคุณทางยา สามารถป้องกันและรักษาโรค รวมทั้งชะลอความชรา https://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1006/nutraceutical-โภชนเภสัช  
37/ บำเหน็จตกทอดคือเงินที่ภาครัฐจ่ายให้ทายาทตามกฎหมายของผู้รับบำนาญที่เสียชีวิต โดยคิดจาก 30 เท่าของเงินบำนาญรายเดือนและเงินช่วยค่าครองชีพ หักด้วยเงินบำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับไปแล้ว บำเหน็จตกทอดจึงใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อได้  
38/ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institution: SFI) อาทิ ธนาคารออมสิน  ธนาคารอาคารสงเคราะห์  เป็นธนาคารนำร่องการให้สินเชื่อ Reverse Mortgage ตั้งแต่ปี 2561-2562 ซึ่งปัจจุบันธนาคารทั้ง 2 แห่ง กำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท และระยะเวลาการกู้สูงสุดไม่เกิน 25 ปี โดยอายุผู้กู้รวมกับระยะเวลากู้ต้องไม่เกิน 85 ปี (https://www.gsb.or.th/personals/reverse-mortgage/  และ https://www.ghbank.co.th/product-detail/reverse-mortgage-loan) 
39/ The Stock Exchange of Thailand, https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/knowledge/article/89-tsi-do-retirement-planning-with-annuity-insurance  
40/ KTC Senior Platinum Mastercard https://www.ktc.co.th/credit-card/generic/ktc-senior-platinum-mastercard 
41/ GSB Prestige Credit Card, https://www.gsb.or.th/personals/prestige-credit-card/#section4 
42/ Krungthai Happy Life Debit Card, https://krungthai.com/th/personal/cards/debit-card/550 
43/ ผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต KTC ขั้นต่ำ 30,000 บาท จะได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่  https://www.ktc.co.th/promotion/hospital/hospital/nursing-home   
44/ ลูกค้าบัตรเครดิตกรุงศรี ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สามารถแบ่งจ่ายค่ารักษาพยาบาล และรับเงินคืนสูงสุด 6,000 บาท https://www.krungsricard.com/th/promotion/Hospital-Elderly-Jan23  
45/ คูปองการตรวจสุขภาพสมอง (Cogmate Brain Health Test Kit) สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตกรุงศรี https://www.krungsricard.com/th/Promotion/Cogmate  
46/ RMF เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว โดยผู้ลงทุนสามารถไถ่ถอนเงินลงทุนได้เมื่อมีอายุ 55 ปี เป็นต้นไป และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งในระหว่างการลงทุนจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินอื่นใดให้แก่ผู้ลงทุน แต่ผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับมูลค่าเงินออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ และสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน (https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/retirement/well-earned-retirement-with-rmf)  
47/ ข้อมูลจากศูนย์จัดหางาน Hello Work ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น https://asia.nikkei.com/Spotlight/Work/Japan-retirement-trends-job-seeking-seniors-double-in-10-years  
48/ ปัจจุบันกระทรวงแรงงานมีแนวปฏิบัติสำหรับสถานประกอบการที่จ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพียงการขอความร่วมมือให้จ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำ 45 บาทต่อชั่วโมง  https://www.mol.go.th/wp-content/uploads/sites/2/2019/03/prakaasphuusuungaayu.pdf 
49/ ตั้งแต่ปี 2559 กระทรวงการคลังมีมาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยกำหนดให้บริษัทที่จ้างงานผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปสามารถนำค่าจ้าง มาหักรายจ่ายได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้าง https://area3.labour.go.th/attachments/article/46/dg290.pdf 
50/ กรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป กู้ยืมเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ ด้วยวงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน หรือ 100,000 บาทต่อกลุ่ม 5 คนขึ้นไป โดยผ่อนชำระคืนเป็นรายงวด ภายใน 3 ปี ไม่มีดอกเบี้ย https://olderfund.dop.go.th/บริการให้กู้ยืมเงินทุน/ 
51/ Creative Talk, https://creativetalkconference.com/the-trend-of-the-silver-economy-the-blue-ocean-business-of-the-future/#:~:text=ธุรกิจ%20Silver%20Economy%20คือเทรน,ในอนาคตอันใกล้นี้ 
52/ ผลสำรวจการบริโภคสื่อต่างๆ โดย PHD Datalab พบว่า ผู้สูงอายุไทยชื่นชอบการใช้หรือรับข้อมูลข่าวสารผ่าน Facebook มากที่สุด รองลงมาคือโทรทัศน์ Youtube และแพลตฟอร์มออนไลน์ (Streaming platform) ตามลำดับ https://www.warc.com/newsandopinion/opinion/apac-2024-outlook-understanding-thailands-fast-growing-silver-generation-social-media-adopters/en-gb/6419 

 
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา