ห่วงโซ่มูลค่าโลกโฉมใหม่ หลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19

ห่วงโซ่มูลค่าโลกโฉมใหม่ หลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19

07 ตุลาคม 2563

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามใช้มาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อควบคุมโรคอย่างการปิดเมืองหรือจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ แม้ว่าการปิดเมืองจะทำให้ความปลอดภัยของประชาชนสูงขึ้นแต่ย่อมแลกมาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งเศรษฐกิจโลกที่เกิดการชะงักงันของการผลิตและการหดตัวของการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้ารายสำคัญของโลกย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงผ่านช่องทางการค้าจากการขาดตอนของห่วงโซ่มูลค่าโลก ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลในระยะยาว เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงของ Megatrend ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนไป ความไม่แน่นอนจากการกระจุกตัวของแหล่งผลิต นโยบายการค้า รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี ปัจจัยเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่กำหนดลักษณะของห่วงโซ่มูลค่าโลกในอนาคตให้สั้นลง กระจายตัวมากขึ้นและมีความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคมากขึ้น (Shorter, more diversified and more regionalized)

จากลักษณะของห่วงโซ่มูลค่าที่มีแนวโน้มแปลงเปลี่ยนไป วิจัยกรุงศรีทำการประเมินลักษณะของห่วงโซ่มูลค่าโลกในปี 2025 ผ่านตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตโดยพบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้ ประการแรก ไทยจะมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตมากขึ้น แต่ตำแหน่งการผลิตจะไม่เปลี่ยนแปลง ประการที่สอง ภาคบริการจะมีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นผ่านการถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าของภาคอุตสาหกรรม และประการที่สาม ความเชื่อมโยงทางการค้าภายในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น หากผู้ประกอบการของไทยเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภายหลังวิกฤตเช่นนี้แล้ว การเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมและปรับตัวต่อสถานการณ์ในอนาคตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจมีความยืดหยุ่นเพียงพอและสามารถก้าวข้ามความยากลำบากจากสถานการณ์เช่นนี้ได้

การผลิตสินค้าชนิดหนึ่งจำเป็นต้องอาศัยวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและความชำนาญจากหลายประเทศประกอบเข้าด้วยกัน โดยกระบวนการผลิตแต่ละขั้นจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้ผลิตและเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทุกภูมิภาคทั่วโลก การผลิตที่ถูกกระจายไปทั่วโลกนี้เองทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่หรือเป็นที่มาของแนวคิดห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVC)

ห่วงโซ่มูลค่าโลกมีความสำคัญในแง่ของการเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพการผลิต การลงทุน การจ้างงาน ซึ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น  เมื่อทุกข้อต่อของโซ่นั้นล้วนมีความสัมพันธ์กัน หากมีการเปลี่ยนแปลงในขั้นใดขั้นหนึ่งของกระบวนการผลิตแล้ว ผลกระทบย่อมถูกส่งผ่านไปทั่วกระบวนการผลิตและเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19ในช่วงต้นปี 2020 เศรษฐกิจไทยไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น เศรษฐกิจโดยรวมยังถูกกระทบผ่านการเชื่อมโยงของห่วงโซ่การค้าโลกเห็นได้จากการหดตัวของการส่งออกและนำเข้า วิกฤตครั้งนี้สร้างการตระหนักถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงของแหล่งผลิตและการลดความซับซ้อนของการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และยังส่งผลต่อรูปแบบของห่วงโซ่มูลค่าโลกในอนาคต ซึ่งการเข้าใจและเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค้าโลกไม่เพียงช่วยให้สามารถจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น แต่ยังทำให้ผู้ผลิตสามารถคว้าโอกาสจากตลาดการค้าการลงทุนโลกได้

เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 โดยมี “ช่องทางการค้า” เป็นช่องทางการส่งผ่านผลกระทบที่สำคัญ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพเท่านั้น ยังส่งผลถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทั้งในด้านการผลิตสินค้าและความต้องการสินค้า โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจเหล่านี้ถูกส่งผ่านให้กันผ่านช่องทางการค้าโลก จากข้อมูลจาก UNCTAD แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการค้าโลกในส่วนของสินค้าในไตรมาสแรกของปี 2020 หดตัวกว่า 5% เมื่อเทียบรายปีและคาดว่าจะหดตัวกว่า 27% ในไตรมาสที่สอง (รูปที่ 1) ซึ่งเป็นไตรมาสที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุด สอดคล้องกับ World Trade Organization (WTO) ที่คาดว่ามูลค่าการค้าโลกในปี 2020 จะหดตัวประมาณ 13-32% ถือเป็นช่วงประมาณการที่หดตัวรุนแรงและค่อนข้างกว้าง ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

ภายใต้การค้าโลกที่หดตัวและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ ภาคการส่งออกของไทยซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจย่อมได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ข้อมูลการค้าของกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการส่งออกของไทยหดตัว 7.9% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายปี (รูปที่ 2) ถือเป็นการหดตัวเดือนที่สี่ติดต่อกันนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศที่ยังคงมีความรุนแรงและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความต้องการสินค้าและกำลังซื้อจากต่างประเทศที่อ่อนแอยังคงเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกไทย อีกทั้งอุตสาหกรรมไทยมีส่วนร่วมและพึ่งพาห่วงโซ่มูลค่าโลกในระดับสูง โดยนับตั้งแต่การย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นในช่วง Plaza Accord ปี 1985 ซึ่งทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค โดยทำหน้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งการผลิตอื่นมาผลิตสินค้า และยังทำการส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปยังต่างประเทศ

ภาคอุตสาหกรรมของไทยเผชิญความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการผลิตและความต้องการสินค้า และความเสี่ยงดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมไทยและห่วงโซ่มูลค่าโลกผ่านตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (I-O tables) ระหว่างปี 2005-2015 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกทั้งด้านอุปทานหรือการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิต  (Production shock) และด้านอุปสงค์ (Final demand shock) อย่างมีนัยสำคัญ โดยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร และอุตสาหกรรมยานยนต์มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิต ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้นและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการสินค้าขั้นสุดท้ายมากกว่า และที่สำคัญภาคอุตสาหกรรมไทยยังเผชิญความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น อนุมานได้ว่าหากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบจากความเสี่ยงนั้นต่อเศรษฐกิจไทยย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย (รูปที่ 3)

แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19


วิจัยกรุงศรีมองว่า เศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะฟื้นตัวด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน ในช่วงปี 2020-2025 ประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ดีนำโดยเวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า อาทิ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ แอฟริกาใต้และอิตาลี ซึ่งอาจใช้เวลามากกว่า 5 ปีที่เศรษฐกิจจะกลับมาที่ระดับก่อนการระบาดของ Covid-19 สำหรับประเทศไทย คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 ปีที่เศรษฐกิจจะกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาด ส่วนด้านการค้าระหว่างประเทศ มูลค่าการส่งออกที่ชะงักไปในช่วงโควิด-19 อาจสร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมเป็นวงกว้าง แต่เมื่อมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออก ซึ่งเป็นความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยได้ในระยะต่อไป โดยเมื่อพิจารณาการเติบโตของการส่งออกรายอุตสาหกรรมระหว่างปี 2020-2025 พบว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีที่สุด รองลงมาคืออุตสาหกรรมอุปกรณ์การขนส่ง อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีความอ่อนไหวต่อรายได้ (Income-sensitive industries) สูง กล่าวคือเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง กำลังซื้อของประชาชนจะกลับมาเพิ่มขึ้น ความต้องการในสินค้าและบริการในกลุ่มนี้จึงฟื้นตัวตามลำดับ (รูปที่ 4)


โควิด-19 และ Megatrends เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลกในอนาคต

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้น การแพร่ระบาดของโรคทำให้หลายประเทศทั่วโลกปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้เกิดการชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานพุ่งสูง การบริโภคชะลอตัว เมื่อประกอบกับการหดตัวของการส่งออกและนำเข้าสินค้า เศรษฐกิจโดยรวมจึงเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง สะท้อนจากการหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของหลายประเทศทั่วโลกนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008-09 ในระยะยาวการแพร่ระบาดของโควิด -19 ยังสร้างบาดแผลและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทั้งต่อผลิตภาพของแรงงาน (Labor productivity) ที่ลดลงและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจต่ำกว่าศักยภาพอย่างถาวร รวมถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ต้องเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในอนาคต นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศที่หยุดชะงักเป็นเวลานานอาจทำให้หลายประเทศมีความตระหนักถึงสัดส่วนการพึ่งพาตลาดภายนอกประเทศที่มากเกินไป จึงพยายามกระจายความเสี่ยงของแหล่งผลิตเพื่อบรรเทาความเสียหาย พร้อมทั้งกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศและการลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ปัจจัยเหล่านี้จึงมีความสำคัญในกำหนดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลกในอนาคต

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีผลทางอ้อมต่อห่วงโซ่มูลค่าโลกผ่านการเร่งการเปลี่ยนแปลง Megatrends ให้เกิดเร็วขึ้น โดยวิจัยกรุงศรีมองว่ามีปัจจัย Megatrends 6 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลก ดังนี้ (รูปที่ 6)

ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ตามบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) อาทิ จีน เวียดนามและเกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยเปรียบเทียบและกำลังซื้อของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มเศรษฐกิจนี้จึงเป็นที่น่าจับตามองและเป็นเป้าหมายที่ดีในการขยายตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า ประกอบกับปัจจัยด้านสังคมและประชากร โดยในศตวรรษที่ 21 นี้ แนวโน้มประชากรโลกจะประกอบไปด้วยผู้สูงอายุมากขึ้น ความต้องการในสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นต่อกลุ่มเหล่านี้ย่อมเพิ่มขึ้น เป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้านั้น ๆ แต่อีกนัยหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุคือจำนวนประชากรแรงงานที่ลดลงอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการผลิตได้  ทั้งสองปัจจัยข้างต้นจึงเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบความต้องการสินค้าและบริการในอนาคต

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม  การผลิตในยุคใหม่นั้นนอกจากการคำนึงถึงประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมยังถูกให้ความสำคัญมากขึ้น ทำให้การผลิตสินค้าและบริการต้องเกิดประโยชน์สูงสุดและให้โทษต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุดในเวลาเดียวกัน ในขณะเดียวกันปัจจัยด้านภัยธรรมชาติและโรคระบาดมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ที่เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งช่วยให้ตระหนักว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือโรคระบาดขึ้น การที่แหล่งการผลิตสินค้ามีการกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ความเสียหายต่อการผลิตจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและอาจสร้างความเสียหายลุกลามไปทั้งระบบ ท่ามกลางความเสี่ยงของโลกในยุค ‘VUCA World’ (Volatility, Uncertainty, Complexity and Ambiguity) นี้ ผู้ผลิตจึงต้องพยายามลดความเสี่ยงในทุกขั้นตอนการผลิต เช่น การกระจายแหล่งผลิตสินค้า เป็นต้น ทั้งยังเน้นให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเน้นไปที่ประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว เพื่อให้สามารถประคับประคองธุรกิจในระยะยาวได้ 

สืบเนื่องจากการตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและความพยายามในการกลับมาพึ่งพาตลาดภายในประเทศทำให้ ปัจจัยด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ในระยะหลัง หลายประเทศมีแนวโน้มทำนโยบายเพื่อปกป้องเศรษฐกิจและผู้ผลิตภายในประเทศ (Protectionism measures) มากยิ่งขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกาที่ใช้นโยบายเรื่องชาตินิยม เน้นการผลิต จำหน่ายและบริโภคสินค้าภายในประเทศ จำกัดความสัมพันธ์และลดการพึ่งพาการผลิตจากโรงงานผลิตโลกอย่างจีน อย่างไรก็ดี โจทย์สำคัญในการย้ายฐานการผลิตกลับเข้ามาในประเทศ คือการรักษาประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้มีสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ซึ่งในปัจจุบันบทบาทของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความแตกต่างของการผลิตในแต่ละประเทศ ถือได้ว่า ปัจจัยทางเทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่มูลค่าของโลก

การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้จึงเป็นแรงผลักดันที่กำหนดทิศทางของห่วงโซ่มูลค่าโลกในอนาคต โดยผู้ประกอบการพยายามลดความซับซ้อนและลดระยะของแหล่งผลิตให้ใกล้กับประเทศของตนเองมากขึ้น ความพยายามในการกระจายฐานการผลิตไปในหลายประเทศเพื่อบรรเทาความเสียหายจากวิกฤตและความเสี่ยงอันอาจเกิดขึ้น รวมถึงแนวโน้มของนโยบายการค้าที่เข้มงวดขึ้น ประเทศต่างๆจึงมองหาช่องทางการกระจายสินค้าที่ใกล้แหล่งผลิตมากขึ้นและอยู่ภายในภูมิภาค ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลกใหม่ที่จะสั้นลง กระจายตัวมากขึ้น และมีความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค (Shorter, more diversified and more regionalized)

ภายใต้รูปแบบของห่วงโซ่การผลิตโลกที่มีลักษณะสั้นลง กระจายตัวมากขึ้น และมีความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคนั้น วิจัยกรุงศรีได้ทำการคาดการณ์ลักษณะของห่วงโซ่มูลค่าโลกในปี 2025 โดยพบสิ่งที่น่าจะสนใจทั้งหมด 3 ประการ ดังนี้ อุตสาหกรรมไทยจะมีส่วนร่วมกับห่วงโซ่มูลค่าโลกมากขึ้น ภาคบริการจะมีบทบาทมากขึ้น และการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น

ประการแรก ในอนาคตประเทศไทยจะมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตมากขึ้น แต่ตำแหน่งการผลิตไม่เปลี่ยนแปลง

การพิจารณาบทบาทของประเทศใดประเทศหนึ่งในห่วงโซมูลค่าโลกนั้น จำเป็นต้องวิเคราะห์ในเชิงของการมีส่วนร่วมในการผลิตควบคู่ไปกับตำแหน่งในการผลิต สำหรับการประเมินบทบาทของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าพบว่า ไทยจะมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่ามากขึ้นโดยดัชนีการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.93 ในปี 2020 สู่ระดับ 1.03 ในปี 2025 (รูปที่ 7) ขณะที่ตำแหน่งการผลิตยังคงอยู่ในตำแหน่งปลายน้ำ(Downstream) การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ถือเป็นโอกาสอันดีต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตเป็นการขยายโอกาสของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลกรวมถึงตำแหน่งการผลิตที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาก โดยส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะยังอยู่ที่อุตสาหกรรมปลายน้ำ  ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมได้เปรียบจากการผลิตสินค้าที่มีความชำนาญอยู่ตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลกส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยแตกต่างกันตามการเปลี่ยนแปลงของระดับการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกและความสามารถในการส่งออก (รูปที่ 8) ดังนี้

  • อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์ คืออุตสาหกรรมที่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่ามากขึ้น ช่วยส่งเสริมให้ประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นผ่านการพัฒนาศักยภาพการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดโลกได้ และหากอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้มีแนวโน้มในการส่งออกสินค้าที่ยังเติบโตได้ดีในระยะข้างหน้า ย่อมเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้น ๆ โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเสียประโยชน์ คืออุตสาหกรรมที่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าน้อยลง ทั้งจากความต้องการสินค้าในอุตสาหกรรมเหล่านี้มีค่าลดลงเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ประกอบกับอุตสาหกรรมเหล่านี้มีการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบและเทคโนโลยีจากห่วงโซ่มูลค่าน้อยลง อีกทั้งการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับต่ำหรือไม่สามารถเติบโตได้เลย อุตสาหกรรมเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงที่จะเสียประโยชน์ อาทิ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นต้น


ประการที่สอง การผสมผสานระหว่างภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม (Servicification)

การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะหลังเน้นไปที่การเติบโตทางด้านคุณค่า การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี องค์ความรู้และนวัตกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า  ภาคบริการนับว่าเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ทางเศรษฐกิจซึ่งช่วยส่งเสริมการเติบโตด้านคุณค่าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากภาคบริการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันซึ่งเป็นแรงส่งสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและโลกของภาคอุตสาหกรรมมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร้พรมแดน ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและภาคบริการมีแนวโน้มปรับตัวเข้าหากันมากขึ้น โดยความสำคัญของภาคบริการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในระยะหลังและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาการมีส่วนร่วมของภาคบริการในห่วงโซ่มูลค่าพบว่าภาคบริการจะมีส่วนร่วมราว 28% ในอีก 5 ปีข้างหน้าผ่านการพิจารณาภายใต้แนวคิดมูลค่าเพิ่ม (รูปที่ 9)

เมื่อพิจารณาจากความเชื่อมโยงไปด้านหน้า (Forward linkage) ซึ่งหมายถึง การที่ภาคบริการถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและทำการส่งออกของนานาประเทศพบว่า ภาคบริการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการผลิตอื่นเพิ่มขึ้นจากราว 3% ในปี 2015 สู่ 3.6% ในปี 2025 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าภาคบริการไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่การเป็นสินค้าขั้นปลายแต่ยังถูกใช้เป็นสินค้าขั้นกลางสำหรับการผลิตอีกทั้งยังมีแนวโน้มการใช้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย (รูปที่ 10) ต่างจากในอดีตที่ภาคบริการถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าขั้นสุดท้ายหรือเป็นผลผลิตที่มาควบคู่กับสินค้าชนิดหนึ่งๆ เช่น การจำหน่ายรถยนต์ควบคู่ไปกับการบริการหลังการขาย การรับประกัน การตรวจสภาพรถยนต์ แต่ในโลกที่ความสำคัญของภาคบริการมีมากขึ้นเราจึงเห็นความก้าวหน้าของนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา การขนส่งและการโทรคมนาคมซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ธุรกิจย่อมต้องปรับตัวทั้งผ่านการปรับรูปแบบหรือการพลิกโฉมธุรกิจ (Transformation) เพื่อผสานการใช้ประโยชน์จากภาคบริการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและธุรกิจ ทั้งยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจในห่วงโซ่มูลค่าโลกอีกด้วย เพราะนอกจากจะส่งผลดีต่อบริษัทในด้านของโอกาสและรายได้ในระยะสั้นแล้ว ในระยะยาวเองผู้ประกอบการเหล่านี้ย่อมมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้นและมีความพร้อมในการปรับตัวตามบริบทของเศรษฐกิจโลกที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต

ประการที่สาม  การจัดระเบียบโลกใหม่ส่งผลให้มีการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization)

เมื่อพิจารณาการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีและอินเดีย (ASEAN+4) พบว่าประเทศในกลุ่มนี้มีแนวโน้มการพึ่งหากันเองในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากประเทศเหล่านี้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกสูงขึ้นมากกว่าการมีส่วนร่วมของทั้งกลุ่ม ASEAN+4 กับการค้าโลก แสดงว่าการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของประเทศเหล่านี้มาจากการเชื่อมโยงกันเองในภูมิภาค (รูปที่ 11) นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้ไม่เพียงแต่พึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น  กำลังซื้อของประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีในระยะข้างหน้าอีกด้วย

ในอดีตข้อจำกัดทางเทคโนโลยีทำให้การผลิตในแต่ละที่มีความแตกต่างกันมาก ตามความชำนาญในการผลิต ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ แต่ในปัจจุบันการพัฒนาอันรวดเร็วของเทคโนโลยีช่วยลดความแตกต่างของการผลิตในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับความเสี่ยงและกฎระเบียบทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงมีแนวโน้มเลือกสถานที่ผลิตสินค้าให้ใกล้กับตลาดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคได้ดีขึ้น ตลาดภายในภูมิภาคจึงได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากรสนิยมของผู้บริโภคมีความคล้ายคลึงกัน อีกทั้งแนวโน้มห่วงโซ่การผลิตที่เน้นห่วงโซ่ที่สั้นและซับซ้อนน้อยลงทำให้เกิดการค้าภายในภูมิภาคและเชื่อมโยงแต่ละประเทศในภูมิภาคเข้าด้วยกัน

การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและกระแสการพึ่งพาตลาดภายในภูมิภาค นับเป็นโอกาสของไทยทั้งในแง่ของการผลิต การค้าและการลงทุน ภาคอุตสาหกรรมไทยในฐานะผู้ผลิตรายสำคัญของภูมิภาคได้รับประโยชน์จากการอยู่ใกล้ตลาด ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้ เนื่องจากการผลิตสินค้าในอนาคตจะให้ความสำคัญกับการแข่งขันภายในภูมิภาคมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถจัดการความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบ ประสิทธิภาพในการผลิตจึงเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

มุมมองวิจัยกรุงศรี

โลกหลังวิกฤตโควิด-19 ยากที่จะคาดเดาว่าจะมีลักษณะอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถยืนยันได้คือ รูปแบบการดำเนินชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ในระดับของตัวบุคคล ระยะห่างทางสังคมอาจกลายเป็นเรื่องปกติในการดำรงชีวิต สถานการณ์วิกฤตอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ ในด้านเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน รูปแบบของการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศอาจเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะด้านการค้าและการผลิตซึ่งเชื่อมโยงเศรษฐกิจเข้าด้วยกันในระดับโลก จากการต่อขยายห่วงโซ่มูลค่าในหลายประเทศกลายเป็นห่วงโซ่มูลค่าที่สั้นลง จากการผลิตที่กระจุกตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากความชำนาญแปรเปลี่ยนเป็นการกระจายแหล่งผลิตเพื่อบรรเทาความเสี่ยง และจากความเชื่อมโยงในระดับโลกสู่ความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อเสาะหาความพึงพอใจของตลาด

เมื่อภาคธุรกิจของไทยเห็นว่าเราจะมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกมากขึ้นแล้ว อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จึงควรต่อยอดพัฒนาศักยภาพของตนให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งบทบาทของภาคบริการที่เพิ่มขึ้นยังส่งเสริมให้ผู้ผลิตควรผสานภาคบริการเข้ากันกับอุตสาหกรรมเพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการผลิตเหล่านั้นได้ รวมถึงแนวโน้มการบริโภคและความร่วมมือในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น ยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าใกล้กับความต้องการของตลาดโดยผู้ผลิตต้องสามารถแข่งขันภายในภูมิภาคได้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลกครั้งนี้ การเรียนรู้เพื่อปรับตัวจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจขยับเข้าใกล้และเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา