วิกฤตภัยแล้ง: ผลกระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

วิกฤตภัยแล้ง: ผลกระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

07 กุมภาพันธ์ 2563

ปี 2563 ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะประสบภาวะภัยแล้งที่รุนแรงมากกว่าปี 2559 โดยสัญญาณชัดเจนมาจากภาวะ Weak El Niño สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่ทำให้ระดับน้ำต้นทุนต่ำลง รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่ตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ ยังเผชิญความเสี่ยงที่จะประสบภาวะขาดแคลนน้ำ หลังจากปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร หากยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าพืชที่อ่อนไหวต่อภัยแล้งและปริมาณน้ำได้แก่ ข้าวนาปรังและมันสำปะหลังจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งยังส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยจะกระทบอุตสาหกรรมปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ ส่งผลให้ความเสียหายโดยรวมจะมีมูลค่าราว 4.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.27% ของ GDP

สัญญาณชี้ชัด ไทยจะประสบภาวะภัยแล้งในปี 2563

ปี 2563 ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่ประสบภัยแล้งชัดเจนมากขึ้น จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยวิกฤตภัยแล้งเริ่มส่งสัญญาณมาให้เห็นตั้งแต่ช่วงปี 2562 พิจารณาได้จาก

         1. ค่าดัชนี Oceanic Niño Index (ONI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดค่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเล โดยค่าดัชนี ONI เข้าสู่ระดับ Weak El Niño [1] ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ต่อเนื่องเรื่อยมา จนถึงมิถุนายน 2562 หมายความว่า ปริมาณฝนที่เกิดขึ้นจะมีปริมาณน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้แนวโน้มฝนตกในประเทศไทยมีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 10% (ภาพที่ 1)
         2. ฝนทิ้งช่วง แม้ไทยประกาศเข้าสู่ฤดูฝนเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 แต่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม 2562 ทำให้ประเทศไทยมีระยะเวลากักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนสั้นลง
         3. ปริมาณน้ำฝนที่ตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 5-10% [2] ประมาณ 1,298 มิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ระดับ 1,251 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดภัยแล้งปี 2559 (ภาพที่ 2) ส่งผลให้น้ำต้นทุนมีปริมาณต่ำกว่าความต้องการใช้จริง
         4. ปริมาณฝนตกส่วนใหญ่เป็นการตกนอกพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำ/เขื่อน (ภาพที่ 3) ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2558
         5. ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ลดลง โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขง มีปริมาณน้ำลดต่ำลง ส่วนหนึ่งเป็นการตั้งข้อสังเกตุเรื่องของการสร้างเขื่อนที่มากขึ้นของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง [3]

ปริมาณน้ำ “น้อยในระดับวิกฤต” ทำให้รับมือภัยแล้งลำบากยิ่งขึ้น

จากภาพรวมการเกิดอุปทานน้ำดังกล่าว ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2562 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศอยู่ที่ 44,281 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 62% ของปริมาตรความจุน้ำในอ่างเก็บกัก ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2558 ที่มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 39,752 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 56% ของปริมาณความจุอ่างฯ แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือ ปริมาณน้ำใช้ได้จริงอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤตที่ระดับ 29% ในปี 2562 ใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ระดับ 23% (รูปที่ 4) โดยปริมาณน้ำที่สามารถให้ได้จริงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำอยู่ 4 ประเภท เรียงตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ (1) เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการประปา (2) เพื่อการรักษาระบบนิเวศ เช่น การผลักดันน้ำเค็ม [4] การผลักดันน้ำเสีย และสิ่งมีชีวิตลุ่มน้ำ เป็นต้น (3) เพื่อการเกษตรกรรม (โดยเฉพาะเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563) และ (4) เพื่อการอุตสาหกรรม

ปี 2563 ไทยเสี่ยงขาดแคลนน้ำรุนแรงกว่าวิกฤตภัยแล้งปี 2559

เมื่อพิจารณาด้านอุปสงค์ พบว่า ปริมาณการระบายน้ำในปี 2562 เฉลี่ยออกจากเขื่อนราว 3,000-4,000 ล้าน ลบ.ม. ต่อเดือน สูงกว่าปี 2558 ที่ระบายน้ำเฉลี่ย 1,600-2,400 ล้าน ลบ.ม. ต่อเดือน (รูปที่ 5) สะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับอัตราการใช้น้ำในแต่ละปีที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากความต้องการใช้ในการอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ข้อมูลจากการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค พบว่า ในปี 2562 มีปริมาณน้ำจำหน่ายอยู่ที่ 2.8 พันล้าน ลบ.ม. และจำนวนผู้ใช้น้ำ 7.0 ล้านราย สูงกว่าปี 2558 อยู่ที่ 2.6 พันล้าน ลบ.ม. และ 6.2 ล้านราย ตามลำดับ (เทียบช่วงเวลาเดียวกับปีก่อนเกิดภาวะภัยแล้ง) ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ปี 2559-2562 อยู่ที่ 2.1% และ 3.1% ตามลำดับ (รูปที่ 6) จากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องดังกล่าว ส่งผลให้ภาวะภัยแล้งและวิกฤตน้ำน้อยในปี 2563 เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะเพื่อการอุปโภคและบริโภคและการอุตสาหกรรมในภาคกลางและภาคตะวันออก รวมถึงเพื่อการเกษตรกรรมในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


นอกจากนี้ ภาครัฐยังต้องจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ อาทิ การผลักดันน้ำเค็มเพื่อป้องกันน้ำกร่อยในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงและเพื่อป้องกันความเสียหายแก่เครื่องจักรที่ใช้ทำน้ำประปา การผลักดันน้ำเสีย รวมถึงใช้รักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ เป็นต้น จากความต้องการน้ำในหลายปัจจัยข้างต้นเป็นสัญญาณชัดเจนว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะประสบภาวะขาดแคลนน้ำเร็วและรุนแรงกว่าภัยแล้งครั้งที่ผ่านมา [5] ปัจจุบัน (นับจนถึง 6 กุมภาพันธ์ 2563) มี 20 จังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) [6] โดยส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

วิจัยกรุงศรีคาดว่าภัยแล้งปี 2563 จะส่งผลรุนแรงกว่าภัยแล้งปี 2559 พิจารณาจากปริมาณน้ำต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม เพื่อการอุปโภคและบริโภค อัตราการระเหยของน้ำจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงทำให้ต้องระบายน้ำจืดจากเขื่อนเพื่อมาผลักดันน้ำเค็ม ขณะที่การเติมน้ำเข้าเขื่อนก็ยังน้อยกว่าปริมาณน้ำไหลออก ประกอบกับความชื้นที่ยังไม่เพียงพอที่จะทำฝนหลวงในพื้นที่ที่ประสบปัญหา อีกทั้งค่าดัชนี ONI ที่มีทิศทางทรงตัวใกล้ระดับ Weak El Niño สะท้อนถึงปริมาณฝนที่จะตกในระดับปกติมีโอกาสลดต่ำลง โดยคาดว่าปริมาณฝนจะยังมีน้อยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 และกลับมาเป็นปกติในเดือนมิถุนายน 2563 แต่จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเมื่อเข้าสู่ต้นเดือนกรกฎาคม 2563

ภูมิภาคที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก ได้แก่ ภาคกลางเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้มีแนวโน้มจะหมดลงในช่วงเดือนเมษายน 2563 ตามมาด้วยภาคตะวันออกและภาคเหนือในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563

ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรม

วิจัยกรุงศรี ประเมินผลกระทบภัยแล้งปี 2563 ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1) ผลผลิตสินค้าเกษตร

ภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบต่อพืชสำคัญหลายชนิดประกอบด้วย ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อย มะม่วง และทุเรียน (ตารางที่ 1) อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจะกระทบต่อพืชสำคัญในบริบทที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของพืช ช่วงเวลาเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิต กล่าวคือ กรณีไม้ยืนต้นประเภทมะม่วง ทุเรียนสามารถทนแล้งได้นานกว่าพืชระยะสั้น/พืชล้มลุก กรณีพืชล้มลุกอย่างอ้อยโรงงานก็รับผลกระทบจำกัดเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่พืชที่ได้รับผลกระทบมากจะเป็นพืชที่อยู่ในช่วงเพาะปลูก หรืออยู่ระหว่างการเติบโต โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีจึงประเมินผลกระทบเฉพาะข้าวนาปรังและมันสำปะหลัง โดยประเมินจากปริมาณผลผลิตที่เสียหาย รวมถึงภาวะราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน (Supply shortage)

ข้าวนาปรังจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากเป็นช่วงเพาะปลูก [7] และใช้น้ำมาก พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ภาคกลาง และภาคเหนือ (รูปที่ 7 และ 9) โดยในเขตชลประทานมีแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ แต่มีการเพาะปลูกไปแล้ว 3.32 ล้านไร่ ซึ่งเกินกว่าแผน 43.6% [8] และหากพิจารณาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งถูกกำหนดให้งดทำนาปรังในฤดูแล้งในปี 2562/63 แต่มีเกษตรกรเพาะปลูกแล้ว 1.84 ล้านไร่ ขณะที่มันสำปะหลังก็เผชิญความเสี่ยงสูง โดยการเพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศในปี 2562 อยู่ที่ 8.63 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วน 55% ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคกลาง 23% และภาคเหนือ 22% ซึ่งทั้ง 3 ภูมิภาคเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยแล้งเช่นกัน (รูปที่ 8)



 

วิจัยกรุงศรีได้ประเมินความเสียหายข้าวนาปรังและมันสำปะหลัง [9] ภายใต้การจำลองสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้ 3 รูปแบบ (ตารางที่ 2) ดังนี้

  • กรณีฐาน (ภัยแล้งถึงเดือนพฤษภาคม 2563) มูลค่าความเสียหายข้าวเปลือกคาดไว้ที่ 21,600 ล้านบาท [10] และมันสำปะหลังที่ 2,500 ล้านบาท รวมเป็น 24,100 ล้านบาท
  • กรณีแย่ (ภัยแล้งถึงเดือนมิถุนายน 2563) มูลค่าความเสียหายข้าวเปลือกคาดไว้ที่ 28,800 ล้านบาท  และมันสำปะหลังที่ 2,800 ล้านบาท รวมเป็น 31,600 ล้านบาท
  • กรณีเลวร้าย (ภัยแล้งถึงเดือนกรกฎาคม 2563) มูลค่าความเสียหายข้าวเปลือกคาดไว้ที่ 37,800 ล้านบาท และมันสำปะหลังที่ 3,300 ล้านบาท รวมเป็น 41,100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบอาจสูงว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากการจัดสรรทรัพยากรน้ำจำต้องเน้นให้ความสำคัญด้านอุปโภคและบริโภคของประชาชนเป็นอันดับแรก ทำให้ต้องรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้าวนาปรังที่มีการเพาะปลูกไปมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ (รูปที่ 9)

2) ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต

การประเมินผลกระทบภัยแล้งต่อระบบเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงความเกี่ยวพันกับภาคการผลิตอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร วิจัยกรุงศรีจึงได้วิเคราะห์โครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรเฉพาะพืชหลักที่อาจได้รับความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วง ได้แก่ ข้าวและมันสำปะหลัง โดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-output Table) ปี 2558 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นฐานในการวิเคราะห์โครงสร้างการผลิต ซึ่งผลที่ได้ พบว่า ความสูญเสียที่เกิดจากภัยแล้งไม่ได้จำกัด

โครงสร้างห่วงโซ่อุปทานข้าวและมันสำปะหลัง

การเชื่อมโยงการผลิตไปข้างหลัง (Backward Linkage)  : อุตสาหกรรมที่เกษตรกรจำเป็นต้องใช้ในการผลิต

  • การทำนา: มีค่าใช้จ่ายซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชคิดเป็นสัดส่วน 47.2% รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายด้านเมล็ดพันธุ์ 15.9%  ค่าบริการเกษตร 13.4% ค่าเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรกลเกษตร 8.4% และค่าใช้จ่ายชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน 7.1%
  • การทำไร่มันสำปะหลัง: มีค่าใช้จ่ายซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช 37.8% ค่าท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง 31.1% ค่าบริการเกษตร 10.2% ค่าชำระหนี้ 6.9% และค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ทางการเกษตร 5.3%

การเชื่อมโยงการผลิตไปข้างหน้า (Forward Linkage) : อุตสาหกรรมที่นำผลผลิตจากเกษตรกรไปใช้ในการผลิต

  • การทำนา: ผลผลิตข้าวที่ได้จากการทำนาประมาณ 79.9% จะถูกจำหน่ายให้กับโรงสีเพื่อผลิตข้าวสาร ส่วนข้าวหักหรือรำข้าวที่เป็นผลพลอยได้นั้นจะถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น อาหารโคในสัดส่วน 9.4% และเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อใช้ปลูกครั้งใหม่ 5.6%
  • ผลผลิตมันสำปะหลัง: จะถูกจำหน่ายให้โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังในสัดส่วน 77.0% ของมูลค่าผลผลิตที่ผลิตได้ทั้งหมด มันสำปะหลังอีกส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ทำพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อใช้ปลูก 16.5% และจำหน่ายแก่โรงงานแปรรูปสารให้ความหวานและขนมขบเคี้ยว 1.6%

อยู่ที่ภาคเกษตรแต่ยังสร้างความเสียหายไปถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream Industry) จากความต้องการใช้สินค้าเพื่อมาผลิตข้าว/มันสำปะหลังที่ลดลง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream Industry) ที่เผชิญความเสียหายต่อผลประกอบการจากการลดกำลังผลิตหรือจัดหาวัตถุดิบทดแทนซึ่งมีภาระด้านต้นทุนที่สูงขึ้น

ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์สาขาการผลิตสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของข้าวและมันสำปะหลัง วิจัยกรุงศรีคำนวณค่าดัชนี Forward Linkage (FL) และ Backward Linkage (BL) พบว่า การทำนาและไร่มันสำปะหลังมีค่าความเชื่อมโยงไปข้างหน้าสูงกว่าไปข้างหลัง (การทำนามีค่า BL Index 0.71 และ FL Index 1.53 ส่วนการทำไร่มันสำปะหลังมีค่า BL Index 0.74 และ FL Index 0.99) แสดงว่า ข้าวและมันสำปะหลังต่างเป็นสินค้าที่มีความเชื่อมโยงไปข้างหน้า หรือเป็นสินค้าต้นน้ำที่นำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมอื่น ดังนั้น หากการปลูกข้าวหรือการทำไร่มันสำปะหลังเกิดความเสียหาย ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตและบริการต่างๆ ที่ใช้ข้าวและมันสำปะหลังเป็นปัจจัยการผลิต

นอกจากนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินขนาดของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยทำการวิเคราะห์ค่าความไว  (Sensitivity Analysis) ต่อการเปลี่ยนแปลงผลผลิตที่มีต่อการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อคำนวณว่า หากมูลค่าการเพาะปลูกข้าว หรือมันสำปะหลังเปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลให้มูลค่าการผลิตของสาขาการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงไปเท่าใด ผลการศึกษามีดังนี้
 

  • หากภาวะภัยแล้งส่งผลให้มูลค่าการเพาะปลูกข้าวลดลง 1% จะส่งผลให้มูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำลดลงไป ดังนี้ ปุ๋ยเคมี -0.21% สารเคมี -0.12% โรงกลั่น -0.07% น้ำมันดิบ -0.06% และบริการเกษตร -0.05% (ตารางที่ 3)
  • หากมูลค่าการเพาะปลูกข้าวลดลง 1% จะทำให้มูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำลดลง ได้แก่ โรงสีข้าว -0.80% ผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช -0.27% การเลี้ยงสุกร -0.21% โรงงานแป้ง -0.19% และการเลี้ยงสัตว์ปีก -0.13%
  • หากมูลค่าการเพาะปลูกมันสำปะหลังลดลง 1% จะส่งผลให้มูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำลดลง ได้แก่ ปุ๋ยเคมี -0.20% สารเคมี -0.12% โรงกลั่น -0.06% น้ำมันดิบ -0.05% และบริการเกษตร -0.04%
  • หากมูลค่าการเพาะปลูกมันสำปะหลังลดลง 1% จะส่งผลให้มูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำลดลง ดังนี้ แป้งมัน -0.73% ผงชูรส -0.25% อาหารสัตว์ -0.03% ขนมขบเคี้ยวและของหวาน -0.02% และการพิมพ์และตกแต่งสิ่งทอ -0.02%

จากการวิเคราะห์ จะเห็นได้ว่าภาวะภัยแล้งสามารถส่งกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ถูกใช้เป็นปัจจัยการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลังทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะเดียวกัน เมื่อผลผลิตเกษตรเสียหายย่อมกระทบต่อการผลิตไปยังอุตสาหกรรมปลายน้ำด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้โดยใช้วัตถุดิบจากแหล่งอื่นหรือประเภทอื่นมาทดแทน แต่อาจเผชิญราคาสินค้าทดแทนสูงขึ้น และนำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต่อไป ดังนั้น ภัยแล้งจึงไม่ได้สร้างความเสียหายเฉพาะกลุ่มผู้ปลูกข้าวและมันสำปะหลัง แต่ยังส่งผลต่อการผลิตในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในระบบเศรษฐกิจ

3) ผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การประเมินผลกระทบต่อ GDP โดยหากเปรียบเทียบกับภัยแล้งปี 2558-2559 การหดตัวของ GDP ภาคเกษตร ส่งผลฉุด GDP โดยรวมเฉลี่ย 0.3 ppt ต่อไตรมาส (รูปที่ 12) โดยขนาดของแรงฉุดต่อ GDP มีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ สะท้อนถึงความรุนแรงต่อ GDP จะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำและแนวโน้มการเกิดฝนในระยะต่อไป

วิจัยกรุงศรีจึงได้ทำแบบจำลองประเมินผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

  • กรณีฐาน (ภัยแล้งถึงเดือนพฤษภาคม 2563) จะสร้างความเสียหายมูลค่า 46,365 ล้านบาท คิดเป็น 0.27% ของ GDP
  • กรณีแย่ (ภัยแล้งถึงเดือนมิถุนายน 2563) จะมีมูลค่าความเสียหาย 49,229 ล้านบาท คิดเป็น 0.29% ของ GDP
  • กรณีเลวร้าย (ภัยแล้งถึงเดือนกรกฎาคม 2563) ก่อให้เกิดความเสียหาย 57,545 ล้านบาท คิดเป็น 0.34% ของ GDP

ความเสียหายและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น

ด้านความเสียหาย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประมาณการผลกระทบทางการเกษตร เบื้องต้นพบความเสียหายแล้ว 20 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1.2 แสนราย พื้นที่เสียหาย 1.27 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1.11 ล้านไร่ พืชไร่ 1.59 แสนไร่ พืชสวนและอื่นๆ 778 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 1.42 พันล้านบาท โดยหน่วยงานภาครัฐได้นำงบประมาณไปช่วยเหลือเกษตรบางส่วน และการเข้าไปช่วยเหลือแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงการขุดเจาะบ่อบาดาลซึ่งปัจจุบันยังต่ำกว่าแผนที่ตั้งไว้ (รูปที่ 13)

ด้านการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ภาครัฐได้ผลักดันให้ปัญหาภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติ โดย สนทช. ได้เสนอรัฐบาลอนุมัติงบประมาณแก้ไขและเยียวยาผู้ประสบภัยแล้ง โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 3,079 ล้านบาท จากงบกลาง เป็นรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 โดยงบประมาณดังกล่าวใช้ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน และซ่อมแซมระบบประปา ส่วนการเยียวยาภาคเกษตร ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เช่น การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การชะลอหรือการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงินของรัฐ

คาดวิกฤตภัยแล้งมีผลฉุด GDP ปี 2563 ราว 0.3 ppt

วิจัยกรุงศรีประเมินปี 2563 ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะประสบภาวะภัยแล้งที่รุนแรงมากกว่าปี 2559 โดยสัญญาณชัดเจนมาจากภาวะ Weak El Niño ฝนทิ้งช่วงที่ทำให้ระดับน้ำต้นทุนต่ำลง รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่ตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ ยังเผชิญความเสี่ยงที่จะประสบภาวะขาดแคลนน้ำ หลังจากปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร หากยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าข้าวนาปรังและมันสำปะหลังจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งยังส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยกรณีฐานคาดว่าความเสียหายจากผลผลิตข้าวนาปรังและมันสำปะหลังจะมีมูลค่า 21,600 ล้านบาท และ 2,500 ล้านบาท ตามลำดับ รวมเป็นมูลค่า 24,100 ล้านบาท และเมื่อรวมผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำทำให้คาดว่าผลกระทบโดยรวมมีมูลค่า 46,365 ล้านบาท คิดเป็น 0.27% ของ GDP อย่างไรก็ตาม หากภาวะภัยแล้งยืดเยื้อจนถึงเดือนกรกฎาคม รวมถึงเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ คาดว่ามูลค่าความเสียหายแก่ผลผลิตข้าวและมันสำปะหลังอาจสูงถึง 37,800 ล้านบาท และ 3,300 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งสิ้น 57,545 ล้านบาท คิดเป็น 0.34% ของ GDP

นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะเตรียมมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง อาทิ อนุมัติเงินช่วยเหลือจากงบกลาง มาตรการประกันรายได้ข้าวและมันสำปะหลัง ทว่าการเบิกจ่ายงบประมาณมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 มีความล่าช้า โดยแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณตามกรอบวงเงินปี 2562 ไปพลางก่อน แต่เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 มีแนวโน้มรุนแรงกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา งบประมาณที่ตั้งไว้ตามกรอบปี 2562 อาจไม่เพียงพอในการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัย รวมไปถึงมาตรการบรรเทาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

ผลการจัดสรรน้ำ และสถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 29 มกราคม 2563

1)   แผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง รวม 17,699 ล้าน ลบ.ม. (61%) เพื่อใช้ในช่วง พฤศจิกายน 2562 - เมษายน 2563

  • อุปโภค-บริโภค จำนวน 2,300 ล้าน ลบ.ม.
  • ระบบนิเวศ จำนวน 7,006 ล้าน ลบ.ม.
  • เกษตรกรรม จำนวน 7,874 ล้าน ลบ.ม.
  • อุตสาหกรรม จำนวน 519 ล้าน ลบ.ม.

2) แผนสำรองน้ำต้นฤดูฝน รวม 11,340 ล้าน ลบ.ม. (39%) เพื่อใช้ในช่วง พฤษภาคม 2563 - กรกฎาคม 2563 โดยแบ่งเป็น

  • อุปโภค-บริโภค ระบบนิเวศ และอื่นๆ จำนวน 4,909 ล้าน ลบ.ม. (43%)
  • สำรองเกิดฝนทิ้งช่วง จำนวน 6,431 ล้าน ลบ.ม. (57%)

3) การบริหารจัดการความเสี่ยงพบว่ามีการจัดสรรน้ำเกินแผน

  • ณ วันที่ 29 มกราคม 2563 จัดสรรไปแล้ว 7,947 ล้าน ลบ.ม. (45%) คงเหลือ 9,752 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บกักอยู่ที่ 42,083 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 59% ของความจุอ่างฯ โดยปริมาณน้ำที่ใช้การได้อยู่ที่ 18,541 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 26%
  • การบริหารจัดการลุ่มน้ำมีการจัดสรรเกินแผนใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (4 เขื่อนหลัก) และลุ่มน้ำแม่กลาง ซึ่งมีการจัดสรรน้ำเกินแผนราว 300-500 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล และพื้นที่ EEC ยังอยู่ภายใต้แผนที่ สนทช. วางไว้ หากพิจารณาเป็นรายพื้นที่ พบว่า ภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการขาดน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคมากที่สุด คือ ภาคกลาง รองลงมาเป็นภาคตะวันออก และภาคเหนือ ตามลำดับ

มาตรการสนับสนุนช่วยเหลือจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆ

ณ วันที่ 26 มกราคม 2563 ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

  • กระทรวงมหาดไทย : กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก ได้แจกจ่ายน้ำ มอบถังเก็บน้ำสำรอง สร้างฝายชะลอน้ำ และขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล
  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย : สนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักรสูบน้ำ เพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปา และพัฒนาบ่อบาดาล
  • กรมชลประทาน : ปรับแผนการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีความจุน้อยกว่า 30% สนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ดำเนินการติดตามคุณภาพน้ำและควบคุมค่าความเค็มบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา
  • กรมทรัพยากรน้ำ : สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ แก่พื้นที่ภาคเกษตร และแจกจ่ายน้ำแก่ประชาชน
  • กรมทรัพยากรน้ำบาดาล : จัดตั้งจุดจ่ายน้ำถาวร รถบรรทุกเพื่อแจกจ่ายน้ำ สำรวจคุณภาพน้ำและขุดเจาะบ่อบาดาล
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) :1) มาตรการขยายเวลาพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งเป็นระยะเวลา 2 ปี จนถึง 31 ธันวาคม 2564 และ 2)  สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับให้เกษตรกรและภาคธุรกิจไปลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง โดยให้ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี
  • กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีมาตรการช่วยเหลือ 3 โครงการ
    • การสนับสนุนเงินลงทุนให้กับสมาชิกกู้ในเรื่องของการทำการเกษตรแบบผสมผสานทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ขุดแหล่งนํ้า เช่น ขุดสระ ขุดบ่อบาดาล เพื่อให้มีแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร วงเงิน 500 ล้านบาท รายละ 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลาการผ่อนชำระ 5 ปี
    • โครงการสนับสนุนเงินกู้แก่สหกรณ์ในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งเพื่อให้มีเงินทุนรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก (ที่ผลิตได้จากโครงการที่ 1) เมื่อปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์จะมีช่องทางจำหน่ายเป็นสหกรณ์ที่รับซื้อด้วยวงเงิน 415 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการเดือนกันยายน 2563 มีอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี
    • โครงการปลูกข้าวโพดหลังนาระบบสหกรณ์ปี 2562/2563 เป็นโครงการต่อเนื่อง แต่ปี 2563 จะกำหนดปลูกในพื้นที่สหกรณ์เป้าหมาย 28 จังหวัด งบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อจะให้สมาชิกสหกรณ์นำไปซื้อปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เป็นต้น โดยมีดอกเบี้ย 1% ต่อปี
  • มาตรการประกันรายได้ : คาดว่าจะช่วยบรรเทาให้เกษตรกรได้ อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของมาตรการดังกล่าวคือ เมื่อระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นนั่นหมายความว่าเกษตรกรจะได้ส่วนต่างของราคาลดลงทันที ซึ่งโดยทั่วไปแล้วภาวะภัยแล้งจะเป็นตัวผลักดันให้ระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้ว ดังนั้นมาตรการประกันรายได้ดังกล่าวอาจไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มากนัก
1/     El Niño เป็นปรากฎการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ  ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดความแห้งแล้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ ซึ่งสะท้อนความรุนแรงได้จากค่าดัชนี ONI Index หากค่าอยู่ระหว่าง 0.5-1.0 คือ El Niño ระดับอ่อน ค่าระหว่าง 1.0-1.5 คือ El Niño ระดับปานกลาง และถ้ามากกว่า 1.5 คือ El Niño ระดับรุนแรง ในกรณีค่าติดลบก็ใช้หลักการระดับความเสียหายเดียวกันแต่เป็นปรากฎการณ์ La Niña แทน
2/     อ้างอิงจากกรมอุตุนิยมวิทยา
3/     คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยไทย พม่า สปป.ลาว กัมพูชา จีน(ยูนนาน) และเวียดนาม
4/     เพื่อไม่ให้ความเค็มเกินมาตรฐานที่ 0.25 กรัมต่อลิตร
5/     ภายใต้สมมติฐานการบริหารจัดการน้ำปี 2559 และปริมาณการใช้น้ำปี 2562
6/    ได้แก่ เชียงราย น่าน นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครราชสีมา อุตรดิตถ์ ชัยนาท นครสวรรค์ สุโขทัย สุพรรณบุรี พะเยา และสกลนคร (ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย)
7/     ช่วงเพาะปลูกข้าวนาปรังนิยมเริ่มปลูกเดือนพฤศจิกายนของปีก่อนหน้า ขณะที่ช่วงเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน ทั้งนี้พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังคิดเป็นสัดส่วน 19.0% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมด
8/    ข้อมูลจากกรมชลประทาน ณ วันที่ 29 มกราคม 2563
9/     ผลกระทบครอบคลุมข้าวขาวที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 เป็นช่วงที่เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเป็นหลัก และส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว 91.4% รองลงมาเป็นข้าวเหนียว 8.6% ขณะที่ข้าวหอมมะลินิยมปลูกช่วงหน้าฝนหรือข้าวนาปีเป็นหลัก 
10/    ปัจจัยที่นำมาพิจารณา ช่วงเดือนที่ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ พื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน ประเภทของผลผลิต ความน่าจะเป็นที่ผลผลิตเสียหาย และราคาสินค้า ณ ปัจจุบัน
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา