ธุรกิจก่อสร้างใน CLMV: โอกาสของผู้ประกอบการไทย
กลุ่มประเทศ CLMV ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติภายหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี 2558 ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเกิดขึ้นของความเป็นเมือง (Urbanization) ทำให้เกิดการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโต จึงนับเป็นโอกาสของผู้รับเหมาไทยในการเข้าไปรับงานก่อสร้างที่กำลังขยายตัวต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์นี้ได้ประเมินโอกาสและข้อจำกัดของภาคก่อสร้างในประเทศ CLMV โดยพิจารณาจากปัจจัยทั้งด้านความพร้อมเชิงมหภาคและเชิงโครงสร้างธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในแต่ละประเทศ พบว่าเวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้าไปประกอบธุรกิจรับเหมามากที่สุด เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากและยังเติบโตต่อเนื่อง รองลงมา ได้แก่ กัมพูชา ซึ่งภาคก่อสร้างเติบโตสูงและมีข้อได้เปรียบจากภูมิประเทศที่ติดกับไทย สำหรับเมียนมา แม้มีข้อจำกัดในการเข้าไปลงทุนมากกว่าประเทศอื่นในกลุ่ม แต่ภาครัฐพยายามผ่อนคลายกฎระเบียบและขับเคลื่อนการลงทุนต่อเนื่อง ส่วนสปป.ลาว มูลค่าก่อสร้างยังน้อย แต่มีโอกาสการลงทุนในโครงการขนาดกลางและเล็ก อย่างไรก็ตาม การเข้าไปรับงานก่อสร้างในประเทศ CLMV จะเผชิญการแข่งขันที่สูงจากผู้รับเหมาต่างชาติ ดังนั้น ผู้รับเหมาไทยจะต้องหาพันธมิตรทางธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน อาทิ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์/ผู้รับเหมาท้องถิ่น รวมถึงบริษัทจัดหาแรงงานท้องถิ่น เพื่อให้มีช่องทางในการรับงานได้ต่อเนื่อง
ศักยภาพการเติบโตของ CLMV…เอื้อโอกาสรับงานก่อสร้าง
ที่ผ่านมากลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 1) ในช่วงปี 2555-2560 มูลค่า FDI ในประเทศกลุ่มนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 18% ต่อปี จากปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ณ ช่วงเวลาเดียวกัน 2) ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในประเทศซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของภาคการผลิต และ 3) กำลังแรงงานที่มีอยู่จำนวนมากและระดับค่าจ้างยังอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนั้น กลุ่มประเทศเหล่านี้ยิ่งมีความโดดเด่นมากขึ้น ภายหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 นำไปสู่การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง (Urbanization) พิจารณาได้จากในช่วงปี 2555-2560 ภาคก่อสร้างในประเทศ CLMV มีสัดส่วนต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ (ภาพที่ 2) โดยกัมพูชาเป็นประเทศที่ภาคก่อสร้างขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 25% ต่อปี รองลงมาคือ เมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม เติบโต 19% 12% และ 10% ต่อปี ตามลำดับ หากพิจารณาขนาดของตลาดก่อสร้าง พบว่าเวียดนามมีมูลค่าก่อสร้างมากที่สุด รองลงมาคือ เมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว (ภาพที่ 3-4) เนื่องจากเวียดนามมีมูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างชาติจำนวนมาก ทำให้มีทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ
ทิศทางดังกล่าวจึงเป็นโอกาสของผู้รับเหมาไทยในการเข้าไปรับงานก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโต ทั้งงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน และที่พักอาศัย ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด กลุ่ม CLMV (ยกเว้นเมียนมา) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในธุรกิจก่อสร้างได้เต็มจำนวน ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบริการก่อสร้าง เช่น วิศวกร และสถาปนิก เป็นต้น เอื้อประโยชน์ต่อผู้รับเหมาไทยที่เน้นรับงานก่อสร้างด้านเทคนิคและความชำนาญทางวิศวกรรม นอกจากนี้ ภูมิประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมโยงกับประเทศไทย ยังช่วยให้ประหยัดต้นทุนในการเคลื่อนย้ายแรงงาน เครื่องจักรกล ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ
ปัจจัยบ่งชี้ความน่าสนใจในการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างใน CLMV
I. หลักการประเมินปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้าไปรับงานก่อสร้างในประเทศ CLMV พิจารณาจาก 1) ความพร้อมด้านปัจจัยเชิงมหภาค และ 2) ปัจจัยเชิงโครงสร้างของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มีรายละเอียดดังนี้
1) ความพร้อมด้านปัจจัยเชิงมหภาคที่มีต่อภาคก่อสร้าง วิเคราะห์โดยประยุกต์ใช้ “Five Force Model” ในการกำหนดตัวแปรให้ครอบคลุมตัวชี้วัดทั้งด้านโอกาสและข้อจำกัดการลงทุน ดังนี้
- ตัวชี้วัดด้านโอกาส ประเมินจาก 7 ปัจจัย ดังนี้ 1) มูลค่าก่อสร้าง (วัดจาก GDP เฉพาะภาคก่อสร้าง) 2) สัดส่วนมูลค่าก่อสร้างต่อ GDP 3) ภาวะเศรษฐกิจมหภาค (วัดจากคะแนนด้านเศรษฐกิจมหภาคจาก Global Competitiveness Index: GCI) 4) ความพร้อมทางด้านระบบการขนส่งโลจิสติกส์ (วัดจาก Logistic Performance Index: LPI) 5) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (วัดจาก Foreign Direct Investment: FDI) 6) นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน (วัดจากคะแนนด้าน Institution จาก GCI) และ 7) ค่าจ้างแรงงาน ซึ่งตัวชี้วัดด้านโอกาสแยกตามรายปัจจัย หากระดับคะแนนมากกว่าจะสะท้อนความได้เปรียบในแต่ละด้านที่สูงกว่า (ภาพที่ 5) และหากประเทศใดมีค่าตัวชี้วัด ด้านโอกาสโดยรวมอยู่ในระดับสูงกว่า หมายความว่าจะมีบรรยากาศน่าลงทุนมากกว่าประเทศอื่น (ภาพที่ 6)
- ตัวชี้วัดด้านข้อจำกัด ประเมินจาก 5 ปัจจัย ดังนี้ 1) ความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน (กลับค่าคะแนนด้าน Infrastructure จาก GCI) 2) สภาพตลาดการเงินที่ยังไม่พัฒนา (กลับค่าคะแนนด้าน Financial Market Development จาก GCI) 3) ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง (Political Instability Index) 4) ความไม่มีประสิทธิภาพด้านแรงงาน (กลับค่าคะแนนด้าน Labor Market Efficiency จาก GCI) และ 5) ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง (วัดจากราคาปูนซีเมนต์) ซึ่งตัวชี้วัดด้านข้อจำกัดแยกตามรายปัจจัย หากระดับคะแนนมากกว่า จะสะท้อนข้อจำกัดในแต่ละด้านที่สูงกว่า (ภาพที่ 7) และหากประเทศใดมีค่าตัวชี้วัดด้านข้อจำกัดโดยรวมอยู่ในระดับสูงกว่า หมายความว่าจะมีข้อจำกัดในการลงทุนมากกว่าประเทศอื่น (ภาพที่ 8)
2)ปัจจัยเชิงโครงสร้างของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง พิจารณาจากข้อมูลพื้นฐานเชิงโครงสร้างที่คาดว่าจะมีผลต่อการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศ CLMV ดังนี้ 1) การอนุญาตถือครองหุ้นของผู้รับเหมาต่างชาติ 2) ลักษณะการดำเนินธุรกิจ 3) ประเภทของโครงการก่อสร้าง 4) ภาวะการแข่งขัน 5) ลักษณะของผู้รับเหมาในแต่ละประเทศ 6) แหล่งเงินทุน และ7) กฎระเบียบการลงทุน ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษี (ตารางที่ 1)
II.ผลการวิเคราะห์ความน่าสนใจของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
1) ผลการประเมินความพร้อมด้านปัจจัยเชิงมหภาคที่มีต่อภาคก่อสร้างใน CLMV
วิจัยกรุงศรีคำนวณตัวชี้วัดความน่าสนใจในการประกอบกิจการจากการวิเคราะห์ Principle Component Analysis (PCA) พบว่าตัวชี้วัดด้านโอกาสพิจารณาจากมูลค่าก่อสร้าง (23%) สัดส่วนมูลค่าก่อสร้างต่อ GDP (23%) และเศรษฐกิจมหภาค (17%) เป็นหลัก ขณะที่ตัวชี้วัดด้านข้อจำกัดพิจารณาจากความเพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน (37%) การพัฒนาตลาดการเงิน (29%) และเสถียรภาพทางการเมือง (22%) เป็นหลัก (รายละเอียดเพิ่มเติมในภาคผนวก) สรุปผลได้ว่า ในช่วงปี 2556-2560 เวียดนามเป็นประเทศที่มีปัจจัยบวกเอื้อต่อการประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างมากที่สุด และมีข้อจำกัดในการเข้าไปรับงานน้อยที่สุด ขณะที่ประเทศที่มีปัจจัยบวกเอื้อต่อธุรกิจรับเหมาน้อยที่สุดและมีระดับข้อจำกัดมากที่สุดคือ เมียนมา (ภาพที่ 6 และ 8) อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าโอกาสของภาคก่อสร้างในเมียนมามีทิศทางปรับดีขึ้นเป็นลำดับ โดยผลการประเมินรายประเทศในช่วงปี 2556-2560 มีดังนี้
- เวียดนาม พบว่ามีข้อได้เปรียบจากมูลค่าก่อสร้างและจำนวนโครงการก่อสร้างสูงสุดในกลุ่ม CLMV แม้อัตราการเติบโตของภาคก่อสร้างในเวียดนามต่ำกว่ากัมพูชาและเมียนมา แต่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวชี้วัดด้านโอกาสในเวียดนามโดดเด่นกว่าประเทศอื่นใน CLMV ได้แก่ มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สูง และความพร้อมด้านระบบโลจิสติกส์ ส่วนตัวชี้วัดรวมด้านข้อจำกัดการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเวียดนามอยู่ระดับต่ำสุด โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานและตลาดการเงิน
- กัมพูชา เมื่อพิจารณาจากค่าตัวชี้วัดด้านโอกาสการประกอบธุรกิจพบว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้าไปรับงานก่อสร้างมากเป็นอันดับสองรองจากเวียดนาม โดยมีข้อได้เปรียบที่สำคัญจากโครงการก่อสร้างที่ขยายตัวในอัตราเร่ง ทำให้สัดส่วนของมูลค่าก่อสร้างต่อ GDP สูงกว่าประเทศอื่นในกลุ่ม CLMV อย่างไรก็ดี กัมพูชายังต้องการการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หากพิจารณาตัวชี้วัดด้านข้อจำกัดการประกอบธุรกิจ พบว่าต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงกว่าประเทศอื่น ขณะที่ยังขาดความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค
- เมียนมา เป็นประเทศหนึ่งที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ทำให้ภาคก่อสร้างในประเทศขยายตัวในอัตราสูงเป็นอันดับสองรองจากกัมพูชา อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินค่าตัวชี้วัดด้านโอกาสการประกอบธุรกิจ ในช่วงปี 2556-2558 พบว่ามีระดับต่ำสุดใน CLMV และเพิ่งขยับขึ้นสูงกว่าสปป.ลาวในปี 2559-2560 ปัจจัยบวกมาจากการเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์และมีการลงทุนทางตรงจากต่างชาติมากขึ้น ส่วนตัวชี้วัดด้านข้อจำกัดการประกอบธุรกิจอยู่ระดับสูงสุด จากปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาตลาดการเงินที่ยังล่าช้า
- สปป.ลาว เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดด้านโอกาสการประกอบธุรกิจในช่วงปี 2556-2560 มีข้อได้เปรียบจากต้นทุนแรงงานต่ำ รวมทั้งนโยบายสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี สปป.ลาวยังต้องการการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ สำหรับข้อจำกัดการประกอบธุรกิจในสปป.ลาวอยู่ในระดับต่ำ โดยในปี 2560 ตัวชี้วัดรวมปรับลดลงเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อนหน้า ผลจาก 1) ราคาวัสดุก่อสร้างลดลงจากที่มีผู้ผลิตเข้าไปตั้งโรงงานในสปป.ลาว และ 2) มีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า) มากขึ้น
2) ผลการประเมินปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อาจมีผลต่อการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
นอกจากผลการประเมินปัจจัยเชิงมหภาคที่ระบุโอกาสและข้อจำกัดในการเข้าไปประกอบธุรกิจในกลุ่ม CLMV แล้ว ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในแต่ละประเทศเพื่อประกอบการวิเคราะห์ร่วมกัน จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิจัยกรุงศรีมีรายละเอียดตามตารางที่ 1
ผลการประเมินปัจจัยเชิงโครงสร้างของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างใน CLMV จากตารางข้างต้น พบว่าแต่ละประเทศได้ผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุนจากต่างชาติในหลายด้าน อาทิ การเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นกิจการรับเหมาก่อสร้างได้ 100% (ยกเว้นเมียนมา) และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษีที่เอื้อต่อธุรกิจบริการมากขึ้นซึ่งจะทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างได้รับประโยชน์ตามไปด้วย ในส่วนของการลงทุนภาครัฐ พบว่าทุกประเทศกำหนดนโยบายที่มุ่งขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค กระตุ้นให้ธุรกิจก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวตามมา อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ และที่อยู่อาศัย โดยแต่ละประเทศมีจุดเด่นที่เอื้อต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแตกต่างกัน ดังนี้
- เวียดนาม: เป็นประเทศที่ผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนแก่ผู้ประกอบการต่างชาติค่อนข้างมาก เช่น การอนุญาตให้เข้าไปซื้อกิจการท้องถิ่นและให้ถือหุ้นได้เต็มจำนวนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นหากเข้าไปรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และการเปิดโอกาสให้ถือครองที่ดินมากถึง 70 ปี หากเป็นโครงการระดับชาติ รวมถึงสามารถโอนเงินสกุลต่างประเทศได้อย่างเสรี
- กัมพูชา: มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษีที่ดึงดูดต่างชาติให้เข้าไปประกอบกิจการ เช่น การอนุญาตให้ผู้ประกอบการโอนเงินทุนกลับประเทศตนได้หากจำเป็นต้องยกเลิกกิจการ และการอนุญาตให้เช่าที่ดินได้สูงสุด 99 ปี ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้รับเหมาที่จะเข้าไปรับงานโครงการที่มีรายได้จากสัมปทาน อาทิ มอเตอร์เวย์ อย่างไรก็ตาม ระบบการโอนเงินสกุลต่างประเทศยังมีเงื่อนไขที่จำกัดกว่าเวียดนาม
- เมียนมา: ปัจจุบันมีนโยบายที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปรับงานก่อสร้างโครงการต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้าไปร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกับภาครัฐ (Public Private Partnership: PPP) แต่ยังมีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุนน้อยกว่าประเทศอื่น อาทิ นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถถือหุ้นได้ทั้งหมด รวมถึงข้อจำกัดด้านการจ้างแรงงานต่างชาติและด้านระบบการโอนสกุลเงินตราต่างประเทศ
- สปป.ลาว: มีความโดดเด่นเรื่องระยะเวลาการให้สัมปทานในบางโครงการสูงสุดถึง 99 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของโครงการแต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม การที่ประชากรมีจำนวนน้อยภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูงจึงค่อนข้างเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างและการขนส่งคมนาคม นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศซึ่งอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่างชาติ
โดยสรุปจากการประเมินความพร้อมด้านปัจจัยเชิงมหภาค ร่วมกับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างใน CLMV พบว่า ประเทศเวียดนามมีปัจจัยที่เอื้อต่อการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมากที่สุด โดยพิจารณาจากจำนวนโครงการและมูลค่าภาคก่อสร้างที่สูงกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบและมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดน้อยกว่าทั้งในด้านความพร้อมของสาธารณูปโภค ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง เสถียรภาพทางการเมือง รวมทั้งการพัฒนาด้านระบบสถาบันการเงินเพื่อรองรับการลงทุนภาคธุรกิจ รองลงมา ได้แก่ กัมพูชา ที่ภาคก่อสร้างจะยังขยายตัวสูง และมีข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่ติดกับไทย ทำให้สะดวกต่อการขนส่งเคลื่อนย้ายแรงงานและอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านชายแดน สำหรับเมียนมา แม้มีข้อจำกัดมากกว่า โดยเฉพาะด้านความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค สถาบันการเงินยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร และการเมืองยังมีความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ภาครัฐพยายามผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนและเร่งขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องทั้งด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและโรงไฟฟ้า ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวข้องตามมา เช่น โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ส่วนสปป.ลาว ผู้รับเหมาต่างชาติมีโอกาสเข้าไปลงทุนน้อยกว่า เนื่องจากจำนวนโครงการน้อยกว่าประเทศอื่น โครงการขนาดใหญ่กระจุกตัวเฉพาะเขื่อนผลิตไฟฟ้า ส่วนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมส่วนมากเป็นโครงการขนาดเล็กและยังต้องพึ่งพิงเงินทุนจากองค์กรระหว่างประเทศหรือรัฐบาลต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจก่อสร้างในสปป.ลาว อาจเหมาะกับผู้ที่เข้าไปรับเหมาโครงการขนาดกลางและเล็ก อาทิ ถนน และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก
เมื่อประเมินโครงการต่างๆ ที่คาดว่าจะก่อสร้างใน CLMV อีก 3 ปีข้างหน้า พบว่ามูลค่าก่อสร้างมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอัตราเลขสองหลัก ซึ่งนับเป็นโอกาสของผู้รับเหมาไทยที่จะเข้าไปรับงานก่อสร้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม CLMV จะมีผู้รับเหมาต่างชาติรายอื่นที่เข้าไปรับงานอยู่แล้ว เช่น โครงการที่อยู่ในรูปแบบ G to G ของประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรือโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินกับองค์กรระดับโลก เช่น ADB และ IMF ซึ่งมักว่าจ้างผู้รับเหมาจากประเทศตน ดังนั้น ผู้รับเหมาไทยอาจต้องใช้ช่องทางในการจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการท้องถิ่นที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจก่อสร้าง ได้แก่ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้จำหน่าย/ผลิตวัสดุก่อสร้าง รวมถึงบริษัทจัดหาแรงงาน เพื่อให้มีช่องทางในการรับงานได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะโครงการที่จะมีรายได้จากการดำเนินงานหรือสัมปทาน เช่น มอเตอร์เวย์ รวมถึงช่องทางในการรับเหมาช่วงต่อ
ทั้งนี้ ประเภทโครงการที่ผู้รับเหมาไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นโครงการก่อสร้างที่คาดว่าจะมีโอกาสขยายตัวตามแผนการลงทุนของภาครัฐและเอกชนในระยะข้างหน้า สามารถสรุปได้ดังนี้
Appendix
1) การคำนวณตัวชี้วัดด้านโอกาส (Indicators of opportunities)
ดัชนีรวมด้านโอกาสของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของแต่ละประเทศใน CLMVT ช่วงปี 2013-2016 คำนวณจาก 7 ตัวแปร ได้แก่ 1) มูลค่าก่อสร้าง (วัดจาก GDP เฉพาะภาคก่อสร้าง) 2) สัดส่วนมูลค่าก่อสร้างต่อ GDP 3) ความพร้อมทางด้านระบบการขนส่งโลจิสติกส์ (วัดจาก Logistic Performance Index: LPI) 4) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (วัดจาก Foreign Direct Investment: FDI) 5) สภาพเศรษฐกิจมหภาค (วัดจาก Global Competitiveness Index: GCI ด้านเศรษฐกิจมหภาค) 6) ค่าจ้างแรงงาน และ 7) นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน (วัดจาก GCI ด้าน Institution โดยแต่ละปัจจัยถูก Standardized ด้วยวิธี Z-Score และกำหนดให้แต่ละตัวแปรยิ่งค่าคะแนนมากยิ่งสะท้อนโอกาสทางธุรกิจมาก เนื่องจากปัจจัยนั้นสนับสนุนการเข้าไปลงทุนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศนั้น หลังจากนั้นจึงคิดค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2556-2559 ของทั้ง 7 ตัวแปรข้างต้น จากนั้นจึงประเมินปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจมากที่สุดโดย Principle Component Analysis (PCA) เพื่อให้สามารถนำดัชนีรวมด้านโอกาสที่คำนวณได้ไปใช้เปรียบเทียบว่าประเทศใดในกลุ่มมีระดับของปัจจัยบวกด้านโอกาสสูงหรือน้อยกว่ากัน โดยข้อมูลสถิติ 7 ตัวแปรมีรายละเอียดดังนี้
- Construction Value: เป็นปัจจัยที่จะสะท้อนขนาดการลงทุนก่อสร้างในแต่ละประเทศ ซึ่งใช้ข้อมูลจาก GDP ภาคก่อสร้างของแต่ละปี
- Construction per GDP: เป็นปัจจัยที่จะสะท้อนความสำคัญของภาคก่อสร้างที่มีต่อระบบเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งคำนวณจากสัดส่วน GDP ภาคก่อสร้างต่อ GDP ในแต่ละประเทศ
- Macroeconomic Environment: เป็นปัจจัยที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจโดยรวมในแต่ละประเทศ คำนวณจาก GCI ด้าน Macroeconomic Environment ของ World Economic Forum
- Logistic Performance (LPI): เป็นปัจจัยที่สะท้อนความพร้อมทางด้านระบบขนส่งคมนาคมในแต่ละประเทศ คำนวณจาก Logistic Performance Index ของ World Bank
- Foreign Direct Investment (FDI): เป็นปัจจัยที่สะท้อนทิศทางการเติบโตของการลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติ ซึ่งใช้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในแต่ละประเทศ
- Policy for Investment: เป็นปัจจัยที่สะท้อนนโยบายและกฎระเบียบที่สนับสนุนกับการลงทุนในแต่ละประเทศ ซึ่งนำข้อมูลมาจาก GCI ด้าน Institution ของ World Economic Forum
- Advantages of Labor Cost (minimum wage): เป็นปัจจัยที่สะท้อนความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานในแต่ละประเทศ ซึ่งคำนวณจากส่วนกลับของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละประเทศ
2) การคำนวณตัวชี้วัดด้านข้อจำกัด (Indicators of limitations)
ดัชนีรวมด้านข้อจำกัดของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของแต่ละประเทศใน CLMVT ช่วงปี 2013-2016 คำนวณจาก 5 ตัวแปร ได้แก่ 1) ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง 2) เสถียรภาพทางการเมือง 3) การพัฒนาตลาดการเงิน 4) สาธารณูปโภค และ 5) ประสิทธิภาพแรงงาน โดยแต่ละปัจจัยถูก Standardized ด้วยวิธี Z-Score และกำหนดให้ยิ่งค่าคะแนนมากแสดงว่าตัวแปรนั้นเป็นอุปสรรคมากต่อการเข้าไปลงทุนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศนั้น หลังจากนั้นจึงคิดค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2556-2559 ของทั้ง 5 ตัวแปรข้างต้น จากนั้นจึงประเมินปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจมากที่สุด โดย Principle Component Analysis (PCA) เพื่อให้สามารถนำดัชนีรวมด้านข้อจำกัดที่คำนวณได้ไปใช้เปรียบเทียบว่าประเทศใดในกลุ่มมีระดับของข้อจำกัดสูงหรือน้อยกว่ากัน โดยข้อมูลสถิติ 5 ตัวแปรมีดังนี้
- Inadequate Infrastructure : เป็นปัจจัยที่สะท้อนความไม่พร้อมของระบบสาธารณูปโภคในแต่ละประเทศใช้ข้อมูลจาก GCI ด้าน Infrastructure ของ World Economic Forum
- Financial Market Underdevelopment: เป็นปัจจัยที่สะท้อนข้อจำกัดของตลาดการเงินในแต่ละประเทศ ใช้ข้อมูลจาก GCI ด้าน Financial Market Development ของ World Economic Forum
- Political Instability: เป็นปัจจัยที่สะท้อนการขาดเสถียรภาพทางการเมืองในแต่ละประเทศ คำนวณจาก Political Stability Index จากเว็บไซต์ www.theglobaleconomy.com
- Labor Market Inefficiency: เป็นปัจจัยที่สะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพของแรงงานในแต่ละประเทศใช้ข้อมูลจาก GCI ด้าน Labor Market Efficiency ของ World Economic Forum
- Construction Material Cost: เป็นปัจจัยที่สะท้อนต้นทุนวัสดุก่อสร้าง โดยใช้ราคาปูนซีเมนต์ในแต่ละประเทศเป็นตัวแทน