แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2565-2567: อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม

น้ำมันปาล์ม

น้ำมันปาล์ม

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2565-2567: อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม

01 สิงหาคม 2565

EXECUTIVE SUMMARY


อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโดยรวมปี 2565 มีทิศทางขยายตัว โดยอุปทานมีแรงหนุนจากพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น ราคาผลปาล์มที่จูงใจเกษตรกรเก็บเกี่ยว และผลผลิตต่อไร่ที่สูงจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่วนอุปสงค์เร่งตัวตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งไทยได้อานิสงส์จากวิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร (ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน) ของประเทศคู่แข่งทำให้สามารถเร่งส่งออกได้สูง ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศหดตัวตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สำหรับปี 2566-2567 อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโดยรวมมีทิศทางขยายตัวตามความต้องการทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมอาหารและโอเลโอเคมิคอลที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวจากการเปิดประเทศหลัง COVID-19 คลี่คลาย และอุตสาหกรรมไบโอดีเซลตามการฟื้นตัวของภาคขนส่ง ขณะที่ราคามีแนวโน้มปรับลดลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยแรงกดดันด้านราคามาจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากทั้งในประเทศ รวมถึงตลาดโลกโดยเฉพาะจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีแนวโน้มกลับมาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามปกติ
 

มุมมองวิจัยกรุงศรี


อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโดยรวมปี 2565 มีทิศทางขยายตัว โดยอุปทานมีแรงหนุนจากพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น ราคาผลปาล์มที่จูงใจเกษตรกรเก็บเกี่ยว ส่วนอุปสงค์เร่งตัวตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งไทยได้อานิสงส์จากวิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร (ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน) ของประเทศคู่แข่งทำให้สามารถเร่งส่งออกได้สูง สำหรับปี 2566-2567 อุตสาหกรรมมีทิศทางขยายตัวตามความต้องการทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมอาหาร และโอเลโอเคมิคอล และอุตสาหกรรมไบโอดีเซล ขณะที่ราคามีแนวโน้มปรับลดลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ช่วยหนุนให้ธุรกิจยังมีความสามารถในการทำกำไร
 
  • เกษตรกรปาล์มน้ำมัน: รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยฟื้นตัวและราคาจูงใจ ประกอบกับมาตรการสนับสนุนของภาครัฐยังคงช่วยให้ระดับราคาผลปาล์มสดสูงกว่าระดับต้นทุน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น และผลผลิตปาล์มที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและประเทศคู่แข่ง (ผลผลิตของมาเลเซียและอินโดนีเซียมีแนวโน้มกลับมาสู่ช่วงปกติก่อนเกิดโรค COVID-19)

  • โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ: ปี 2565 ผลประกอบการดีขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ ส่วนปี 2566-2567 ได้แรงหนุนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมาตรการสนับสนุนและยกระดับมาตรฐานพลังงานของภาครัฐ อาทิ การนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การนำไปผลิตไบโอดีเซล และการสนับสนุนการส่งออกน้ำมันปาล์ม อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตรวมของโรงสกัดที่สูงกว่าปริมาณผลปาล์มสดที่ออกสู่ตลาด ส่งผลให้มีอัตรากำลังการผลิตส่วนเกินในธุรกิจ รวมถึงการแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบจะผลักดันให้ต้นทุนการผลิตของน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น อาจกดดันผลกำไรของธุรกิจหรือมีผลให้โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบเผชิญปัญหาขาดทุนจากสต๊อกในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบรายย่อยที่ไม่มีเครือข่ายโรงกลั่นน้ำมัน

  • โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์: ผลประกอบการยังมีแนวโน้มเติบโตดีจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่มีแนวโน้มเติบโต 10.0%-11.0% จากแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารที่น่าจะกลับมาเติบโตตามทิศทางการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ประกอบกับอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ/ไขมันปาล์ม (ได้จากกระบวนการสกัดบริสุทธิ์) เพิ่มขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของการบริโภคสินค้าในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ผงซักฟอก สบู่ ยา และเครื่องสำอาง

  • ผู้ค้าพืชน้ำมันที่ใช้ในการผลิตน้ำมันพืช (ลานเทปาล์มน้ำมัน): รายรับมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามปริมาณผลปาล์มสดที่เพิ่มขึ้น จากพื้นที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตต่อไร่ที่มีแนวโน้มเพิ่ม ประกอบกับเกษตรกรปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่เป็นรายย่อยซึ่งมีอำนาจการต่อรองน้อยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการขายผลปาล์มน้ำมันผ่านลานเท

ข้อมูลพื้นฐาน


น้ำมันปาล์ม[1] เป็นน้ำมันจากพืชที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุดเมื่อเทียบกับน้ำมันจากพืชชนิดอื่นๆ อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเรปซีด (Rapeseed) น้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันมะกอก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิตน้ำมันต่อไร่ของผลปาล์มสดจะสูงกว่าพืชที่ให้น้ำมันชนิดอื่น 6-10 เท่า[2]

ปี 2564 การผลิตและการบริโภคน้ำมันปาล์มทั่วโลกมีปริมาณ 72.9 ล้านตัน และ 73.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 36.3% และ 36.5% ของปริมาณการผลิตและการบริโภคน้ำมันจากพืชทุกชนิดตามลำดับ แหล่งผลิตน้ำมันปาล์มที่สำคัญอยู่ในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ที่มีบทบาทกำหนดทิศทางราคาในตลาดโลก คือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 43.5 ล้านตัน และ 17.9 ล้านตัน ตามลำดับ ด้วยสัดส่วนรวมกัน 83.9% ของผลผลิตโลก และมีสัดส่วนส่งออกรวมกัน 89.2% ของปริมาณส่งออกน้ำมันปาล์มในตลาดโลก ส่วนประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย (สัดส่วน 17.7% ของปริมาณนำเข้ารวมในตลาดโลก) จีน (14.3%) สหภาพยุโรป (13.0%) และปากีสถาน (7.2%) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบจากทั่วโลก (เพื่อบริโภคและผลิตเป็นเชื้อเพลิง) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.8% ต่อปี ขณะที่ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.8% ต่อปี โดยมีน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือสะสมอยู่ที่ 12.9 ล้านตัน ณ ปี 2564 (ภาพที่ 1 และตารางที่ 1)


แม้ว่าประเทศไทยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีสัดส่วนน้อยเพียง 3.8% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก จึงยังไม่มีบทบาทกำหนดทิศทางราคา พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้[3] คิดเป็นสัดส่วน 86.1% ของพื้นที่เก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันทั่วประเทศ (Harvested Area) โดยเฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร (สัดส่วนรวมกันเกือบ 58.3%) ที่เหลือกระจายปลูกอยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตามลำดับ (ภาพที่ 2) การหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2552-2561) ตามยุทธศาสตร์ของแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ ทำให้ปี 2564 ไทยมีพื้นที่ให้ผลผลิต (Harvested_Area)_อยู่ที่ 5.1 ล้านไร่ (+3.5%) ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน 16.8 ล้านตัน (+7.3%)[4] และมีการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ 3.0 ล้านตัน (+11.8%) (ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและกรมการค้าภายใน)


อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยมีจุดแข็งจากการมีห่วงโซ่การผลิตที่ครบวงจร (ภาพที่ 3) ประกอบด้วย

  • เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน (อุตสาหกรรมขั้นต้น) มีจำนวนประมาณ 3.9 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย สำหรับเกษตรกรรายใหญ่มักมีการลงทุนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบเป็นของตนเอง

  • โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ (อุตสาหกรรมขั้นกลาง) มีจำนวน 131 แห่ง (ที่มา : กรมการค้าภายใน) มีเครื่องจักรที่ให้กำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศอยู่ที่ประมาณ 5.6 ล้านตัน/ปี (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)) โดยผู้ผลิตรายใหญ่มักมีการขยายการลงทุนสวนปาล์ม เพาะพันธุ์ รวมถึงพัฒนาสายพันธุ์ปาล์มควบคู่ไปด้วย โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบมักนำผลผลิตที่เหลือจากการสกัดน้ำมันปาล์มมาใช้ประโยชน์อื่นๆ อาทิ กากปาล์มใช้ผลิตอาหารสัตว์ ทะลายปาล์มเปล่า เส้นใย และกะลาปาล์มใช้เป็นเชื้อเพลิง ปุ๋ยชีวภาพ และผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

  • โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (อุตสาหกรรมขั้นปลาย) มีจำนวน 21 แห่ง โดย สศอ. ประเมินกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน/ปี ผู้ประกอบการรายใหญ่มักลงทุนในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานด้วย อาทิ โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ และธุรกิจผลิตน้ำมันพืช

  • อุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่องช่วยดูดซับอุปทานส่วนเกินในตลาด อาทิ อุตสาหกรรมไบโอดีเซล (B100) อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (Oleochemicals)[5]


ในปี 2564 ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบสัดส่วนประมาณ 75% ถูกใช้เพื่อการบริโภคในประเทศ (ภาพที่ 4) โดย

  • ใช้กลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (สัดส่วน 52% ของปริมาณน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ครีมเทียม มาการีน เนยขาว ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพประเภทวิตามิน รวมถึงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (Oleochemicals) สำหรับใช้ในการผลิตสินค้าอื่นๆ เช่น สบู่ เครื่องสำอาง แชมพู น้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น (ภาพที่ 3)

  • ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลหรือ B100 (สัดส่วน 48%) เพื่อนำไปผสมเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ โดยทางการจะปรับอัตราส่วนผสม B100 ในน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในแต่ละช่วงเวลา (เช่น ปี 2562 ปรับเพิ่มจาก B7 เป็น B10 จากภาวะอุปทานส่วนเกินของน้ำมันปาล์มดิบที่ค่อนข้างสูง และปรับลดสัดส่วนเหลือเป็น B7 และ B5[6] ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ จากผลของราคาน้ำมันปาล์มในประเทศที่สูงขึ้นมาก และสต๊อกในประเทศที่ลดลง (ภาพที่ 5))

ส่วนการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบแต่ละปีจะมีปริมาณไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับผลผลิตส่วนเกินในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งภาครัฐจะมีมาตรการหรือโครงการส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อบรรเทาภาวะอุปทานส่วนเกินในประเทศเป็นระยะ เช่นเดียวกับการนำเข้าเฉพาะเมื่อเกิดปัญหา Supply Shortage ภายในประเทศ เช่น ช่วงที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบต่ำกว่าระดับสินค้าคงคลังสำรอง (Buffer Stock) ซึ่งทางการกำหนดที่ระดับประมาณ 2.5-3.0 แสนตัน[7]

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ (กนป.) เข้ามากำกับดูแลเพื่อให้มีเสถียรภาพ และสร้างความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การออกนโยบายและแผนพัฒนาปาล์มน้ำมัน จัดสรรผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและในภาคอุตสาหกรรม ควบคุมการนำเข้าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ[8] ตลอดจนรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรในช่วงราคาตกต่ำ หรือชะลอการใช้ผลผลิตในช่วงที่ราคาสูง อย่างไรก็ตาม กนป. ยังต้องบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานในการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล[9]  กระทรวงพลังงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมไบโอดีเซล ไฟฟ้า และพลังงานชีวภาพ ส่วนกรมการค้าภายใน (กระทรวงพาณิชย์) กำหนดราคารับซื้อผลปาล์มสดและน้ำมันปาล์ม รายละเอียดดังนี้

  • ราคารับซื้อผลปาล์มสด คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) (สังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์) จะกำหนดราคาแบบคละเกรดตามเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ได้ตกลงรับซื้อในแต่ละช่วง ซึ่งตั้งแต่ปี 2560 กำหนดให้โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบรับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรในเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 18% ขึ้นไป (จากเดิม 17%) ล่าสุดเดือนมิถุนายน 2565 ราคารับซื้ออยู่ที่ 9.22 บาทต่อกิโลกรัม (+62.3% YoY) (ภาพที่ 6) เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำมันปาล์ม โดยการเก็บเกี่ยวผลปาล์มที่สุกจะทำให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้น และช่วยให้เกษตรกรขายผลปาล์มสดได้ในราคาสูงขึ้น

  • ราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) จะพิจารณาจากต้นทุนวัตถุดิบ (ผลปาล์มสดในประเทศ) และทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 กำหนดราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 51.6 บาท (+56.3% YoY) ตามการลดลงของอุปทานทั้งผลปาล์มสดและน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก (ภาพที่ 7)

  • ราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด กรมการค้าภายในกำหนดให้ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดลอยตัวโดยอ้างอิงตามราคาต้นทุน ณ เดือนมิถุนายน 2565 ราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มสำเร็จรูปบรรจุขวด 1 ลิตรอยู่ที่ 69.0 บาทต่อขวด10/ (+46.0% YoY) (ภาพที่ 8)

สถานการณ์ที่ผ่านมา


ปี 2564 อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยได้แรงหนุนจากการปรับลดลงของอุปทานในประเทศคู่แข่งและสต๊อกน้ำมันปาล์มโลกที่ลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

- ผลผลิตปาล์มสดและน้ำมันปาล์มดิบของไทยอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ภาพที่ 9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินว่าในปี 2564 พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตอยู่ที่ 6.08 ล้านไร่ (+3.5%) โดยให้ผลผลิตปาล์มสดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 16.8 ล้านตัน (+7.3%) เทียบกับ 15.7 ล้านตันในปี 2563 ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็น 2,761 กิโลกรัม (+3.6%) แรงหนุนจาก 1) สภาพอากาศและปริมาณฝนที่เอื้ออำนวย 2) ราคาผลปาล์มสดที่ปรับขึ้นสูงถึง 6.7 บาท/กก. (+47.4%) สอดคล้องกับทิศทางของราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรเร่งบำรุงรักษาต้นปาล์มและเก็บเกี่ยวผลปาล์มตามเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เปอร์เซนต์น้ำมันที่สกัดได้เพิ่มขึ้น โดยปริมาณการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) ทั้งปีอยู่ที่ 2.96 ล้านตัน (+11.8%) เพิ่มขึ้นจาก 2.65 ล้านตันในปี 2563 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยทั้งปี 2564 ที่เพิ่มขึ้น 7.1% (ภาพที่ 10)


- แม้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวลง ตามความต้องการในภาคขนส่งที่ซบเซา แต่ได้รับแรงหนุนจากตลาดส่งออกที่ขยายตัว (ตารางที่ 2)

     ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศ หดตัว -5.8% อยู่ที่ 2.38 ล้านตันในปี 2564 จากมาตรการ Lockdown ของทางการและการทำงานที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการไบโอดีเซลในภาคขนส่งลดลง แม้มีแรงหนุนจากความต้องการของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (Refined Palm Oil) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • อุตสาหกรรมไบโอดีเซล: ความต้องการใช้ CPO เพื่อผลิตไบโอดีเซลในปี 2564 อยู่ที่ 1.15 ล้านตัน ลดลงถึง -15.9% สอดคล้องกับปริมาณการใช้และการผลิตไบโอดีเซล (เพื่อเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล) ที่ลดลง -10.3% และ -9.7% ตามลำดับ อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 4.59 และ 4.55 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ (ภาพที่ 11) ตามความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 (ภาพที่ 12) ทำให้มีการจำกัดการเดินทางและสนับสนุนให้ทำงานที่บ้าน โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตไบโอดีเซลของผู้ประกอบการทั้งหมด 14 ราย (ตารางที่ 3) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 50.4% (จาก 60.9% ในปี 2563)






 

  • อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์: ความต้องการใช้ CPO_เพื่อกลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลสำหรับใช้ในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมในปี 2564 เพิ่มขึ้น 6.0% อยู่ที่ 1.24 ล้านตัน ตามการเร่งตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก (อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ไอศกรีม) เนื่องจากผู้บริโภคเน้นการใช้จ่ายเพื่อบริโภคโดยเฉพาะสินค้าที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานในช่วงที่โรค COVID-19 มีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง รองลงมาเป็นอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่การบริโภคสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (อาทิ ผงซักฟอก สบู่ ยา และเครื่องสำอาง) มีทิศทางลดลงเนื่องจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอุปโภคโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอาง ทั้งนี้ทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารและโอลิโอเคมิคอลสอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิต (MPI) ของอุตสาหกรรมดังกล่าว(ภาพที่ 13)

     ปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มในปี 2564 ขยายตัวสูงอยู่ที่ 7.9 แสนตัน (+165.2%) มีมูลค่า 941.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (+346.4%) จากอุปทานที่ลดลงในประเทศคู่แข่ง และโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินในประเทศของภาครัฐ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • น้ำมันปาล์มดิบ: ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 7.2 แสนตัน มูลค่า 847.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 223.9% และ 484.9% ตามลำดับ จากการเร่งตัวของการส่งออกในตลาด 1) มาเลเซีย ปริมาณ 1.6 แสนตัน (+265.7%) ผลจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้มาเลเซียขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิต สต๊อกจึงลดลงและต้องนำเข้าจากไทยทดแทน และ 2) อินเดีย ปริมาณ 5.2 แสนตัน (+215.4%) นำเข้าจากไทยมากขึ้นเพื่อชดเชยอุปทานของประเทศคู่ค้าเดิม ได้แก่ อินโดนีเซียและมาเลเซียที่ลดลง โดยอินเดียประกาศปรับลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันพืช (ได้แก่ น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันดอกทานตะวัน)  เพื่อลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร และลดค่าครองชีพของประชาชนในประเทศจากราคาน้ำมันพืชในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก (ภาพที่ 14)

  • น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์: ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 60,767 ตัน ลดลง -5.1% เนื่องจากมาเลเซียลดการนำเข้าเกือบ 100% (ปี 2563 นำเข้า 21,700 ตัน) โดยหันไปนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตของอุตสาหกรรมปลายน้ำต่างๆ และหันไปนำเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ของอินโดนีเซียทดแทน อย่างไรก็ตาม แรงหนุนจากตลาดอินเดียที่เริ่มมีการนำเข้าจากไทยราว 17,007 ตัน หลังจากรัฐบาลอินเดียปรับลดอัตราภาษีนำเข้าลง[11] รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ ที่ยังขยายตัว อาทิ เมียนมา (+3.3%) จีน (+6.1%)[12] และ ลาว (+21.6%) ช่วยให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์โดยรวมหดตัวในอัตราไม่มากนัก ขณะที่มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 82.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 43.5% จากราคาส่งออกที่เร่งตัวถึง 51.2% ตามต้นทุนวัตถุดิบทั้งผลปาล์มสด และ CPO ที่ปรับสูงขึ้น

  • ​ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มอื่นๆ: ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 9,592 ตัน ลดลง -17.5% จากการหดตัวของตลาดมาเลเซีย (-26.3%) ลาว (-60.6%) กัมพูชา (-28.9%) และมาลาวี (-30.2%) ตามภาวะกำลังซื้อที่ซบเซา ขณะที่จีนมีการนำเข้าจากไทยมากขึ้นถึง 118.7% เพื่อทดแทนปัญหาการขาดแคลนน้ำมันพืชในประเทศจากปริมาณการผลิตที่ลดลงภายใต้มาตรการคุมเข้มของภาครัฐในด้านการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรม12/ อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกขยายตัวสูง 32.9% อยู่ที่ 11.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากแรงหนุนด้านราคาที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุน

- สต๊อกท้ายปีลดต่ำกว่าเกณฑ์สำรองหลังส่งออกก้าวกระโดด ทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบลดลงเหลือ 1.7 แสนตัน ณ สิ้นปี 2564 หดตัว -17.5% จากปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าระดับสต๊อกขั้นต่ำที่ควรมี (Buffer Stocks) ที่ระดับ 2.5 - 3.0 แสนตัน

- ราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลจากอุปทานของโลกโดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย มาเลเซียที่ลดลง ประกอบกับสต๊อก CPO_ในไทยปรับลดลงต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม หนุนให้ราคาปรับเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาผลปาล์มสดอยู่ที่ 8.9 บาท/กก. (เดือนธันวาคม 2564) เฉลี่ยทั้งปีที่ 6.7 บาท/กก. (+47.4%) ส่วนราคา CPO อยู่ที่  46.8 บาท (เดือนธันวาคม) เฉลี่ยทั้งปีที่ 38.0 บาท/กก. (+35.2%) สำหรับราคาส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มปรับเพิ่มถึง 68.3% ส่งผลให้ภาครัฐ (คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน : กบง.) เห็นชอบปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากปัจจุบัน B7 เป็น B5 (ผลบังคับใช้ช่วง 5 กุมภาพันธ์ 2565 - 31 มีนาคม 2565) เพื่อชะลอการดูดซับผลผลิตและพยุงราคาไม่ให้สูงขึ้นมากนัก นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ (กนป.) ยังมีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2564-2565 โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม และมาตรการส่งเสริมการขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม

สำหรับช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยยังเติบโตสูง แรงหนุนจากอุปทานโลกที่ลดลงทำให้ความต้องการของตลาดต่างประเทศเติบโตดี


- อุปทานผลปาล์มที่ใช้ผลิตน้ำมันปาล์มลดลงอยู่ที่ 7.2 ล้านตัน หดตัว -1.1% YoY แต่ด้วยสัดส่วนการสกัดน้ำมันที่สูงขึ้นราว 2.5% YoY จากการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรในระยะที่เหมาะสม ทำให้การผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน ขยายตัว 1.0% YoY

- การจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน ขยายตัว 5.3% YoY เพิ่มขึ้นจากการส่งออกเป็นสำคัญ

  • การส่งออกเร่งตัวได้มากถึง 4.0 แสนตัน เติบโตสูง 131.6% YoY เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างอินเดียและมาเลเซียเร่งการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบต่อเนื่อง ประกอบกับอินเดียที่เป็นตลาดหลักของไทยปรับลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบลงเหลือ 5% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (ยอดส่งออกไปอินเดียเติบโต 169.8% YoY)

  • การจำหน่ายในประเทศลดลงเหลือ 8.6 แสนตัน หดตัว -15.9% YoY ทั้งจากความต้องการน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และไบโอดีเซล โดยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ลดเหลือ 4.6 แสนตัน หดตัว -11.4% YoY  ผลจากราคาที่สูงขึ้นทำให้ความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง ซึ่งบางส่วนหันไปใช้น้ำมันประเภทอื่นที่มีราคาใกล้เคียงกันทดแทน อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว ส่วนอุตสาหกรรมไบโอดีเซล การจำหน่ายในประเทศลดเหลือ 4.0 แสนตัน หดตัว -20.5% YoY ผลจากมาตรการปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) เป็น B5 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ความต้องการใช้ไบโอดีเซลหดตัว -23.1% YoY เฉลี่ยอยู่ที่ 3.82 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการน้ำมันปาล์มดิบและปริมาณการใช้ไบโอดีเซลที่เริ่มหดตัว -23% ถึง -27% YoY ต่อเดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565

- ​สต๊อก ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 1.7 แสนตัน ลดลง -33.4% YoY ทั้งนี้ จากสต๊อกที่ต่ำกว่าเกณฑ์สำรองขั้นต่ำที่ควรมี ทำให้ระดับราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์มเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ราคาผลปาล์มสดอยู่ที่ 9.22 บาท/กก. (+62.3 YoY) ส่วนราคา CPO อยู่ที่  51.6 บาท/กก. (+56.3% YoY)
 

แนวโน้มอุตสาหกรรม​


ปี 2565 ภาพรวมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง โดย

  • อุปทานผลปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 6%-7% แรงหนุนหลักมาจาก 1) พื้นที่เพาะปลูกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1-2 แสนไร่ จากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกปาล์มให้ถึง 10 ล้านไร่ภายในปี 2572 เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยมีพื้นที่เป้าหมายหลักอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และปัจจุบันต้นปาล์มน้ำมันที่อายุเกิน 8 ปีซึ่งอยู่ในเกณฑ์อายุที่ให้ผลผลิตต่อไร่ (Yield) สูง[13] เริ่มมีจำนวนมากขึ้น(ภาพที่ 15) 2) เกษตรกรมีแรงจูงใจเพาะปลูก จากราคาปาล์มที่อยู่ในเกณฑ์ดีและโครงการประกันรายได้ภาครัฐ และ 3) สภาพอากาศที่คาดว่าจะเอื้ออำนวย[14] โดยปริมาณฝนในภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ที่ยังคงส่งผลต่อเนื่องราว 1-2 ปี (ภาพที่ 16) ทำให้ผลผลิตปาล์มสดต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปริมาณน้ำมันปาล์มดิบทั้งปีจะอยู่ที่ 3.1-3.2 ล้านตัน


 
  • การบริโภคน้ำมันปาล์มดิบคาดว่าจะเติบโตได้จากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องประมาณ 30%-40% ด้วยแรงหนุนจาก 1) ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารทั้งจากสถานการณ์ COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ  2) ประเทศคู่ค้าเร่งสั่งสมสต๊อกเพื่อควบคุมราคาน้ำมันพืชสำหรับบริโภคภายในประเทศไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น และ 3) ประเทศคู่ค้าหาตลาดทดแทนอินโดนีเซีย (ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบหลักของโลก) ที่ระงับการส่งออกชั่วคราวช่วง 28 เมษายน 2565-23 พฤษภาคม 2565 ด้านการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศคาดว่าหดตัวราว -7% ถึง -8% ตามแรงฉุดของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่หดตัว -10% ถึง -12% จากระดับราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นทำให้ความต้องการสินค้าขั้นปลายน้ำลดลง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมไบโอดีเซลที่หดตัว -4% ถึง -6% จากการปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซลเป็น B5 และราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคลดการใช้ลง

  • สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ ณ สิ้นปีคาดว่าจะอยู่ที่ 2.8-2.9 แสนตัน จากอุปทานที่เพิ่มสูงกว่าอุปสงค์ ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศมีแนวโน้มปรับลดลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยราคาผลปาล์มสดคาดอยู่ที่ระดับ 9-11 บาทต่อกิโลกรัม ตามความต้องการจากต่างประเทศที่มีอยู่สูง


ปี 2566-2567 อุปทานปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกและเข้าสู่ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง อย่างไรก็ตาม ราคาโดยรวมยังคงจูงใจให้เกษตรกรบำรุงรักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยคาดว่าผลปาล์มสดจะเพิ่มในอัตรา 3%-4% ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบของไทยปรับสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4-3.5 ล้านตัน/ปี (ภาพที่ 17) ในเวลาเดียวกัน ผลผลิตปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2565 จากสถานการณ์โรค COVID-19 ที่คลี่คลาย ทำให้ประเทศผู้ผลิตสำคัญอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียกลับมาผลิตได้ตามปกติ (ภาพที่ 18) และทำให้อุปทานน้ำมันปาล์มดิบโลกมีทิศทางสูงขึ้น กดดันให้ราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศมีแนวโน้มปรับลดลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากปี 2565 เนื่องจากความต้องการใช้ยังเติบโต ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวสูงจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่คาดว่าจะยืดเยื้อ

- ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศปี 2566-2567 คาดว่าจะกลับมาเติบโตเฉลี่ย 8.0-9.0% ต่อปี จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล และภาคขนส่ง ที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนี้

  • อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มีแนวโน้มเติบโต 10.0%-11.0% จากแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารที่น่าจะกลับมาเติบโตตามทิศทางการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ประกอบกับอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ/ไขมันปาล์ม (ได้จากกระบวนการสกัดบริสุทธิ์) เพิ่มขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของการบริโภคสินค้าในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ผงซักฟอก สบู่ ยา และเครื่องสำอาง ล่าสุด ทางการยังมีมาตรการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมิคอลเป้าหมายจำนวน 8 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นไปตามแผนการปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ พ.ศ. 2561-2580 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลขั้นสูง และเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ

  •  อุตสาหกรรมไบโอดีเซล คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีความต้องการใช้อยู่ที่ 5.3-5.5 ล้านลิตร/วัน หรือเติบโตเฉลี่ย 6.0%-7.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก

              - ความต้องการใช้ยานยนต์ดีเซลในภาคขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 1) ภาวะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว  2) การขยายตัวของธุรกิจ E-commerce ที่หนุนความต้องการใช้รถ       ขนส่งเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะรถปิกอัพ 3) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งช่วยกระตุ้นความต้องการใช้รถเชิงพาณิชย์ และ 4) จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี

              - ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่มีแนวโน้มพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อรองรับการใช้น้ำมันดีเซลที่มีสัดส่วนไบโอดีเซลสูงขึ้น ทั้งรถขนาดใหญ่ รถปิกอัพ รถอเนกประสงค์และรถบรรทุก

- ​ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าอัตราการเติบโตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเพิ่มขึ้น 2.5-3.5% ต่อปี จากความต้องการของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อินเดีย และมาเลเซีย ขณะที่ภาครัฐของไทยยังมีมาตรการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ การผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่อาจมีผลต่อผู้ประกอบการ อาทิ

  • ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้ออาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลโดยรวมเพื่อการขนส่งปรับลดลง

  • การแข่งขันยังมีแนวโน้มรุนแรงทั้งจากสินค้าทดแทน การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงรายเดิมที่เพิ่มกำลังการผลิต โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2564) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับเพียง 41.1% ต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำมันถั่วเหลือง (95.0%) และน้ำมันรำข้าว (61.6%) ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนและราคาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับน้ำมันปาล์ม

  • ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มทั้งระบบของไทยยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่งทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย จากอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบของไทยที่ยังต่ำ ส่งผลให้เสียเปรียบด้านต้นทุนต่อหน่วยและความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก

  • มาตรการการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) โดยเฉพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป (หนึ่งในผู้บริโภคน้ำมันปาล์มหลักของโลก) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกทยอยลดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชที่มีความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการสร้างคาร์บอนสูง โดยตั้งเป้าหมายยุติการใช้ภายในปี 2573[15] ส่งผลให้เกิดกระแส “Zero Palm Oil” ในภาคอุตสาหกรรมของยุโรป นอกจากนี้การให้ความสำคัญกับสุขภาพยังทำให้เกิดกระแส “Palm Oil Free” สำหรับสินค้าอาหารต่างๆ ในยุโรป เนื่องจากน้ำมันปาล์มถูกมองว่าเป็นแหล่งไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) และมีสารก่อมะเร็งในปริมาณมากเมื่อเทียบกับพืชน้ำมันอื่นๆ

  • แนวโน้มการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ (Electric Vehicle : EV) ซึ่งมีเป้าหมายผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี พ.ศ. 2573 อาจส่งผลให้ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลดลง


มาตรการ/โครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2564-2565

1) โครงการประกันรายได้แก่เกษตรกรสวนปาล์มน้ำมัน - คณะรัฐมนตรีอนุมัติจ่ายเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันและราคาอ้างอิงของปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกรจำนวนไม่เกิน 25 ไร่/ครัวเรือน และต้นปาล์มต้องให้ผลผลิตแล้วมีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ปีขึ้นไป (กรณีราคาตลาดต่ำกว่า) โดยราคาประกันอยู่ที่ 4 บาท/กิโลกรัม สำหรับเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 18% โดยโครงการระหว่างช่วงเดือนกันยายน 2564-สิงหาคม 2565 อยู่ระหว่างการนำเสนอ กนป. อนุมัติหลักการก่อนจะนำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ และอนุมัติกรอบวงเงิน 7,660 ล้านบาท

2) มาตรการคู่ขนาน เพื่อปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ – ประกอบด้วย

     2.1) ปรับลดสัดส่วนการใช้ B100 ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7, B10 และ B20 เป็น B7 (ธันวาคม 2564 - มีนาคม 2565) และปรับลดสูตรผสมจาก B7 เป็น B5 ในเดือนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้น จนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

     2.2) โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน เป้าหมาย 3.0 แสนตัน โดยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในอัตรากิโลกรัมละ 2 บาท เมื่อระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 3 แสนตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก โดยมีมติคณะอนุกรรมการในปี 2564-2565 ดังนี้

  • เห็นชอบขยายระยะเวลาส่งออกตามโครงการจากเดือนกันยายน 2564 เป็นธันวาคม 2564 และสำหรับระยะเวลาโครงการจากธันวาคม 2564 เป็นมีนาคม 2565 โดยมีกรอบวงเงินที่ 618 ล้านบาท

  • เห็นชอบหลักการโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2565 เป้าหมาย 1.5 แสนตัน ภายในเดือนกันยายน 2565

3) มาตรการส่งเสริมการขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายทั้งหมด 8 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Oil) 2) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (Bio-Transformer Oil) 3) สารซักล้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สารตั้งต้น MES: Methyl Ester Sulfonate) 4) น้ำมันหล่อลื่น และจาระบีชีวภาพ (Bio Lubricant and Greases) 5) พาราฟิน (Paraffin) 6) สารกำจัดศัตรูพืชและแมลง (Pesticides/Insecticides) 7) น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพกรีนดีเซล (Bio Hydrogenated Diesel : BHD)[16] และ 8) น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพไบโอเจ็ต (Biojet Fuels)[17] สำหรับแผนการดำเนินงานและความคืบหน้า มีดังนี้

      3.1) ด้านกระบวนการผลิต/เทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ขึ้นทะเบียนนวัตกรรม การขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนรับรองสินค้า และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความคืบหน้าในปัจจุบันทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และภาคเอกชน อยู่ระหว่างขั้นตอนการทดสอบและวิเคราะห์คุณสมบัติน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเทียบกับน้ำมันหม้อแปลงที่นำเข้าจากต่างประเทศ

      3.2) ด้านมาตรฐานและการทดสอบ สนับสนุนการจัดทํามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การจัดทำมาตรฐานการใช้และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาและยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล ความคืบหน้าทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้แต่งตั้งอนุกรรมการวิชาการรายสาขา เพื่อจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ

      3.3) ด้านสิทธิประโยชน์ การเพิ่มประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล เพิ่มกิจการหรือประเภทอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล ให้สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ของกิจการเคมีภัณฑ์หรือ พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล มีมาตรการ Green_Tax_Expense_เพื่อส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพของนิติบุคคล ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) อยู่ระหว่างการเสนอร่างประเภทกิจการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 6 ผลิตภัณฑ์

      3.4) ด้านอุปสงค์ ออกมาตรการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือพิจารณาเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวหรือตะกร้าเขียวเป็นลําดับแรก หรือสินค้าที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ตกลงร่วมใช้ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย เช่น กรมเจ้าท่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการสนับสนุน พ.ศ. 2563 ซึ่งรวมถึงพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

      3.5)  มาตรการด้านอื่น เช่น การปรับปรุงกฎหมายผังเมืองให้เอื้อต่อการผลิต ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้ผังเมืองรวมเพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาตรการส่งเสริม และสิทธิประโยชน์ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลที่กําหนดให้โรงงานต้องตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น การพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสําหรับการลงทุน ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ

4) การบริหารจัดการปริมาณน้ำมันทั้งระบบ ทางคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดำเนินการโครงการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อก ใช้งบประมาณ 372.5 ล้านบาท โดยให้กรมการค้าภายในติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ถังเก็บของผู้ประกอบการ

5) การบริหารการนำเข้าโดย 1) กำหนดด่านศุลกากร (การนำเข้าปกติ) ได้เฉพาะด่านมาบตาพุด กรุงเทพฯ และแหลมฉบัง และ 2) กำหนดด่านนำผ่าน ซึ่งจะต้องนำผ่านต้นทางที่ด่านกรุงเทพฯเพียงด่านเดียว ส่วนด่านปลายทางกำหนดไว้ 3 ด่าน ได้แก่ ด่านจันทบุรี (ไปกัมพูชา) ด่านหนองคาย (ไป สปป. ลาว) และด่านแม่สอด (ไปเมียนมา)
 

แผนพัฒนาปาล์มน้ำมันของไทย

 

1) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (Alternative_Energy Development_Plan:_AEDP2018) ปี 2563 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะ รัฐมนตรีเห็นชอบแผนพัฒนาฯใหม่โดยลดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลลงจากเดิมที่กำหนดไว้เพื่อให้สอดรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 2561-2580 (PDP)_โดยจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทอื่น และปรับลดการใช้พลังงานทดแทนประเภทเชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะเอทานอลและไบโอดีเซล เนื่องจากภาคขนส่งจะเน้นระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น (เบื้องต้นคาดว่าจะปรับลดเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซลจาก 14 ล้านลิตรเป็น 8 ล้านลิตรในปี 2580)

2) แผนปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบปี 2561-2580 ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบทั้งเพื่อบริโภคและอุตสาหกรรม โดยมีรายละเอียดดังตาราง


 

[1] น้ำมันปาล์มสามารถสกัดได้จากเนื้อปาล์มและเนื้อในเมล็ดปาล์ม ในปี 2563/64 การผลิตน้ำมันจากเนื้อปาล์มมีสัดส่วน 89.7% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มทั่วโลก
[2] ผลผลิตน้ำมันต่อไร่ของพืชให้น้ำมันแต่ละประเภท มีดังนี้ เนื้อปาล์มน้ำมันสกัดน้ำมันได้ 512 กก./ไร่ เมล็ดในปาล์มน้ำมัน (Kernel) 73 กก./ไร่  เรปซีด 89 กก./ไร่ เมล็ดดอกทานตะวัน 81 กก./ไร่ มะพร้าว 54 กก./ไร่ ถั่วเหลือง 52 กก./ไร่ และถั่วลิสง 51 กก./ไร่
[3] โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบมักตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันสดที่ตัดแล้วควรขนส่งให้ถึงโรงงานสกัดภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มคุณภาพสูง
[4] โดยทั่วไปต้นปาล์มน้ำมันเริ่มให้ผลผลิตเมื่อมีอายุ 3.5-4 ปี และจะมีอัตราให้ผลผลิต (Yield) สูงสุดในช่วงอายุ 6-16 ปี จากนั้นผลผลิตจะทยอยลดลง แต่ยังสามารถให้ผลผลิตได้ถึงอายุ 25-28 ปี จากนั้นจึงล้มทิ้งและปลูกใหม่ทดแทน
[5] โอเลโอเคมิคอลเป็นอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์จากไขมันปาล์มเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ผงซักฟอก สารกำจัดแมลง เป็นต้น
[6] B5, B7 และ B10 คือ น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลในสัดส่วน 5%, 7% และ 10% ตามลำดับ
[7] สินค้าคงคลังสำรองหรือสินค้ากันชน (Safety Stock/Buffer Stock) คือ ปริมาณสินค้าคงคลัง (ในที่นี้คือปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ) ที่ทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) กักเก็บสำรองเพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบระหว่างการผลิตหรือการบริโภคของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นกระทันหัน ทำให้ผู้ผลิตยังสามารถผลิตสินค้าได้ต่อเนื่องโดยไม่ขาดแคลนน้ำมันปาล์มที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนดหรือควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมซึ่งปัจจุบันระบุว่าไม่ควรเกินหรือต่ำกว่าระดับ 2.5-3.0 แสนตัน
[8] กนป. กำหนดให้องค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มในช่วงที่มีปัญหาขาดแคลนแต่เพียงผู้เดียว โดยกำหนดอัตราภาษีนำเข้า ดังนี้ 1) การนำเข้าในโควตาไม่เกิน 4,860 ตัน คิดอัตรา 20% 2) การนำเข้านอกโควตาคิดอัตรา 143% และ 3) การนำเข้าตามกรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) คิดอัตรา 0%
[9] Oleochemical เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สังเคราะห์จากน้ำมันธรรมชาติจากพืชและสัตว์ ได้แก่ กรดไขมัน (Fatty Acid) กลีเชอรีน (Glycerin) เอสเทอร์ของกรดไขมัน (Fatty Acid Esters) และแอลกอฮอล์ของกรดไขมัน (Fatty Alcohol) เป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน
[10] ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป กรมการค้าภายในประกาศให้ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธ์บรรจุขวดลอยตัวตามกลไกตลาด จากเดิมกำหนดราคาเพดานขาย (Ceiling Price) สูงสุดไม่เกิน 42 บาท/ขวด
[11] กรมศุลกากรของอินเดียประกาศลดอัตราภาษี MFN ((Most Favored Nation) ของน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ลงจาก 10% เหลือ 2.5% ส่วนภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (Refined Palm Oil : RPO) ลดลงจาก 37.5% เหลือ 17.5% ขณะเดียวกันผู้นำเข้า CPO ก็ได้รับการลดอัตราเงินอุดหนุนภาคการเกษตร (CESS) และเงินอุดหนุนสวัสดิการสังคมซึ่งเป็นเงินที่ผู้นำเข้าจะต้องจ่ายเพิ่มจากการนำเข้า CPO จาก 24.75% เหลือ 8.25% โดยมีผลบังคับใช้ในช่วงวันที่ 14 ตุลาคม 2564 - 31 มีนาคม 2565 ทั้งนี้ การปรับลดภาษีนำเข้าดังกล่าวเพื่อช่วยค่าครองชีพของประชาชน ควบคุมราคาน้ำมันพืชสำหรับบริโภค (Edible Oil) และลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้ราคาสินค้าอาหารไม่ปรับตัวสูงขึ้น
[12] ประเทศจีนเผชิญปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า จึงมีมาตรการคุมเข้มการใช้พลังงานซึ่งได้จำกัดการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมน้ำมันพืช ส่งผลให้จีนนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์มากขึ้นเพื่อทดแทนน้ำมันพืชในประเทศที่ลดลงและรองรับความต้องการที่มากขึ้น
[13] ต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกตามนโยบายส่งเสริมช่วงปี 2551-2555 จะมีอายุระหว่าง 8-12 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง (อายุที่ต้นปาล์มให้ผลผลิตสูงคืออยู่ระหว่าง 7-16 ปี อ้างอิงจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)
[14] จากข้อมูลของ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา พบว่าปรากฎการณ์ El Nino และ La Nina รุนแรงจะเกิดขึ้นทุกๆ 12-15 ปี (La Nina รุนแรงเกิดขึ้นล่าสุดในช่วงปี 2553-2554 และ El Nino รุนแรงเกิดขึ้นล่าสุดในช่วงปี 2558-2559) ในขณะที่ปี 2564 เผชิญฝนตกมากขึ้นเล็กน้อยจาก Weak La Nina ซึ่งส่งผลไม่รุนแรงมากแก่พืชปาล์มน้ำมัน
[15] เดือนมีนาคม 2562 คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นชอบร่างระเบียบลำดับรอง (Delegated Act) โดยกำหนดมาตรฐานการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อความยั่งยืน และจัดให้น้ำมันปาล์มอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ยั่งยืน ในปัจจุบันเกษตรกรและผู้ประกอบการได้มีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้ได้มาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ที่ครอบคลุมมิติความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มไปประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้
[16] BHD เป็นการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลให้กลับขึ้นไปที่ B10 ตามมาตรฐานเชื้อเพลิงยูโร 5 และรักษาระดับการใช้น้ำมันปาล์มดิบไม่ให้ลดลงไปกว่าปีละประมาณ 6.35 แสนตัน
[17] Biojet Fuels เป็นการรองรับแนวโน้มการเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสายการบินพาณิชย์ที่ไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่บินผ่านน่านฟ้าของสหภาพยุโรป ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ประกาศแผนพลังงานทดแทน (REDII) โดยกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในสหภาพยุโรปไว้ที่ 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งสอดคล้องกับความตกลงปารีส ที่จะต้องลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้ได้อย่างน้อย 40% และกำหนดเป้าหมายการปล่อย CO2 สุทธิ เป็น 0 ภายในปี พ.ศ. 2593

 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา