"คนล่าเรื่อง" กับชีวิตช่วงโควิด

By วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
ตอนที่ผมได้ยินข่าวเรื่องโรคโควิดครั้งแรก คือตอนเพิ่งขึ้นฝั่งกลับมาจากการถ่ายทำใต้น้ำ 3 วัน 3 คืน ตามแนวปะการัง The Great Barrier Reef ในประเทศออสเตรเลีย เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2563
ตอนแรกก็เหมือนกับทุก ๆ คน ไม่ได้คิดว่ามันจะลามมาจนถึงระดับที่บังคับให้โลกทั้งใบต้องปิดบริการแบบนี้ ซึ่งเรื่องผลกระทบของโรคนี้ ผมคงจะไม่ต้องกล่าวถึง เพราะทุกคนก็คงจะรู้ดีอยู่แล้ว แต่แค่อยากจะเล่าจากประสบการณ์ของตัวผมเองในฐานะ นักทำสารคดี และ คนทำ content ซึ่งถึงแม้ไม่ได้รุนแรงลำบากเท่ากับอีกหลาย ๆ ท่าน แต่ก็เป็นอีกมุมหนึ่งของการปรับตัวที่อาจจะพอเป็นประโยชน์ให้หลาย ๆ คนได้
ชีวิตผมโดยปกติ อาชีพคือการ "ล่าเรื่อง" เดินทางไปตามหาเรื่องราวที่เข้าถึงได้ยากจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น ผู้ก่อการร้ายในตะวันออกกลาง เบื้องหลังวงการหนังเอวีในญี่ปุ่น ไปจนถึงชีวิตในแดนสงครามในประเทศอย่างโซมาเลีย หรือ อิรัก
หลังจากขลุกอยู่กับเรื่องความขัดแย้ง สงครามและด้านมืดของสังคมมนุษย์มาหลายปี ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โฟกัสงานของผมได้เปลี่ยนมายังประเด็นใหม่ คือเรื่องของสภาวะโลกร้อน ที่กลายเป็นปัญหาที่น่าวิตกกังวลยิ่งกว่าปัญหาสังคมไหน ๆ
ไม่ว่าจะเรื่องพายุที่รุนแรงและถี่ขึ้น ภัยจากความแล้งและไฟป่า ไปจนถึงฤดูกาลที่แปรปรวน และอื่น ๆ อีกมากมาย ทุกอย่างส่งผลกับโลกทั้งใบในระดับที่หากเราไม่ทำอะไรเลยในอนาคต ภัยพิบัติธรรมชาติในระดับโรคโควิด คงจะกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา ซึ่งก็จะส่งผลกับสังคมมนุษย์โดยตรง ปัญหาที่มีอยู่แล้ว ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ก็ยิ่งถูกยกระดับความรุนแรงขึ้นด้วยภัยพิบัติเหล่านี้ และมนุษยชาติคงทำได้แค่ตั้งรับ กับยอมรับชะตากรรม เพราะถึงตอนนั้น เวลาที่พวกเราจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้ก็หมดลงไปเสียแล้ว
ด้วยความตระหนักนี้ ผมได้ตั้งเป้าหมายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019 ที่ผ่านมา ว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีหลังจากนี้ สื่อสารเรื่องความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเหล่านี้ให้คนไทยได้รู้ให้ได้ ซึ่งหัวใจหลักอย่างหนึ่งของงานที่จะทำ ก็คือการเดินทางไปยังหลากหลายที่ทั่วทุกมุมโลกที่กำลังได้รับ ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนอย่างหนักหน่วง และพยายามทำสารคดีบอกเล่าเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ซึ่งกลับมาตอนที่ผมขึ้นฝั่งจากการดำน้ำที่ The great barrier reef การเดินทางครั้งนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ใหญ่ทั้งโปรเจกต์นี้ เป็นทริปที่ว่าด้วยเรื่องการฟอกขาวของปะการัง ซึ่งตลอดทั้งปี 2020 ผมก็มีอีกมากมายหลายทริปจ่อคิวรออยู่ ทั้งการไปสำรวจพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงขึ้นที่สุดในโลกที่ปากีสถาน ไปถ่ายฝูงตั๊กแตนทำลายพืชที่แอฟริกาตะวันออก ไปปีนยอดภูเขามองบลังค์เพื่อดูการละลายของธารน้ำแข็ง ฯลฯ
ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ ถูกยกเลิกด้วย โควิด-19 และแน่นอนว่าคงใช้เวลาอีกอย่างน้อยเป็นปี ๆ กว่าการเดินทางข้ามประเทศ จะกลับมาทำได้อย่างอิสระเท่าเดิม
ซึ่งสำหรับคนจำนวนหนึ่ง มันคงหมายถึงความหงุดหงิดที่ไม่สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้อีกนาน กับคนอีกกลุ่มก็คงหมายถึงผลกระทบทางธุรกิจที่แสนสาหัส
แต่สำหรับผม ผู้ซึ่งปกติเดินทางปีละ 13-14 ทริปเพื่อออกไปถ่ายงานที่ต่างประเทศ มันหมายถึงการเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปโดยสิ้นเชิง ทั้งมุมมองตั้งต้น วิธีคิด และการถ่ายทำ ตัวผมเองโดยธรรมชาติ มักจะมีความสนใจในประเด็นระดับสากลมากกว่าประเด็นภายในประเทศ อาจจะเป็นเพราะโอกาสในการเดินทางและการเปิดโลกที่ได้รับมาตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้มักจะมีมุมมองประเด็นภายในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นระดับใหญ่ที่กำลังดำเนินไปในระดับสากล ซึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนมาในงานของผมมาตลอด
ซึ่งพอเดินทางไม่ได้ ปฏิกิริยาแรกของผมก็คือ "เอาไงดีวะสิงห์" ซึ่งในช่วงต้นของโควิด ประมาณ 2-3 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน กลายเป็นช่วงที่ผมนั่งอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะไม่รู้จะทำอะไร ภารกิจหลักที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จในปีนี้ก็พังไม่เป็นท่า ไม่ต่างอะไรกับเป้าหมายของอีกหลาย ๆ คนที่ละลายหายไปพร้อมกับการมาของโควิด
ในช่วงแรกผมจิตตกมากพอสมควร รู้สึกเวลาผ่านไปอย่างไร้ความหมายมาก รู้สึกล้มเหลวกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ และถึงแม้ในใจจะรู้ว่ามีคนอื่น ๆ ที่ลำบากกว่าเราอีกเยอะ ความรับรู้นั้นก็ช่วยแค่ให้หยุดตัวเองไม่ให้บ่นอะไรออกมา เพราะว่าเกรงใจคนที่แย่กว่าเรา แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้นเท่าไหร่ แต่พอโลกปิดมาถึงจุดหนึ่งที่รู้ตัวแล้วว่า ไม่สามารถนั่งรอโลกกลับมาเปิดใหม่ได้แล้ว เราจึงเริ่มมองหาโอกาสในการเล่าเรื่องใหม่ ๆ ที่ยังพอจะทำได้

ไอเดียเรื่อง "Covid Hero" ก็ได้ผุดขึ้นมา

ซึ่งมันเป็นไอเดียที่เรียบง่ายมาก ๆ ซึ่งผมเชื่อว่านอกจากผมแล้วก็คงจะมีคนเล่าเรื่องคนอื่น ๆ ที่คิดไปแนวทางเดียวกันอยู่ไม่น้อย นั่นก็คือการออกไปหาเรื่องราวของคนที่ออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างจริงจังในช่วงโควิดนี้
ไอเดียนี้ผุดขึ้นมาในหัวผมในตอนดึกของคืนวันหนึ่ง แล้วอีกสองวันต่อมา ผมก็ออกไปถ่ายทำเทปแรกของ Covid Hero โดยเริ่มต้นที่สลัมคลองเตย และโครงการการแจกอาหารที่ทำโดยองค์กรในพื้นที่
จากนั้น ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือนกว่า ๆ ไอเดียง่าย ๆ นี้ ก็พาผมไปยังมุมต่าง ๆ ของสังคมไทย ที่ผมไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน ทั้งชีวิตของหญิงบริการ ทั้งในกรุงเทพฯ และพัทยา ทั้งชีวิตของหมู่บ้านแรงงานพม่า ที่อยู่รวมกันเป็นพัน ๆ คนในสมุทรปราการ ทั้งกองขยะที่เพิ่มพูนสูงขึ้นในวันที่ทุกคนสั่งอาหารมากินที่บ้าน และทั้งสวนสัตว์ในวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีต้นเรื่องมาจากคนหลาย ๆ กลุ่มที่พยายามช่วยเหลือจุนเจือสังคมในมุมเล็ก ๆ ที่พวกเขารับผิดชอบที่ผมไปตามหามาจนพบ และเอาเรื่องของพวกเขามาเล่า
ซึ่งนี่เป็นการทำงานที่ต่างจากงานในอดีตของผมอยู่เยอะพอสมควร เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว ว่างานของผมมักจะเป็นประเด็นที่ใหญ่และกว้างมาก ๆ แต่ Covid Hero คือประเด็นที่ท้องถิ่นมาก ๆ มองในมุมที่โฟกัสมาก ๆ และที่สำคัญคือเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ
สำหรับผม มันเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ก่อนหน้านี้ จากการทำงานประเด็นสากลมาหลายปี มุมมองที่ผมได้มาเหมือนจบระดับปริญญาโท ปริญญาเอกมาแล้ว ก็คือเรื่องการมองเรื่อง Local เป็นส่วนหนึ่งของ Global
แต่พอมาทำประเด็นเล็ก ก็ทำให้ได้รู้ว่าการมองในระดับ Local จริง ๆ ก็มีเรื่องที่มักจะถูกมองข้ามไปในการมองแบบภาพรวมขนาดใหญ่ เช่น เรื่องพื้นฐานทางจิตใจของผู้คน หรือเรื่องความใกล้ตัวที่คนดูทุกคนสามารถเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตของตัวเองได้
และผลกระทบที่สำคัญที่สุด ของการที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ก็คือคนดูทุก ๆ คนสามารถทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านั้นได้
ความตั้งใจของผมและทีมงานเสมอมา คือความพยายามสร้างผลกระทบทางสังคมจากงานที่พวกเราทำ ซึ่งบางทีก็ทำได้บางทีก็ทำไม่ได้ หรือบางทีก็ไม่รู้จะวัดผลกระทบของงานตัวเองอย่างไร แต่พอพวกเราได้ทำ Covid Hero งานที่ออกไปมันได้กลายเป็นเงินบริจาค ของบริจาค แรงอาสา และกำลังใจที่ส่งให้คนที่ทำงานในพื้นที่ทุก ๆ คน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นในเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่รายการถูกปล่อยออกไป และมันก็กลายเป็นผลงานที่เรียกความภูมิใจกลับมาให้ผมและทีมได้อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้รู้สึกว่างเปล่าอยู่หลายสัปดาห์ จากการที่ไม่รู้จะทำให้ตัวเองมีค่าได้อย่างไรในยุคโควิด
มาถึงตอนนี้ ถึงแม้ว่าในหลายประเทศ วิกฤติโควิดจะยังคงเป็นปัญหาระดับใหญ่อยู่ แต่ในประเทศไทย ตัวแปรทุกอย่างก็ชี้ไปยังทิศทางว่าทุก ๆ อย่างกำลังจะดีขึ้น และสถานการณ์คงจะกลับไปเป็นปกติ (เท่าที่จะปกติได้) ในเร็ววันนี้ สำหรับตัวผมเอง การหาเส้นทางกลับมาสู่การเล่าเรื่องระดับโลกเกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อนก็ยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ ซึ่งคงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และค่อย ๆ คลำหาทางกันไป แต่ขณะเดียวกัน แนวคิดในการทำงานใหม่ ๆ ที่ได้มาจากการปรับตัวในช่วงเวลานี้ ก็คงจะมีผลกระทบในการทำงานในอนาคต อย่างแน่นอน เพราะการเล่าเรื่องของสิ่งที่ใกล้ตัวและจับต้องได้จริง ๆ ก็มีความสำคัญ ทั้งสำหรับคนดู และจิตใจของผมและทีมงานเอง ที่จะได้พลังจากการรับรู้ว่าเรากำลังมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นจริง ๆ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
ในขณะที่เรื่องใหญ่ ๆ ก็ยังคงพยายามเต็มที่ต่อไป แม้ว่าจะเห็นแสงที่ปลายทางลำบากหน่อยก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา