เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดิฉันได้ฟังบรรยายเรื่อง “ธุรกิจร้อยปี” ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต มหาวิทยาลัยชื่อดังของญี่ปุ่น หนึ่งในสิ่งที่อาจารย์หลายท่านกล่าวถึง คือ ความ “ยิ่งใหญ่อย่างยั่งยืน” ของบริษัทในเกียวโต
ประเทศที่มีจำนวนบริษัทซึ่งอายุเกิน 100 ปีมากที่สุดในโลกนั้น คือ ประเทศญี่ปุ่น ส่วนเมืองที่มีบริษัทเก่าแก่เกิน 100 ปีมากที่สุด ก็คือเมืองเกียวโต
เกียวโต เคยเป็นเมืองหลวงเก่าแก่นับพันปี ศักดิ์ศรีใกล้เคียงกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้ในปัจจุบัน เกียวโต ก็ยังเป็นแหล่งกำเนิดบริษัท “ใหม่ ๆ” ที่มีชื่อเสียงระดับโลกออกมาอีกด้วย เช่น นินเทนโด้ (ค.ศ. 1889 = 129 ปี) วาโก้ ผู้ผลิตชุดชั้นใน (ค.ศ.1949 = 69 ปี) บริษัทเคียวเซร่า ผู้ผลิตเซรามิคและอะไหล่ในการผลิต (ค.ศ.1959 = 59 ปี)
หากดูอัตราการอยู่รอดของบริษัทแล้ว ใน
ญี่ปุ่น บริษัทที่อยู่ได้เกิน 30 ปี จะมีเพียง 0.02% เท่านั้น การที่บริษัทหนึ่ง ๆ จะอยู่มาได้ถึง 60-70 ปีนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าทึ่งทีเดียว
ที่สำคัญ ส่วนแบ่งการตลาดในระดับโลกของบริษัทใหญ่ในเกียวโตรุ่นหลัง ๆ นี้สูงอย่างผิดหูผิดตามาก บริษัทเคียวเซร่า มีส่วนแบ่งชิ้นส่วนเซรามิคร้อยละ 70 ของทั่วโลก ส่วนตัวเซนเซอร์จับการสั่นสะเทือนของบริษัทมูราตะ ก็มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 90 บริษัท Omron บริษัทที่จำหน่ายเครื่องมือตรวจวัดสุขภาพที่คนไทยรู้จักกันดี ก็มีส่วนแบ่งการตลาดเครื่องวัดความดันเลือดในบ้าน สูงถึงร้อยละ 50
บริษัทเกียวโตทั้งเก่าและใหม่นี้ มีวิธีการ
ทำธุรกิจอย่างไรให้ยิ่งใหญ่และยั่งยืน ?
1. จริงจังในการสร้างนวัตกรรม
บริษัทเกียวโตนั้น ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง บริษัทญี่ปุ่นทั่วไป ลงทุนพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีเฉลี่ยร้อยละ 3.2 แต่บริษัทในเกียวโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่ทำยอดขายได้สูงสุดในจังหวัด (กลุ่มนินเทนโด้ เคียวเซร่า) ตัดร้อยละ 5.7 ของรายได้มาทำนวัตกรรมเลยทีเดียว
นี่เป็นแค่วงการอิเล็กทรอนิกส์หรือเปล่า ?
คำตอบ คือ เปล่าเลยค่ะ แม้แต่บริษัทที่ผลิตผ้าขนหนู ผ้าเอนกประสงค์ (อายุ 400 ปี) ที่ดิฉันไปเยี่ยมชม เขาก็กล่าวด้วยความภูมิใจว่า บริษัทตนใช้เทคนิคการผสมสีที่ติดทนนาน และย้อมด้ายได้สีสวยกว่าที่อื่น ไม่มีที่อื่นทำได้
ผ้าเอนกประสงค์ (อายุ 400 ปี)
ที่มา blogs.yahoo.co.jp/
บริษัทเกียวโตเหล่านี้ตระหนักดีว่า หากไม่คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมา หวังพึ่งบุญเก่าไปเรื่อย ๆ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ตนเองอาจจะอยู่ไม่ได้ หรือคู่แข่งก็จะไล่แซงมาได้ จึงต่างใส่ใจกับการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าบริษัทเสมอ
2. หลีกเลี่ยงการแข่งขัน
ผู้ประกอบการไทยหลายท่านเกรงว่า หากทุ่มเททำนวัตกรรม แล้วโดนคนเลียนแบบ ก็จบเห่ไป
สำหรับบริษัทเกียวโตนั้น นอกจากจะมุ่งมั่นทำนวัตกรรมแล้ว พวกเขายังวางกลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างถึงที่สุด (Blue Ocean Strategy)
กรณีกลุ่มอิเล็กทรอนิคส์ อย่างเคียวเซร่านั้น กลยุทธ์พวกเขาคือ เลือกสินค้าหนึ่งมา แล้วทำให้ดีที่สุด พัฒนาให้ดีที่สุด ไม่พยายามทำสินค้าหลายอย่าง หลายแขนงจนเกินไป หากทุ่มเทคิดค้นสินค้าชนิดเดียวนั้น ให้ดีจริง ๆ คู่แข่งก็ยากที่จะเลียนแบบได้ในทันที
ยกตัวอย่างบริษัทมูราตะ จำหน่ายอะไหล่คุณภาพดีให้กับไอโฟน ผู้ผลิตจากจีนทำอย่างไรก็เลียนแบบยังไม่ได้ แอปเปิ้ลเอง หากจะซื้ออะไหล่บางตัว ก็ซื้อได้แค่จากมูราตะเช่นกัน มูราตะจึงกลายเป็นผู้กำหนดราคาในตลาดไป เพราะไม่มีบริษัทใดสามารถเลียนแบบสินค้าของมูราตะได้
แนวคิดนี้ คล้ายกับการทำกิโมโนในสมัยก่อน ในเมืองเกียวโตนั้น จะมีร้านที่ทำกิโมโนแต่ละขั้นตอน เช่น ร้านย้อมด้าย ร้านทอผ้า ร้านออกแบบไลน์ ร้านตัดเย็บ ซึ่งแต่ละร้าน ก็ทุ่มเทฝีมือในการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อส่งต่อสินค้าคุณภาพดีให้กับร้านอื่น ๆ ที่ทำขั้นตอนถัดจากตนได้
คนเกียวโต จึงไม่ได้น้อยใจหรือกังวลอะไรที่ตนเองทำสินค้าเพียง 1-2 ชนิด แต่กลับภูมิใจว่า พวกเขาเป็น Expert ในด้านนั้นเลย
3.ให้ความสำคัญกับสิ่งที่มองไม่เห็น
บริษัททั่วไป มักให้ความสำคัญกับผลประกอบการ การเติบโตขององค์กรเป็นส่วนใหญ่ แต่บริษัทในเกียวโต ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับทรัพย์สินที่มองไม่เห็น เช่น คน เทคโนโลยี การถ่ายทอดความเชื่อ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนการสร้างแบรนด์
กรณีบริษัทเคียวเซร่า
พนักงานเข้าใหม่ทุกคน จะต้องผ่านการอบรมเบื้องต้น 10 วัน ซึ่งในการอบรมนี้ พนักงานจะได้เรียนรู้ปรัชญาบริษัท ความเป็นมา ได้พูดคุยกับผู้บริหารระดับสูง เพื่อเข้าใจที่มาของบริษัท และซึมซับ “จิตวิญญาณแห่งเคียวเซร่า” ให้ได้มากที่สุด เมื่อผ่านการอบรม ก็จะมีระบบ Mentor และต้องฝึกพัฒนาฝีมือไปเรื่อย ๆ
แผนภาพการอบรมของพนักงาน Kyocera ทุกระดับ
cr. kyocera.co.jp/
บริษัทเกียวโตเชื่อว่า หากไม่สนใจในทรัพย์สินที่มองไม่เห็นเหล่านี้ ไปสนใจกับตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว บริษัทจะไม่สามารถทำกำไรหรือเติบโตได้ยาวนาน ทรัพย์สินที่มองไม่เห็นเหล่านี้ต่างหาก จะทำให้ลูกค้าไว้ใจ และหมั่นสร้างคุณค่าใหม่ ๆ เพื่อให้บริษัทเติบโตไปได้
บางบริษัทอาจฝันเป็นยักษ์ใหญ่ พยายามทำทุกอย่าง และขยายอาณาจักรทางธุรกิจไปให้มากที่สุด แต่อาจต้องฟาดฟันกับคู่แข่งมากหน้าหลายตาได้ ส่วนบริษัทในเกียวโตนั้น แม้จะเป็นยักษ์เล็ก ๆ แต่ก็มีเกาะเป็นของตัวเอง เป็นใหญ่ในเกาะนั้น โดยไม่ต้องทะเลาะกับใคร
วิถีไหนถูกจริตท่าน ลองเลือกก้าวเดินดูค่ะ