ขายของ online ให้เด่นด้วยวิธีทำ Content Marketing สไตล์ญี่ปุ่น

ขายของ online ให้เด่นด้วยวิธีทำ Content Marketing สไตล์ญี่ปุ่น

By เกตุวดี Marumura

คุณผู้อ่านเคยดูสินค้าบนเว็บแล้วรู้สึก “อยากได้!” ภายใน 3 วินาทีไหมคะ


อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณผู้อ่านรู้สึกเช่นนั้น แน่นอน ภาพสินค้าสวยงามสามารถดึงความสนใจของลูกค้าได้ แต่สิ่งที่ส่งผลให้คนรู้สึกอยากซื้อก็คือ สโลแกนและคำอธิบายคุณสมบัติสินค้าค่ะ

ร้านออนไลน์ในไทยส่วนใหญ่จะพรรณนาคุณสมบัติสินค้าในร้านตรง ๆ เช่น “กล่องใส่นาฬิกา 10 ช่อง” “ขวดโหลแก้วใสเอนกประสงค์” แต่นี่คือตัวอย่างของสินค้าหมวดเดียวกันในเว็บญี่ปุ่นค่ะ
 
“เซ็ตกล่องพลาสติก 7 ชิ้น ที่ช่วยทำให้ตู้เย็นคุณดูเป็นระเบียบขึ้น”
 
“กล่องใส่นาฬิกาเรือนสำคัญของคุณ ช่วยปกป้องจากฝุ่นและความชื้น”

แค่อ่านก็เคลิ้มแล้วนะคะ

หรือเมื่อแบรนด์ไทยที่ไปอยู่ในมือนักการตลาดญี่ปุ่น คอนเซ็ปต์สินค้าก็ยิ่งถูกปรับให้อ่านดูน่าซื้ออีก เช่น
 
“กระเป๋าเครื่องสำอาง handmade สุดเก๋ พร้อมกระจกจิ๋วด้านใน (แบรนด์ Naraya)”
 
“สัมผัสประสบการณ์สปาสุดหรูที่บ้านของท่านเอง (แบรนด์ Harnn)”

นักการตลาดญี่ปุ่นทำอย่างไรถึงได้ประโยคเก๋ ๆ เช่นนี้ได้ บทความนี้มีสองเทคนิคใหญ่ที่นักการตลาดญี่ปุ่นใช้ในการตั้งชื่อหรือสโลแกนสินค้ามาฝากค่ะ

1. ยืมคำพูดจาก (ปาก) ลูกค้า 


วิธีนี้เหมาะสำหรับนักการตลาดหรือผู้ประกอบการที่ยังไม่แน่ใจว่าจะนำเสนอจุดขายของตัวเองอย่างไรดี การยืมคำพูดจากลูกค้าปัจจุบันว่า ลูกค้าพูดถึงแบรนด์เราว่าอย่างไร โดยเราสามารถถามลูกค้าด้วย 3 คำถามง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
  1. ก่อนซื้อสินค้าตัวนี้ คุณเคยมีปัญหาอะไรบ้าง
คำถามข้อนี้จะทำให้นักการตลาดเห็นกลุ่มเป้าหมายสินค้าชัดขึ้น ลูกค้าที่เคยมีปัญหาเป็นคนกลุ่มใด โดยเราจะเห็นภาพลูกค้าที่ละเอียดขึ้น เช่น “ผู้หญิงทำงานวัย 30 ปี” หรือ “มนุษย์เงินเดือนที่ชีวิตรีบเร่ง แทบไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ”
  1. พอเห็นสินค้าตัวนี้แล้วซื้อเลยหรือเปล่า ถ้ายังไม่ซื้อทันที เป็นเพราะอะไร
ข้อนี้ทำให้นักการตลาดเห็นสิ่งที่ควรปรับปรุง หรือสิ่งที่ควรนำเสนอ เช่น “ตอนแรก ยังไม่กล้าซื้อพิซซ่าแช่แข็งทานค่ะ เพราะดูไม่ดีต่อสุขภาพ” ทางบริษัทก็สามารถเขียนใน content ว่า “พิซซ่าที่ใช้เทคโนโลยี frozen แบบพิเศษ ไม่เสียคุณค่าทางอาหาร”
  1. อะไรที่ทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าตัวนี้
ข้อนี้ จะทำให้เห็นข้อดีหรือจุดเด่นสินค้าที่เหนือกว่าสินค้าคู่แข่งที่อาจคล้าย ๆ กัน

เมื่อถามคำถาม 3 ข้อเสร็จ ท่านอาจได้ไอเดียเขียนโปรโมทสินค้าแบบนี้ เช่น “พิซซ่าแช่แข็งสุดอร่อย ไม่ใส่สารกันบูด อบง่าย เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาเตรียมอาหารให้ลูก ๆ”
ขายของ online ให้เด่นด้วยวิธีทำ Content Marketing สไตล์ญี่ปุ่น

“พิซซ่าหน้าอัดแน่นไปด้วยซีฟู้ดสุดอร่อย
ใคร ๆ ทานแล้วก็ต้องอิ่มอกอิ่มใจ”
ขายของ online ให้เด่นด้วยวิธีทำ Content Marketing สไตล์ญี่ปุ่น

“ใส่เครื่องกว่า 11 อย่าง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ใคร ๆ ก็รัก”
ข้อมูลจากเว็บไซต์: rakuten

2. สามสไตล์คำพูดที่โดนใจลูกค้า 


ในวงการทำ content เรียกวิธีนี้ว่า QPC Analysis กล่าวคือ นักการตลาดญี่ปุ่นแบ่งคีย์เวิร์ดที่โดนใจลูกค้าเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ด้าน Quality (คุณภาพ) ด้าน Price (ราคา) และด้าน Convenience (ความสะดวกสบาย) ผู้ประกอบการสามารถดูได้ว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายน่าจะสนใจด้านไหน สินค้าของตนมีจุดเด่นด้านไหน แล้วหยิบคีย์เวิร์ดเหล่านั้นเข้ามาใส่ในสโลแกนสินค้า
 
ตัวอย่างคำศัพท์ใน QPC ที่สินค้าญี่ปุ่นมักใช้
ขายของ online ให้เด่นด้วยวิธีทำ Content Marketing สไตล์ญี่ปุ่น
  • ทำจากธรรมชาติ/ออร์แกนิค/ส่วนผสมจากธรรมชาติ
  • ภูมิปัญญาสมัยก่อน/แบรนด์เก่าแก่กว่า...ปี/คนโบราณมักใช้
  • ยอดฮิต/ขายดีอันดับ 1
  • ดาราฮอลลีวู้ดใช้/แบรนด์ดัง/หมอแนะนำ
  • คลายเครียด/รางวัลให้ตัวเอง
  • สด ใหม่/ทำเสร็จร้อน ๆ
ขายของ online ให้เด่นด้วยวิธีทำ Content Marketing สไตล์ญี่ปุ่น
  • ราคาถูก
  • คุ้มค่า/ลดพิเศษ
ขายของ online ให้เด่นด้วยวิธีทำ Content Marketing สไตล์ญี่ปุ่น
  • ง่าย/สำหรับมือใหม่/ใคร ๆ ก็ทำได้
  • น้ำหนักเบา พกพาสะดวก
  • ไม่เสียค่าจัดส่ง
  • สามารถโทรสอบถามได้ตลอดเวลา

ยกตัวอย่างเช่น หากจำหน่ายเสื้อผ้าเด็ก ถ้าคุณแม่ (ผู้ซื้อ) ห่วงด้าน Quality เช่น คุณแม่ที่มีลูกผิวบอบบาง บริษัทอาจนำเสนอจุดเด่นที่ว่า “เสื้อผ้าฝ้ายออร์แกนิคที่ปกป้องดูแลลูกน้อยคนสำคัญของคุณ” หากคุณแม่ห่วงด้าน Price อาจนำเสนอว่า “เสื้อผ้าฝ้ายคุณภาพเกรดเอจากโรงงาน ราคาย่อมเยา” แต่ถ้าเป็นคุณแม่ที่คิดถึง Convenience ความสะดวก อาจเป็น “เสื้อผ้าที่ใส่ได้นาน ซักง่าย ไม่ย้วย” หรือ “สั่งแค่ตัวเดียวก็พร้อมส่ง”

คุณผู้อ่านลองเดานะคะว่า Content เสื้อผ้าเด็กด้านล่าง เน้นด้านไหนของ QPC บ้าง ใบ้ว่ามีสองด้านค่ะ
 
ขายของ online ให้เด่นด้วยวิธีทำ Content Marketing สไตล์ญี่ปุ่น
  1. แขนเสื้อหลวม ๆ ไม่เสียดสีเวลาเด็กขยับตัว
  2. เย็บตะเข็บนอก เพื่อไม่ให้ตะเข็บบาดผิวลูกรักของท่าน
  3. ป้ายฉลากเย็บด้านนอก เพื่อไม่ให้โดนผิวเด็ก
  4. เชือกเย็บด้านใน ทำให้ชุดไม่หลุดง่าย
  5. ใส่ง่าย ถอดง่าย
  6. ใส่แล้วพุงไม่ป่อง
  7. กระดุมติดขากางเกง ไม่ให้ชุดหลุดง่าย
  8. สวมใส่ให้เด็กง่าย ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ หรือคุณแม่มือใหม่
ข้อมูลจากเว็บไซต์: rakuten

อ่านรายละเอียดด้านบนแล้วอยากซื้อไปฝากลูก ๆ หลาน ๆ กันเลยทีเดียว

ส่วนข้อสุดท้ายที่ดิฉันอยากฝากไว้ คือ ความซื่อสัตย์จริงใจ คุณสมบัติหรือจุดขายทุกอย่างที่บอกผู้บริโภคต้องเป็นสิ่งที่สินค้าเรามีจริง ทำได้จริง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการสร้างความคาดหวังให้กับผู้บริโภคมากเกินไปค่ะ

ลองนำสองเทคนิคข้างต้นไปใช้ในการเขียนสโลแกนสินค้าหรือทำ content นำเสนอผู้บริโภคนะคะ เครื่องมือทั้งสองอย่างจะช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นเสน่ห์หรือจุดแข็งของสินค้าตน ขณะเดียวกัน ได้คำนึงถึงลูกค้าว่าคือใคร ได้อย่างดีเลยค่ะ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา