คำถามยอดฮิตของ
มนุษย์เงินเดือน ในช่วงต้นปีแบบนี้หนีไม่พ้นคำถามเหล่านี้ ….. ยื่นภาษีได้ถึงเมื่อไร ? ยื่นภาษีทำยังไง ? หรือขั้นตอนยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ต? เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นภาษี นี่อาจเป็นบางส่วนของคำถามเกี่ยวกับการยื่นภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน วันนี้ Plearn เพลิน by Krungsri Guru จึงมีคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับภาษีบุคคลธรรมดา และ เรื่องหน้ารู้สำหรับภาษีของคนทำงาน
ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร และเมื่อใด? ก่อนอื่นมาทำความรู้จักประเภทของภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทได้แก่
ชื่อแบบ |
ใช้ยื่นกรณี |
กำหนดเวลายื่น |
ภ.ง.ด. 90 |
มีเงินได้พึงประเมินทุกประเภท |
มกราคม - เมษายน ของปีภาษีถัดไป |
ภ.ง.ด. 91 |
มีเฉพาะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 มาตรา 40 (1) ประเภทเดียว |
มกราคม - เมษายน ของปีภาษีถัดไป |
ทั้งนี้การยื่นภาษีทั้งสองกรณีสามารถยื่นแบบภ.ง.ด. 90/ 91 สามารถทำได้โดยการกรอกแบบฟอร์ม แล้วส่งไปยังกรมสรรพากร หรือสามารถยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต โดยในปี 2562 นี้สามารถยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต ได้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 9 เมษายน 2562 โดยหลักการง่าย ๆ ของการคำนวณภาษีคือ
(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
ทีนี้หลังจากที่ได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ที่แจงรายละเอียดสรุปรายได้ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง หรือ
โบนัสจากทางบริษัทฯ และรวบรวมเอกสารลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เมื่อครบถ้วนก็สามารถกรอกแบบฟอร์มได้เลย
แนะนำขั้นตอนการยื่นแบบฯทางอินเทอร์เน็ตโดยสรุปดังนี้
- เข้าไปยังเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่ www.rd.go.th เลือกรายการการบริการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Service) สำหรับบุคคลธรรมดา
- หากเป็นการเข้าสู่ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนก่อน โดยต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ระบบจะแสดงหมายเลขผู้ใช้งาน (User Name) และรหัสผ่าน (Password) บนหน้าจอ
- เลือกรายการบริการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 แล้วแต่กรณี ในกรณีที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้แค่เงินเดือนประจำเท่านั้นจะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 แต่มีรายได้จากแหล่งอื่นให้ยื่นเป็น ภ.ง.ด.90
- เข้าระบบโดยใช้หมายเลขผู้ใช้ (User Name) และรหัสผ่าน (Password)
- ป้อนรายการข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ รายการเงินได้ ค่าลดหย่อน เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ฯลฯ หากครบแล้วคลิก "ตกลง" เพื่อยืนยันการยื่นแบบฯ
- เมื่อได้ตรวจสอบรายการข้อมูลที่บันทึกและสั่งให้ระบบ "คำนวณภาษีแล้ว"
- การแสดงผลของการยื่นแบบฯ โดยเราสามารถตรวจสอบข้อมูลหลังจากที่ยื่นเอกสารประมาณ 1 วันทำการ ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร (epit.rd.go.th)
- ในกรณีไม่มีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม หน้าจอจะแสดงผลการรับแบบและหมายเลขอ้างอิงเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบฯ และกรมสรรพากรจะส่งใบเสร็จรับเงินไปยังที่อยู่ตามที่ลงทะเบียนไว้
- กรณีมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม สามารถเลือกวิธีการชำระภาษีได้ ทั้งผ่าน e-payment หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร โดยระบบจะแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร รหัส ควบคุม และจำนวนภาษีที่ต้องชำระ และดำเนินการตามขั้นตอนของ ธนาคารนั้น ๆ หรือหากเลือกวิธีชำระผ่านเคาน์เตอร์ไปรษณีย์อัตโนมัติ (pay at post) ได้ที่ไปรษณีย์ใกล้บ้าน
นอกจากจะรู้วิธีการยื่นภาษีอย่างมืออาชีพแล้ว อย่าลืมวางแผน
ลดหย่อนภาษีอย่างมืออาชีพด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนแบบระยะยาวที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ อย่างกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือจะเป็น
ประกันชีวิต เป็นต้นครับ