เทคนิคบริหารเงินให้งอกเงย พิชิตเงินก้อนก่อนเรียนจบ

เทคนิคบริหารเงินให้งอกเงย พิชิตเงินก้อนก่อนเรียนจบ

By Krungsri Plearn Plearn

ชีวิตวัยเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน หลายคนสนุกสนานกับการได้เจอเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ ได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ได้ออกไปเที่ยว สังสรรค์ แต่ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้ก็มาพร้อมกับภาระ หรือค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน ซึ่งน้องๆ อาจจะต้องมาทบทวนรายจ่ายกันสักนิด เพื่อดูว่าเราจะมีวิธีบริหารจัดการการเงินอย่างไรให้เหมาะสม ไม่ใช้จ่ายมากจนเกินตัว รวมไปถึงการวางแผนสร้างรายได้ให้เงินงอกเงย มีเงินเก็บเมื่อเรียนจบ เพื่อเตรียมตัวก้าวสู่วัยทำงานต่อไป

อันดับแรกที่น้องๆ ต้องทำ คือ การสำรวจรายจ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน เพื่อที่จะรู้ว่าเราจะมีเงินเหลือเพื่อนำมาเก็บออมหรือนำมาลงทุนต่อยอดในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งรายจ่ายต่างๆ ของน้องๆ วัยเรียนนั้นมักจะหนีไม่พ้น

  • ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่ากิจกรรมต่างๆ และของใช้ส่วนตัว หรือบางคนที่อยู่หอพัก ก็จะต้องเสียค่าเช่าที่พักรายเดือนด้วย รายจ่ายในส่วนนี้บางอย่างเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่ไม่สามารถลดได้ แต่บางอย่างเราก็ควบคุม ได้ ซึ่งถ้าเราพิจารณาดีๆ เราอาจจะมีเงินเหลือเงินเก็บมากขึ้นหากเราประหยัด เช่น ค่าอาหาร ค่าขนม ค่าไปเที่ยว ดูหนัง เป็นต้น
  • ค่าหนังสือ / พริ้นท์เลกเชอร์ / ซีร็อกซ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอนเพราะนักศึกษาต้องใช้ควบคู่ไปกับการเรียน จึงต้องไม่ลืมที่จะเตรียมเงินไว้สำหรับส่วนนี้ โดยเฉพาะช่วงใกล้สอบ ที่อาจจะต้องกันเงินเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ
  • ค่าอุปกรณ์การเรียน ไม่ใช่แค่ค่าสมุด ปากกาเท่านั้น แต่ในบางสาขาวิชาอาจมีอุปกรณ์เฉพาะที่ต้องใช้ เช่น สาขาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอย่างสถาปัตยกรรมที่ต้องทำโมเดล ซึ่งอุปกรณ์บางอย่างสมัยนี้ราคาค่อนข้างสูง หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ / โน้ตบุ๊ก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาขาดไม่ได้ จริงอยู่ที่มหาวิทยาลัยก็มีบริการห้องคอมพิวเตอร์ แต่ก็อาจไม่เพียงพอที่จะรองรับนักศึกษาในช่วงที่ทุกคนต่างเร่งทำรายงาน การมีคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กเป็นของตัวเองก็เป็นทางเลือกที่ดี ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็วให้แก่น้องๆ ดังนั้นจึงอาจเผื่อเงินสำหรับการเป็นเจ้าของอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย
  • ค่าศึกษาดูงานนอกสถานที่ สำหรับนักศึกษาในสาขาวิชาการท่องเที่ยว หรือสาขาวิชาอื่นๆ อาจมีความจำเป็นต้องลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาดูงานและเสริมสร้างประสบการณ์ ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น
  • ค่าเทอม ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้น้องๆ บางคนอาจมีผู้ปกครองดูแล แต่บางคนอาจต้องเรียนไปทำงานไปหาเพื่อเงินส่งตัวเอง ซึ่งหากเป็นอย่างหลังก็ถือเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ต้องจ่ายค่าเทอมทุกเดือน แต่ถือได้ว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ที่จะต้องเตรียมไว้ทุกภาคการศึกษา เป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนการเก็บออมและใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
  • ค่าใช้จ่ายระหว่างฝึกงาน ในช่วงชั้นปีที่ 3-4 น้องๆ แทบทุกคนน่าจะต้องไปฝึกงานเพื่อได้รับประสบการณ์จริง ซึ่งบางหน่วยงานจะให้ค่าตอบแทน แต่บางที่ก็ไม่ให้ ฉะนั้นน้องๆ ควรมีเงินเผื่อไว้สำหรับการเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย
หลังจากที่สำรวจรายจ่ายในแต่ละเดือนแล้ว ลองมารู้จักเทคนิคต่างๆ ที่นักศึกษาอย่างเราสามารถทำได้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการจัดการด้านการเงินก่อนจะก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งถ้าน้องๆ ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ก็อาจจะมีเงินเก็บเป็นก้อน พร้อมสำหรับก้าวต่อไปหลังเรียนจบ ไม่ว่าจะลงทุนทำธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง หรือไว้สำหรับเรียนต่อก็ได้
  • ทำงานเสริมเพื่อสร้างรายได้ ปัจจุบันกิจการร้านค้าต่างๆ ได้เปิดตัวขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของ ร้านอาหารหรือร้านขนม ทำให้ความต้องการพนักงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับน้องๆ ที่มีเวลาว่างจากการเรียนสามารถสมัครเข้าทำงานพาร์ตไทม์ได้ โดยเลือกงานที่เหมาะสม ปลอดภัย และช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเรา
  • บริหารจัดการเงิน เป็นเรื่องที่ควรคิดและลงมือทำตั้งแต่อยู่ในวัยเรียน โดยเฉพาะการวางแผนการใช้จ่ายให้ได้รับประโยชน์สูงสุดในทุกๆ การใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า ซึ่งน้องๆ อาจยังไม่รู้ว่าการใช้บัตรเครดิตเป็นหนึ่งในตัวช่วย เพราะมีสิทธิประโยชน์ โปรโมชั่น ส่วนลด เครดิตเงินคืนและแต้มสะสมมากมาย สามารถใช้ผ่อนสินค้า 0% ได้ด้วยทำให้เราไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในคราวเดียว นอกจากนี้การใช้บัตรเครดิตยังช่วยสร้างเครดิตทางการเงินในระบบซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการทำธุรกรรมกับธนาคารในอนาคต เช่น การขอสินเชื่อบ้าน รถยนต์ หรือสินเชื่อเพื่อการทำธุรกิจ เป็นต้น
  • ออมเงิน ควรจัดสัดส่วนการออมเงินในแต่ละเดือนให้ชัดเจน ซึ่งต้องออมก่อนใช้จ่ายเสมอ ทั้งนี้สามารถเพิ่มเงินออมโดยลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย หรือไม่จำเป็นลง วิธีการออมที่เหมาะสมกับวัยเรียน คือ การออมเงินใน “บัญชีเงินฝากประจำ” ซึ่งคือการฝากเงินเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือน เพราะทำให้เราเก็บออมสม่ำเสมอทุกเดือน แถมยังได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ปกติ
  • ลงทุนในรูปแบบต่างๆ ยุคสมัยใหม่นี้น้องๆ วัยเรียนหลายคนสามารถทำงานหาเงินได้เอง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวม ที่ทำให้เงินของเราเติบโตงอกเงยผ่านการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นลงทุนได้ง่ายๆ เพียง 500 บาทเท่านั้น ซึ่งสมัยนี้เราสามารถซื้อ-ขายกองทุนรวมได้สะดวก รวดเร็วผ่านโมบาย แอพพลิเคชั่นของสถาบันการเงินต่างๆ
บทความโดย ขวัญชัย รุ่งเรืองกอสว่าง AFPT™ กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
คนรุ่นใหม่ใครๆ ก็ลงทุนในกองทุนรวม
ขอบคุณข้อมูลจาก: www.hotcourses.in.th ,www.hotcourses.in.th ,www.thairath.co.th
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow