โอกาสและความท้าทายที่มาพร้อมกับ AEC 2015

โอกาสและความท้าทายที่มาพร้อมกับ AEC 2015

By Tim Pita

“เราต้องมองประเทศกลุ่มอาเซียนเป็นเหมือนปิรามิด มี CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) เป็นฐาน ประเทศสิงคโปร์ บรูไน เป็นหัว ไทยเรา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อยู่ตรงกลาง “แล้วใช้ประเทศในจุดแข็งของแต่ละส่วนอย่างมียุทธศาสตร์” นี้คือแนวคิดของผมที่กล่าวต่อหน้าพนักงาน บริษัทซีอีโอ อกริฟู้ด ของผม เมื่อตอนงานเลี้ยงปีใหม่ของบริษัทที่ผ่านมา

8 เดือนผ่านไป ถึงตอนที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ ห้องประชุมบริษัทมีคนมาเยี่ยมเยียนไม่ขาด ไม่ว่าจะเป็นคนขายวัตถุดิบจากเวียดนาม ลูกค้าจากอินโดนีเซีย นักลงทุน Angel Investor จากมาเลเซีย ธนาคารจากสิงคโปร์ สมาคมโรงสีข้าวจากพม่า ผ่านผู้ถือหุ้นชาวญี่ปุ่น ตราอาหารฮาลาลสำหรับตลาดบรูไน ไม่ว่าจะชอบ ไม่ชอบ จะรู้ ไม่รู้ จะตื่นตัว ไม่ตื่นตัว ประชาคมอาเซียนกำลังเขยิบเข้ามาประชิดตัวผมเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การรวมตัวเป็นประชาคม (Regional Integration) ของระบบเศรษฐกิจรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนั้น ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดทั้งผู้ได้และผู้เสีย จากโอกาสและวิกฤตินั้น ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้นำและทีมผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะเดินหมากรุกให้คว้าโอกาส และแทงสนุ้กไม่ให้วิกฤติเข้าตัวได้
ในแง่ของโอกาสนั้น เมื่อประชาคมอาเซียนรวมตัวกันเราจะมี GDP 2,913 Billion* สามารถที่จะเป็น BRIC Nation ได้เลยทีเดียว Brazil มี GDP 2,179 Billion* และ Russia มี GDP 2,226 Billion จำนวนประชากรเป็น 532 ล้านคน ในขณะที่ Brazil มี 191 ล้านคน Russia มี 142 ล้านคน ตลาดที่ใหญ่ขึ้น อำนาจต่อรองที่มากขึ้น การเคลื่อนไหวของเงินทุน กำลังคน เทคโนโลยี และวัตถุดิบ ที่จะทำให้โอกาสในการซื้อ ผลิต ขาย มีตัวเลือกมากขึ้นได้เห็นได้ชัด
ส่วนวิกฤตินั้นมีทั้งจุลภาคและมหภาค แน่นอนที่สุดวิกฤติที่จะตามมาจากการที่คู่แข่งที่ผลิตอะไรคล้ายๆ กัน เช่น สินค้าการเกษตร ย่อมหมายถึง การแข่งขันที่มากขึ้น เมื่อเรารุกเขาได้ เขาก็สามารถมารุกเราได้เหมือนกัน ข้อนี้คงปฏิเสธไม่ได้ และสามารถเข้าใจได้ไม่ยากนัก ส่วนในแง่มหภาค ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือสหภาพยุโรปที่เป็นคนป่วยหนักมาเกือบทศวรรษ เมื่อสเปนจาม กรีซจาม เยอรมันก็ติดหวัดไปด้วย ด้วยการที่ระบบเศรษฐกิจ ระบบทรัพย์สิน หนี้สิน การกู้ยืมกันในระบบ มันเกี่ยวข้องกันไปหมด เมื่อใกล้ชิดกันมากขึ้นมากกว่าเพื่อนบ้านที่แชร์รั้วเดียวกัน เวลาดีก็ดีด้วยกัน แต่เวลาทุกข์นี้จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน เราสามารถเรียนรู้อะไรจากการรวมตัวของยุโรปตั้งแต่ Maastricht treaty ปี 1992 ได้หรือไม่?
ในปี 1992 กลุ่มอียู รุ่นแรกๆ ตกลงร่วมใช้เงินสกุลเดียวกัน โดยมีข้อแม้ สำหรับสมาชิกว่าห้ามมีหนี้สาธารณะเกิน 60% ของ GDP ห้ามมี Government Deficits เกิน 3 % ของ GDP รัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียนควรจะเรียนรู้ว่าควรมีการตั้งเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การมอนิเตอร์หรือการควบคุมเงื่อนไขนั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ประเทศสมาชิกที่ป่วย เช่น กรีซ มีหนี้สาธารณะ 142 % อิตาลี มี 119% มันถูกต้องหรือไม่ ที่ประเทศอย่าง เอสโทเนีย กับเยอรมัน ใช้เงินสกุลเดียวกัน และยอมเสียความยืดหยุ่นในการบริหารคลังตามความเหมาะสบของสภาพเศรษฐกิจนั้นๆ เพื่อให้ได้ความเอกภาพของประชาคม เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องคิดไตร่ตรอง และทำงานกับเพื่อนบ้านเราว่าจะเชื่อใจกันได้หรือไม่ และประคับประครองกันไม่ให้คนใด คนหนึ่งป่วยไป ไม่ให้ซ้ำรอยเดิมของยุโรป
สำหรับภาคเอกชน โดยเฉพาะ SME อย่างพวกผม สิ่งที่ต้องเตรียมตัว คงไม่มีอะไรวัดได้ดีกว่า “ความสามารถในการแข่งขัน” ที่พร้อมจะแข่งกับทั้งในและนอกอาเซียน การสร้างกลุ่มก้อนคลัสเตอร์จากฐานการผลิตที่ต้นทุนต่ำกว่าไทย หรือ CLMV เป็น “Raw material base” การใช้ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็น “Production base” การใช้ สิงคโปร์ เป็น “Trading base” และตั้งโซ่มูลค่าขึ้นมาใหม่แทนที่ คือสิ่งที่พวกเราต้องทำ พูดง่ายๆ คือ การเอาจุดแข็งของแต่ละประเทศมาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้เราสามารถคว้าโอกาสและป้องกันวิกฤติจากประชาคมอาเซียนได้
สิ่งต่อไปที่พวกเราต้องทำ คือ การเตรียมตัวให้ “เข้ากับเขาได้” หรือ Integrate กับชาวบ้านชาวช่องเขาได้ ซึ่งสิ่งสำคัญ 2-3 ประการ ที่คิดว่าทุกธุรกิจต้องทำเพื่อให้ได้มาตรฐานที่พร้อมจะเข้าร่วมกับเขาได้นั้นคงหนี้ไม่พ้น
1. ความพร้อมทางมาตราฐานคุณภาพกับสิ่งแวดล้อม – ไม่ว่าจะเป็น GMP, HACCP, ISO9001, ISO22000, ISO14000, Halal หรือตรา Kocher เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าเป็นการเสียเวลาไม่ได้ ยิ่งอาเซียนเข้ามาใกล้เท่าไร สิ่งเหล่านี้ยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น
2. ความพร้อมทางภาษาและ Manpower – อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กแต่ภาษาอังกฤษเป็นช่องทางการสื่อสารที่ผู้บริหารควรให้ความสำคัญให้ระดับพนักงานก็สามารถพูดได้ด้วย ไม่มีผู้ยิ่งใหญ่คนไหนให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กแค่นี้เท่ากับ ลี กวน ยู ผู้สร้างประเทศสิงคโปร์ (ถ้าท่านมีเวลา ลองหาบทความของ ลี กวน ยู อ่านดูครับ)
3. ความพร้อมของผลิตภัณฑ์ และเครื่องหมายการค้า –สินค้าที่ถูกกว่าจากประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา จะเข้ามาตีตลาดเราเมื่ออาเซียนเปิด ไทยคงไม่สามารถลดต้นทุน ค่าวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าครองชีพลงไปแข่งกับเขาได้ เมื่อ “ลง” ไม่ได้ ก็ต้อง “ขึ้น” อย่างเดียว จะขึ้นได้ ขายแพงได้ ต้องมี 1) นวัตกรรม หรือ 2) ตราเครื่องหมายการค้า ในขณะที่ สิงคโปร์ เป็น Your Singapore, นิวซีแลนด์ เป็น 100% Pure New Zealand, อินเดีย เป็น Incredible India, เกาหลี เป็น Korea : Be Inspired
แน่นอนว่าถึงเวลาที่จะทำให้จุดยืนของประเทศไทยเด่นชัดขึ้นมา เพื่อให้การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนเป็น “ทรัพย์สิน” ไม่ใช้ “หนี้สิน” เป็นก้าวกระโดดที่จะให้ประเทศไทยยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใครในโลก
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow