โอ๋ P2Warship จากนักดนตรี สู่การเป็นเกษตรกรเต็มตัวด้วยแนวคิดอยู่อย่างพอเพียง

โอ๋ P2Warship จากนักดนตรี สู่การเป็นเกษตรกรเต็มตัวด้วยแนวคิดอยู่อย่างพอเพียง

By Krungsri Academy

“เราไม่เคยมองว่าจะต้องไปแข่งกับใคร หลักการที่ผมทำ คือ ทำตามในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านว่า อยากให้เกษตรกรมีพอกิน เหลือจากกินก็แบ่งปันญาติพี่น้อง เหลือจากนั้นก็เอาไปขาย ซึ่งเรามีกำไรก็ตั้งแต่เรามีพอกินละ พอเริ่มสุขภาพชีวิตดีขึ้นเราก็เอาไปขาย พอผมเริ่มอย่างนี้ก็ไม่รู้สึกว่าเราต้องขายแข่งกับใคร ๆ”

ถ้าย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2548 เชื่อได้เลยครับว่าหลายคนคงคุ้นกันดีกับเพลง จอมยุทธ์ จากศิลปิน P2Warship เพราะสมัยนั้นเรียกได้ว่าไปที่ไหนก็ได้ยิน คลื่นวิทยุไหน ๆ ก็เปิดกันแทบทั้งวัน และวันนี้เราก็มีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของบทเพลงนี้ กับคุณโอ๋-ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล แห่งวง P2Warship ซึ่งเขาไม่ได้มาในฐานะศิลปิน แต่ผันตัวสู่การเป็นเกษตรกรเต็มรูปด้วยแนวคิดอย่างพอเพียง อะไรที่ทำให้เขาเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ และวิถีชีวิตทุกวันนี้มอบความสุขให้กับเขาอย่างไรบ้าง
โอ๋ P2Warship
โอ๋ ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล ศิลปินวง P2Warship

จุดเปลี่ยนหลักที่ทำให้ “ศิลปิน” ระดับประเทศ ก้าวเท้าเข้าสู่บทบาทของ “เกษตรกร” เต็มตัว

คงเป็นความสงสัยและคาใจของใครหลาย ๆ คนที่ศิลปินสักคนหนึ่งจะหันหลังจากวงการ และก้าวเข้าสู่วิถีธรรมชาติ มุ่งหน้าหาความพอเพียง ต้นเหตุจริง ๆ นั้นมาจากอะไร ซึ่งคุณโอ๋ได้อธิบายเอาไว้ที่นี่แล้ว
“ผมทำมาหลายอย่างครับ เรียนจบมาด้านออกแบบ เคยช่วยญาติทำจิวเวลรี่ มีช่วงหนึ่งไปร้องเพลง ทำอัลบั้มกับเพื่อน ๆ ด้วย วันหนึ่งเรารู้สึกว่าเราทำงานหนัก และไม่ได้ในสิ่งที่เราอยากได้สักที เราคิดว่าเราอยากจะตามล่าหาความสุข แต่เราไปไม่ถึงจุดนั้นสักที เพราะมันไม่เคยมีความพอ หามาก็อยากได้อีก มันก็ไม่ถึงจุดนั้นสักที เลยคิดว่าถ้าเราหยุดทำแล้วเราจะมาทำอะไร แล้วช่วงนั้นเขาฮิตทำสนามฟุตบอลกัน ก็เลยคิดจะมาทำที่บ้าน เพราะมีที่อยู่พอดีก็เลยมาทำสนามฟุตบอล”
“วันหนึ่งน้ำท่วมกรุงเทพฯ แม่ผมเลยอพยพมาอยู่ด้วย และแม่ก็ทำให้เห็นว่าเราสามารถปลูกผักกินเองได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่คนอื่นเขามีปัญหาเรื่องอาหาร แต่เรากลับไม่มี เรามีพืชผักกินทุกวัน วัน ๆ ไม่ต้องทำอะไร ตื่นมาปลูกผักกิน เลยรู้สึกว่าเราอยู่อย่างพอเพียงอยู่หรือเปล่า เท่านั้นแหละครับ มันมีคำว่าพอเพียงเข้ามาในชีวิต ก็เลยเริ่มมาทำเกษตรเลย”

สิ่งที่ยากที่สุดหลังตัดสินใจเบนชีวิต สู่วิถีเกษตรกร พร้อมจุดเริ่มต้นจากศูนย์จนถึงทุกวันนี้

การลงมือทำอะไรสักอย่างที่เราไม่มีความรู้มาก่อนเลย ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก และไม่มีทางสำเร็จได้ ซึ่งนั่นเป็นเพียงความคิดของคนทั่วไป ไม่ใช่ของคุณโอ๋แน่นอน เพราะความยากที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เรื่องของความรู้ แต่เป็นเรื่องของจิตใจต่างหาก
“สิ่งที่ยากที่สุดคือเรื่องใจ ถ้าเราคิดว่าจะทำ แล้วเราทำมันก็จะไม่ยาก สิ่งที่ยาก คือ เราคิดว่าเราไม่มีความรู้ แล้วมันจะยาก ซึ่งในความเป็นจริงเราสามารถหาความรู้มาเติมเข้าไปได้ แต่จังหวะการตัดสินใจและเริ่มลงมือทำนี่แหละ ที่ต้องใช้ความกล้านิดนึง ซึ่งเราเริ่มต้นจากไม่มีความรู้อะไรเลย หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ไปแนะนำตัวในเว็บไซต์เกษตรพอเพียง มีปัญหาอะไรก็ถามเขาในนั้น ก็จะมีกูรูมาตอบเต็มไปหมด วันนึงเขาก็ชวนเราไปเรียนคอร์สปลูกผักของเจ้าชายผัก หลังจากนั้นก็เป็นเพื่อนกัน คอยปรึกษา และขอเทคนิคต่าง ๆ จากหลาย ๆ คน”
“เราตั้งใจว่าอยากอยู่อย่างพอเพียงและเดินตามรอยพระองค์ท่าน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เลยเริ่มต้นลงมือทำด้วยการมองหาตัวเองก่อนว่า เรามีต้นทุนอะไรในการทำตรงนี้บ้าง ผมมีสนามบอลอยู่ไร่นึง ก็เอาตรงนี้แหละเป็นโจทย์ และค้นหาจากคำนี้ก็ไปเจอโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ เราก็ศึกษาจากการท่องเว็บเลยว่าเขาทำกันยังไง และดัดแปลงมาใช้กับพื้นที่เรา”
โอ๋ P2Warship

ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “อยู่ อย่าง พอ เพียง”

“คนส่วนใหญ่ที่ผมคุยด้วยเขาจะรู้สึกว่าอยู่อย่างพอเพียง คือ อยู่อย่างจน ๆ ไม่ต้องใช้เงินมาก ไม่ต้องหาเงินเยอะ ซึ่งมันไม่ใช่ พระองค์ท่านไม่เคยสอนให้เราจนเลย พระองค์ท่านสอนให้เรารู้จักตัวเอง ว่าเราต้องการอะไรแค่ไหน ใช้อะไรแค่ไหน แล้วค่อยใช้แค่นั้น หาแค่นั้น และใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อเป็นหลักสร้างความสุข หรือจะหาเก็บกองไว้ใช้ในอนาคตก็ได้ ถ้าเรารู้จักตัวเอง ไม่หลอกตัวเอง ก็จะรู้ว่าเราคือใคร ต้องการอะไรแค่ไหน เราไม่ใช้เกินตัว เราก็จะมีความสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้”

ความต่างระหว่าง การทำเกษตรใน “กรุงเทพฯ” กับการทำเกษตรใน “ชนบท”

หลายคนอาจคิดว่าการทำเกษตรนั้นอยู่ที่ไหนก็ทำได้เหมือน ๆ กัน ไม่ว่าจะในเมือง หรือต่างจังหวัดก็สามารถปลูกพืช ปลูกผักได้โดยใช้ทฤษฎีเดียวกัน ซึ่งตรงนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์เลยล่ะครับ
“มันต่างกันเยอะมากนะครับ ทั้งเรื่องปัจจัยทางกายภาพ เรื่องดิน เรื่องวัตถุดิบที่จะใช้ ฟาง ขี้วัว ขี้ไก่ เศษแกลบ อะไรพวกนี้หายากหมด ต้องใช้การสั่งเยอะ ๆ มาทีเดียว หรือรวมกลุ่มกันทำก็จะทำให้จัดการง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องอุปสรรคมันเป็นเรื่องทั่วไปมาก ทุกคนที่เริ่มต้นทำอะไรใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนต้องมีอุปสรรคอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าเรามองมันเป็นอุปสรรคหรือประสบการณ์ ถ้าเรามองมันเป็นประสบการณ์เราก็จะจำมันไว้และไม่ทำอีก”

ประสบการณ์ทุกอย่างในชีวิตไม่เคยสูญเปล่า อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นและนำมันมาใช้งานอย่างไรเท่านั้นเอง

ถึงจะดูเหมือนว่าอาชีพเดิมของคุณโอ๋ที่เคยเป็นทั้งศิลปิน และมีธุรกิจเป็นของตัวเองนั้นจะห่างไกลจากคำว่าเกษตรเหลือเกิน แต่เชื่อไหมว่าประสบการณ์ทุกอย่างในชีวิตคนเราไม่เคยสูญเปล่า เราสามารถหยิบยกมันมาใช้ในการดำเนินชีวิตของเราต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นหนทางเหล่านั้นได้มากกว่ากันเท่านั้นเอง
“ผมเป็นนักออกแบบภายในมาก่อน และมีพื้นฐานด้านออกแบบเกี่ยวกับพวกแปลนไฟฟ้า เขียนแปลนเอง จัดสวนเอง วางเลย์เอาท์เอง ฟังก์ชั่นต่าง ๆ เราก็ต้องดัดแปลงทำใหม่หมด เพราะเราอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็ได้ใช้ทักษะเรื่องของการค้าปลีก เพราะผมจบบริหารธุรกิจค้าปลีกมาด้วย ก็ได้ใช้ทักษะในด้านของการทำการตลาด แปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า เรามีทักษะในการถ่ายภาพก็เอามาช่วย ทำการตลาดขายในเฟซบุ๊กอะไรก็ว่าไป”

ทำเกษตรไม่ต้องแข่งขันกับใคร พออยู่ พอกิน พอใช้ เท่านั้นพอ

คนไทยส่วนใหญ่นิยมทำตามกระแส ช่วงนี้เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ ผักปลอดสารพิษ และอาหารออร์แกนิคมาแรงมาก ทำให้หลายคนหันไปลงทุนทำเกษตรเต็มตัวเพื่อหวังจะกอบโกยกำไรตรงจุดนี้ เลยทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเกษตรกรที่มากขึ้นนี้มีผลกระทบต่อคุณโอ๋อย่างไรบ้าง
“เราไม่เคยมองว่าจะต้องไปแข่งกับใครนะ หลักการที่ผมทำ คือ ทำตามพระองค์ท่านว่า อยากให้เกษตรกรมีพอกิน เหลือจากกินก็แบ่งปันญาติ พี่น้อง เหลือจากนั้นก็เอาไปขาย ซึ่งเรามีกำไรก็ตั้งแต่เรามีพอกินละ พอเริ่มสุขภาพชีวิตดีขึ้นเราก็เอาไปขาย พอผมเริ่มอย่างนี้ก็ไม่รู้สึกว่าเราต้องขายแข่งกับใคร หลายคนชอบทำตามกระแส ช่วงนี้ออร์แกนิคมาก็ลงทุนทำเรือนปลูกราคาหลายบาท พอมันหมดกระแสไปก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ราคาหลายตังค์ แต่ถ้าเรารู้จักตัวเอง รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ปลูกในสิ่งที่เราชอบกิน เราก็จะมีตลาดของเรา อีกอย่างถึงแม้ธุรกิจออร์แกนิคตรงนี้จะบูมขึ้นมา มันก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะมันมีประโยชน์ต่อร่างกายเรามากจริง ๆ”

เป้าหมายต่อไปของคุณโอ๋ กับบทบาทเกษตรกรคนนึงของประเทศไทย

“จริง ๆ ผมก็ทำไปเรื่อย ๆ นะ มันมีช่องทางในการขยับขยายตรงไหนก็ค่อย ๆ ทำไป ผมทำสวนมาเกือบ 6 ปี ไม้ใหญ่เริ่มเยอะ เริ่มปลูกลำบาก ผมก็เริ่มมองหาแปลนพื้นที่คร่าว ๆ ไว้ เดี๋ยวไปถึงก็ยังไม่รู้ว่าจะกลายเป็นอะไรในอนาคต แต่ผมก็รู้ว่าตรงนี้เป็นบ่อ ตรงนี้เป็นนาพัก ตรงนี้เป็นมะพร้าว ตรงนี้จะปลูกอะไรไม่รู้แหละ แต่เตรียมที่ไว้แล้ว ที่บ้านนี้ก็จะทำศูนย์เรียนรู้ ก็ทำมาได้เกือบปีแล้ว ก็ค่อย ๆ ทำไป ทำคอร์สสอนเองบ้าง มีคนมาเช่าพื้นที่บ้าง ขยายไปเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามา”
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเกิดความสงสัยกันแล้วว่าคุณโอ๋มีสินค้าอะไรเป็นของตัวเองบ้าง ซึ่งจากคำตอบต้องบอกเลยว่าแต่ละอย่างน่าหาโอกาสลองชิมให้ได้
“ตอนนี้ก็จะมีของแปรรูปต่าง ๆ เนยถั่วเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซอสเพสโต้ ช่วงไหนไข่ไก่เยอะก็จะทำน้ำสลัด ซึ่งตอนนี้ก็จะมีเท่านี้ แต่ในอนาคตก็อาจจะมีเพิ่มอีก 1-2 อย่าง แต่อย่างอื่นในสวน พวกผัก เช่น ชะอม กล้วย พวกนี้ก็จะแจกคนที่มาที่ร้าน”

คำแนะนำจากรุ่นพี่ประสบการณ์ 5 ปี อยากทำเกษตรในเมือง ต้องเตรียมตัวยังไง

ก่อนจะจากกันไปเราก็ไม่ลืมที่จะถามคำถามทิ้งท้ายไว้ให้คนที่สนใจในการเดินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ชีวิตอย่างพออยู่พอกิน และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ไม่ต้องดิ้นรน ค้นคว้า หาความสุขจากวัตถุนิยมอีกต่อไป ซึ่งตรงนี้คุณโอ๋ได้ให้คำแนะนำส่งท้ายเอาไว้ว่า
“คนมาถามผมเยอะนะว่า อยากจะออกจากงานมาทำเกษตรดีไหม ผมก็บอกว่าอย่าเพิ่งออก ให้ถามตัวเองก่อนว่าเราออกจากงานเพราะเราเบื่องาน หรือเราออกจากงานเพราะรักการเกษตร เพราะภาระแต่ละคนไม่เท่ากัน กว่าเขาจะเจอตัวเองอาจใช้เวลานาน อย่างผมกว่าจะรู้ว่าเหมาะกับการแปรรูปขายก็ใช้เวลาเป็นปี คนอื่นก็เหมือนกัน ถ้าเขาต้องออกจากงานมาแล้วอยู่โดยไม่มีรายได้ มันก็จะลำบาก อาจจะเริ่มจากตัวเองว่า ทำงานอยู่แล้วเป็นเกษตรกรวันเสาร์-อาทิตย์ หรือหลังเลิกงาน ปลูกสิ่งที่ตัวเองอยากกินก่อน แล้วเขาก็จะรู้ว่าอันนี้ดีนะ ปลูกนั่นด้วยดีกว่า ปลูกนี่ด้วยดีกว่า พอเขารู้เขาก็จะเริ่มมีลู่ทางว่าทางไหนดี วันหนึ่งเขาจะรู้เองว่าพร้อมจะปลูกขายแล้ว ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปดีกว่า”
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow