กระแสสังคมแบบชีวิตติดรีวิว กลายเป็นส่วนสำคัญของการจับจ่ายซื้อหาสินค้าไปพร้อมกับยุคอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลต่าง ๆ สามารถค้นหาได้อย่างง่ายดายแถมยังละเอียดเจาะลึกจนนำมาซึ่งการตัดสินใจซื้อที่ง่ายขึ้น และเป็นการจ่ายเงินที่คุ้มค่าที่สุด การรีวิวสินค้ารูปแบบต่าง ๆ ทั้งเขียนรีวิว หรือทำเป็นคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางบล็อกหรือเพจเกิดขึ้นมากมายและส่งผลต่อการซื้อสินค้ามากจนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดไม่น้อยไปกว่าการโฆษณา
แต่พฤติกรรมคนยุคใหม่ การที่เจ้าของสินค้าออกมาประกาศว่าสินค้าของเราดีแค่ไหนนั้น ไม่ได้มีน้ำหนักมากไปกว่า ใครสักคนที่น่าเชื่อถือและแชร์ความรู้สึกออกมาหลังใช้สินค้านั้นจริง ๆ พฤติกรรมดังกล่าว เป็นที่มาของ
กลยุทธ์การตลาดที่ใช้ผู้ทรงอิทธิพลบนโซเชียลมีเดีย หรือ Influencer Marketing ในการกระตุ้นยอดขาย โดยการให้ Influencer ทำการรีวิวสินค้าเพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อสินค้านั้นในที่สุด โดยแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มตามจำนวนผู้ติดตาม (Follower) ที่ลดหลั่นกันลงไป คือกลุ่ม Celebrities กลุ่ม Power Influencers กลุ่ม Peer Influencers และกลุ่มที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือ Micro Influencers หรือกลุ่มคนทั่วไปที่ชื่นชอบในการรีวิวสินค้าหรือบล็อกเกอร์ที่ผลิตคอนเท็นต์เกี่ยวกับการแนะนำสินค้า ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนไม่มากหรือผู้ติดตามเฉพาะกลุ่ม (บางข้อมูลระบุว่าไม่เกินหมื่นราย บ้างก็ไม่เกินสองแสนราย) ในครั้งนี้เราเลยขอนำเอาเรื่องของ Micro Influencers มาเผยถึงจุดเด่นและความน่าสนใจที่ทำให้นักรีวิวกลุ่มนี้กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดในยุคปัจจุบัน
หลายปีมานี้ ยุคแห่ง
โซเชียลมีเดียที่ทุกคนมีตัวตนอยู่บนอินเทอร์เน็ต เมื่อคิดจะซื้อสินค้าจึงมักมีการค้นหาข้อมูลที่แท้จริงหรือหาบทความที่กล่าวถึงความรู้สึกต่อสินค้าชิ้นนั้น ๆ จากผู้ใช้อื่น ๆ และมักจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นจากรีวิวที่มาจากประสบการณ์การใช้งานจริงมากกว่าคำโฆษณาจากดารานักแสดงหรือเซเลบริตี้ที่ถือสินค้าแล้วถ่ายรูป การรีวิวสินค้าบางประเภท ผู้บริโภคกลับไม่ได้รู้สึกว่า สินค้านั้นถูกใช้จริง ๆ ทำให้ Influencer ระดับเซเลบริตี้นั้นอาจสามารถสร้างการรับรู้ (Awareness) หรือ การเข้าถึง (Reach) ได้จริงอยู่ หากแต่กลับสวนทางกับความสามารถในการสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust) จากผู้บริโภค จุดนี้เองที่ทำให้การตลาดประเภทนี้เทน้ำหนักไปอยู่กับ Micro Influencers และส่งผลให้การแชร์ประสบการณ์ของคนกลุ่มดังกล่าวสามารถปิดการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ด้วยการแชร์จากประสบการณ์การใช้จริง ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ผู้บริโภคสามารถรับฟังได้อย่างตรงไปตรงมา เมื่อคนกลุ่มนี้ได้ทดลองใช้สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่การชิมอาหาร ก็จะทำการบอกต่อผ่านช่องทางของตัวเองในลักษณะเหมือนกับการบอกแบบ
ปากต่อปากหรือเพื่อนบอกเพื่อน ซึ่งความ Real แบบที่ว่านี้เอง ที่สร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และหากคุณกำลังหาข้อมูลสินค้านั้น ๆ อยู่ กระทั่งได้ทราบถึงข้อดี ข้อเสียต่าง ๆ ของสินค้า ก็จะนำไปสู่การสั่งซื้อในที่สุด
ในปัจจุบันกลุ่ม Micro Influencers เป็นที่จับตามองจากนักการตลาดออนไลน์มายิ่งขึ้น ด้วยจากสถิติแล้ว พบว่าในแง่ของการตลาด Influencer กลุ่มนี้ยังสามารถสร้าง Engagement ให้แก่แบรนด์สินค้าได้ถึง 5 – 8 % ในขณะที่กลุ่ม Power Influencers สร้าง Engagement Rate ได้ 1.6 – 2 % เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า
มาร์เก็ตติ้งคือความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปก็มักมีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ การใช้ Influencer กลุ่มต่าง ๆ ก็ส่งผลต่อแบรนด์ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป พร้อม ๆ กับราคาที่แต่ละแบรนด์จะต้องจ่าย แต่หากมีการตั้งเป้าหมายทางการตลาดที่ชัดเจน การเลือกใช้กลยุทธ์โดย Influencer แต่ละกลุ่มนั้น ก็สามารถส่งผลให้ทุก ๆ แบรนด์ ไปถึงเป้าหมายได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
ท้ายที่สุด หากคุณคือเจ้าของแบรนด์
การวางกลยุทธ์ที่ถูกต้องก็ช่วยนำพาแบรนด์ของคุณให้ประสบความสำเร็จได้ ขณะเดียวกันหากคุณคือผู้บริโภค การหาข้อมูลสินค้าที่ครบถ้วนรอบด้าน จะช่วยให้การจ่ายเงินของคุณได้สินค้าที่ตรงต่อความต้องการมากที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : brandinside.asia,
marketingoops.com,
brandbuffet.in.th