ภาคการผลิตกับผลกระทบของ AEC

ภาคการผลิตกับผลกระทบของ AEC

By พิณทิพย์ รุจทิฆัมพร

ใครที่อยู่ในยุคนี้ ยุคที่โลกไร้พรมแดน ขนาดคุณแม่ยังอุ้มบุญข้ามเชื้อชาติกันได้ หรือขนาดการค้าขายยังง่ายแค่ปลายนิ้ว ใครขืนยังปรับตัวไม่ได้ หรือกลับลำกันไม่ทัน มีหวังคงได้ชีช้ำกะหล่ำแฉะกันแน่ๆ อย่างเช่น เจ้าของกิจการรายหนึ่งที่คงจะอึดอัดใจมานาน ถามมาว่า ตนเองจะต้องทำอย่างไรสำหรับธุรกิจการผลิตเพื่อขาย ซึ่งเดิมทำคนเดียว ก็อยู่มาได้หายห่วง แต่มายุคนี้ พ.ศ.นี้ นับวันยอดขายจะสาละวันเตี้ยลงๆ ยิ่งมาได้ยินได้ฟังกันว่า สมาชิกอาเซียนกำลังจะเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือที่เรียกกันว่า AEC (ASEAN ECONOMIC COMMUNITY) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง เข้ามาทำกิจการในไทยกันได้อย่างเสรี แกเลยชักยิ่งจะกลุ้มหนัก และชักจะหวาดเสียว..เอาตอนแก่

tip
  จะว่าไปก็เห็นใจเถ้าแก่อยู่ไม่น้อย แต่ใคร่ขอทำความเข้าใจกับทุกท่าน ณ จุดๆ นี้ก่อนเลยว่า การเปิด AEC หรือไม่เปิด AEC สำหรับกิจการการผลิตนั้น ไม่มีผลกระทบอะไรมากไปกว่าที่เป็นอยู่มากนัก เหตุผลก็เพราะที่ผ่านมาบ้านเราเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจด้านการผลิตโดยสามารถถือหุ้นได้ถึง 100% อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศ หรือเป็นการผลิตเพื่อส่งออก โดยไม่ขัดต่อกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก รัฐบาลไทยที่ผ่านมาก็ยังจะให้การส่งเสริมการลงทุนผ่านหน่วยงานของรัฐอย่าง BOI อย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด ทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี จนบางทีผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำกิจการด้านการผลิตในไทยก็ยังแอบน้อยใจกันอยู่เนืองๆ
ด้วยเหตุผลข้างต้น ก็เป็นอันว่า “เถ้าแก่” คงจะได้โล่งใจไปเปลาะหนึ่ง ว่ากิจการของตนคงจะไม่ต้องมาล่มสลายเพราะโดนกระแส AEC เข้าถล่มแต่อย่างใด เพราะธุรกิจการผลิต (ที่ไม่รวมสินค้าจำพวกศิลปวัฒนธรรม อย่างเช่น เครื่องเงิน เครื่องไม้แกะสลัก) นั้น ต่างชาติเขาเข้ามาแข่งขันได้ตั้งนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และยุโรป นี่แค่เพิ่มประเทศอาเซียนอีกแค่ 9 ประเทศเท่านั้นเอง ถือว่าจิ๊บๆ! อย่างไรก็ดี ไหนๆ ก็พูดแล้ว ขอแถลงไขให้กระจ่างแจ้งกันไปเลยว่า ถ้าหากธุรกิจที่ว่านั้น กลับกลายเป็นธุรกิจที่มีการว่าจ้างให้ผลิตแล้วนำออกขาย (โดยที่บริษัทมิได้ทำการผลิตเอง) หรือบริษัททำการรับจ้างผลิตแล้วติดยี่ห้อคนอื่น อย่างนี้ ก็จะไม่เข้าข่ายเป็นกิจการการผลิต แต่ถือว่าเป็นธุรกิจบริการที่ยังต้องห้ามมิให้ต่างชาติทำได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ ดังนั้น หากกิจการของท่านอยู่ในข่ายเป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) ก็น่าจะยังได้รับอนุญาต ให้กลุ้มใจไปได้อีกสักพัก ในระหว่างที่ท่านกำลังหาทางปรับตัวอยู่นี้
อย่างไรก็ดี ในการปรับตัวนั้น ขอบอกเลยว่าไม่มีสูตรสำเร็จเหมือนซุปไก่ก้อน ท่านต้องทดลองทำเองจากการพูดคุย ปรึกษา สัมมนา แลกเปลี่ยนความรู้ หรือบางทีอาจซื้อหา หรือหยิบยืมมาใช้ก็ได้ทั้งน้าน อย่างในกรณีของกิจการการผลิต อาจเริ่มจากการปรับโครงสร้างองค์กร จากเดิมที่เคยคิดคนเดียวทำคนเดียวก็คงต้องหาคนมาช่วยคิด บวกกับหาคนที่มีความสามารถในด้านอื่นๆ มาช่วยด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา เทคโนโลยี การควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้า หรืออาจมองหาผู้ร่วมทุน (partner) ใหม่ๆ เพื่อมาแชร์ knowhow ที่อาจจะใช้เป็นทางลัดในการต่อยอดนวัตกรรม หรือนำมาปรับใช้กับการต่อยอดธุรกิจ ส่วนในด้านตลาดและผลิตภัณฑ์ ท่านอาจจะต้องสำรวจความต้องการของตลาด และความพึงพอใจของลูกค้าเพื่อผลิตสิ่งที่ตลาดและลูกค้าต้องการ มิใช่ผลิตแต่สิ่งที่ท่านทำเป็นเพียงอย่างเดียว ส่วนในด้านกระบวนการผลิต ควรมีระบบการผลิตที่คำนึงถึงการลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต (TPS) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อผลในการลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow