เส้นทางสู่สุดยอดผู้นำ แค่บริหารคนด้วย DISC Model

เส้นทางสู่สุดยอดผู้นำ แค่บริหารคนด้วย DISC Model

By Krungsri Plearn Plearn
การเติบโตในสายงานพ่วงมาด้วยความรับผิดชอบที่มากขึ้น นอกจากทักษะจำเป็นและความสามารถที่เกี่ยวกับงานแล้ว "การบริหารคน" ถือเป็นอีกทักษะสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม น้องเพลินเพลินขอแชร์เทคนิคเด็ด ที่จะช่วยให้คุณ "พิชิตใจทีมงาน" ด้วย "DISC Model" เครื่องมือเจ๋ง ๆ ในการบริหารคน 4 ประเภทที่จะช่วยให้คุณเข้าใจลูกน้องแต่ละคนได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
หลักการของ disc model

หลักการของ DISC Model คืออะไร?

คนเรามีวิธีการทำงาน ลักษณะนิสัยและความต้องการที่แตกต่างกัน DISC Model เปรียบเสมือนแผนที่นำทางที่จะช่วยให้เราเข้าใจ "ตัวเรา" และ "คนรอบข้าง" ได้ดีขึ้น โดยแบ่งบุคคลออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ตามสไตล์การสื่อสารและแรงจูงใจ ลองนึกภาพว่า...
  • ถ้าเราเข้าใจสไตล์การทำงานของเพื่อนร่วมทีม รู้ว่าใครถนัดอะไร ใจร้อนหรือใจเย็น ชอบทำงานคนเดียวหรือชอบทำงานเป็นทีม ก็จะช่วยให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น
  • ถ้าเราปรับสไตล์การสื่อสารให้เหมาะกับคนฟัง ก็จะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ เมื่อรู้ว่าควรพูดกับคนแต่ละประเภทอย่างไรให้เข้าใจและรู้สึกดี
  • ถ้าเรารู้วิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนแต่ละประเภท การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในทีม ก็จะช่วยให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข
  • ถ้าเรารู้วิธีสนับสนุนให้คนแต่ละประเภทพัฒนาตนเองในแบบที่ชอบ ทุกคนในทีมก็จะเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะกับตนเอง

“DISC Model” จึงเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญในการบริหารคน 4 ประเภทที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของทั้ง "ตัวเรา" และ "ทีม" ไปในเวลาเดียวกัน

รู้จักคนทั้ง 4 ประเภทตาม DISC Model พร้อมวิธีการบริหาร

ผู้นำที่ดีต้องมีอะไรบ้าง
1. D (Dominant): ผู้นำ เป็นคนที่ชอบสั่งการ เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ มุ่งเน้นผลลัพธ์ ชอบวางอำนาจ ชอบความท้าทาย และถนัดแก้ปัญหา
จุดเด่น : เป็นผู้นำโดยธรรมชาติ เด็ดขาด มุ่งเน้นผลลัพธ์
จุดด้อย : มั่นใจในตัวเองมากเกินไป ใจร้อน ไม่ไว้ใจคนอื่น กลัวความผิดพลาดจนไม่มอบหมายงานให้ผู้อื่นในบางครั้ง

เมื่อทำงานกับคนแบบ D สไตล์การสื่อสารจึงควรเป็นสไตล์ที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา มอบหมายงานที่ท้าทาย ส่วนเวลาให้กำลังใจก็เน้นการชื่นชมผลงานที่เป็นผลลัพธ์จากความสามารถ และหากต้องการให้คนแบบ D ดีใจเป็นพิเศษก็ลองชื่นชมต่อหน้าคนอื่นเพื่อช่วยเสริมความมั่นใจและทำให้คนแบบ D รู้สึกมีอำนาจและได้รับการยอมรับ
นักสร้างแรงบันดาลใจ
2. I (Influential): นักสร้างแรงบันดาลใจ เป็นคนกระตือรือร้น มองโลกในแง่ดี เน้นความสัมพันธ์กับผู้คนเก่งในการสร้างแรงบันดาลใจ ชอบแสดงออก ชอบเป็นที่โดดเด่นและสะดุดตาในกลุ่มคน
จุดเด่น : กระตือรือร้น โน้มน้าวเก่ง มีทักษะการสื่อสารดี มีความคิดสร้างสรรค์
จุดด้อย : อาจจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มากเกินไป จึงไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวเสียความสัมพันธ์

เมื่อทำงานกับคนแบบ I ควรเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เลือกมอบหมายงานที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็น ส่วนเวลาให้กำลังใจ ก็เน้นการชื่นชมผลงานต่อหน้าคนอื่น คนแบบ I จะดีใจเป็นพิเศษ
สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
3. S (Steadfast): ผู้รักความมั่นคง เป็นคนมีความอดทน ไว้ใจได้ ชอบการทำงานเป็นทีม ให้ความสำคัญกับความสามัคคี และเป็นผู้ฟังที่ดีมาก
จุดเด่น : มีความอดทน เป็นคนไว้ใจได้ ทำงานเป็นทีมได้ดี ใส่ใจรายละเอียด
จุดด้อย : ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ลังเล ไม่ตัดสินใจ

เมื่อทำงานกับคนแบบ S หากเป็นงานที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยควรสื่อสารให้ชัดเจน และใจเย็น ค่อย ๆ อธิบาย ควรมอบหมายงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือ เพราะคนแบบ S จะถนัดการทำงานเป็นทีมมาก เวลาให้กำลังใจก็อย่าลืมชื่นชมสปิริตการทำงานเป็นทีม
ผู้รักความมั่นคง Steadfast
4. C (Conscientious): นักคิดวิเคราะห์ เป็นคนใส่ใจรายละเอียด ชอบวิเคราะห์ เชื่อความคิดตัวเอง ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง รักระเบียบแบบแผนและความสมบูรณ์แบบ ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่คิดไว้
จุดเด่น : ละเอียดรอบคอบ มีระเบียบ มีหลักการ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ
จุดด้อย : ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากเกินไป ชอบควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ กลัวความผิดพลาด ไม่ค่อยไว้ใจคนอื่น มองโลกในแง่ร้าย คิดว่าคนอื่นทำได้ไม่ดีเท่าตัวเอง จึงอาจเผลอไม่มอบหมายงานให้ผู้อื่น ชอบวิจารณ์และตำหนิทั้งตัวเองและผู้อื่นจนมากเกินไป

เมื่อทำงานกับคนแบบ C ควรสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน รวมถึงการมีระยะเวลา (Timeline) ที่ชัดเจนและละเอียด เน้นมอบหมายงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบให้เหมาะกับความถนัด และเมื่อให้กำลังใจ ควรเจาะจงชื่นชมความตั้งใจ และให้คำติชมที่สร้างสรรค์

ตัวอย่างการใช้ DISC Model ในการบริหารคน 4 ประเภทคนให้เข้าใจง่ายขึ้นกัน

สถานการณ์: พวกเรา 4 คน กำลังทำโปรเจกต์กลุ่มด้วยกัน

ดาว : หัวหน้าทีม เป็นคนกล้าตัดสินใจ ชอบความรวดเร็ว มักจะตัดสินใจเองอย่างเด็ดขาด (D – Dominance)
ส้ม : เป็นคนอัธยาศัยดี ชอบสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน มักจะพยายามรับฟังความคิดเห็นของทุกคน (I – Influence)
มิก : เป็นคนละเอียดรอบคอบ ชอบความถูกต้องแม่นยำ ชอบทำงานตามขั้นตอน (C – Conscientious)
เอ๋ย : เป็นคนใจเย็น ใจกว้าง มุ่งเน้นการสร้างความสามัคคีและความร่วมมือภายในทีม (S – Steadiness)

ความท้าทาย : ทีมกำลังเผชิญกับเดดไลน์ที่จะต้องส่งโปรเจกต์ (Project) แต่ยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องแนวทางการทำงาน เพราะว่าดาวอยากได้วิธีที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ส่วนส้มอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในขณะที่มิกยืนยันที่จะใช้เวลามากขึ้นเพื่อความแม่นยำ ส่วนเอ๋ยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกัน

น้องเพลินเพลินอยากให้ลองประยุกต์ใช้ DISC Model ในการบริหารคน 4 ประเภทมาช่วยในมุมต่าง ๆ เช่น
  • เข้าใจสไตล์ของแต่ละคน เพื่อระบุจุดที่อาจก่อความขัดแย้ง เพราะเราจะสามารถเข้าใจแรงจูงใจและความกังวลของแต่ละคนได้ดีขึ้น เช่น ความเด็ดขาดของดาว อาจจะไม่ลงรอยกับความรอบคอบของมิก ขณะเดียวกัน ส้มที่เน้นความสัมพันธ์ อาจจะแตกต่างจากเอ๋ยที่เน้นความร่วมมือ
  • ปรับการสื่อสารให้เหมาะกับแต่ละคน เช่น เราควรสื่อสารกับดาวแบบพูดจาตรงไปตรงมาและเน้นประโยชน์ของแนวทางที่เราเสนอ สำหรับมิกให้เน้นพูดถึงข้อมูลและสถิติพร้อมรายละเอียดเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของเรา สำหรับส้มให้เน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเน้นเป้าหมายร่วมกันของทีม และสำหรับเอ๋ยให้เน้นการสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและเปิดกว้าง ให้ทุกคนรู้สึกว่าได้ถูกรับฟังและเคารพความเห็น
  • หาจุดร่วมใช้จุดแข็งของแต่ละ DISC Model ทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกที่ตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ ความเด็ดขาดของดาวจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความรอบคอบของมิกนั้นช่วยให้มั่นใจในคุณภาพผลงาน ทักษะการเชื่อมความสัมพันธ์ของส้มช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และสไตล์ใจเย็น ใจกว้างของเอ๋ยช่วยรักษาบรรยากาศการทำงานที่ดีในทีม

3 Tips by น้องเพลินเพลินก่อนหยิบ DISC Model ไปใช้การบริหารคน 4 ประเภท

  1. อย่าเผลอตัดสินคนจากประเภท DISC Model เท่านั้น เพราะว่ามนุษย์มีความซับซ้อน DISC Model เป็นเพียงกรอบแนวคิดที่แบ่งบุคคลออกเป็น 4 ประเภทหลัก แต่จริง ๆ แล้ว มนุษย์มีความซับซ้อน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีรายละเอียดมากกว่าแค่ 4 ประเภท การตัดสินคนจากประเภท DISC เพียงอย่างเดียว อาจสร้างอคติ และนำไปสู่การมองคนแบบเหมารวมได้ และพฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ บริบท และช่วงเวลา
  2. ระวังการตีความที่อาจคลาดเคลื่อน เพราะการตีความผลลัพธ์ DISC Model อาจคลาดเคลื่อนได้ขึ้นอยู่กับวิธีการตอบคำถาม และความเข้าใจของผู้ใช้
  3. อย่าละเลยแง่มุมอื่น ๆ เพราะ DISC Model มุ่งเน้นไปที่สไตล์การสื่อสารและแรงจูงใจ แต่ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
DISC Model เป็นเครื่องมือสำหรับการทำความเข้าใจบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ระบบการแบ่งประเภทที่ตายตัว การใช้ DISC Model ไปใช้การบริหารคน 4 ประเภทอย่างเข้าใจ จะช่วยให้เราสามารถปรับปรุงการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และการแก้ปัญหาภายในทีมได้ดีขึ้น

และนี่คือเส้นทางสู่สุดยอดผู้นำ แค่บริหารคนด้วย DISC Model ที่น้องเพลินเพลินนำมาฝากทุกคน เพื่อช่วยปลุกพลังผู้นำในตัวเองและพิชิตใจทีมงานและก้าวสู่เส้นทางการเป็นสุดยอดทีมลีดพร้อมลุยกับทีมงานและลูกน้องแบบปัง ๆ ในฐานะหัวหน้าทีม
 
อ้างอิง
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow