ในโลกที่อะไร ๆ ก็เติบโตในออนไลน์อย่างรวดเร็ว โลกออฟไลน์ก็เหมือนจะถูกจับตามองว่าจะก้าวไปทางไหน โดยเฉพาะในวงการสื่อที่พากันปรับตัวและเปลี่ยนแปลงในทิศทางต่าง ๆ กันไป แล้วบริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO บริษัทสื่อนอกบ้านมีมุมมองและความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ทำไมพวกเขายังคงเดินหน้าสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในโลกออฟไลน์ การสวนกระแสนี้มีช่องทางหรือโอกาสใดที่ไม่ควรมองข้าม อะไรที่ทำให้ MACO ยังคงครองอันดับต้น ๆ ในการทำสื่อ มาฟังเหตุผลและแนวทางการทำธุรกิจนอกโลกอินเทอร์เน็ตไปด้วยกัน
ในยุคที่โลกออนไลน์หมุนไปอย่างรวดเร็วจนเกือบจะกลายเป็นยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์ แต่เพราะชีวิตของคนเราไม่ได้มีแต่หน้าจอมือถือเท่านั้น แล้วบริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO บริษัทสื่อนอกบ้านที่เป็นสื่อออฟไลน์กลับสามารถสร้างโอกาสจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้ มาดูกันว่า MACO นั้น ทำสำเร็จได้อย่างไรในยุคที่อะไร ๆ ก็มาไวไปไวและหมุนรอบโลกออนไลน์ขนาดนี้ จากบทสัมภาษณ์สุดพิเศษกับ คุณศุภรานันท์ ตันวิรัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. มาสเตอร์ แอด หรือ MACO
คุณศุภรานันท์ ตันวิรัช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. มาสเตอร์ แอด หรือ MACO
สองสามปีที่ผ่านมา MACO ได้ดำเนินการขยายธุรกิจ ผ่านทั้งการขายหุ้นให้นักลงทุน อย่าง VGI และเพิ่มนวัตกรรมสื่อต่าง ๆ การปรับตัวดังกล่าวส่งผลถึง MACO ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง
คุณศุภรานันท์: ในตอนที่บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI เข้าซื้อหุ้นรอบแรกจาก MACO ตอนนั้น VGI ถือหุ้นอยู่เกือบ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่ายังไม่ได้เข้ามาบริหารเต็มตัว อยู่ในระดับส่งคณะกรรมการเข้ามาร่วมบริหาร จนเมื่อประมาณกลางปีพ.ศ. 2559 VGI ได้ซื้อหุ้นเพิ่ม จึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และส่งดิฉันเข้ามาเป็น CEO ใน MACO ภายใต้ระยะเวลา 1 ปีกับอีก 7 เดือน มีความคืบหน้าในการผลักดัน การขยาย การเติบโตของ MACO ไปค่อนข้างเยอะ เดิมเรามีป้ายโฆษณาอยู่ 700 กว่าป้าย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นป้ายตอม่อใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS 23 สถานี ป้ายเบิลบอร์ด 100 กว่าป้าย รวม ๆ กันก็มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ประมาณ 30 จังหวัด
ต่อมาเมื่อดิฉันเข้ามาบริหารเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้เริ่มเข้าซื้อกิจการ 2 แห่งคือ มัลติไซน์ กับ โคแมส ทำให้ปัจจุบันเรากลายเป็นบริษัทสื่อนอกบ้านที่มีพื้นที่ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนสื่อในมือมากกว่า 2,300 ป้าย และปีนี้เราก็สามารถสร้างเครือข่ายดิจิทัลสำเร็จ โดยมี 21 จอใน 19 จังหวัด ที่สำคัญปีนี้เรามียอดขายเติบโตค่อนข้างสวนกระแสตลาดอุตสาหกรรมโฆษณาที่ติดลบอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมารายได้เติบโตกว่า 50% ซึ่งมองภาพรวมทั้งปีก็ถือว่าเป็นไปตามแผนค่ะ
ภาพสื่อโฆษณาประเภทสื่อดิจิตอลที่ MACO เป็นผู้ดูแล
พื้นที่สื่อที่กระจายอยู่ 77 จังหวัด มีตรงจุดไหนที่หนาแน่นเป็นพิเศษ
คุณศุภรานันท์: การเลือกทำเลติดตั้งสื่อนั้น กระจายไปตามขนาดของประชากรและ GDP ของแต่ละจังหวัด การที่เรามุ่งเน้นการขยายระดับประเทศเป็นเพราะเรามองเห็นว่าก่อนหน้านี้สัดส่วนของการใช้งบโฆษณากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับจำนวนประชากรและ GDP ซึ่ง 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในต่างจังหวัด
เรามองว่าตรงนี้เป็นช่องว่าง อันเนื่องมาจาก Supply ในต่างจังหวัดอาจจะยังไม่มากพอ ยังเป็นผู้เล่นรายเล็ก เป็นเหตุผลที่เราเข้าไปรวบรวมเครือข่ายให้มีพื้นที่ครอบคลุมเพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้เพิ่มขึ้น และสนับสนุนผู้ลงโฆษณาให้สามารถใช้สื่อนอกบ้านได้อย่างครอบคลุมกว้างขวาง และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น จากเดิมที่ค่อนข้างใช้งานในลักษณะเจาะจงเป็นป้ายต่อป้าย ก็จะสามารถใช้เป็นเครือข่ายได้
ภาพสื่อโฆษณาประเภท Scroll Board ที่ MACO เป็นผู้ดูแล
ในขณะที่สื่อโฆษณาออนไลน์ เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว คนยุคใหม่ก้มหน้าอยู่กับมือถือเป็นหลัก อะไรที่จะทำให้สื่อแบบ Out of Home Media ซึ่งเป็นออฟไลน์ ยังเป็นที่ต้องการของตลาดและแบรนด์ต่าง ๆ
คุณศุภรานันท์: ประเด็นนี้เป็นเรื่องจริงที่เราเองก็ปฏิเสธไม่ได้ ขนาดตัวเราเองยังก้มหน้าอยู่กับมือถือมากขึ้นเรื่อย ๆ เรามองเห็นเทรนด์นี้ตั้งแต่ก่อนที่เราจะเข้าซื้อกิจการของ MACO แล้ว และได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า
วันนี้ภาพก็ชัดขึ้น ว่าทิศทางในอนาคตคือการใช้งบโฆษณากับสื่อดั้งเดิมอาจจะลดบทบาทลง เนื่องจากว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อหรือลูกค้ารวมถึงผู้ซื้อสินค้าของผู้ใช้งบโฆษณา เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คือ 1. ก้มหน้าใช้มือถือมากขึ้น 2. ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น มีเวลาดูสื่อดั้งเดิมน้อยลง ใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ หรือฟังวิทยุน้อยลง และหันไปใช้สื่อดิจิทัลที่มีทุกอย่างอยู่ในนั้นครบแล้ว ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเวลาที่ตายตัว สามารถดูย้อนหลังได้ หรือจะฟังวิทยุไปออกกำลังกายไปก็ได้
เรามองว่า การเปลี่ยนแปลงตรงนี้มีลักษณะที่เอื้อต่อการทำธุรกิจสื่อนอกบ้าน เพราะเรามีเทคโนโลยีที่จะสามารถอินเทอร์แอคทีฟกับออนไลน์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ใช้งบโฆษณาในแบบเดิมจะเปลี่ยนสัดส่วนการใช้มาใช้กับสื่อนอกบ้านเพิ่มขึ้น เราจึงได้วางแผนว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เริ่มจากขยายพื้นที่สื่อโฆษณาให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีเครือข่ายและแมสมากขึ้น ในอนาคตเราจะสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ด้วย จากการที่เรามีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหรือผู้ชมเป้าหมายกว้างขึ้น จะทำให้สามารถเลือก Segment ได้ในปริมาณมากขึ้น
ที่ผ่านมา MACO ให้ความสำคัญกับสื่อในระบบขนส่งมวลชน สื่อกลางแจ้ง และสื่อในห้างสรรพสินค้า สื่อเหล่านี้มีพลังดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายอย่างไร สื่อไหนมีประสิทธิภาพที่สุด
คุณศุภรานันท์: จริง ๆ ต้องบอกว่า สื่อนอกบ้านที่กล่าวมาทั้งหมดแต่ละตัวก็มีจุดแข็งของตัวเอง และเหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายของสินค้านั้น อย่างสื่อในระบบขนส่งมวลชน ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าขนส่งมวลชนขนาดใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ตรงนั้นกลุ่มคนที่ใช้บริการจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน หรือเป็นเด็กที่สามารถเดินทางเองได้ และเป็นคนที่มีกำลังซื้อสูง เพราะใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ทำงานในเมือง ส่วนถ้าเป็นสื่อที่เป็นรถเมล์ก็จะมีกลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางด้วยรถเมล์ ซึ่งแต่ละสื่อก็จะมีจุดแข็งของ Target Group ของตัวเองที่ไม่เท่ากัน
สื่อของ MACO เรามีสื่อที่ตอม่อใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS ซึ่งถือว่าเป็นสื่อที่อยู่ในย่านธุรกิจที่เป็นย่านหัวใจหลัก แล้วก็มีความหนาแน่นของ Traffic ในแต่ละวันสูงมาก อัตราการถูกมองเห็นเยอะ ถือว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ชมได้เยอะและเป็นผู้ชมที่เป็นคนเมือง อาจจะตอบโจทย์สินค้าที่เป็นระดับกลางถึงพรีเมียม
ส่วนสื่อบิลบอร์ด ถ้าเราตั้งอยู่ในจุดที่เหมาะสม จะเป็นสื่อที่คนผ่านไปมาปฏิเสธการมองเห็นได้ยาก เพราะเราไม่มีเครื่องหมายกากบาทให้คลิกปิดหรือว่าไม่มีรีโมทคอนโทรลให้สวิตช์ช่อง ขอแค่ผ่านในเส้นทางที่ไปและสื่อติดตั้งในทำเลที่เหมาะสม ก็จะถูกมองเห็นได้ อย่างภาพนิ่งก็จะมีข้อดีว่า เห็นแน่ ๆ แต่ว่าเห็นได้แค่ภาพนิ่ง แต่ถ้าเป็นสื่อ LED หรือว่าดิจิทัลก็จะสามารถเสนอคอนเทนต์ได้น่าสนใจมากขึ้น แต่จะสลับไปมาหน่อย
ภาพสื่อโฆษณาประเภท Street Furniture ที่ MACO เป็นผู้ดูแล
นอกจากสื่อเดิมที่เคยเลือกใช้ ตอนนี้ MACO มีแผนไปสู่สื่อใหม่ ๆ หรือใช้สื่อเดิมในทิศทางใหม่บ้างไหมและอย่างไร
คุณศุภรานันท์: เรามีแผนอย่างเป็นขั้นตอน หลังจากที่เราเข้าซื้อกิจการเป็นเครือข่าย ภาพนิ่งหรือบิลบอร์ดแล้ว เราก็ได้เริ่มทำการเปลี่ยนบางทำเลให้เป็นดิจิทัล โดยเลือกทำเลที่เราคิดว่าเหมาะสมกับการติดตั้งสื่อดิจิทัล เพราะว่าไม่ใช่ทุกทำเลที่จะเหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นบิลบอร์ดขนาดใหญ่หรือตรงไฮเวย์หรือรถวิ่งเร็วก็ไม่เหมาะสมที่จะเปลี่ยนเป็น LED เพราะว่าสื่อ LED มีการสลับภาพโฆษณาของลูกค้าหลายราย ถ้าเคลื่อนไหวเร็ว ๆ บางรายอาจไม่ได้ถูกพบเห็น เพราะฉะนั้นจุดที่สำคัญที่เราจะเลือกเฟ้น ต้องอยู่ในที่ที่มี Traffic เยอะหนาแน่น คนเดินผ่านไปมาวันละหลายครั้ง แล้วก็เป็นจุดที่มีรถติดเยอะและนาน ซึ่งตอนนี้เรามีเครือข่ายสื่อดิจิทัลอยู่ 21 จอ 19 จังหวัด ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในเขตชุมชน อย่างเช่นใกล้ตลาด ใกล้ท่าสถานีรถบขส. อันนี้คือส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดนะคะ ใกล้โรงเรียน ใกล้มหาลัย ห้างสรรพสินค้า หรือโรงพยาบาล เป็นจุดที่คนจะไป รวมทั้งย่านธุรกิจที่คนไปใช้ชีวิต ไปทำงาน
การวิเคราะห์ตลาดเพื่อกำหนดทิศทางและแผนงานของ MACO ให้ความสำคัญด้านใดเป็นพิเศษ
คุณศุภรานันท์: เราเน้นตำแหน่งการวางติดตั้งสื่อให้มีประสิทธิภาพกับผู้ใช้งบโฆษณาให้มากที่สุด เรามองเห็นเทรนด์การใช้งานมือถือที่เพิ่มขึ้น เราจึงพยายามผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อทำให้สื่อของเราเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน ควบคู่กับสื่อออนไลน์ ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ก็คือ Beacon ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ไปติดตั้งที่ป้ายโฆษณาของเรา เพื่อที่จะส่งผ่านข้อมูลแอปพลิเคชันเข้าไปที่มือถือของผู้ที่โหลด
อีกเทคโนโลยีหนึ่งจะเป็นลักษณะของ Geofencing ถ้าหากมีการเดินผ่านหรือขับรถผ่านสัญจรเข้าไปในรัศมีรั้วรอบอาณาบริเวณของป้ายโฆษณาหรือว่าจอ LED ของเราก็จะสามารถส่งผ่านคอนเทนต์หรือข้อความโฆษณาเข้าไปในโทรศัพท์มือถือ เข้าไปในเฟซบุ๊ก กูเกิล ของคนที่เปิดมือถือไว้ขณะนั้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องอ่านข้อความในขณะขับรถ กล่าวคือแค่ขับรถผ่านเข้าไปในรัศมีรั้ว Geofencing คอนเทนต์ก็จะถูกส่งเข้าไปนอนรอให้อ่านเลย
แค่นั้นไม่พอ เรายังสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายให้กับลูกค้าได้เลย อย่างเช่น เลือกคนที่อายุ 15-25 ปี เพศหญิง ชอบใช้ผลิตภัณฑ์แชมพู แล้วก็จะคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย หลังจากนั้นก็จะส่งข้อความเจาะจงเข้าไปเฉพาะคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น คนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ระบบก็จะไม่ส่งข้อความให้ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีลูกค้าใช้งานแล้ว ดูจากสถิติการใช้งานก็เป็นที่น่าพอใจ ยกตัวอย่างเช่น บางคนซื้อ 1,200,000 Impression ( จำนวนครั้งที่โพสต์มีการแสดงขึ้นมา) ต่อเดือน การส่งข้อมูลเข้าไปเราสามารถวัดผลได้ว่ามีการเปิดอ่านแค่ไหนอย่างไร ซึ่งสถิติก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะเราสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์
ภาพสื่อโฆษณาประเภท Large Billboard ที่ MACO เป็นผู้ดูแล
เราสามารถวัดผลได้ว่าเขาเข้ามาอ่าน แล้วเราสามารถวัดต่อได้ไหมว่า เขาไปตามซื้อสินค้านั้นกี่เปอร์เซ็นต์
คุณศุภรานันท์: สามารถทำได้ค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าเลือกที่จะจ่ายเงินแบบไหน เลือกซื้อแค่ Impression แค่เห็น Ads ถ้าลูกค้าเห็นจะนับเป็น 1 Impression แต่ถ้าลูกค้าเลือกซื้อเป็น Engagement หมายถึงว่าให้คนเห็นคอนเทนต์แล้วก็คลิกไลก์ หรือร่วมสนุกชิงของรางวัลก็จะนับว่าเป็นผลสำเร็จ (Effectiveness) ถ้าเกิดการซื้อจะเรียกว่า Conversion หรือ เกิดการขายเลยก็จะนับได้ วัดผล แทร็กได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกซื้อแบบไหน เพราะฉะนั้นต่อไปนี้สื่อนอกบ้านจะไม่ได้เป็นแค่สื่อที่สร้าง Awareness มันจะต่อเนื่องเชื่อมโยงไปสู่ออนไลน์ได้ เป็น Complementary Product กับสื่อออนไลน์
ทางบริษัททำมานานหรือยังกับเทคโนโลยีนี้
คุณศุภรานันท์: เราออกสินค้าตัวนี้ไปประมาณ 2-3 เดือนแล้วค่ะ เริ่มมีการใช้บริการแล้วนะคะ ซึ่งลูกค้าทุกรายได้จำนวน Viewer Base ในจำนวนตามที่ตกลงกันไว้หรือมากกว่าด้วย
หากต้องแนะนำแบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจ พวกเขาควรทำความเข้าใจกับการใช้สื่อต่าง ๆ อย่างไรบ้าง
คุณศุภรานันท์: อันดับแรกก็ต้องดูว่าสินค้านั้นมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร แคมเปญการตลาดของเรามีจุดมุ่งหมายอย่างไร แล้วจึงค่อยเลือกสื่อให้สอดคล้องกับแคมเปญการตลาด ทั้งนี้การเลือกสื่อ นอกเหนือจากจะมองเรื่อง Traffic หรือทำเลแล้ว ขอให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของประเภทสื่อที่จะติดตั้งในแต่ละทำเลนั้นด้วย
เรามีความชำนาญในธุรกิจนี้มา 29 ปี เรามองว่าบางรายที่เพิ่งเข้ามาทำธุรกิจ อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่อง Effectiveness ของคนที่ใช้งบโฆษณาอย่างจริงจัง แค่มีทำเลแล้วอยากจะตั้งป้าย แค่นี้ไม่พอ ต้องดูความเหมาะสม มุมมอง Visibility ของสื่อที่จะถูกพบเห็น ต้องชัดเจน ไม่มีอุปสรรคขวางกั้น องศาที่หันหน้าเข้ารับสายตา รวมถึงว่าถ้าจอใหญ่แค่ไหนก็ไม่สำคัญ ถ้าไม่สามารถสร้าง Effectiveness ได้ ถ้าเขาอยู่ในไฮเวย์แล้วรถวิ่งเร็ว เพราะถ้ารถวิ่งเร็วต้องสื่อนิ่งเท่านั้น ไมงั้นก็จะเสียโอกาส เงินที่จ่ายไปก็จะไม่ได้กลับคืนมา
ในยุคที่สื่อโฆษณามีอิทธิพลอย่างสูงต่อการโน้มน้าวพฤติกรรมของผู้บริโภค เราจะบาลานซ์ระหว่างจริยธรรม คุณภาพของงาน และความต้องการของลูกค้าอย่างไร
คุณศุภรานันท์: เนื่องจากเราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มายาวนานหลายปี โมเดลธุรกิจเราเน้นที่การเติบโตอย่างยั่งยืน เราก็พยายามรักษามาตรฐานการทำงานและคุณภาพการให้บริการควบคู่ไปกับเรื่องของการรักษาการเติบโตของยอดขาย อันนี้เราก็ต้องบาลานซ์ หากทำแล้วไม่ได้ผลระยะยาว กำไรแค่ไหน เราก็ไม่เลือก ทั้งนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราค่อนข้างจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ไม่ค่อยมีปัญหานี้เท่าไหร่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรายืนหยัดในธุรกิจนี้ได้ยาวนานกว่า 29 ปี
หลายคนมองว่า โลกออฟไลน์เริ่มไปต่อได้ยากเหมือนกัน อันนี้มีอะไรอยากบอกพวกเขาบ้าง เพราะตอนนี้ก็เริ่มเข้าสู่โลกดิจิทัลกันหมดแล้ว
คุณศุภรานันท์: เป็นกระแสที่คนก็ตื่นตัว ดิฉันก็เชื่อว่าจริงบางส่วนและไม่จริงบางส่วน เรามองว่าอย่างสื่อออฟไลน์ในยุคนี้อาจจะต้องเพิ่มการทำหน้าที่พิเศษขึ้นมาเพื่อที่จะปรับให้เข้ากับยุคสมัย เทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปค่ะ
ภาพสื่อโฆษณาต่างประเทศ ที่ MACO เป็นผู้ดูแล
MACO มีแผนดำเนินการอย่างไรในการมุ่งสู่ตลาดต่างประเทศ หรือ AEC
คุณศุภรานันท์: เราโฟกัสไปที่อาเซียนในประเทศเพื่อนบ้านค่ะ ซึ่งเราเชื่อว่าจะสามารถแลกเปลี่ยน Know How ที่เรามีได้ ซึ่งโมเดลการร่วมลงทุนธุรกิจในต่างประเทศ เราจะจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีประสบการณ์ ความชำนาญแล้วก็มีฐานการทำธุรกิจอยู่ในประเทศนั้นด้วย ต้องยอมรับว่าธุรกิจสื่อนอกบ้าน มันเป็นธุรกิจของคนท้องถิ่น เราต้องพึ่งพาคนท้องถิ่นทั้งในเรื่องภาษา วัฒนธรรม และกฎหมาย อย่างตอนนี้เรามีพื้นที่สื่ออยู่ในมาเลเซียแล้ว โดยเราร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในมาเลเซีย ซึ่งมีจุดแข็งหลายด้าน คือเป็นทั้ง Media Agency เป็นทั้ง Researcher และ Media Owner ซึ่งแนวโน้มดีค่ะ ธุรกิจก็เริ่มทำกำไร เราลงทุนไปประมาณ 2-3 ปีแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มจะขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น
MACO ตั้งเป้าหมายทั้งในระยะสั้น และระยะยาวของตนเองไว้อย่างไร
คุณศุภรานันท์: ระยะสั้นมองว่า เดิมสื่อนอกบ้านอย่างบิลบอร์ดจะถูกใช้อย่างเจาะจงเป็น Niche Market ใช้บางทำเลเท่านั้น สินค้าบางประเภทที่เป็น Consumer Product ยังไม่ได้ใช้สื่อนอกบ้านมากนัก แต่ปัจจุบันจะเห็นว่า Consumer Product หรือสินค้าที่เป็นแมสเริ่มหันมาใช้สื่อนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งในระยะสั้นนี้เราพยายามเพิ่มเครือข่ายของเราให้เยอะขึ้น ให้มีพื้นที่ครอบคลุมมากขึ้น ให้เป็นเน็ตเวิร์กที่เข้าถึงแมสมากขึ้น เพื่อทำสื่อของเราให้เป็นแมส เป็นผู้เล่นรายใหญ่ และเพิ่ม Market Share จากสื่อดั้งเดิมประเภทอื่นเข้ามาที่ตัวเรา
ส่วนระยะยาว เรามองว่าเราจะทำให้สื่อของเราทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น ด้วยการเสนอ Offline-to-Online Product มีฟีเจอร์ฟังก์ชั่นมากขึ้น สามารถให้บริการกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถทำงานกับสื่อออนไลน์ได้อย่างยั่งยืน
พูดได้เลยว่าเราค่อนข้างครบวงจร อย่างตอนนี้เราก็ได้ผสมผสานการใช้สื่อของเรา สื่อนอกบ้านที่เป็น outdoor กับสื่อในอาคารสำนักงาน หรือสื่อที่อยู่ในสนามบิน รวมถึง Below the Line ที่เป็นบูธสาธิตการใช้งานสินค้า ซึ่งเป็นการบริการของบริษัทในเครือของ VGI บริษัทแม่ เป็นการผนึกกำลังแบบครบวงจร ในการเสนอบริการสื่อนอกบ้าน ด้วยจุดแข็งที่เรามี Location Base การตลาดแบบเจาะจงพื้นที่ เรามีจุดติดตั้งสื่อกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีข้อดีที่สามารถเจาะลึกลงไปว่า กลุ่มเป้าหมายที่อยู่โซนนี้ สามารถทำการตลาดนี้กับเจ้าของสินค้าในขณะเวลาที่มีแคมเปญได้เลย อย่างสมมติว่าทางภาคเหนือ ลูกค้ามีแคมเปญการตลาด เพื่อจะเพิ่มยอดขายทางโซนภาคเหนือ เราก็จะสามารถใช้โลเคชันที่มีอยู่เลือก Target Group ให้ลูกค้า แล้วก็จัดแคมเปญการตลาดที่จะผสมผสานและต่อยอดการใช้งานในท้องที่ เช่น แคมเปญร่วมสนุกชิงรางวัล ลุ้นรับสินค้าตัวอย่าง โดยเดินไปรับได้ที่โลเคชันนั้น ๆ ได้เลย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของค่ะ
ภาพสื่อโฆษณาประเภท Scroll Board ที่ MACO เป็นผู้ดูแล
จากการพูดคุยในครั้งนี้ เห็นได้ชัดเลยว่าถึงแม้กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงจนอะไร ๆ ก็เปลี่ยนไป แต่หากเรารู้จัก
ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะพัฒนาอยู่เสมอ เราก็สามารถเป็นผู้เล่นในตลาดได้อย่างยั่งยืน ดูได้จาก MACO ที่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจสื่อนอกบ้านแต่ด้วยวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดนี้อย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่สามารถเนรมิตสื่อนอกบ้านในยุคนี้ให้น่าจับตามองไม่แพ้สื่อออนไลน์เลยทีเดียว