แผนคำนวณ Home Loan บ้านในฝัน

แผนคำนวณ Home Loan บ้านในฝัน

By Krungsri Plearn Plearn

อยากมีบ้านในฝัน แต่ไม่รู้ต้องเก็บเงินไปอีกนานเท่าไหร่ถึงจะพอ
ไม่จำเป็นต้องนั่งรอไปทั้งชีวิต เพียงรู้จักการทำสินเชื่ออย่างถูกต้อง
แต่ที่สำคัญต้องรู้จักคำนวณอย่างแม่นยำ บ้านในฝันของคุณถึงจะมีสิทธิ์กลายเป็นบ้านแห่งความสุขที่เกิดขึ้นจริง

หลายคนอาจคุ้นหูกับคำว่า Home Loan (สินเชื่อเพื่อบ้าน) มาก่อน แต่อาจจะยังไม่เข้าใจมันดีนัก พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นการขอกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน ทาวน์เฮาส์ หรือคอนโดฯ โดยสถาบันการเงินเป็นฝ่ายปล่อยเงินกู้ให้กับผู้กู้หรือผู้ขอสินเชื่อ ผู้กู้จะจดจำนองไว้กับธนาคาร จนกว่าผู้กู้จะชำระคืนเงินกู้จนหมดสิ้น หลังจากนั้นธนาคารจึงจะปลดจำนองให้กับผู้กู้
ทำไมวันนี้เราถึงมาพูดเรื่องนี้ นั่นเพราะสำหรับคนที่ไม่เคยขอกู้ ไม่เคยติดต่อธนาคาร แต่อยากมีบ้านเป็นชื่อของตัวเอง อาจมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากซะเหลือเกิน
วันนี้เราเลยขอนำวิธีตรวจสอบตัวเองแบบง่าย ๆ ว่าตัวเรานั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นเจ้าของบ้านสักหลังได้หรือไม่และพร้อมยื่นขอสินเชื่อแล้วหรือยัง
1. ลองมาดูกันสักนิดนึงว่า ด้วยรายได้และรายจ่ายที่มีอยู่ ตัวเรานั้นจะมีความสามารถในการขอกู้ได้ภายในวงเงินเท่าไหร่ ความสามารถในการขอกู้ประเมินจากรายได้ผู้กู้ และผู้กู้ร่วมต่อเดือน ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ระยะเวลาที่ขอกู้ และดอกเบี้ยกู้ ผลที่ได้ก็จะเป็นตัวเลขวงเงินที่จะขอกู้ได้ และตัวเลขค่างวดที่ผู้กู้ต้องจ่ายคืนต่อเดือน
เมื่อผู้กู้รู้ความสามารถของตัวเองว่าจะขอกู้ได้ในวงเงินเท่าไหร่ และต้องจ่ายค่างวดคืนเท่าใดนั้น จะทำให้ผู้กู้สามารถนำไปประเมินกับราคาขายบ้านที่ต้องการขอกู้ซื้อได้ เช่น มีความสามารถในการขอกู้ได้ 400,000 บาท แต่บ้านที่ต้องการซื้อราคา 600,000 บาท หากยืนยันจะซื้อบ้านในราคานี้ การขอสินเชื่อก็จำเป็นต้องมีผู้กู้ร่วม เพราะรายได้จากผู้กู้หลักคนเดียวให้วงเงินไม่ครอบคลุม หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนไปซื้อบ้านในราคาถูกลง ในทำเลหรือโครงการอื่น ที่ราคาต่ำกว่าหรือเท่ากับ 400,000 บาท เป็นต้น
2. ถ้าอยากได้บ้านหลังนี้ซะเหลือเกิน ทำเลก็ดี ใกล้ที่ทำงาน ใกล้รถไฟฟ้า เหตุผลสนับสนุนล้านแปด สรุปคือ อยากเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ อยากรู้ว่าด้วยราคาบ้านเท่านี้ เมื่อซื้อแล้วจะต้องผ่อนจ่ายคืนต่อเดือนเท่าไหร่ ข้อนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้กู้ได้ตรวจสอบศักยภาพตัวเองว่า ถ้าต้องชำระต่อเดือนเท่านี้ จะจ่ายไหวมั้ย ความสามารถในการผ่อนชำระคืนต่อเดือน ประเมินจากวงเงินที่ขอกู้ อัตราดอกเบี้ยกู้ และระยะเวลาที่ขอกู้ เช่น ต้องการกู้ซื้อบ้านในวงเงิน 1,000,000 บาท ด้วยดอกเบี้ยกู้ 7% ระยะเวลาขอกู้ 30 ปี จะต้องชำระค่างวด 8,100 บาท ต่อเดือน
เมื่อผู้กู้เห็นตัวเลขนี้แล้ว ผู้กู้จะได้วางแผนต่อไปได้ หากจ่ายคืนต่อเดือนไหวก็ลองขอกู้สินเชื่อกับสถาบันการเงินได้เลย หากตัวเลขสูงไปแต่อยากได้บ้านหลังนี้ ก็ต้องหาคนกู้ร่วม หารายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายลง หรืออาจจะตัดสินใจถอยไปหาบ้านหลังใหม่ที่ราคาต่ำลง แล้วแต่ใจของคุณเลย
3. ถ้ามีคำถามว่า ต้องการขอกู้วงเงินเท่านี้และมีปัญญาจ่ายค่างวดแค่นี้ จะจ่ายหนี้นี้หมดภายในระยะเวลากี่ปี หลายครั้งที่สินเชื่อไม่ผ่านอนุมัติเพราะระยะเวลากู้น้อยไป ระยะเวลากู้น้อยไปส่งผลให้ค่างวดที่ต้องจ่ายคืนสูงขึ้น และหากค่านี้สูงเกินความสามารถที่ผู้กู้มีความสามารถจ่ายคืนได้ ก็จะทำให้ผลการอนุมัติไม่ผ่าน แต่แก้ไขได้โดยการยืดระยะเวลากู้ให้ยาวออกไป ก็จะสามารถลดค่างวดลงได้ ในกรณีที่ไม่สามารถยืดระยะเวลากู้ได้แล้ว เพราะมีอายุงานเหลือน้อย ก็แก้โดยการลดวงเงินกู้ให้น้อยลง หรือเพิ่มผู้กู้ร่วม เป็นต้น
4. อยากรู้ว่า ถ้ามีความสามารถผ่อนชำระคืนต่อเดือนเท่านี้ ดอกเบี้ยกู้ประมาณนี้ และระยะเวลากู้เท่านี้ จะได้วงเงินกู้เท่าไหร่ การต้องการรู้วงเงินกู้ก็เพื่อจะนำตัวเลขวงเงินไปประเมินว่าได้วงเงินเพียงพอที่จะขอกู้ซื้อบ้านหรือไม่ หรือหากไม่พอจะเหลือส่วนต่างเท่าไหร่ เพื่อจะวางแผนการขอกู้สินเชื่อในส่วนอื่น ๆ ต่อไปได้
5. อยากรีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ เพราะเห็นว่าดอกเบี้ยถูกกว่าเยอะ แต่ไม่รู้ว่าจะคุ้มค่าที่จะทำรีไฟแนนซ์ หรือเปล่า นอกจากการขอกู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านใหม่แล้ว การทำรีไฟแนนซ์ก็ถือเป็นการขอกู้สินเชื่อบ้านเหมือนกัน คือ เป็นการย้ายสถาบันการเงินเดิมที่กู้อยู่ ไปใช้บริการกับสถาบันการเงินใหม่ เพราะสถาบันการเงินใหม่อาจให้ข้อเสนอที่คุ้มค่ากว่า
การดูความคุ้มค่าของการทำรีไฟแนนซ์ สถาบันการเงินใหม่จะประเมินความคุ้มค่าจากยอดกู้คงเหลือ จำนวนงวดคงเหลือ อัตราดอกเบี้ยที่จ่าย ณ ปัจจุบัน และค่างวดที่ชำระอยู่ โดยจะแสดงค่าให้เห็นเป็นยอดตัวเลขว่า ถ้ารีไฟแนนซ์มาที่สถาบันการเงินใหม่แล้ว จะช่วยประหยัดเงินในการผ่อนชำระคืนเป็นเงินเท่าไหร่
ผู้ขอรีไฟแนนซ์ต้องนำยอดตัวเลขที่ได้นี้ มาทำการประเมินรวมกับค่าใช้จ่ายในการประเมินใหม่ ค่าจดจำนองใหม่ ค่าปรับของสถาบันการเงินเดิมกรณีไถ่ถอนก่อนกำหนด ค่าธุรกรรมอื่น ๆ เช่น ค่าอากร ค่าประกันอัคคีภัย อีกทีหนึ่ง จึงจะรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วการรีไฟแนนซ์นี้คุ้มค่าหรือไม่
6. สมมติว่าคำนวณดูทุกอย่างแล้ว คิดว่าความฝันที่จะซื้อบ้านใกล้จะเป็นจริงแล้ว ต่อไปก็มองหาธนาคารเพื่อขอสินเชื่อเลยสิ รออะไรล่ะ
การมองหาธนาคารหรือสถาบันการเงินควรจะมองเรื่องอะไรบ้างนั้น อย่างแรกคงต้องเป็นเรื่องดอกเบี้ย ส่วนใหญ่จะมองกันที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เพราะดอกเบี้ยที่สูงจะทำให้ยอดผ่อนชำระคืนสูงไปด้วย และเงินต้นก็ลดช้า นอกจากจะใช้วิธีเดินเข้าไปติดต่อธนาคารโดยตรงเพื่อขอโปรโมชั่นดอกเบี้ย ลองเช็กสิทธิ์ตัวเองนิดนึงว่า บริษัทที่ทำงานมีการทำ MOU ไว้กับธนาคารไหนบ้าง เพราะถ้าบริษัทมีข้อตกลงไว้ ก็แสดงว่าพนักงานของบริษัทสามารถขอกู้สินเชื่อในดอกเบี้ยพิเศษได้ จะทำให้ได้ดอกเบี้ยถูกลงมาก หรือถามโครงการที่จะซื้อบ้านว่าได้ติดต่อกับธนาคารอะไรไว้บ้าง เพราะธนาคารจะมีโปรโมชั่นดอกเบี้ยให้อยู่แล้ว ดีกว่าไปหาธนาคารอื่นที่ไม่ได้ดีลกับโครงการไว้เยอะเลย
ทีนี้หากไม่ได้รับสิทธิพิเศษจากกรณีใด ๆ เลย ก็ต้องใช้ดอกเบี้ยปกติของแต่ละธนาคาร ซึ่งผู้ขอกู้จะต้องพิจารณาดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น ดอกเบี้ยปีแรกเป็น 0 ดอกเบี้ยปีต่อไปลอยตัว เหมาะสำหรับคนที่ตั้งใจจะโปะเงินต้นเยอะ ๆ ในปีแรก หรือดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี เหมาะสำหรับคนที่อยากให้ดอกเบี้ยคงที่ รู้แน่นอนว่าเงินต้นที่ลดไปในแต่ละเดือนเท่าไหร่ ไม่ต้องปวดหัวกับดอกเบี้ยลอยตัวในปีต่อ ๆ ไป เป็นต้น
สำหรับคนที่คิดว่าการเปรียบเทียบดอกเบี้ยเป็นเรื่องยุ่งยาก ธนาคารก็มีบริการเปรียบเทียบดอกเบี้ยให้ หรือไม่ก็ใช้โปรแกรมคำนวณที่มักจะแจกให้ใช้ฟรีคำนวณเปรียบเทียบเองก็ได้
อย่างที่สอง พิจารณาเลือกธนาคารจากขั้นตอนในการขอสินเชื่อ บางคนยอมเลือกธนาคารที่ให้บริการดีกว่า ขั้นตอนในการขอสินเชื่อน้อยกว่า หรือเอกสารน้อยกว่า แทนที่จะเลือกธนาคารที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า
อย่างที่สาม ดูจากโปรโมชั่นอื่น ๆ เช่น ฟรีค่าโอน ฟรีค่าประกันอัคคีภัย หรือยกเว้นค่าทำธุรกรรมให้ เพราะค่าเหล่านี้นับว่าเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เหมือนกัน
อย่างที่สี่ ดูจากประวัติการบังคับทำประกัน คงไม่มีผู้กู้คนไหนต้องการเพิ่มวงเงินกู้ในเรื่องที่ไม่จำเป็น การบังคับซื้อประกันชีวิตของแต่ละธนาคาร ยังทำให้ผู้ขอกู้ต้องจ่ายค่างวดเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ด้วยวิธีคำนวณสินเชื่อบ้านที่เราแนะนำไปทั้งหมด หวังว่าคนที่อยากมีบ้านคงจะพอรู้ตัวเองแล้วละ ว่ามีความสามารถในการขอกู้แค่ไหน หรือถ้าอยากมีผู้ช่วยคิดแบบง่าย ๆ ก็สามารถลองคำนวณได้ด้วย เครื่องคำนวณสินเชื่อบ้าน ที่ช่วยประเมินทั้งความสามารถในการกู้ ระยะเวลา วงเงิน และความสามารถในการผ่อนชำระ
การคำนวณสินเชื่อบ้านนี้เหมาะสำหรับคนที่วางแผนมีบ้านทุกคน แม้คำนวณแล้วจะยังไม่สามารถขอกู้สินเชื่อได้เลยทันที แต่ก็สามารถนำไปใช้ช่วยวางแผนชีวิต เพื่อการมีบ้านในอนาคตได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow