Heart Work โปรเจกต์ที่สร้างแรงบันดาลใจและส่งต่อแนวคิดในการใช้ชีวิตให้ผู้คนในสังคม

Heart Work โปรเจกต์ที่สร้างแรงบันดาลใจและส่งต่อแนวคิดในการใช้ชีวิตให้ผู้คนในสังคม

By Krungsri Academy

วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร happening ผู้ถ่ายทอดแรงบันดาลใจและแนวคิดในการใช้ชีวิตผ่านโปรเจกต์ Heart Work โปรเจกต์ที่จะทำให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงคุณค่าในการทำงานเพื่อประโยชน์แก่สังคม

ในวันที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์เผชิญกับความซบเซา นิตยสารหลายเล่มเงียบเหงาจนท้ายที่สุดต้องโบกมือลาวงการ ทว่า วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร happening เป็นหนึ่งในบรรณาธิการหนังสือที่ก้าวทันโลกยุคดิจิทัล เขาปรับตัวและนำพานิตยสาร happening ฝ่าฟันวิกฤตอย่างนุ่มนวลแต่เฉียบขาด ทั้งด้วยการปรับเนื้อหาและระยะเวลา การสร้างปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้อ่านผ่านโลกออนไลน์ รวมทั้งการเริ่มทำงานในแพลตฟอร์มที่แตกต่างจากเดิมควบคู่กับงานนิตยสาร อาทิ การจัดเวิร์กชอป อีเว้นท์ ไปจนถึงการเปิด Select Shop ร้านขายของที่ระลึกในนาม happening shop เพื่อรักษาสมดุลทางธุรกิจ
ไม่เพียงเท่านี้ วิภว์ยังขับเคลื่อนโครงการดี ๆ ผ่านสื่อกระดาษ โดยเฉพาะ happening ‘Heart Work’ โครงการสำคัญที่นำเสนอ 70 เรื่องราวและภาพประกอบจาก “การงาน” ของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ที่ทรงอุทิศพระวรกายและพระราชหฤทัยเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยเสมอมา โดยมอบยอดขายทั้งหมดของหนังสือให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา นอกจากจะได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี happening ‘Heart Work’ ยังได้รับการต่อยอดไปสู่การเป็นรายการโทรทัศน์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) พร้อมส่งต่อแนวคิดในการใช้หัวใจทำงานให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันซึมซับและเข้าใจ เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ความพยายามของวิภว์สร้างผลที่งดงามต่อสังคมมากแค่ไหน คำตอบของเขาอยู่ที่นี่แล้ว
วิภว์ บูรพาเดชะ
วิภว์ บูรพาเดชะ
บรรณาธิการนิตยสาร happening และผู้ก่อตั้งโครงการ happening ‘Heart Work’

ในยุคดิจิทัล คุณต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้นิตยสาร happening อยู่รอด

คุณวิภว์: เรารู้ว่ามันเป็นยุคดิจิทัล เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ต้องให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เช่น เฟซบุ๊กหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งเราทำมาหลายปีแล้ว ปัจจุบันถือว่ามีคนติดตามในระดับที่น่าพอใจ เฟซบุ๊กตอนนี้ก็มีอยู่หลักแสนคนครับ และเรากำลังจะเปิดเว็บไซต์ในช่วงปลายปีนี้ด้วย เป็นโครงการใหญ่ของเรา ชื่อว่าเว็บ happening and friends

ความยากในช่วงปรับตัวคืออะไร

คุณวิภว์: มันยากตรงที่ต้องหาความสมดุลระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ อะไรคือคอนเทนต์ที่เหมาะกับออฟไลน์ และอะไรคือคอนเทนต์ที่เหมาะกับออนไลน์ อย่างที่เรารู้กันว่านิตยสารอยู่ในช่วงขาลง เราเห็นข่าวนิตยสารปิดหลายเล่มในเดือนหนึ่ง ซึ่งนิตยสารของเราได้ปรับตัวมาก่อนหน้านี้แล้วประมาณเกือบ 2 ปี โดยเราปรับเป็นรายสามเดือน โดยเหตุผลคือ เรารู้สึกว่าคนอ่านออนไลน์กันเยอะ และคนให้เวลากับหนังสือเล่มน้อยลง เพราะฉะนั้นเราจึงทำให้เหมาะสมกับคนอ่าน
สิ่งหนึ่งที่หนังสือเล่มชนะออนไลน์ได้ คือ ความเข้มและความลึกของมัน เราเลยเพิ่มความลึกมากขึ้น เน้นประเด็นมากขึ้น เช่น เล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของแผ่นเสียงทั้งเล่มเลย อีกเล่มหนึ่งอาจจะว่าด้วยเรื่องแบรนด์ดีไซน์ทั้งเล่มเลย
นอกจากนี้ เราทำหนังสือแต่ละเล่มให้เป็นแคมเปญมากขึ้น เช่น ทำหนังสือพ่วงกับเวิร์กชอป หรือพ่วงกับนิทรรศการศิลปะ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ในส่วนออนไลน์เราก็ทำอย่างตั้งอกตั้งใจ ส่วนออฟไลน์เราก็ทำให้ถึงเนื้อถึงตัว ถึงใจมากขึ้น

โครงการ happening Heart Work เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร

คุณวิภว์: โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดจากข่าวร้ายวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เราเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศรู้สึกเศร้าใจและเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่คนไทยสัมผัสร่วมกัน ซึ่งในมุมมองสื่อ เราอยากบันทึกหรือบอกเล่าอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ จึงคุยกันในทีมว่า เราเคยรู้มาว่าในหลวงท่านอยากให้คนจดจำเรื่องการทำงานของพระองค์ท่าน ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า ถ้ามีคนพูดถึงท่าน ท่านอยากให้พูดถึงสิ่งที่ท่านทำ งานที่ท่านทิ้งไว้
จากมุมนี้ เรามองว่าสื่อหนังสือเล่มส่วนใหญ่จะทำเป็นพระราชประวัติ เรื่องภาพถ่าย และงานศิลปะที่เป็นภาพ Portrait มากกว่า เราจึงชวนศิลปิน 70 กว่าคนมาถ่ายทอดการทำงานของพระองค์ท่านในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถลงหนังสือได้ ซึ่งได้รับความสนใจเยอะมาก แต่ละคนมีความคิดสร้างสรรค์ต่างกันออกไป บางคนก็แต่งเพลง ทำเป็นภาพวาด ภาพถ่าย วิธีการคือ ทีมกองบรรณาธิการจะเขียนบทความสรุปงานแต่ละชิ้น แล้วนำไปให้ศิลปินอ่านเพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างชิ้นงาน
happening Heart Work
ภาพผลงานจากหนังสือ happening ‘Heart Work’

ตอนที่ชวนศิลปิน โดยส่วนใหญ่มาด้วยใจ

คุณวิภว์: ส่วนใหญ่จะตอบรับทันที เพราะทุกคนอยู่ในห้วงอารมณ์ที่อยากทำอะไรบางอย่างเพื่อพระองค์ท่านอยู่แล้ว อีกอย่างคือ โครงการเราไม่เหมือนใคร มีหลายคนที่ติดต่อไปแล้วตอบกลับมาว่า นี่ติดต่อมาเล่มที่ 3 แล้วนะ แต่พอเขาได้ฟังแนวคิดก็สนใจ เพราะมันไม่ใช่แค่การวาดภาพ Portrait ของพระองค์ แต่ต้องตีความงานของท่านแล้วถ่ายทอดมาเป็นงานของตัวเอง เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มนี้จึงมีภาพของพระองค์ท่านไม่ค่อยเยอะ แต่จะเป็นชิ้นงานที่นำมาทำใหม่ ตีความใหม่มากกว่า
ในระหว่างการทำ เรายังมีความตั้งใจตั้งแต่แรกด้วยว่า เราไม่อยากหาผลประโยชน์จากโครงการนี้ ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้รายได้ 100% ไปสมทบกับมูลนิธิของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นความยากที่เราทำตัวเอง ตั้งโจทย์เอง ยากเอง เลยต้องหาสปอนเซอร์เพื่อมาช่วยค่าพิมพ์ ค่ากระดาษ ค่าจ้างศิลปิน ซึ่งปรากฏก็หาได้ มีแต่คนสนใจจะเป็นสปอนเซอร์

ระหว่างนั้นมีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง

คุณวิภว์: จริง ๆ จะไม่ค่อยเจอ ทุกวันจะมีข่าวดี เช่น วันนี้ศิลปินตอบรับแล้วนะ วันนี้มีสปอนเซอร์เข้ามาแล้วนะ ซึ่งทำให้โครงการถูกขยายไปด้วย อย่างวันที่เราคุยเรื่องหนังสือเกือบจบแล้ว เราไปคุยกับสปอนเซอร์ สปอนเซอร์บางท่านแนะนำว่า ควรทำนิทรรศการนะ หรือควรต่อยอดมากกว่านี้นะ จนมีคนพาไปรู้จักกับ Thai PBS เขาเลยบอกทำรายการทีวีไหม เราเลยได้ทำเป็นรายการทีวีอีก 13 ตอน ซึ่งกำลังออนแอร์อยู่ทุกคืนวันศุกร์ เวลา 21.20 น. และจะออนแอร์ตอนสุดท้ายในวันที่ 13 ตุลาคมพอดี

เมื่อมีการต่อยอดโครงการไปสู่รายการโทรทัศน์ มีวิธีปรับมุมมองการทำงานอย่างไร

คุณวิภว์: เรารู้สึกว่าโครงการ happening ‘Heart Work’ มีการร่วมแรงร่วมใจกันเยอะ จนเราเหมือนเป็นเจ้าภาพที่ชวนคนมาทำงานร่วมกัน ซึ่งพอทำรายการทีวี เราอยากเก็บอารมณ์ของการร่วมแรงนี้ไว้เหมือนกัน เลยใช้โมเดลที่เอาศิลปินไปเรียนรู้งานของในหลวง เช่น พาศิลปินคนหนึ่งไปดูงานที่โรงงานดอยคำ และในการถ่ายทำ เราพยายามใช้คนถ่ายหนึ่งทีมต่อหนึ่งเทป จึงทำให้แต่ละเทปมีการจับคู่ระหว่างศิลปินที่เราเลือกมากับทีมโปรดักชั่นรุ่นใหม่ บวกกับอีกหนึ่งทีมหลักที่คอยทำหน้าที่ร้อยรายการแต่ละตอนเข้าด้วยกัน

มีวิธีเลือกบุคคลที่จะไปสัมภาษณ์ในโครงการ happening ‘Heart Work’ อย่างไร

คุณวิภว์: ถ้าเป็นทีวี จะพิจารณาจากชิ้นงานหรือวิธีการทำงานที่สามารถถ่ายทอดเป็นรายการได้ และควรเป็นศิลปินที่มีความสามารถในการบอกเล่า และตีความ ซึ่งแต่ละเทปมีความหลากหลายพอสมควร เช่น มีคุณอ้อ-พรพรรณ สุทธิประภา ที่ทำงานเซรามิก หรือ ครูอ๋าย-นพเก้า เนตรบุตร ที่ทำงานผ้าปัก ซึ่งเวลาถ่ายออกมาจะสวย สามารถเห็นถึงขั้นตอนการทำ การคิดงาน การปั้น และการลงสี
ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำรายการ happening Heart Work
ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำรายการ happening ‘Heart Work’

จากที่เห็นต้องมีการบริหารจัดการร่วมกับคนหลายฝ่าย มีเทคนิคอย่างไรเพื่อให้งานราบรื่น

คุณวิภว์: พอเป็นงานเกี่ยวกับในหลวง ส่วนใหญ่คนจะทำด้วยความเต็มใจ เพราะรู้ว่าเรากำลังทำสิ่งดี ๆ ฝากให้กับแผ่นดิน แต่พอคนเยอะ ๆ เราก็ต้องจัดระบบนิดหน่อย ทุกคนในทีม happening จะช่วยกันติดต่อ และมีการนัดหมายเพื่ออัปเดตข้อมูลของทุกคนอย่างสม่ำเสมอ

คิดว่าโครงการ happening ‘Heart Work’ ให้อะไรกับสังคมบ้าง

คุณวิภว์: สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินคนพูดค่อนข้างเยอะ คือ เป็นโครงการที่พูดกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเรามองว่าคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่ห่างเหินกับพระองค์ท่านนิดหนึ่ง เพราะเติบโตมาในช่วงที่พระองค์ท่านพระชนมพรรษามากแล้ว จึงไม่ได้เห็นช่วงที่พระองค์ท่านทรงงานหนัก ๆ ฉะนั้นการสื่อสารให้คนรุ่นใหม่รู้ว่าพระองค์ทรงทำอะไรมาบ้าง เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าทำด้วย เสียงตอบรับที่ได้กลับมาคือหลายคนบอกมาว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อ เป็นเรื่องที่ไม่ซ้ำใคร ซึ่งการพูดกับคนรุ่นใหม่นี่แหละเป็นสิ่งที่ทีม happening ตั้งความหวังไว้

คุณมีบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานไหม

คุณวิภว์: จริง ๆ คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครับ จากการทำโครงการ Heart Work ทำให้เราต้องกลับไปอ่านพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์มากขึ้น ทำให้รู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกเยอะ จากที่คิดว่าเราก็รู้เยอะอยู่แล้วนะ แต่สิ่งที่พระองค์ท่านทำกลับเยอะกว่าที่เราคิดไว้มาก อ่านแล้วรู้สึกประทับใจ หลายเรื่องสามารถนำไปเล่าเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ ซึ่งแง่มุมต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เราตื้นตัน เพราะพระองค์ท่านทำงานเพื่อประชาชน เพื่อส่วนรวมจริง ๆ

การทำงานนี้ส่งผลให้เราอยากทำอะไรเพื่อตอบแทนสังคมด้วยใช่ไหม

คุณวิภว์: ใช่ เราเป็นองค์กรสื่อที่พยายามสื่อสารเรื่องศิลปะและงานบันเทิงที่มีคุณภาพ เราอยากทำประโยชน์เพื่อสังคมต่อให้เป็นเรื่องบันเทิงก็ตาม ศิลปะสามารถถ่ายทอดประเด็นบางอย่างที่ยาก ๆ ให้คนเข้าใจได้ง่าย และเข้าถึงคนได้มาก เราเลยพยายามมองว่าขอบเขตของ happening ไม่ได้มีแค่บันเทิงจ๋าอย่างเดียว แต่เราสามารถใช้สิ่งที่เราทำไปส่งเสริมสังคมให้ดีขึ้นได้

ในอนาคตสนใจจะสานต่อโครงการเพื่อสังคมอีกหรือไม่

คุณวิภว์: เราตั้งไว้ว่าศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจง่ายและเกิดประโยชน์ต่อคนด้วย พอนึกถึงโครงการต่อ ๆ ไป เราจะพยายามเข้าถึงคนในวงกว้าง และทำให้รู้ว่าศิลปะเป็นเรื่องสำคัญ ช่วยให้จิตใจของคนในสังคมมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น ทั้งยังส่งเสริมจินตนาการ ซึ่งเป็นพลังที่ดีต่อสังคม ศิลปะยังสามารถนำไปสร้างเป็นธุรกิจ สร้างรายได้อีกด้วย การใช้ศิลปะมาทำงานเพื่อสังคมก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะขับเน้นความสำคัญของศิลปะครับ
วิภว์ บูรพาเดชะ

อยากให้แนะนำคนรุ่นใหม่ถึงวิธีสร้างความสมดุลระหว่าง ‘สิ่งที่อยากทำ’ กับ ‘สิ่งที่ทำเพื่อประโยชน์ในสังคม’

คุณวิภว์: แนวคิดหนึ่งที่อยากชวนให้ลองคิดมุมกลับบ้างก็คือ การทำอะไรเพื่อสังคมไม่ใช่การทำให้ตัวเองเสียประโยชน์นะครับ หากมองในมุมที่กว้างขึ้น เมื่อสังคมเราดี ก็จะส่งผลให้ตัวเราเอง หรือธุรกิจของเราได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย หากเราเอาเปรียบสังคม เอาเปรียบลูกค้า หากไม่นับเรื่องเสียแบรนดิ้งแล้ว ในที่สุดสังคมที่เราอยู่ก็จะไม่มีแรงมาอุ้มชูตัวเราเช่นกัน หากมองในแง่นี้ การทำประโยชน์ให้สังคมมันก็เป็นการทำเพื่อตัวเองรูปแบบหนึ่งเหมือนกันนะ
หรือบางทีเวลาเราทำงาน ทำธุรกิจ หรือแม้กระทั่งพิมพ์อะไรบางอย่างบนเฟซบุ๊ก ที่สุดแล้วตัวเราก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมอยู่ดี ฉะนั้นสิ่งที่เราทำ ถึงจะเล็กแค่ไหนก็ตาม ถ้าเราส่งพลังบวกไปในสิ่งที่ทำ มีพลังงานดี ๆ อยู่ในนั้นด้วย ก็สามารถทำให้สังคมได้รับพลังบวกจากเรื่องเล็ก ๆ อย่างการเห็นสเตตัสของเรา อันนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่อยากฝากให้ตระหนักไว้นะครับ

เป็นการใส่คุณค่าในสิ่งที่เราทำหรือเปล่า

คุณวิภว์: จะเรียกว่าคุณค่าก็ได้นะ ลองจินตนาการอย่างในเฟซบุ๊ก ถ้าเราใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น แชร์ข่าวที่เป็นประโยชน์ โพสต์ให้กำลังใจตัวเองและให้คนอื่นได้อ่านด้วย หรือพูดถึงสิ่งดี ๆ ที่ไปเจอมา มันช่วยเพิ่มพลังบวกใน News Feed ของคนอื่นได้เยอะเลย ต่างกับการบ่นเรื่องรถติด หรือไปเจออะไรมาก็ขอบันทึกไว้หน่อยว่า “ไอ้คนนี้มันบริการไม่ดี” ก็ทำให้มีแต่พลังลบอยู่ในสังคมออนไลน์
เรารู้ว่าคนที่เห็น Feed แบบนี้ ต้องรู้สึกแน่นอนว่าสังคมเราไม่ดีเลย มีแต่เรื่องแย่ ๆ มีแต่เรื่องบ่นกัน ซึ่งไม่ใช่ว่าบ่นไม่ได้นะ แต่มันก็มีคำว่า ‘ติเพื่อก่อ’ สมมติเราเจอเรื่องไม่ดี แล้วเรามีวิธีการเสนอแนะให้เขาปรับปรุงยังไงหรือเปล่า ตรงนี้สามารถเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายเป็นพลังบวกได้เลย
การเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช่แค่เรื่องของโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่เป็นเรื่องของการทำงาน การใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันในบ้าน ในสังคมแต่ละวันของเรา เวลาเจอเรื่องร้าย ๆ เข้ามา แทนที่จะมีอารมณ์โกรธทันที โมโหทันที งอนทันที ลองแปรเป็นพลังบวกได้ไหม ลองเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ รอบ ๆ ตัวก่อนก็ได้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow