ธุรกิจ Grabtaxi มีมุมมองในการดูแลสังคม เพื่อพัฒนาความสะดวกสบายในเดินทาง ช่วยเหลือสหกรณ์ ช่วยเหลือคนขับ ด้วยแนวคิดที่เข้ามาเพื่อไม่เป็นปรปักษ์ต่อสังคม มาช่วยพัฒนาระบบ ถึงแม้หลาย ๆ คนจะมีมุมมองที่ว่าคนขับแท็กซี่มักจะให้บริการได้ไม่ดี แต่ Grabtaxi เล็งเห็นว่าไม่ใช่ทุกคน จึงอาสาเข้ามาเพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายวิน-วิน หากคนขับมีรายได้มากขึ้น ก็จะสามารถจ่ายเงินสหกรณ์ตรงเวลา เมื่อมีระบบมาดูแล คนขับก็จะบริการดีขึ้น ผู้โดยสารจะได้นั่งแท็กซี่ที่สะดวกสบายมากขึ้น สิ่งนี้จะช่วยลดปัญหาการเดินทางด้วยแท็กซี่ตั้งแต่ต้นเหตุนั่นเอง
ไอเดียการเริ่มต้นธุรกิจ Grab Taxi
“แต่แรกเลย จูนทำงานสาย Traditional มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Metal หรือการทำ Commodity Trading ที่ประเทศญี่ปุ่น การได้เข้าเรียนที่ Harvard Business School นั้น เป็นการเปิดมุมมองและแนวความคิดให้กว้างขึ้นมาก ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังพูดถึงเทรนด์เทคโนโลยีนั้น เราได้เรียนรู้กรณีศึกษามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียนในวิชาที่ให้ความรู้ด้านนั้น ๆ ไปจนถึงการที่จูนได้เข้าทำงานช่วงซัมเมอร์ที่ Venture Capital ประเทศเยอรมัน ความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะนำประสบการณ์ต่าง ๆ มาใช้กับธุรกิจที่บ้าน ทำให้จูนได้พบเห็นธุรกิจอีกด้านที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ในโลกของ Tech Startup การแข่งขันทางธุรกิจต่างออกไป เช่น ภายใน 8 เดือน ธุรกิจขยายไปกว่า 29 ประเทศ และภายใน 1-2 สัปดาห์มีการซื้อขายบริษัทอย่างรวดเร็ว”
“ที่ Harvard ก็มีการผลักดันให้นักศึกษาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อพัฒนาสังคม โดยการร่วมมือกับเพื่อน ๆ จึงเกิด Grabtaxi ขึ้น และมีอีกเหตุผลหนึ่งคือ การทำ Tech Model ครั้งแรก ๆ ในสมัยที่เรียนอยู่ที่ Harvard นั้น จะเป็นธุรกิจแบบ Daily Deal ซึ่งเกิดขึ้นและโตเร็วมาก แต่เป็นเพียงแค่ความนิยมเพียงสั้น ๆ เป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนเท่าไหร่นัก แล้วยังใช้เงินทุนสูง เช่น ในปี 2010 ภายใน 4 เดือน ที่ประเทศจีนเกิด Startup ประเภทนี้ขึ้นกว่า 400 บริษัท หรือที่ประเทศเยอรมัน ในต้นปี 2010 มีบริษัทประเภทนี้มากกว่า 10 บริษัท แต่กลางปีกลับเหลืออยู่แค่ 2-3 บริษัทเท่านั้น กรณีศึกษานี้ ทำให้จูนมองว่า ‘เราควรเรียนรู้ว่า ถ้าเราจะทำ Tech ตัวต่อ ๆ ไป เราต้องสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคม’ ตัว Business Model ของ Grabtaxi จึงเข้ามาเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ และต่อยอดไปในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
การเข้าเรียน Harvard ว่ายากแล้ว มีสิ่งอื่นที่ยากกว่า...
“ยอมรับว่า การเข้า Harvard นั้นค่อนข้างยาก เพราะการสอบแข่งขันนั้นสูง แต่เมื่อเข้าไปแล้ว สิ่งที่ยากที่สุดคือ “การบริหารเวลา” ทุก ๆ นาทีมีค่า เพราะมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ยิ่งการได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ ช่วยให้เราเรียนรู้ ช่วยให้พัฒนาความคิด มุมมอง และยังเป็นการพัฒนา Network ได้อีกด้วย”
“คุณพ่อเคยสอนจูนไว้ว่า ‘ทุกคนมีสองมือ สองเท้าเหมือนกัน มีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่เราจะจัดการเวลาอย่างไรให้ดีและสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด’ แล้วที่ Harvard เองก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น วันหนึ่งอาจมีการเรียนหรือทำ Case Studies ที่ต้องเตรียมตัว และยังมี Speaker session จาก Industry ต่าง ๆ ที่น่าเข้าไปฟัง ไหนจะกิจกรรมพิเศษมากมาย อีกทั้งการพบปะเพื่อน ๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ รวมถึงการสังสรรค์ต่าง ๆ จูนเองได้นอนแค่วันละ 3-5 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งไม่ดีกับสุขภาพเลย ตอนนั้นการบริหารเวลาจึงเป็นเรื่องยากที่สุด”
“การเรียนที่ Harvard ช่วยเปิดมุมมองที่กว้างขึ้นด้วย Case Study ต่าง ๆ ทำให้จูนได้เห็นประสบการณ์ต่าง ๆ ของธุรกิจของผู้อื่น ศาสตร์และศิลป์พวกนี้ เราสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้ การศึกษาและการทำ Case Study ในแต่ละ Case นั้น ช่วยให้เราเรียนรู้โดยที่ไม่ต้องลองผิดลองถูกเอง มุมมอง แนวคิด การวิเคราะห์ของแต่ละคนในห้องเรียนก็ไม่เหมือนกัน การที่ได้เรียนรู้จากมุมมองของเพื่อน ๆ ที่มาจาก Industry ที่ต่างกันนั้น ช่วยเพิ่มมุมมองที่กว้างและช่วยให้เราเรียนรู้ได้มากกว่าสิ่งที่อ่านในหนังสือ ไม่ว่าธุรกิจสาขานั้นจะเกี่ยวข้องกับเราหรือไม่ก็ตาม แนวคิดสามารถนำมาปรับใช้ได้หมด การเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์และการคุยกับเพื่อน นับเป็นการเรียนรู้ที่ดี ไม่มีใครถูกหรือผิด”
การเตรียมตัวก่อนเข้าเรียนที่ Harvard Business School
“ตั้งแต่เด็ก ๆ จูนรู้อยู่เสมอว่า จะต้องกลับมาดูแลธุรกิจที่บ้าน ถึงแม้จะเรียนเยอะแค่ไหนก็ยังรู้สึกไม่เติมเต็ม คิดเสมอว่าเราจะพัฒนาธุรกิจที่บ้านได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อสอนเสมอก็คือ เหนือฟ้ายังมีฟ้า หมายความว่า เราจะทำอย่างไรให้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยวางแผนให้จูนเรียนภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่เด็ก ๆ”
“อีกจุดหนึ่ง คือ ความเชื่อมั่นและมุมมองของเรา ที่จะได้ร่วมทำงานกับคนที่เคยทำงานกับคุณพ่อคุณแม่มา ซึ่งเขาเก่งกว่าเราตั้งเยอะ เราจะปรับตัวอย่างไร ก็ต้องกลับมามองที่ Career Path จูนจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาธุรกิจที่บ้านให้มากที่สุด เพราะเราเข้าไปช่วยงานที่บ้านตั้งแต่อายุ 14 เห็นการทำงานมาตลอด ก็ลงเรียน Business Class, IT ต่าง ๆ ให้มากที่สุด ในระดับมหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการไปทำงาน Commodity Trading ที่ญี่ปุ่น ก็เพื่อจะนำประสบการณ์กลับมาต่อยอดธุรกิจที่บ้าน”
“ก่อนกลับมาทำงานที่บ้าน จูนขอเวลาคุณพ่อ 5 ปี เพื่อจะทำอย่างไรให้ได้สร้างประโยชน์มากที่สุด เห็นโลกมากที่สุด เพื่อที่เรากลับมาจะได้เหมาะสมที่จะช่วยงานที่บ้านและดูแลคนให้ดีที่สุด”
“ก่อนเข้าเรียน Harvard Business School จูนเตรียมตัวประมาณ 5 ปี ตั้งแต่มหาวิทยาลัย โชคดีที่พี่สาวเป็นศิษย์เก่า จึงได้คุยกับเพื่อน ๆ ของพี่สาว จึงได้เห็นมุมมองความคิดของคนที่นั่น เขาแนะนำว่า อย่างน้อยต้องเตรียมตัวสัก 2 ปี ได้หนังสือมาอ่านเล่มหนึ่งชื่อ How to get into the top MBA Programs ของ Richard Montauk แล้วก็บอกว่าเราต้อง Fill in the gap ให้หมด ซึ่งการเตรียมตัวต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นการเสริมความพร้อมเพื่อรับช่วงต่อกิจการที่บ้านด้วย”
“ที่ Harvard มีคนเก่งมากมาย การพูดได้ 2-4 ภาษาเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่ได้ทำให้เรามีจุดเด่นมากมายนัก แต่ทำอย่างไรถึงจะมีความเป็นเอกลักษณ์เพื่อให้โดดเด่นกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ ก่อนที่เราจะเข้าเรียน ก็เลยวางกลยุทธ์ที่คล้าย ๆ กับธุรกิจว่า อะไรที่เป็นจุดเด่น อะไรเป็นจุดอ่อน เราก็ต้องปูปิดให้ครบทุกด้าน พิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าในรุ่นเดียวกัน เรา Lead คนอื่นได้”
การปรับตัวและจัดการความคิด เมื่อต้องทำงานกลุ่มร่วมกับเพื่อนที่เก่ง ๆ
“การที่แต่ละคนเป็น Top of the class จากที่เรียนหรือที่ทำงานต่าง ๆ มา กลายเป็นว่า พอมาเข้าเรียนที่ Harvard ซึ่งเป็นศูนย์รวมคนเก่งแบบเดียวกัน การที่จะต้องเอาชนะหรือเป็นที่ 1 นั้น ไม่ว่าใครก็ค่อนข้างยากและเครียดมาก แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของจูนค่ะ”
“ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่มาจากสาขาไฟแนนซ์บางคนไม่ค่อยมีความอดทนต่ออะไรที่ไม่มีประโยชน์ อย่างตอนคุยเรื่อง Case Study กัน ถ้ามีใครใช้เวลาพูดในสิ่งที่ไม่ส่งเสริมประโยชน์ให้กับงาน เขาจะไม่พอใจเพราะเสียเวลา สิ่งนี้ทำให้เราได้เห็นความสำคัญของ The Art of Convincing ยิ่งมองในมุมมองของโลกธุรกิจแล้ว เราต้องเจอคนมากมายไม่ว่าจะลูกน้อง ผู้รับจ้างและลูกค้า เราไม่สามารถทำธุรกิจคนเดียวได้ เราจะพิชิตกลยุทธ์ในการสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างไร การจะโน้มน้าวหรือกระตุ้นคนให้มาในทางเดียวกับเราทำได้อย่างไร เราจะได้เห็นการใช้ยุทธศาสตร์ในการโน้มน้าวเวลาถกกันเรื่อง Case Study รวมทั้งการพูดคุยกับอาจารย์หรือเพื่อน ๆ ก็ต้องใช้เทคนิคการเจรจาต่อรอง หรือจิตวิทยาในการสื่อสารเช่นกัน”
การสานต่อธุรกิจของที่บ้านกับการเริ่มธุรกิจใหม่ของตนเอง
“เราสามารถมองได้หลายมุม จูนมองเหมือนเป็นบริษัทเก่ากับบริษัทใหม่ ซึ่งทั้งสองอย่างมีความท้าทายต่างกัน มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน อย่างบริษัทเก่า การจะเข้ามาสร้างอะไรใหม่ เราต้องแก้ของเก่าให้เข้าที่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นทุน รากฐานและวัฒนธรรมที่มีมา เราไม่สามารถเปลี่ยนองค์กรแบบกะทันหัน รวมทั้งการปรับตัวให้เข้ากับคนเก่า ๆ ก็ต้องใช้เวลา ต่างกับการสร้างบริษัทใหม่ที่เราสามารถคัดสรรบุคลากรจาก Core Value และ Passion ที่สามารถโฟกัสเป็นจุด ๆ ได้”
“ด้วยความที่เรามีรากฐานความคิดมาจากธุรกิจครอบครัว จูนต้องดูแลธุรกิจที่บ้านด้วย ตอนนี้บริหาร Holding Company ชื่อ Metta Group ซึ่งการ Restructure และ Organize ธุรกิจต่าง ๆ ของครอบครัวหรือธุรกิจใหม่ ๆ ที่จูนกับพี่น้องได้ลงทุนเพื่อให้เข้ากับโครงสร้างของ Holding Company ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อในอนาคตอย่างยั่งยืนนั้น เป็นโครงการระยะยาวที่วางแผนมาตั้งแต่สมัยเรียนที่ Harvard Business School ซึ่ง Metta Group มี Business Unit ในหลายด้าน ที่จูนต้องเข้าไปดูแลเรื่อง Operation ส่วน Grab นั้น เป็นการลงทุนใน Business Unit ที่เรียกว่า Metta Tech ที่จูนดูแลมากเป็นพิเศษ นอกจาก Grab แล้ว ก็จะมี Startup ตัวอื่น ๆ และการร่วมลงทุนในสายนี้ด้วย จะทิ้งอย่างหนึ่งเพื่อมาทำอีกอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ เลยต้องหาคนที่วางใจได้มาช่วยเหลือ เมื่อมีทีมที่มีความสามารถ บวกกับโครงสร้างและระบบที่เดินได้เอง ก็สามารถปล่อยให้ Professional Management team ดูแลรับผิดชอบกันเองได้”
แรงผลักดันสู่เป้าหมาย เพื่อความสำเร็จ
“เห็นคุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจมาตั้งแต่จูนเล็ก ๆ ก็เลยอยากทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก เมื่อได้เข้าเรียนที่ Harvard เลยได้เห็น Case Study การทำธุรกิจต่าง ๆ ที่เราไม่เคยเห็น รวมทั้งการทำธุรกิจเพื่อสังคม แม้กำไรจะไม่สูงมากนัก แต่ทำให้แนวคิดในการบริหารงานที่บ้านนั้นหลากหลายมากขึ้น อย่าง Metta Group ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยนโยบายที่ต้องการสร้างธุรกิจที่ทำประโยชน์ การพัฒนา และอยู่คู่สังคม ไม่ทำธุรกิจต้องห้าม ต้องดูแลพนักงาน ใส่ใจสังคม ไม่จำเป็นว่าต้องทำเงินให้มากที่สุด หรือต้องมีชื่อเสียงมากที่สุด แต่ต้องใส่ใจคนรอบข้างและสังคมด้วย”
“เพื่อนเคยถามว่า จูนสามารถไปทำงานที่ใจรักโดยไม่ต้องรับภาระของที่บ้านก็ได้ ทำไมถึงไม่ไป ที่จูนไม่สามารถทิ้งธุรกิจของครอบครัวได้ เพราะจะรู้สึกผิดไปตลอด แล้วเราจะทำอย่างไรในการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจที่บ้านและสิ่งที่ชอบ ก็เลยเกิดเป็น Metta Group และการลงทุนในสายงาน Tech อย่าง Grab”
“สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราถึงเป้าหมายได้ก็คือ ครอบครัว กำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่และพี่น้อง ที่คอยช่วยเหลือเรื่องเวลาของกันและกัน หากช่วงไหนจูนต้องใช้เวลาในการบริหารอะไรเป็นพิเศษ อย่างเช่น Grab น้องชายก็จะมาช่วยดู Operation ในสายอลูมิเนียมมากขึ้น เรียกว่า ครอบครัวเราทำงานกันเป็นทีม”
โลกดิจิตอลกับธุรกิจ Grab Taxi
“แต่เดิมแล้ว Grabtaxi เกิดมาจากไอเดียที่การเดินทางโดยแท็กซี่ที่มาเลเซียนั้นไม่ปลอดภัย เริ่มมาจาก Anthony Tan และ Hooi Ling Tan ที่นำไอเดียนี้เข้าประกวดที่ Harvard Business Plan Competition ซึ่งโมเดลแรกเริ่มจากการมีรถแท็กซี่และคนขับ ไม่ได้เริ่มจากมือถือเลย เราก็โดนคำถามมากมายจากที่ปรึกษา ไม่ว่าจะเป็น
- “มี Fixed cost เท่าไหร่?”
- “ต้นทุนรถยนต์ต่อคันเท่าไหร่?”
- “จะแก้ปัญหาได้จริงหรือ?”
- “จะต้องใช้คนเท่าไหร่?”
- “จะข้ามจังหวัด จะข้ามประเทศได้หรือเปล่า?” ฯลฯ สิ่งที่ตอบคำถามเหล่านั้นได้ ก็คือการใช้ Digital”
“แต่โลกของดิจิตอลมีระบบการเพิ่มทุนและบริหารการใช้เงินอีกแบบหนึ่ง ตอนแรกเราคุยกันไว้ว่า จะใช้เงินลงทุนเท่านี้ แต่ภายใน 2 ปี เราใช้เงินไปถึง 690 ล้านเหรียญ ผิดจากที่วางภาพไว้มาก การบริหารธุรกิจนี้ต่างออกไปจาก Traditional Industry ช่วยเปิดมุมมองเราได้เยอะ”
“เราได้เรียนรู้ว่า ผลิตภัณฑ์ต้องแข็งด้วยตัวของมันเองก่อน ถ้าแอปใช้แล้วไม่เวิร์ค การพัฒนาต่อก็จะยากมาก ด้วยความที่ธุรกิจต้องตอบสนองความต้องการของผู้คนในเรื่องการเดินทางและ Grabtaxi ช่วยตอบสนองตรงนี้ได้ หลังจากนั้นเราก็วางแผนการตลาดให้ครอบคลุมเสริมเข้าไป”
จัดการเวลา บริหารชีวิตให้บาลานซ์
“ช่วงเริ่มต้น Grabtaxi จูนบริหารเวลาได้ไม่ดี นอนน้อย ทำให้สุขภาพเสีย ทำงานหนักและเห็นได้ว่ามันไม่ยั่งยืน ถ้าคุณต้องทำ Turnaround ของบริษัทหนึ่งแล้วควบ Startup ในอีก Industry หนึ่งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำไปพร้อมกัน นั่นเป็นสิ่งที่หนักมาก อยากแนะนำให้ค่อย ๆ ทำทีละอย่าง เราควรเรียนรู้ว่า คน ๆ เดียวทำทุกอย่างไม่ได้ ควรคิดและลำดับความสำคัญของงาน อย่าลืมที่จะมองหาคนมาช่วย คนที่วางมือวางใจได้ เมื่อเรามีทีมที่ดีที่เก่ง มีคนช่วยเยอะ ธุรกิจก็โตได้อย่างรวดเร็ว มีบ้างบางครั้งที่ต้องลงไปทำเอง”
“สิ่งสำคัญ คือ การนอนอย่างน้อยก็ต้อง 6 ชั่วโมง การออกกำลังกาย เมื่อร่างกายแข็งแรงแล้ว เราก็จะคิดงานได้แบบคม ๆ ดีกว่าเราทำงานหนักร่างกายพัง สมองทำงานไม่ไหวแน่นอน มีไอเดียหนึ่งที่อยากแชร์ คือ จูนทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่บ้าน เช่น ทำเล็บ ต่อยมวยที่บ้าน เดี๋ยวนี้มีบริการที่บ้านด้วย ประหยัดเวลามากค่ะ”
“ครั้งหนึ่งอาจารย์เคยเล่าให้ฟังถึงกรณีนักธุรกิจคนหนึ่ง ทำงานบ้าพลังสุด ๆ ลืมทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เกิดปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพขึ้นมา ตรงนั้นทำให้เราเรียนรู้ว่าต้องกลับมาสู่จุดหนึ่งเพื่อ Work-Life Balance ให้ได้ เราควรดูแลครอบครัว แล้วไม่ลืมที่จะใส่ใจสังคม ซึ่งตรงนี้ก็เป็นรากฐานของ Metta Group ค่ะ”
ข้อคิดดี ๆ สำหรับสาวเก่งที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ แต่ยังไม่กล้าเริ่มสักที
“หลาย ๆ คน กลัวปัญหา ซึ่งงานทุกอย่าง คนทุกคนมีปัญหาค่ะ ไม่ใช่ว่าคนอื่นจะทำอะไรได้ง่าย ๆ ถ้าคุณมีไอเดียแล้ว ก็ลุยและทำใจได้เลยว่าไม่มีอะไรง่ายบนโลกนี้ อย่าลืมว่าเรามีวิธีไปถึงจุดมุ่งหมายได้หลายวิธี เมื่อลองวิธีนี้ไม่ได้ผลก็เปลี่ยน ถ้ายังไม่ได้อีกก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทุกคนแตกต่างกันทั้งนั้น อย่ากลัวที่จะเริ่ม ไม่ต้องกลัวปัญหาค่ะ อย่างไรก็ต้องเจอ เมื่อมีปัญหาเราย่อมมีทางออก เพียงแต่อย่ายอมแพ้เสียก่อน และอยากฝากถึงครอบครัวและเพื่อน ๆ ของคุณว่า แรงบันดาลใจจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ หากได้รับกำลังใจที่เหนียวแน่น คุณก็จะมีแรงลุยแน่นอน ยังมีวิธีการมองหาคู่คิดทางธุรกิจที่คิดตรงกันด้วย เป็นคนที่จะคอยให้กำลังใจกัน เป็นเพื่อนร่วมงานที่จะบอกเราว่าเช้าพรุ่งนี้ค่อยมาลุยกันใหม่ อีกเรื่องก็คือ “อย่าลืมที่จะเรียนรู้เทคนิคการสื่อสารด้วยนะคะ”