ปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานที่เอาตัวเองเป็นใหญ่

ปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานที่เอาตัวเองเป็นใหญ่

By Krungsri Academy

เมื่อชีวิตเข้าสู่วังวนของการทำงาน เราคงหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเจอไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาการทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานที่มีนิสัยยึดความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งบรรยากาศการทำงาน ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน และผลลัพธ์ของงานที่จะออกมา เราจึงต้องมาหาทางออกกันว่าจะจัดการกับเพื่อนร่วมงานที่ชอบยกตัวเองเป็นใหญ่ ด้วย 3 วิธีเด็ดที่ใครก็สามารถทำได้ถ้าตั้งใจพอ


 

1. มองหาข้อดีเพื่อเป้าหมายใหญ่




การมีเพื่อนร่วมงานที่ชอบยกตัวเองเป็นใหญ่ หากอธิบายอย่างแทงใจ คงไม่มีใครชื่นชอบที่อยากจะคบหาสมาคมด้วย เพราะโอกาสที่จะมีปากมีเสียงกับผู้อื่นค่อนข้างสูง แถมบางครั้งยังจะทำให้เสียบรรยากาศการทำงานอีกด้วย แต่หากเรามัวแต่มองหาข้อเสียของเพื่อนร่วมงานประเภทนี้อย่างเดียวเห็นท่าว่าคงไปไม่รอดแน่ ๆ เราจึงต้องพยายามหัดมองแง่ดีของเพื่อนร่วมงานประเภทนี้ให้ได้

ส่วนใหญ่เพื่อนร่วมงานประเภทนี้มีความมั่นใจเป็นทุนเดิม และลำพองความคิดของตัวเองว่าเจ๋งจริง ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่การนำไปใช้ให้ถูกจังหวะคือสิ่งสำคัญที่คนประเภทนี้ไม่เคยตระหนักถึง นี่คือช่องโหว่ที่เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือหรือแนะนำวิธีการแสดงความคิดเห็นให้เขารู้สึกว่าเขาและเราสามารถขับเคลื่อนภาพรวมของงานให้เกิดประโยชน์ได้ เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวซึ่งกันและกันแบบ ‘Win – Win Situation’ ต่อความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานและผลงานของบริษัทด้วย
 

2. ทลายกำแพงด้วยความเข้าใจ




การเผชิญหน้าต่อเพื่อนร่วมงานที่ไม่รับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ แถมยังพยายามเชิดชูความคิดเห็นของตนเองให้เป็นใหญ่นั้น เปรียบเสมือนกำแพงสูงเกินกว่าที่จะข้ามไปได้ ทางที่ดีเราต้องเป็นฝ่ายที่เปิดรับความคิดเห็นอันยิ่งใหญ่ของเขาก่อน และค่อย ๆ เก็บประเด็นในสิ่งที่เขาพูดให้หมด

เมื่อถึงเวลาที่เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก็นำประเด็นที่เขาพูดมาต่อยอดกับความคิดเห็นของเรา หรือถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องอธิบายให้เขารู้สึกว่า ความคิดของเขายังดีไม่เพียงพอ แต่ยังสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ เพื่อไม่ให้เกิดการหักหน้ากันกลางที่ประชุม

เพราะคนที่มักคิดว่าตนเองเป็นใหญ่นั้น ส่วนมากเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินกว่าจะคาดเดา แถมยังต้องการให้ผู้อื่นยอมรับในความสามารถของตนเอง ดังนั้นการทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานประเภทนี้ จึงต้องอาศัยเวลาและจังหวะในการอธิบายให้เขาเข้าใจต่อส่วนรวมไปทีละเล็กทีละน้อย
 

3. เพิ่มความสัมพันธ์นอกเวลางาน




ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ภาพการยกตนเป็นใหญ่ของเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน อาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตาที่เขาพยายามสร้างการยอมรับอะไรบางอย่างจากเราก็ได้ การชักชวนกันออกมาใช้ชีวิตนอกเวลางานจะทำให้เราเห็นมิติชีวิตของเขาอีกด้านหนึ่ง เพราะบางครั้งตำแหน่งและความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย มักมีผลต่อการวางตัวและการแสดงความคิดในการทำงาน โดยที่เราแยกแยะไม่ออกว่านั่นคือตัวตนของเขาจริง ๆ หรือเปล่า

การออกไปนั่งพักผ่อนหย่อนกายด้วยการหาร้านบรรยากาศสบาย ๆ มีดนตรีสดให้ฟังเพลินอารมณ์ พร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สักเล็กน้อย เราเชื่อว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้เราและเพื่อนร่วมงานที่ชอบยกตนเป็นใหญ่มีความสนิทสนมและเกิดความเข้าใจกันได้มากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา