ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนจับตามองกระแสดนตรีฮิปฮอปอย่างเข้มงวดและได้ทำการแบนเพลงจากศิลปินฮิปฮอปจีนไปเป็นจำนวนมาก โดยอ้างว่าเนื้อหาของเพลงไม่เหมาะสม แต่สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ฮิปฮอปแร็ปเปอร์ดูเหมือนจะตรงกันข้าม สังเกตได้ไม่ยากจากความนิยมของรายการประเภทประกวดร้องเพลงแนวฮิปฮอปและการแร็พแบทเทิลที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ตลอดจนอีเว้นท์การแร็พแบทเทิลทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ก็ยังมีคนให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างล้นหลาม
ว่ากันว่าตั้งแต่ยุค 70 ดนตรีฮิปฮอปเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาจากกลุ่มคนผิวสีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ที่รัก
การสังสรรค์ปาร์ตี้ มีคนทำหน้าที่เหมือน MC หรือ DJ ใช้เพลงเบรก-บีท อำนวยความสนุกและปลดปล่อยความรู้สึกในใจทั้งในเรื่องเชื้อชาติ ยาเสพติด และความไม่เท่าเทียมด้วยการแร็พใส่เข้าไปตามจังหวะดนตรี
ซึ่งนอกจาก
เรื่องราวของเสียงเพลงแล้ว การเลือกใช้เสื้อผ้าเครื่องประดับของคนกลุ่มนี้ก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นรอบ ๆ เสียงเพลงฮิปฮอป จนกลายเป็นภาพจำที่บ่งบอกความเป็นฮิปฮอป ทั้งเสื้อตัวโคร่ง กางเกงยีนส์ทรงหลวมหรือกางเกงกีฬาผ้าวอร์ม โดยยุคแรกกลุ่มคนผิวสีเข้ามาอาศัยในอเมริกาด้วยฐานะผู้อพยพ เครื่องแต่งกายส่วนมากมาจากการบริจาค จึงมักเห็นการสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ไม่พอดีตัวนัก สิ่งเหล่านี้หลอมรวมเป็นวัฒนธรรมและสไตล์อันโดดเด่นที่ผู้คนในยุคนั้นให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งสื่อกระแสหลักอย่างนิตยสาร Rolling Stone ได้ให้คำนิยามและยืนยันการมีอยู่ของวัฒนธรรมฮิปฮอปเอาไว้ในเวลาต่อมา
ในมุมมองธุรกิจ แน่นอนว่าเมื่อมีเรื่องใดหรือวัฒนธรรมไหนเกิดเป็นกระแส ผู้คนสนใจในปริมาณที่มากพอ ช่องทางทำธุรกิจก็เกิดขึ้นตามมา
โดยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมักจะเป็นเป้าหมายแรก ๆ เพราะปกติแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้รักเสียงดนตรี รักการแต่งตัว และกิจกรรมกลางแจ้ง เสื้อผ้าที่ใส่สบายและมีดีไซน์เท่ ๆ แบบสตรีทสไตล์ รวมถึงรองเท้าผ้าใบกีฬาทรงสวย ที่ปัจจุบันถูกเรียกแบบรวม ๆ ว่า Sneaker คือสิ่งที่มาพร้อมวัฒนธรรมฮิปฮอปตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงทุกวันนี้
ที่ผ่านมาแฟชั่นฮิปฮอปหรือสตรีทแวร์นั้น มีการหมุนเวียนผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอด ในยุคแรกอาจมาจากผลิตภัณฑ์
กีฬา ต่อมาก็เริ่มมีแบรนด์เล็ก ๆ ของดีไซเนอร์ที่สนใจฮิปฮอปเข้ามาร่วมแข่งขัน กระทั่งแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่ตั้งตัวเป็นแบรนด์
แฟชั่นแนวสตรีทโดยตรง อย่าง Supreme, Off-White, Stussy, Anti Social Social Club, A Bathing Ape หรือ Undefeated เป็นต้น สตรีทแวร์จึงเป็นเหมือนศูนย์กลางที่เชื่อมต่อคอดนตรีหลายสไตล์เอาไว้ด้วยกันและฮิปฮอปคือหนึ่งในนั้น เพราะท้ายที่สุดทุกคนมักแสดงภาพลักษณ์หรือสไตล์ของตัวเองผ่านทางเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่สวมอยู่เสมอ
จากตัวเลขในปี 2012 มีการประเมินว่าแบรนด์ Supreme มีมูลค่าสูงถึง 40 ล้านดอลล่าร์ หรือ ราว 140 ล้านบาท ตอกย้ำว่าธุรกิจเสื้อผ้าสตรีทแฟชั่นเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมาก
อย่างไรก็ตามการก้าวขึ้นสู่วัฒนธรรมกระแสหลักของฮิปฮอปไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มคนผิวสีอีกต่อไปแล้ว แต่หมายถึงวัฒนธรรมทางดนตรีที่อ้าแขนรับคนทุกเชื้อชาติอย่างเป็นมิตร ย้อนไปเมื่อปี 2000 ในไทยเราได้เกิดคอมมูนิตี้หนึ่งที่มีกลุ่มแร็ปเปอร์ที่ชอบคิดชอบเขียนทำเพลงแร็พแบ่งปันกันฟัง ก่อนจะกลายเป็นงานปาร์ตี้ที่มีกิจกรรมแบทเทิลสนุก ๆ จนกระทั่งแผ่ขยายเป็นอีเว้นท์ Rap is now ที่รวมแร็ปเปอร์เอาไว้มากที่สุด เวลาต่อมายัง
มีการนำความหลงใหลในวัฒนธรรมดังกล่าวมาใช้สร้างคอนเทนท์รายการที่ใช้การแร็พแบทเทิลมาเป็นเกมการแข่งขัน อย่างรายการ Show me the Money ทางช่อง True4U หรือรายการ The Rapper ที่ออกอากาศทางช่อง Workpoint มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2018 เกิดเป็นกระแสสังคมที่ถูกกล่าวถึงและได้เสียงตอบรับจากกลุ่มคนรุ่นใหม่มากมายในขณะนี้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : unlockmen.com,
gmlive.com,
sneakavilla.net,
projecthiphop.org,
medium.com