ชีวิตในหลุมดำของ ก้อง กันตภณ เมธีกุล

ชีวิตในหลุมดำของ ก้อง กันตภณ เมธีกุล

By Krungsri Plearn Plearn

อัตลักษณ์ในงานของก้องคือ ป๊อบอาร์ตที่ดูน่าจะสดใส ซึ่งคอนทราสกับต้นกำเนิดของผลงานที่สร้างมาจากความเศร้า หลุมดำในชีวิตนับตั้งแต่วันที่ทิ้งอาชีพการงานที่มั่นคงไปสู่เส้นทางแห่งความฝัน ที่หลายคนมองว่ามันคือศิลปินไส้แห้ง เขาจะมาบอกเล่าถึงวิธีการอยู่รอดในโลกแห่งทุนนิยมด้วยความสามารถในการสร้างสรรค์งานศิลปะ

เล่าประวัติของตัวเองให้ฟังหน่อย เด็กชายก้องเติบโตมาแบบไหน

ตั้งแต่จำความได้เป็นเด็กที่ชอบวาดรูป รู้สึกว่าเป็นความสนุกอย่างหนึ่งที่ได้เล่นสีเทียน สีน้ำมัน หรือเพนท์ปูนปลาสเตอร์ แม่สามารถไปช้อปปิ้งแล้วทิ้งเราไว้ที่ร้านเพนท์ปูนปลาสเตอร์ได้ทีละสองสามชั่วโมง ชอบทำงานอาร์ตชอบดูการ์ตูนญี่ปุ่น ดูเสร็จก็เอามาวาดเล่น ไม่ได้หัวดี วิชาการแค่พอถูไถ เรียนที่สาธิตเกษตร เกรดเฉลี่ยประมาณ 2.9 แล้วก็ต่อ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ เรียน Communication Design

เล่าประวัติของตัวเองให้ฟังหน่อย เด็กชายก้องเติบโตมาแบบไหน

ตั้งแต่จำความได้เป็นเด็กที่ชอบวาดรูป รู้สึกว่าเป็นความสนุกอย่างหนึ่งที่ได้เล่นสีเทียน สีน้ำมัน หรือเพนท์ปูนปลาสเตอร์ แม่สามารถไปช้อปปิ้งแล้วทิ้งเราไว้ที่ร้านเพนท์ปูนปลาสเตอร์ได้ทีละสองสามชั่วโมง ชอบทำงานอาร์ตชอบดูการ์ตูนญี่ปุ่น ดูเสร็จก็เอามาวาดเล่น ไม่ได้หัวดี วิชาการแค่พอถูไถ เรียนที่สาธิตเกษตร เกรดเฉลี่ยประมาณ 2.9 แล้วก็ต่อ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ เรียน Communication Design

แต่การเลือกเรียนศิลปะในระดับมหาวิทยาลัย หมายถึงการที่มองยาวไปถึงวิชาชีพ อะไรทำให้เลือกเข้าคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เป็นเด็กที่ที่บ้านรู้ว่าต้องไปสายศิลปะ เพราะว่าไม่ได้เก่งทางด้านวิชาการ ที่บ้านก็เลยไม่ได้คาดหวังว่าต้องทำอาชีพด้านอื่นเราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กเลยเข้าไปสายอาร์ตเลย

ความใฝ่ฝันตอนนั้นเป็นยังไง

อยากเป็นเป็นครีเอทีฟโฆษณา

แล้วตั้งแต่จบมาได้เป็นครีเอทีฟโฆษณาหรือยัง

เป็นครับ ตอนแรกไม่ได้จะเป็นศิลปิน เราชอบทำโฆษณา ชอบดูโฆษณา เลยทำครีเอทีฟโฆษณาได้สักพัก พอถึงจุดหนึ่งเรามองไม่เห็นตัวเองในอนาคตข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่ตอนทำงานเราได้รางวัลเยอะ แต่ถ้ามองภาพตัวเองตอนอายุ 40 เป็นเหมือนหัวหน้า ณ ขณะนั้น มีลูกน้องเยอะ ทำงานในออฟฟิศทุกวัน ทำโฆษณาให้ลูกค้า เรารู้สึกว่าไม่ใช่แบบนั้น ชอบทำอะไรที่เป็นของตัวเองมากกว่า แล้วประกอบกับที่บ้านอยากให้ไปเมืองนอกด้วย ตอนนั้นอายุ 25 เงินเดือนประมาณ 43,000 บาท ก็ถามตัวเองอยู่ประมาณ 6-7 เดือน ถึงตัดสินใจหักดิบลาออกไปเมืองนอกเลย

เจออะไรที่นั่น

เจอแรงบันดาลใจมากมาย ไม่ได้ไปมาเยอะแบบที่คนอื่นคิด ตอนนั้นมีแค่นิวยอร์กกับลอนดอนที่งานมันป๊อปมาก ก็เลยไป คิดแค่นั้น ภาษาอังกฤษแย่มากเลยต้องเรียนภาษาด้วย ปรับตัวเยอะมาก ชีวิตตอนอยู่บ้านไม่เคยต้องซักผ้า ไม่เคยล้างจาน แต่พอไปอยู่ที่นู่นต้องทำเองทั้งหมด

คิดว่าศิลปินไทยต่างกับศิลปินต่างประเทศอย่างไร

ในต่างประเทศโดยอย่างยิ่งนิวยอร์ก การเป็นศิลปินหรืออาร์ทติสมันยากกว่าเมืองไทยมาก เพราะเขาไม่ได้ยอมรับชาวเอเชียถ้าให้เทียบในเมืองไทยคงเป็นเหมือนเราเป็นศิลปินชาวพม่าซึ่งจะได้รับความยอมรับได้ยากกว่า เราเป็นเหมือนกะเหรี่ยงที่ไปอยู่นิวยอร์ก

แล้วคุณเริ่มได้รับการยอมรับได้อย่างไร

ตอนทำ Street Art ที่นิวยอร์ก อาจจะเป็นโชคด้วยที่เราไปยื่นพอร์ตแล้วเขาตอบรับ สถานที่เป็นกำแพงขนาดใหญ่มาก เราเป็นเด็กอายุเพียงแค่ 27 คนที่เห็นผลงานเลยรู้สึกตกใจว่าไอ้เด็กคนนี้มันทำได้อย่างไร และยิ่งเราเป็นคนไทยด้วยแล้วมันเลยยิ่งน่าตกใจ คนก็เลยเริ่มที่จะสนใจงานเรา
ก้อง กันตภณ เมธีกุล

Fine Art กับ Commercial Art มันแตกต่างอย่างไรในสายตาของคุณ

แม้ตัวผมจะเรียนมาทางด้าน Fine Art แต่งานของผมออกไปทาง Commercial Art เป็นงานแบรนด์ซะส่วนใหญ่ แต่ถ้าวางตัว Commercial มากไปคุณค่ามันจะลด เราเลยวางตัวเองเป็นศิลปิน เดี๋ยวนี้การเป็นศิลปินแล้วทำงานรวมกับแบรนด์ต่าง ๆ มันไม่ผิดแล้ว แต่ถ้าเป็นสมัยก่อนเราจะติดภาพที่ว่า Fine Arts จะต้องอยู่บ้านวาดภาพ ขายงาน มันเป็นภาพของคนยุคเก่า แต่ถ้าเป็นยุคนี้ศิลปินต้องมีหัวทางธุรกิจด้วย มันอาจจะเป็นข้อดีของผมด้วยที่เคยทำโฆษณามาก่อน เราเลยมีวิธีการเผยแพร่งานของเราออกไปสู่คนได้เยอะ

งานปัจจุบันทำอะไรอยู่บ้าง

แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ งานตอบสนองตัวเองจะทำปีละหนึ่งถึงสองครั้ง ปีนี้จัดงานนิทรรศการกับเพื่อนเป็นงานที่ไม่ใหญ่มาก อีกด้านคือ Commercial ทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ตอนนี้มีสามสี่แบรนด์

ศิลปะมีความสำคัญกับการทำธุรกิจในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน

รู้สึกว่ามันช่วยในเรื่องภาพลักษณ์ เพิ่มความน่าสนใจให้กับตัวแบรนด์ ทำให้สินค้ากับผู้ใช้งานได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยมีความสวยงามเป็นตัวเชื่อม

อะไรที่ทำให้รู้สึกท้อที่สุดตั้งแต่เลือกเดินเส้นทางนี้

ตอนที่ไปนิวยอร์กรู้สึกหลงทาง ตอนนั้นพยายามวาดรูปเอาใจคนอื่น ทำแต่สิ่งที่คิดว่าสังคมหรือโลกน่าจะชอบ สุดท้ายไม่เป็นตัวเอง หลายอย่างที่เจอมันทำให้เราเกือบจะเป็นโรคซึมเศร้า อยากเป็นศิลปินแต่เป็นไม่ได้สักที รู้สึกท้อมาก

เคยมีสักครั้งไหมที่คิดว่าจะเลิก

ไม่มี เราเป็นพวกดันทุรังชอบเอาชนะ ถึงขนาดเพื่อนมาเตือนว่ามึงกลับไปทำโฆษณาเถอะ เงินเดือนก็เยอะ แต่เราคิดว่าถ้ากลับไปยังที่ ๆ หนีออกมาคือพ่ายแพ้ เลยอยู่แบบคนจิตตกไปเป็นปี สิ่งที่เป็นพลังให้ส่วนหนึ่งคือเมื่อไปดูประวัติชีวิตของ ยาโยอิ คุซามะ และศิลปินหลาย ๆ คน ชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เล่าให้ฟังถึงอัตลักษณ์งานของตัวเองที่เป็นหลุมดำหน่อยว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

มันเกิดขึ้นตอนอยู่ที่นิวยอร์กตอนที่รู้สึกหดหู่มาก ๆ เห็นภาพขึ้นมาเป็นรูปดำบนหัว แล้วพอวาดออกมามันเติมเต็มความรู้สึกของเราและมันน่าจะมีคนที่รู้สึกแบบนี้อยู่เยอะ

ร่วมงานกับธนาคารกรุงศรีเป็นอย่างไร

ตอนรับงานนี้ก็บอกกับทางกรุงศรีเลยว่าจะขอเป็นตัวเอง เพราะรู้สึกว่าเมื่อเป็นตัวเอง งานจะออกมาดีเสมอ ทางกรุงศรีก็ตอบรับว่าเป็นตัวเองได้เต็มที่เลย

คุณเป็นคนออกแบบปฏิทินของธนาคารกรุงศรีปี 2020 ช่วยอธิบายการรังสรรค์ผลงานให้ฟังหน่อยว่ากว่าจะออกแบบได้แต่ละหน้า ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง

เราก็คุยคอนเซ็ปต์ก่อนว่าจะเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ของคนที่ใช้ชีวิตดี ๆ แล้วก็ร่างแบบขึ้นอาจมีปรับเรื่องสีเพื่อให้เข้ากับแบรนด์บ้าง ยกตัวอย่างหนึ่งในนั้นเขาจะคีย์มาให้ว่าโอนเงินที่ไหนก็ได้ เราก็มาคิดต่อว่างั้นโอนเงินตอนไปเที่ยวภูเขา เที่ยวทะเล หรือโอนเงินระหว่างที่แช่อยู่ในสระน้ำก็ได้ กว่าที่งานจะออกมา ทะเลาะกันหลายรอบ (หัวเราะ) ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดาเวลาทำงาน

ชอบงานไหนมากที่สุด

ชอบรูปที่โดนแก้น้อยที่สุด (หัวเราะ)
ก้อง กันตภณ เมธีกุล

ในโลกที่มีเงินเป็นตัวขับเคลื่อนศิลปินจะสามารถอยู่รอดได้อย่างไร

อาจจะแบ่งเป็น 2 ทาง เท่าที่เห็นศิลปินต้องมีความชัดเจนในตัวเองว่าเราอยากพูดอะไรกับสังคม พูดอะไรที่เป็นตัวเองแล้วสุดท้ายคนจะสัมผัสได้ ในประเทศไทยเราอาจจะยังไม่มีวิชาที่สอนการวางตัวของศิลปิน หรือการนำเสนอผลงานของศิลปิน เท่าที่เห็นมันจะมีแค่ว่า ถ้าคุณเป็นศิลปินคุณก็นั่งวาดภาพ สอนด้านเทคนิค แต่จริง ๆ อาชีพนี้มันขึ้นอยู่กับการนำเสนอตัวเอง การนำเสนอผลงานด้วย

มีอะไรที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพศิลปิน

คนชอบคิดว่าศิลปินต้องเข้าใจทุกอย่างบนโลก สำหรับผมศิลปินยังเป็นคนธรรมดาที่ยังมีกิเลส เราไม่ใช่พระเจ้าแห่งความรู้แจ้ง เราตั้งคำถามกับมันเพื่อที่จะข้ามผ่านมาได้ เราไม่ได้สมบูรณ์แบบขนาดนั้น ผมไม่อยากให้มองว่าคนที่เป็นไอดอลเป็นแรงบันดาลใจจะทำผิดไม่ได้ เขาก็ยังเป็นคนเป็นมนุษย์

มองภาพตัวเองในอนาคตไว้เป็นอย่างไรบ้าง

อยากทำงานศิลปะให้ดีกว่านี้ เรารู้สึกดีเมื่อคนมาดูงานของเราแล้วเขาได้อะไรกลับไป เรื่องเงินมันก็เรื่องนึง แต่การที่มีคนชื่นชอบในผลงานมันเติมเต็มผม มีคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามาดูงานแล้วเขาร้องไห้ เขาเข้าใจในความเจ็บปวดของเรา บางคนอินจนถึงขนาดที่เอางานของเราไปสักบนร่างกายของตัวเอง สิ่งเหล่านั้นมันเติมเต็มเรา
เรื่องที่น่าประทับใจเกี่ยวกับตัวก้องคือเขาไม่ใช่ศิลปินที่ยกยอปอปั้นตัวเองว่าเข้าใจสัจธรรมของโลก แต่เขายอมรับว่าตัวเองคือคนธรรมดาที่สร้างงานศิลปะเพื่อตอบคำถามหลายอย่างที่ตัวเองไม่เข้าใจ และยังจัดการชีวิตด้วยการแบ่งความสำคัญกับการทำมาหากินและการทำตามความฝันได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นส่วนผสมที่หาได้ยากในตัวคนเดียวกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow