พ.ร.บ. รถยนต์คืออะไร เหมือนหรือต่างจากประกันรถทั่วไปหรือเปล่า

พ.ร.บ. รถยนต์คืออะไร เหมือนหรือต่างจากประกันรถทั่วไปหรือเปล่า

By Krungsri Guru
ใกล้ถึงเวลาต่อประกันรถยนต์ที่หลายคนคงจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับคำว่า พ.ร.บ. และประกันภัยชั้น 1, 2 หรือ 3 แต่น่าจะยังมีอีกหลายคน ที่ยังไม่รู้เลยว่า พ.ร.บ. ย่อมาจากอะไร และเรามีความจำเป็นต้องจ่ายเงินค่า พ.ร.บ ร่วมกับประกันชั้น 1, 2 หรือ 3 หรือไม่ เราซื้อแค่ พ.ร.บ หรือประกันชั้น 1 อย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ ลองมาทำความเข้าใจกันหน่อยเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบประกันรถยนต์เหล่านี้
 
พ.ร.บ. ย่อมาจาก พระราชบัญญัติ ซึ่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จะเป็นกฎหมายที่บังคับให้รถทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกจะต้องทำและมีไว้เป็นหลักประกันให้กับคนในรถทุกคัน หรือผู้ที่ใช้รถใช้ถนนว่าจะได้รับสิทธิความคุ้มครองจากเงินกองกลางที่รถทุกคันได้ทำ พ.ร.บ. ว่า จะได้รับความคุ้มครอง/เงินค่ารักษาพยาบาลจากการเกิดอุบัติเหตุ หรือการประสบภัยจากรถในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีนั้นเอง
ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่ผู้ประสบภัยจะได้รับ ได้มีการกำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจนว่า จะมีความคุ้มครองในรูปแบบใด ๆ บ้าง ซึ่งการฝ่าฝืนไม่ทำ พ.ร.บ. นี้ ไม่ได้ทำให้เกิดผลดีกับผู้ใดเลย เพราะนอกจากการที่จะทำให้มีปัญหาในการต่อภาษีรถแล้ว ยังเป็นการทำผิดกฎหมายแบบตรง ๆ เลย เพราะกฎหมายได้บังคับให้ทำ พ.ร.บ. ไว้เป็นขั้นพื้นฐานอยู่แล้วเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบภัยจากรถที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้อย่างทันท่วงที และเป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาล/สถานพยาบาลที่รับผู้ประสบภัยเข้าดูแลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาลด้วยเช่นกัน ซึ่งในแง่กฎหมายจะเป็นการแบ่งเบาภาระค่าเสียหาย และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยและครอบครัวได้นั่นเอง
แล้วประกันรถ ที่รู้จักกันในชื่อ ประกันชั้น 1, 2, 3, 2+ หรือ 3+ ที่เห็นมีการโฆษณา หรือที่มีการพูดถึงกันล่ะ คืออะไร ประกันเหล่านี้ จะอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ประกันภาคสมัครใจ ซึ่งจะเป็นการซื้อประกันเพิ่มเติมจากความคุ้มครองที่ได้รับจาก พ.ร.บ. ซึ่งในกรณีที่เราเป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน พ.ร.บ. จะช่วยคุ้มครองเท่าที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าความเสียหายมีมาก ผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหาย จะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายเอง ซึ่งประกันภาคสมัครใจ จะเข้ามาช่วยรับผิดชอบในกรณีเหล่านี้นั่นเอง ซึ่งในประเทศไทย ประกันภาคสมัครใจ จะแบ่งออกเป็น 5 ประเภท หรือที่เราเรียกกันว่า ประกันชั้น 1, 2, 3, 2+ หรือ 3+ นั่นเอง โดย
  • ประกันชั้น 1 จะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากที่สุด คือ จะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลในรถ และบุคคลภายนอก รวมถึงความเสียภายที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัย รวมถึงกรณีเกิดไฟไหม้และการสูญหายด้วย
  • ประกันชั้น 2 จะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลในรถ และบุคคลภายนอก รวมถึงความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์จากการเกิดไฟไหม้และการสูญหาย
  • ประกันชั้น 3 จะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก และความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์จากการเกิดไฟไหม้และการสูญหาย
  • ประกันชั้น 2+ จะรับผิดชอบต่อความเสียหายในกรณีเดียวกับประกันชั้น 2 แต่เพิ่มความรับผิดต่อในส่วนของความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย แต่เฉพาะกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และจำเป็นต้องมีคู่กรณีด้วย
  • ประกันชั้น 3+ จะรับผิดชอบต่อความเสียหายในกรณีเดียวกับประกันชั้น 3 แต่คุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันภัยในวงเงินจำกัด และเฉพาะกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น
ซึ่งจะเห็นได้ว่า เราสามารถเลือกที่จะทำประกันภาคสมัครใจได้หลากหลายรูปแบบ เพราะค่าเอาประกันภัยของประกันภาคสมัครใจ จะมีค่าบริการที่หลากหลาย และแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของความคุ้มครองที่เราต้องการนั่นเอง ซึ่งการเลือกประกันภัยรถยนต์ของแต่ละบุคคลเอง ไม่ได้มีสูตรที่แน่นอนตายตัวว่า แบบใดจะดีที่สุด ซึ่งถ้ากำลังมองหาประกันภาคสมัครใจร่วมกับการซื้อ พ.ร.บ. อาจจะเลือกซื้อจากบริษัทประกันภัยเดียวกันไปเลย เพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ การยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องสามารถทำได้พร้อมกัน เพื่อความสะดวกและความต่อเนื่องในการดำเนินการนั่นเอง แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นการบังคับทางกฎหมายนะครับว่า เราจะต้องซื้อจากบริษัทเดียวกัน เพียงแต่ในเรื่องการดำเนินการ กรณีที่เราเป็นฝ่ายผิดและคู่กรณีที่ได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นน่าจะทำได้สะดวกกว่ากันนั่นเอง

แต่ไม่ว่าเราจะเลือกทำประกันภัยรถยนต์จากบริษัทใดก็ตาม ทั้งการทำประกันภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และการทำประกันภาคสมัครใจ สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ คือ สิทธิประโยชน์และหน้าที่ของเราตามสัญญาประกันภัยนั่นเอง

ซึ่งผู้เอาประกันส่วนใหญ่จะไม่ค่อยอ่านรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์และหน้าที่ในสัญญาประกันภัย จนเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือมีเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบตามที่ระบุในกรมธรรม์จึงจะเริ่มมาอ่านเงื่อนไข ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากและเสียเวลาโดยไม่จำเป็น ดังนั้น ในฐานะผู้เอาประกัน เราต้องมีการเตรียมความพร้อม พิจารณาเงื่อนไขและความคุ้มครองที่จะได้รับให้ดีเสียก่อน อย่าลืมเช็ครายละเอียดให้ถี่ถ้วน และหาข้อมูลเยอะ ๆ นะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow