Tabi Kaeru เกมสมัยใหม่ ... ไม่ต้องไล่ล่า ไม่ต้องลุ้น แต่ทำไมฮิต

Tabi Kaeru เกมสมัยใหม่ ... ไม่ต้องไล่ล่า ไม่ต้องลุ้น แต่ทำไมฮิต

By เกตุวดี Marumura

เบื้องหลังเกม “กบเดินทาง: Tabi-kaeru” และบทเรียนทางการตลาด

เกม tabikaeru ... เกมกบน้อยนักเดินทาง บางท่าน ถึงกับเรียกเกมนี้ว่า เกมกบอินดี้ เพราะผู้เล่นเกมจะไม่สามารถควบคุมการเดินทางอะไรของกบได้เลย

คอนเซปท์ของเกมนี้สั้นมาก “การรอกบที่ชื่นชอบการเดินทาง กลับมา”

กบเดินทาง: Tabi-kaeru

เกมนี้ไม่ต้องการประสบการณ์หรือสกิลการเล่นเกมใด ๆ ทั้งสิ้น

ผู้เล่นมีหน้าที่แค่ 2 อย่าง หนึ่ง เก็บสะสมใบคลอเวอร์ เพื่อมาแลกอาหารและสิ่งของที่ใช้ในการเดินทาง สอง ทำหน้าที่จัดข้าวของใส่กระเป๋าหรือวางบนโต๊ะให้น้องกบ แล้วน้องกบก็จะเดินทางไปเอง เมื่อไรก็ไม่ทราบ กลับมาเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้ได้ ผู้เล่นก็ได้แต่เปิดสมาร์ทโฟนมาเก็บใบคลอเวอร์ต่อไป ถ้าโชคดี ก็จะได้ภาพน่ารัก ๆ หรือของฝากจากน้องกบ หากกบกลับมา

ทั้ง ๆ ที่คอนเซปท์ง่าย วิธีเล่นไม่ซับซ้อน เกมนี้กลับเป็นที่นิยมมาก ภายในวันเดียว เคยมีผู้ดาวน์โหลดแอพฯ นี้สูงถึง 4 แสนคน แอพฯ Tabikaeru ติดอันดับ 1 ในประเทศจีนติดต่อกัน 2 สัปดาห์ และมียอดดาวน์โหลดกว่า 45 ล้านครั้งแล้ว

เคล็ดลับของความสำเร็จนี้ คืออะไร?

จุดกำเนิดเกมกบเดินทาง

มายุโกะ อุเอะมุระ ผู้ออกไอเดียเล่าว่า ไอเดียนี้เริ่มมาจากตัวเธอเอง เธอชอบเดินทางไปเที่ยวที่ต่าง ๆ จึงคิดว่า คงจะดีหากมีเกมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ท่องเที่ยวจริง ๆ

ส่วนสาเหตุที่เลือก “กบ” เป็นตัวละครหลักนั้น เนื่องจากในภาษาญี่ปุ่น คำว่า “กลับมา” คือ คำว่า “คาเอรุ” ซึ่งพ้องกับคำว่า “กบ” ชื่อเกม จึงใช้คำว่า “ทาบิ คาเอรุ” ซึ่งแปลได้ทั้งสองความหมาย คือ “การกลับมาจากการท่องเที่ยว” และ “กบที่ท่องเที่ยว” นั่นเอง
 
กบเดินทาง: Tabi-kaeru

​ตัวแบบหลักของเจ้ากบนี้ มาจากโทระซัง ... พระเอกจากหนังชื่อดังเรื่อง “Otoko wa Tsurai yo (It's tough being a man)” ซึ่งทำอาชีพเซลส์แมน และเดินทางทั่วญี่ปุ่นด้วยกระเป๋าหิ้วเพียงหนึ่งใบ
 
30s age work life
ต้นแบบ (?!) ของกบน้อยนักเดินทาง
https://pc.video.dmkt-sp.jp/ti/10012500

คุณผู้อ่านหลาย ๆ คนที่เผลอติดเกมนี้ไปแล้ว อาจรู้สึกว่า กบน้อยน่ารักเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยง หรือเหมือนลูกแสนรัก แต่ตอนอุเอมุระออกแบบเกมนี้ เธอนึกถึงภาพสามีเธอที่ชอบเดินทางไปทำงานที่อื่น บางทีก็กลับมา บางทีก็มีของฝากติดไม้ติดมือมาให้

กว่าจะมาเป็นเกมกบ

ทีมพัฒนาเกม Tabikaeru นั้น เริ่มแรกมีสมาชิกเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น คือ โปรดิวเซอร์ แพลนเนอร์ โปรแกรมเมอร์ และดีไซเนอร์​ ปัจจุบัน แม้เกมกบ จะได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย แต่ก็มีสมาชิกในทีมเพียงแค่ 6 คน

ทางทีมใช้เวลาพัฒนาถึง 10 เดือน ซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่าที่วางแผนไว้ตอนแรก คือ 6 เดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแบบแผน และรูปภาพต่าง ๆ

นอกจากนี้ ทีมพัฒนา ยังต้องศึกษาเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนของท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของแต่ละแห่งโดยละเอียด มีการผูกสูตร ทำแผนที่ต่าง ๆ หลังบ้าน (เบื้องหลังระบบ) เพื่อความสมจริง หากกบต้องเดินทางไปที่ไกล ๆ ก็ต้องให้ใช้ระยะเวลานานจริง ๆ และต้องนำของฝากจากเมืองนั้น ๆ กลับมา

เดิมที ทางทีมได้วางแผนให้ผู้เล่นต้องรอคอยหลายวัน แต่เมื่อลองปรึกษา Google ซึ่งเป็นผู้ถือแพลทฟอร์ม ทาง Google เองก็ให้ความเห็นว่า หากเจ้ากบหายไปนาน ๆ หลายวันโดยไม่มีการติดต่อใด ๆ ผู้เล่นอาจเข้าใจผิดว่า แอพฯ เสีย หรือรู้สึกกังวล ทางทีมดีไซน์ จึงต้องพยายามหากิจกรรมให้ผู้เล่นทำ ระหว่างรอกบ เช่น การให้เพื่อน ๆ ของกบมาเยี่ยม หรือการให้ผู้เล่นเก็บใบคลอเวอร์ไปพลาง ๆ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

อันที่จริงแล้ว ก่อนที่เกม Tabikaeru จะประสบความสำเร็จขนาดนี้ ทีมของคุณอุเอมุระเองก็ได้ออกแอพที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นั่นคือ เกม Neko Atsume หรือเกมเลี้ยงแมวสุดน่ารัก ซึ่งมียอดดาวน์โหลดหลักล้านเช่นกัน

ทั้งเกมกบ และเกมแมว มีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน คือ เริ่มมาจาก Passion ของเจ้าของโปรเจ็กต์

กรณีเกม Neko Atsume นั้น ผู้ออกไอเดียเป็นคนที่ชื่นชอบแมวเป็นอย่างมาก และต้องการถ่ายทอดเสน่ห์ของแมวลงไปในเกม ส่วนตัวคุณอุเอมุระเอง ก็รักการเดินทาง เธอจึงใส่เสน่ห์ของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของสถานที่ หรือของฝากที่น่าประทับใจ ลงไปในเกมอย่างเต็มเปี่ยม

นอกจากนี้ ทางทีมออกแบบเกมมีคติพจน์ประจำใจที่ทุกคนต้องยึดมั่นเสมอ นั่นคือ “ลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่ง

ในขณะที่บริษัทเกมเจ้าอื่นพยายามคิดออกแบบว่า ทำอย่างไรให้คนติดเกมของตน หรือหาทางสร้างรายได้จากเกม เช่น หาทางให้ลูกค้าเสียเงินซื้อ Item ต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด ทางทีมของคุณอุเอมุระกลับคิดต่าง

พวกเธอคิดว่า ทำอย่างไรที่จะให้เกมของตนเอง รบกวนลูกค้าน้อยที่สุด

โฆษณาในเกมกบนั้น จะไม่ได้ขึ้นมาบนจอให้ดูรกตา แต่จะฝากเพื่อนของกบน้อย ไม่ว่าจะเป็นหอยทาก ผึ้ง หรือเต่า นำมาฝาก ผู้เล่นสามารถกดเลือกได้ว่า จะดูโฆษณาหรือไม่ หากไม่กดรับ ก็ไม่ต้องเห็นโฆษณา
 
กบเดินทาง: Tabi-kaeru

อันที่จริงแล้ว โมเดลเรื่องการหารายได้ เช่น ค่าโฆษณา หรือการขาย item นั้น ถูกคิดค้นขึ้นมาหลังจากพัฒนาคอนเซปท์ไปได้ระยะใหญ่ ในช่วงแรก ทุกคนในทีมมุ่งคิดแค่ว่า ทำอย่างไรให้เกมนี้สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

แม้แต่เรื่องระบบการเตือน (Notification) ทางทีมก็พยายามลดให้เหลือน้อยที่สุด เกมอื่น ๆ มักจะมีการแจ้งเตือนต่าง ๆ หรือพยายามกระตุ้นให้ผู้เล่นไปชวนเพื่อนมาเล่นด้วย หรือให้ผู้เล่นรีบเข้าไปสะสมแต้มพิเศษ จุดประสงค์คือ ให้ผู้เล่นเข้ามาเล่นเกมของตนบ่อย ๆ เท่านั้นเอง

แต่กรณีของเกมกบนั้น เนื่องจากประสบการณ์ของผู้เล่นสำคัญที่สุด เกมจึงแทบไม่มี Notification เลยระบบจะแจ้งเตือนแค่เมื่อกบกลับมาแล้วเท่านั้น เพื่อไม่ให้รบกวนลูกค้า (ทางทีมเคยคุยกันว่า ไม่ต้องเตือนเลยดีกว่าหรือไม่ ให้ผู้เล่นเข้ามาเปิดแอพเรื่อย ๆ เอง แต่ก็มีความเห็นว่า ผู้เล่นอาจกังวลแทน หากแอพเงียบเกินไป ...)

ดิฉันลองถามเพื่อนรอบตัวว่า เหตุใดถึงชื่นชอบเกมนี้ หลายคนก็หลงรักความอิสระและไม่บีบบังคับของเกมนี้ เช่น

“ชอบตรงที่มันไม่มี Daily reward บังคับว่าเราต้องเข้ามาทำอะไรเพื่อเอาของดี ๆ ไม่ต้องเข้าติดต่อกันทั้งเดือนเพื่อรางวัลใหญ่”

“เบื่อเกมที่ถ้าไม่ส่งรีเควสหาเพื่อนจะทำอะไรไม่ได้ จะไม่อัพ จะไม่สามารถไปต่อได้มาก ๆ เลย”

สำหรับตัวดิฉันเอง สารภาพว่า นี่เป็นเกมโทรศัพท์มือถือเกมแรกที่ดิฉันตัดสินใจดาวน์โหลดและเล่นอย่างจริงจัง

การคำนึงถึงผู้เล่นก่อนผลตอบแทนของเกมนั้น กลายมาเป็นเสน่ห์ของเกมนี้จริง ๆ

อีกสิ่งที่แตกต่าง คือ บริษัทญี่ปุ่นทั่วไปจะให้ความสำคัญกับตารางเวลาเป็นอย่างยิ่ง การออกแบบสินค้าใหม่ต้องเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ แต่สำหรับทีมออกแบบของบริษัท Hit-Point เจ้าของเกมกบนี้ ทางบริษัทยินดีให้พนักงานเลื่อนกำหนดการเปิดตัวเกม หากพนักงานเห็นว่า เนื้อหายังไม่ดีพอ

กรณีเกมกบนั้น ทางทีมขอดีเลย์การเปิดตัวไป 4 เดือนเพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้ผู้เล่นรู้สึกดีที่สุด สนุกที่สุด

คุณอุเอมุระกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ผู้ที่เผยแพร่เกมของเรานั้น คือ ลูกค้าทุกท่าน เกมจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ได้อาศัยแค่ความสามารถของพวกเราเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการที่ลูกค้าตกหลุมรักเกมของเรา เล่นเกมอย่างต่อเนื่อง และบอกต่อ เพราะฉะนั้น พวกเราจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของเกมมากที่สุดค่ะ”

การทำ “การตลาด” เช่นนี้อาจจะถูกทางก็ได้ ทำสินค้าให้ดีที่สุด ส่วนการโฆษณานั้น ให้ลูกค้าช่วยรับหน้าทำ (โปรโมทด้วยความเต็มใจ)

เกม tabikaeru นั้น แทบไม่ต้องโฆษณาใด ๆ เพียงแค่ทุ่มเทสร้างคอนเทนท์ที่ดีเท่านั้น สุดท้าย ลูกค้าก็จะตกหลุมรักและช่วยกันบอกต่อจนสามารถเป็นแอพยอดนิยมอันดับ 1 ได้เช่นนี้

การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า อาจเป็นหัวใจการตลาดของเกม tabikaeru นี้ก็เป็นได้
 
กบเดินทาง: Tabi-kaeru
ขณะปิดต้นฉบับเรื่องนี้ ดิฉันก็เพิ่งได้รับภาพจากนปโปะซัง กบน้อยของดิฉัน
น่าชุ่มชื่นใจจริง ๆ ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow