เผยวิธีวางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ อยู่รอดยังไงในยุคโควิด-19

เผยวิธีวางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ อยู่รอดยังไงในยุคโควิด-19

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
ในช่วงวิกฤติโควิด 19 แบบนี้ หนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้ใครคือสายงานฟรีแลนซ์ เพราะการจัดการรายรับแบบ Irregular Income ในช่วงเวลาปกติก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายแล้ว ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ เรื่องการเงินสำหรับฟรีแลนซ์ยิ่งท้าทายเข้าไปใหญ่ ทำให้หลายคนต้องปรับไลฟ์สไตล์ตัวเอง และรัดเข็มขัดกันมากขึ้นเพราะไม่รู้ว่าจะมีงานเข้ามาอีกทีเมื่อไร รายรับจะหายไปอีกนานไหม และจูนเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งจากธุรกิจบาร์ที่ต้องปิดชั่วคราว และงานฟรีแลนซ์ที่เข้ามาน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะฉะนั้นในบทความนี้ จูนมีวิธีวางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ในแบบของจูนมาให้ดูกันค่ะ

Conscious Consumption 2.0

ฟรีแลนซ์รับมือวิกฤตอย่างไร? เรื่องแรกสำหรับการวางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ที่เราพอทำได้ และคิดว่าทุกคนรู้ตัวดีว่าควรทำได้แล้วก็คือ การประหยัดไว้ก่อน เหมือนที่เหล่ากูรูทางการเงินหลาย ๆ คนออกมาเตือนว่าใครมีเงินสดตอนนี้ ควรกอดมันไว้ให้แน่นที่สุด หรือบางคนก็แนะนำว่าควรคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อนซื้อของใหญ่ ๆ ที่ต้องผ่อน อย่างรถ คอนโด ฯลฯ ในช่วงนี้ไปเลย พูดง่าย ๆ คือมีสติก่อนซื้อให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็ทำให้คิดถึงคำ ๆ หนึ่งอย่าง ‘Conscious Consumption’ ขึ้นมา
ก่อนหน้านี้จูนมีโอกาสได้อ่านบทความหนึ่งเมื่อเดือนมกราคมปี 2020 จากบริษัท Mintel บริษัท Market Research จากอังกฤษที่เขียนถึงเทรนด์พฤติกรรมการใช้เงินของคนในช่วงปี 2020 เอาไว้ ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ที่น่าสนใจและนำมาปรับใช้กับวิธีวางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ได้คือพฤติกรรม ‘Conscious Consumption’ หรือ ‘การบริโภคอย่างมีสติ’ ที่เคยถูกพูดถึงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2019 แม้ว่าก่อนหน้านี้เราอาจจะคุ้นคำ ๆ นี้จากกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพราะมันหมายถึงการตระหนักรู้ว่าการบริโภคของเราส่งผลต่อภาพรวมในสังคมอย่างไร (เสื้อผ้าจากโรงงานที่ใช้แรงงานถูกกฎหมาย วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ) แต่ในปี 2020 นี้ Conscious Consumption ที่เราน่าหยิบมาใช้ มีความหมายมากไปกว่านั้น การมีสติในการบริโภคถูกแปรความหมายไปถึงการใส่ใจเรื่อง ‘การใช้จ่ายเงินส่วนตัว’ มากขึ้น นั่นหมายถึงการซื้อของด้วยความอยากได้แบบทันทีทันใดของคนจะลดลงไป ใส่ใจในการลงทุน มากกว่าการซื้อด้วยอารมณ์ และสิ่งนี้อาจจะกลายเป็นที่มาของ Conscious Consumption รุ่น 2.0 ที่ชาวฟรีแลนซ์ (หรือแทบจะทุกคนที่ได้รับผลกระทบ) ควรหยิบมาใช้ เพราะนอกจากมันจะเป็นวิธีที่จะช่วยวางแผนการเงินฟรีแลนซ์ที่ดีต่อเงินในบัญชีเราตอนนี้แล้ว มันอาจจะส่งผลดีต่อโลกของเราในระยะยาวด้วย
ถ้าใครเคยได้ยินโปรเจกต์อย่าง Buy Nothing Project หรือ The Year of Less ที่สะท้อนความเป็นสาย มินิมอลได้ชัดเจน จะรู้ว่า Conscious Consumption คือพฤติกรรมเพื่อสังคมที่แฝงไปด้วยแผนการประหยัดเงินชั้นดี เพราะแนวคิดนี้สนับสนุนให้เราใช้จ่ายให้น้อยลง ช้อปปิงให้น้อยลง คิดก่อนซื้อให้มากขึ้น และต้องมั่นใจว่าเราจะซื้อแต่ของที่มีคุณภาพและจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ด้วยเทรนด์ของการคิดหนักก่อนซื้อ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ต้องการประหยัดเงินมากขึ้น ต้องการวางแผนการเงินให้ดีเพราะเป็นฟรีแลนซ์ หรือกลัวว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพอ ทำให้เราได้รู้จักกับระบบจ่ายเงินแบบใหม่ที่ใช้คอนเซปต์แบบ Shop Now, Pay Later มากขึ้น ทั้งบริษัทอย่าง AfterPay และ Klarna ที่มีบริการให้คนซื้อของออนไลน์ บริษัทจ่ายแทนให้ก่อน ส่วนลูกค้าค่อยผ่อนจ่ายทีหลัง ซึ่งบริษัทรีเทลยักษ์ใหญ่อย่าง H&M ก็หันมาใช้แล้ว และนั่นหมายความว่ามีแนวโน้มที่ผู้บริโภคอย่างเราอาจจะหันมาช้อปปิ้งผ่านระบบนี้มากขึ้นด้วย
TIPS: ถ้าคิดอยากจะวางแผนการเงินฟรีแลนซ์ คุณสามารถทำได้โดยลองปรับใช้ Conscious Consumption 2.0 เพื่อช่วยให้เกิดการประหยัดเงินในบัญชี โดยให้เริ่มด้วยจากการจดลิสต์ของที่ช่วงนี้เรา ‘ใช้น้อยลง’ แน่ ๆ จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่าง เครื่องสำอางค์หรือเสื้อผ้าใหม่ที่เคยซื้อทุกเดือน ให้ตัดออกจากช้อปปิ้งลิสต์ไปก่อน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ อย่าง ประกันรถยนต์ ถ้าทำได้ ให้ลดวงเงินประกันให้ต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้รถที่น้อยลงในช่วงนี้ ก็จะช่วยปรับการวางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ให้มั่นคงพร้อมรับมือกับวิกฤตรายได้ในช่วงนี้ได้ดีขึ้นแล้ว

Emergency!

เมื่อเรามีเวลาว่างมากขึ้นจากการที่งานเข้ามาน้อยลง ก็ถือเป็นเรื่องดีที่จะเอาเวลานี้มาวางแผนการเงินสำหรับฟรีแลนซ์ซะใหม่ บางคนอาจจะมีบัญชีเงินใช้ และบัญชีเงินเก็บไว้อยู่แล้ว แต่การมีเงินอีกก้อนที่เก็บไว้ในกรณีฉุกเฉินซึ่งแยกกับบัญชีเงินออมก็ถือเป็นเรื่องที่น่าทำเหมือนกัน ถ้าเราลองเสิร์ชดู จะเจอวิธีแบ่งเงินมาเก็บในบัญชีฉุกเฉิน หรือ Emergency Fund อยู่หลายแบบ ทั้งการแบ่งออกมาจากเช็ครายรับเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือตั้งยอดรายรับประจำเดือนทุกเดือนเอาไว้ และถ้าเดือนไหนทำได้เกินเป้า ก็ให้นำเงินที่เกินนั้นมาสำรองไว้ในบัญชีฉุกเฉิน หรือจะลองรับงานสักงาน ที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่า ถ้าได้เงินจากงานนี้แล้ว จะไม่แตะสักบาท และจะเอาเข้าบัญชีฉุกเฉินทันที ก็ถือเป็นวิธีวางแผนการเงินเพื่อรับมือฉบับฟรีแลนซ์ที่น่าสนใจเช่นกัน
วิธีวางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ที่จูนใช้เพื่อช่วยเป็นตัวกำหนดยอดในบัญชีฉุกเฉินว่าควรเก็บเท่าไร คือการเอารายจ่ายของตัวเองในแต่ละเดือน (ประเมินให้สูง ๆ ไว้ก่อนเลย เผื่อพลาด) แล้วตีเป็นตัวเลขเฉลี่ยออกมา จากนั้นเอาไปคูณ 6 แล้วจะได้จำนวนเงินสำรองฉุกเฉินที่พร้อมใช้หากจำเป็น และไม่ต้องไปยุ่งกับบัญชีเงินเก็บของตัวเองเลย ซึ่งหากเราวางแผนการเงินสำหรับฟรีแลนซ์ให้ดี ๆ โดยมีเงินตรงนี้เผื่อไว้ ก็จะอยู่รอดผ่านเหตุการณ์ไม่คาดคิดแบบนี้ไปได้แบบเหงื่อไม่ตกถึง 6 เดือน โดยเงินในบัญชีฉุกเฉินควรเก็บไว้ในบัญชีที่สามารถนำออกมาใช้ได้เลย อาจผูกกับแอปพลิเคชันของธนาคารไว้เพื่อความสะดวกในการนำออกมาใช้ (แต่ก็อย่าสะดวกเกินไปจนเผลอเอามาใช้เรื่องอื่น ๆ ล่ะ)
TIPS: ยิ่งถ้างานที่เราทำอยู่ในสายฟรีแลนซ์ ซึ่งมีความมั่นคงน้อยกว่างานประจำที่ได้รับเงินเดือนคงที่ เรายิ่งต้องวางแผนการเงินเพราะงานฟรีแลนซ์ มีข้อจำกัดเรื่องของรายได้เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะบางเดือนอาจมีรายได้ไม่เท่ากัน ด้วยการเผื่อเงินสำรองในบัญชีฉุกเฉินไว้มากกว่าปกติก็จะช่วยสร้างความอุ่นใจในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

Reach Out

เราเข้าใจดีว่าช่วงนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับหลาย ๆ คน แต่การขอความช่วยเหลือก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย การวางแผนการเงินตามฉบับชาวฟรีแลนซ์อาจจะช่วยรับมือวิกฤตการเงินได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดและวางแผนเก็บเงินสำรองจะช่วยได้แล้ว การพูดคุยตกลงเพื่อหาทางลดภาระทางการเงิน หรือเพิ่มรายรับในช่วงเวลานี้ อาจจะเป็นผลดีเช่นกัน ลองติดต่อหาคอนแทคลูกค้าที่เคยมีอยู่แต่ไม่ได้ติดต่อกันไปนานแล้ว เขาอาจจะกำลังต้องการความช่วยเหลือในการหาทีมมาซัพพอร์ทโปรเจกต์ใหม่ที่กำลังจะทำช่วงนี้ หรือคุยกับลูกค้าที่ดีลงานกันไว้อยู่ให้ช่วยแนะนำงานอื่น ๆ ให้ต่อ หรือขอขยายสเกลโปรเจกต์ที่ทำอยู่ในช่วงนี้ดู เช่นเดียวกันกับการสร้างคอมมิวนิตี้ หรือหาเพื่อนในแวดวงเดียวกันผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อฝากประชาสัมพันธ์ หรือแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เจอก็จะช่วยให้ฟรีแลนซ์รับมือกับวิกฤตได้
TIPS: เคล็ดลับสำหรับใช้รับมือกับวิกฤตนอกเหนือจากวางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ให้ดีแล้ว คือการลองออกจากคอมฟอร์ทโซนของตัวเองและฝึกทักษะอื่น ๆ เสริมในช่วงนี้ดู เผื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้าที่มีอยู่ หรือเราอาจจะได้ฝึกสายอาชีพใหม่ได้อีกในอนาคต
อย่าลืมว่าไม่ใช่แค่สายงานฟรีแลนซ์เท่านั้นที่ต้องวางแผนการเงิน เพราะประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับเรา และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคมไม่ว่าจะมาในรูปแบบของเงินสนับสนุน หรือกำลังใจที่มีค่า ก็จะสามารถทำให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน สามารถนำวิธีวางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ของจูนไปปรับใช้กันได้ เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ!
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา