5 เทคนิคตามเงินคืนจากเพื่อนโดยไม่เสียเพื่อน

5 เทคนิคตามเงินคืนจากเพื่อนโดยไม่เสียเพื่อน

By Krungsri Academy

ปัญหาโลกแตกแบบการให้เพื่อนยืมแต่เพื่อนไม่ยอมคืนสักที กลายเป็นความลำบากใจของเจ้าหนี้จนต้องหาทุกวิถีทางในการตามเงินคืน แต่จะให้ดี ต้องรักษาน้ำใจและความสัมพันธ์ไม่ให้เสียมิตรภาพด้วย

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องไม่เข้าใจออกใครจริง ๆ ว่ากันว่าความสัมพันธ์ที่ใช้เวลาสร้างมาเป็นสิบ ๆ ปีก็สามารถพังทลายลงง่าย ๆ ได้ด้วยเรื่องเงินเพียงเล็กน้อย จากสถิติจาก Couples Counseling Chicago พบว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คู่รักเลิกรากันมากที่สุดก็หนีไม่พ้นปัญหาเรื่องของเงิน และแน่นอนว่าเรื่องของเพื่อนก็เช่นเดียวกัน
การยืมเงินกันระหว่างเพื่อนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ เพราะหลาย ๆ ครั้งไปกินข้าวด้วยกันก็ไม่ได้จำเป็นต้องหารเท่ากันเป๊ะเสมอ เราออกมากกว่าบ้าง เพื่อนออกมากกว่าบ้างผลัด ๆ กันไป ดูเหมือนจะไม่ได้มีปัญหาอะไร ดังนั้นเวลาที่มีเพื่อนมายืมเงินก็ไม่ได้คิดมากว่าจะให้หรือเปล่า แล้วก็ไม่คิดมากว่าเพื่อนจะไม่มาคืน เพราะการยืมระหว่างเพื่อนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดดอกเบี้ยอะไรอยู่แล้ว
เมื่อเวลาผ่านไป พอถึงกำหนดคืนเราก็ไปทวงตามปกติ แต่เพื่อนก็ปฏิเสธมาว่าอาทิตย์หน้านะ เดือนหน้านะเสมอ เราก็ไม่ติดใจอะไรเท่าไร ก็คงคิดว่าเพื่อนเดือดร้อนจริง ๆ ไม่เป็นไร...
แต่หลาย ๆ ครั้งเราอาจจะเห็นเพื่อนโพสต์รูปภาพไปกิน ไปเที่ยวอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ไม่นำเงินมาคืนเรา เราก็อยากจะเข้าไปทวงอยู่เหมือนกัน แต่ก็กลัวจะเสียเพื่อนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี วันนี้เราเลยมีคำแนะนำดี ๆ สำหรับคนที่ต้องการทวงหนี้เพื่อนแต่ไม่อยากจะเสียเพื่อนมาฝากกัน

1. อย่าทวงต่อหน้าคนอื่น



กฎเหล็กการทวงหนี้ก็คือ หน้ามีไว้รักษาอย่าทวงหนี้ต่อหน้าเพื่อน ๆ หรือคนอื่น ถ้าเขารู้สึกอายเมื่อไร นอกจากจะไม่ได้เงินคืน เราก็จะเสียเพื่อนแน่ ๆ เพราะเพื่อนจะรู้สึกว่าเราไม่ไว้หน้าเขาบ้างเลย บางทีเขาอาจจะแค่ลืมก็เป็นไปได้
แล้วข้อควรระวังในยุคที่ใคร ๆ ก็เล่นโซเซียลก็คือ การทวงหนี้ในโลกโซเซียลเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อย่าลืมว่ากฎหมายไทยจะคุ้มครองลูกหนี้มากกว่าเจ้าหนี้ นอกจากเราจะไม่ได้เงินคืนอาจจะต้องเสียค่าปรับกันอีก ดังนั้นการทวงเงินต่อหน้าโลกโซเซียลโอกาสได้คืนน้อยและเสียเพื่อนแน่ ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

2. ให้เวลาเพื่อนในการหาเงินมาคืน



เวลาที่เราทวงเงินแน่นอนว่าเราก็ร้อนใจอยากได้เงินคืนอยู่แล้ว ส่วนตัวก็เชื่อว่าไม่มีใครอยากจะชิ่งหนี้เราจริง ๆ แต่บางทีเพื่อนเราอาจจะเดือนร้อนอยู่ก็เป็นไปได้เหมือนกัน การที่เร่งมากเกินไปจนเพื่อนรู้สึกเครียด ไม่น่าจะเป็นผลดีใด ๆ สักเท่าไร เพราะถ้าไม่ถึงที่สุดลูกหนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยากจะเบี้ยวหรือตัดความสัมพันธ์กับเพื่อน
ดังนั้นการให้เวลาเพื่อนหาเงินมาคืนก็เป็นอีกวิธีที่ดีเหมือนกัน อาจจะให้ผ่อนคืน 3 เดือนตามที่สะดวกก็ได้ หรือลองหาวิธีการคืนเงินที่ตกลงกันอย่างชัดเจน ได้เงินคืนช้าหน่อยแต่ได้เงินคืนก็ยังดีกว่าไปกดดันเพื่อนจนเพื่อนหนีหายไป การประนีประนอมซึ่งกันและกันก็เป็นสิ่งที่ควรทำ

3. ดราม่านิด ๆ เราก็เดือดร้อนเหมือนกัน



ลองนึกถึงเวลาที่เพื่อนเดือดร้อนมาขอยืมเงินเรา แน่นอนว่าเพื่อนคงไม่มาถึงแล้วบอกว่ายืมเงิน 5,000 บาท แล้วเราก็ยื่นให้ง่าย ๆ แต่เพื่อนก็คงมาพร้อมเรื่องเล่าที่น่าเห็นใจเสมอ ถ้าคนที่ยืมเงินไปเป็นเพื่อนเรา แน่นอนความรู้สึกเห็นใจก็จะเข้าใจได้ไม่ยากเช่นกัน

4. แบ่งจ่ายก็ได้นะ

 

นอกจากจะทวงถามหรือสร้างความดราม่าว่าเราก็มีเรื่องต้องใช้เงินเหมือนกันแล้ว ถ้าเพื่อนมีท่าทีเกรงใจและรู้สึกผิดจริง ๆ ก็ลองโยนหินถามทางว่า จะลองแบ่งจ่ายดูไหมล่ะ ? จะได้ทยอยปิดหนี้ และประณีประนอมกันได้ เพราะถ้าหากหนี้นั้นก้อนใหญ่มาก การจะหามาคืนทีเดียว เพื่อนเราอาจจะต้องไปกู้ยืม หรือรู้สึกไม่สะดวกใจ ก็ลองให้แบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ เหมือนผ่อน 0% 6 เดือนก็ได้

5. รับคืนหนี้ในรูปแบบอื่นได้หรือไม่ ?

 

ถ้าคาดว่า เพื่อนดูมีท่าทีไม่อยากคืนเงินเป็นก้อนใหญ่ หรือไม่มีวี่แววแคะเงินออกจากกระเป๋ามาได้ ก็ลองพิจารณาดูว่า คุณสามารถรับการใช้หนี้คืนด้วยรูปแบบอื่นได้หรือเปล่า เช่น การคืนด้วยสิ่งของ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีมูลค่าเทียบเท่าเงินที่ยืมเราไป ซึ่งก็ต้องถามเพื่อนด้วยว่า พร้อมที่จะใช้หนี้ด้วยรูปแบบนี้หรือเปล่า ถ้าตกลงกันได้ก็อย่าลืมที่จะตกลงกันให้เป็นทางการ หรือจะทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
การทวงเงินเพื่อนควรจะหนักแน่นในการทวงเสมอ เพราะอย่าลืมว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด คนที่ควรเกรงใจจริง ๆ แล้วควรเป็นเพื่อนเรามากกว่า ถ้าเราไม่กล้าทวงและไม่หนักแน่น เพื่อนก็จะคิดว่าเราไม่ซีเรียสก็จะผ่อนผันไปก่อนเรื่อย ๆ อีก
ที่สำคัญหลังจากได้เงินคืนมาแล้วก็ไม่ควรให้เพื่อนยืมเงินอีก เพราะเรื่องเงินถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร อย่าให้มิตรภาพดี ๆ ต้องเสียไปเพราะคำว่าเงินเลย เวลาเพื่อนมายืมก็ปฏิเสธไปง่าย ๆ ว่าช่วงนี้เราก็ไม่มีเหมือนกัน มีคำกล่าวไว้ว่า “การให้เพื่อนยืมเงินก็เหมือนกับเราเสียเพื่อนไปแล้ว” นั่นเอง แต่ถ้าไม่อยากบอก "ไม่" ตรง ๆ ลองฝึกศิลปะการตอบปฏิเสธอย่างมีชั้นเชิง ติดตัวไว้บ้างจะเป็นประโยชน์มากเลยทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow