บริหารความคิดสร้างสรรค์เพื่อธุรกิจ

บริหารความคิดสร้างสรรค์เพื่อธุรกิจ

By Tim Pita

บทความผมเขียนขึ้นในขณะอยู่ในไฟลต์ที่กำลังเดินทางไปมหานครนิวยอร์ก เพื่อกลับไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) ซึ่งผมกำลังจะไปเรียนเรื่อง “นวัตกรรมความสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมการเกษตร” ซึ่งประจวบเหมาะตรงกับหัวข้อสำหรับเดือนนี้พอดี เมื่อเงยหน้าดูมอนิเตอร์ตัวเองแล้วยังเหลือเวลาอีก 10 ชั่วโมงกว่าล้อจะแตะพื้น สงสัยท่านผู้อ่านต้องอ่านบทความฉบับนี้ยาวเป็นพิเศษ เพราะผมก็พร้อมจะถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้ไปร่ำเรียนมาให้แฟน ๆ Plearn เพลิน ได้เพิ่มพูนความรู้ไปด้วยกัน

ผมขอเริ่มต้นที่คำว่า “นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรในการทำงาน” ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดถึงกันเยอะ มีความจำเป็นในการเริ่มทำธุรกิจ แต่จับต้องไม่ได้ แล้วมันสำคัญก็เพราะ Start Up หรือ SME อย่างเรา ๆ ไม่มีแรง ไม่มีทรัพยากรอย่างเจ้าใหญ่เขามีกัน เราต้องเปลี่ยนตัว “s” นำหน้าจาก Small เป็น Smart (หรือจะเป็น Stylish ก็ได้นะครับ) พูดง่าย ๆ เราต้อง “Hi-tech” หรือ “High-touch” เพราะถ้า “Low-tech” และ “Low-touch” แถมยัง Small ก็คงต้อง Say good bye กับธุรกิจลูกเดียว
อะไรคือความคิดสร้างสรรค์ อะไรคือนวัตกรรม? จับต้องไม่ได้เพราะอะไร? แล้วทำอย่างไร? ทำกับใคร? ใช้งบประมาณเท่าไร? นวัตกรรมมีกี่แบบ? ถ้าทดลองไม่สำเร็จแล้วใครรับผิดชอบ? สำเร็จมาแล้ววางไว้บนหิ้งหรือกินได้ไหม? เป็นคอนเซ็ปต์ที่ยังไกลกับการทำงานแบบไทย ๆ อย่างเรา ๆ มาก ให้ลองผิดลองถูก เสี่ยงแบบได้ไม่คุ้มเสีย คงไม่มีใครทำกัน
คำว่า Innovation = นวัตกรรม โดยคำว่า nova มาจาก “neo” (ภาษากรีก) = “นว”(ภาษาสันสกฤต) แปลว่าใหม่ทั้งคู่ เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์ ก็คือ การมีความคิดใหม่ ๆ (New ideas) ซึ่งไอเดียเหล่านี้อาจจะเป็นไอเดียทางภาพ (เช่น Picasso) ไอเดียทางเสียง (เช่น เพลงของ Miles Davis) ไอเดียทางวิทยาศาสตร์ (เช่น ทฤษฎีของ Albert Einstein) ไอเดียธุรกิจและบริหาร (เช่น แนวคิดการสร้างสรรค์ Apple ของ Steve Jobs) เป็นต้น
ในความเป็นจริงแล้ว นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ มี 2 แบบ คือ แบบค่อยเป็นค่อยไป และแบบ Break through แต่มันก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ที่ทุกบริษัทจะสามารถคิดได้เหมือน Apple การเริ่มต้นต่อยอดแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้น อาจเป็นสิ่งที่สร้างนวัตกรรมได้เช่นกัน
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ด้วยโมเดลบริษัทของผมเอง ในหลาย ๆ โปรเจค เราได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยต่างชาติ เช่น มหาวิทยาลัยคอร์แนลที่เคยส่งทีมงานอาจารย์และนักศึกษามาประจำอยู่ที่โรงงานเรา รวมทั้งยังเคยแลกเปลี่ยนความรู้กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยนางาซากิ ไหนจะยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรรัฐและเอกชน พูดได้เลยครับว่า แทบจะ 90% ของโปรเจคนวัตกรรมที่เราคิดมักจะล้มเหลว ไหนจะโปรเจคเล็ก ๆ เช่น หาอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อลดพลังงานไปจนถึงสกัดสารออริซานอล แผงโซล่าเซลจากแกลบ ไปจนถึงหาคุณค่าของรำข้าวที่มีต่อหัวใจจากข้าวไทย 10 สายพันธุ์หลัก อีกมากมายก็พบอุปสรรคเช่นกัน
คำถามในใจท่านผู้อ่านก็คงเป็นว่ามีคนคอยช่วยเยอะขนาดนี้ ทำไมถึงล้มเหลวเยอะขนาดนี้ จริงๆ แล้วถ้าท่านมาดูสถิติในบริษัทระดับโลก เช่น บริษัท Booz Allen Hamiton เคยทำวิจัยกับบริษัททั่วโลก ซึ่งครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม เพื่อค้นหาอัตราความล้มเหลวของโปรเจคนวัตกรรมต่าง ๆ คำตอบก็คือ 80-95% เช่นกันที่ล้มเหลว นัยก็คือ “ถ้ามันง่ายก็คงไม่เป็นนวัตกรรม”
สำหรับผู้ประกอบการหลายท่าน ได้เห็นอัตราความล้มเหลวเช่นนี้ ก็คงคิดว่าไม่ทำดีกว่า ทำมาค้าขายต่อไปก็พออยู่ได้ หรือบางคนอาจจะคำนึงถึงความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขัน จึงอยากลองเสี่ยงดู คำถามก็คือ ทั้ง ๆ ที่ใครก็รู้ว่านวัตกรรมเป็นเรื่องที่ดีแต่ทำไมมันล้มเหลวเยอะขนาดนี้ ผมขอตอบแบบบ้าน ๆ เลยนะครับ คำตอบก็คือ ความไม่แน่นอนนั่นเอง ขอยกตัวอย่างคำถามที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจให้ดูนะครับ
1. ลูกค้าจะซื้อหรือไม่? เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราควรทำตามความต้องการของลูกค้า หรือตามวิสัยทัศน์ของตัวเอง บางครั้งบางทีลูกค้าก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจนกว่าเราจะผลิตขึ้นมา ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนอย่างหนึ่ง
2. ตลาดจะใหญ่พอหรือไม่? ทำออกมาแล้วมีความต่าง (Differentiation) ถ้าไม่มีคนสนใจ (Appreciation) ในทันที เราจะสามารถสื่อสารความใหม่ ความสดของสินค้า แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน?
3. คู่แข่งจะทำอย่างไร? ใช้เวลานานและเสี่ยงกับอัตราความล้มเหลวถึง 80-95% กว่าจะสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจ
4. บริษัทเราทำได้หรือไม่? มีจำนวนคนพอไหม? มีความสามารถในทาง Research and development หรือเปล่า? มีงบประมาณเป็นกี่เปอร์เซ็นต์สำหรับยอดขาย? ทำได้แต่ในห้องแล็ปแต่ไม่สามารถมาพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ (อันนี้เจอบ่อยครับ)
ดังที่กล่าวมาใน 4 ข้อเบื้องต้น คงจะพอทำให้ท่านผู้อ่าน พอเห็นความเสี่ยงของนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร แต่ทำไมบริษัทเราควรดำเนินการต่อไป และวิธีการใดที่ท่านให้เกิดความสำเร็จขึ้นได้ ผมจึงได้ศึกษาว่า ผู้นำที่นำพานวัตกรรมไปสู่ความสำเร็จนั้น ควรมีคุณสมบัติอย่างไร และได้คำตอบออกมาเป็น 3 คุณสมบัติสำคัญ
 
 
1. คลั่งไคล้ในสิ่งที่ทำ
มีความคิดแตกต่าง ไม่ชอบทำตามกฎเหมือนคนธรรมดา
 
2. มีไอเดียที่ “ใหม่ ชัด โดน”
ใหม่ คือ ไม่เหมือนใคร ชัด คือ สามารถอธิบายสื่อสารได้ง่ายว่า คุณค่าที่เรากำลังนำเสนอคืออะไร โดน คือ โดนใจ ตอบโจทย์ ความต้องการของลูกค้าหรือไม่
 
3. มีวิธีการวิจัยที่ประหยัด
ต้นทุนของการวิจัยนั้น ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าสมการ ถ้าการตั้งค่ามีตัวแปรที่หละหลวมและไม่มีประสิทธิภาพ หรือตั้งค่าสัมประสิทธิกว้างไปจนได้คำตอบที่หลวม จนอาจทำให้ไม่สามารถไปต่อได้
ทั้งหมดนี้ คือ นิยาม ความเสี่ยง ประโยชน์และคุณสมบัติที่ดีของการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ ข้อมูลคราวนี้อาจจะเยอะไปสักหน่อย ผมอยากให้ผู้อ่านได้ติดตามกันต่อไป เพราะหลังจากที่ผมได้เพิ่มพูนความรู้ด้านนวัตกรรมเพื่อทำธุรกิจ โดยเฉพาะนวัตกรรมการเกษตรจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลแล้ว หวังว่า ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์แก่ SMEs และ Start-up ไทย ที่ต้องพึ่งพาอาศัยวัตถุดิบทางการเกษตรแบบไทย ๆ ให้ท่านได้นำแนวคิดนี้ไปสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ และเพื่อตอบแทนเกษตรกรไทยครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา