ธุรกิจ E-Sports ในไทยจากมุมมองธุรกิจและผู้เล่น

ธุรกิจ E-Sports ในไทยจากมุมมองธุรกิจและผู้เล่น

By Krungsri Society

ทิศทางของวงการ E-Sports ในไทย ผ่านมุมมองของเจ้าพ่อธุรกิจ Gaming เสถียร บุญมานันท์ แห่ง Neolution Group และภาพิมล อิทธิเกษม โปรเพลเยอร์สาวแชมป์ ROV ในระดับนานาชาติจากทีม Monori Bacon “Miffy”

ธุรกิจ E-Sports ในไทยจากมุมมองธุรกิจและผู้เล่น
เครดิตภาพ: Rabbit Daily
เมื่อพูดถึงวงการกีฬาที่มาแรงที่สุดในโลกยุคดิจิทัล ณ ตอนนี้ และกำลังได้รับความสนใจไม่แพ้วงการฟุตบอล คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากวงการ E-Sports ที่ทุกภาคส่วนล้วนจับตามองและเป็นกระแสไปทั่วโลก สังเกตได้จากยอดเงินรางวัลของกีฬา E-Sports ที่บางรายการมีมูลค่ารวมเกือบเทียบเท่าการแข่งขันกีฬาดัง ๆ อย่างฟุตบอลโลกไปแล้ว เรียกได้ว่าในระดับโลก E-Sports นั้นกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดลีกอาชีพ นักกีฬาอาชีพ นักพากย์ นักแคสต์เกมอาชีพมากมาย รวมถึงแบรนด์ต่าง ๆ ในระดับโลกที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมดังไม่ต่างจากวงการกีฬาอื่น ๆ สำหรับในประเทศไทยเอง E-sports เพิ่งได้รับการประกาศรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้บรรจุเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬา ทำให้เหล่าเกมเมอร์และคนในแวดวง E-Sports ในบ้านเราตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก
สำหรับนักธุรกิจที่คร่ำหวอดในวงการ E-Sports บ้านเราและคอยผลักดันวงการอย่างต่อเนื่องอย่าง คุณเสถียร บุญมานันท์ CEO แห่ง Neolution Group ผู้ให้บริการธุรกิจเกมมิ่งแบบครบวงจร และคุณ Miffy Bacon หรือ คุณมุก ภาพิมล อิทธิเกษม โปรเพลเยอร์สาวหนึ่งเดียวจากทีม Monori Bacon แห่ง ROV ที่ล่าสุดเพิ่งคว้าแชมป์นานาชาติเกม ROV ที่ประเทศเวียดนามมาหมาด ๆ เขาและเธอจะมีมุมมองต่อธุรกิจวงการเกมและ E-Sports ในปัจจุบันอย่างไรไปฟังกัน
ธุรกิจ E-Sports ในไทยจากมุมมองธุรกิจและผู้เล่น
เครดิตภาพ: ผู้จัดการออนไลน์

การประกาศรับรองของ กกท. ให้ E-Sports เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬา นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ดีของวงการเท่านั้น

คุณเสถียร: หลังจากที่ E-Sports ได้รับการรับรองแล้ว นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีครับ ผมอาจจะไม่ได้มองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากมันยังไปได้อีกไกล ถ้ามันจะยิ่งใหญ่ มันต้องยิ่งใหญ่จากคนในวงการทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ตอนนี้มันเป็นแค่จุดเริ่มต้น เหมือนเขาแค่เปิดประตูให้เรา แต่เราอย่าเพิ่งดีใจ เพราะถึงจดให้เป็นกีฬา แต่ถ้าเรายังไม่สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ยังจัดการแข่งขันไม่ได้ ยังไม่สามารถแยกภาพลักษณ์ของคนที่เล่นกีฬาเพื่อการแข่งขันกับเด็กที่ติดเกมได้ มันก็จะเหมือนเดิม แค่มีเอกสารตัวหนึ่งมารับรองเท่านั้น แต่นี่ก็นับเป็นเรื่องที่ดีมากครับ
ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ฟุตบอลมี U-League จากนั้นจะเป็นถ้วย ก. ถ้วย ข. และขยับไปสู่ Thai League ถ้า E-Sports เป็น Thai League เมื่อไร ภาพลักษณ์ของกีฬา E-Sports จะออกมาในแง่ดีแน่นอน เพราะเด็กที่เพิ่งเติบโตตอนนี้ เขาชอบดูอะไรพวกนี้อยู่แล้วครับ ไม่ดูทีวีด้วยซ้ำ ดังนั้นต่อไปเมื่อมีสื่อเข้ามา มีแบรนด์เข้ามาสนับสนุน เม็ดเงินก็จะตามมา แล้วยิ่งรัฐบาลเข้ามา ทั้งหมดจะมีส่วนช่วยทำให้วงการ E-Sports เติบโตได้อีกเยอะเลยครับ ในฐานะผู้เล่นก็จะภูมิใจ เมื่อคนภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ เขาจะทำสิ่งที่ดีออกมามากกว่าสิ่งที่ไม่ดี ผมเชื่ออย่างนั้น

เริ่มต้นจากความตั้งใจที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่วงการเกม ด้วยการทำธุรกิจที่สนับสนุนวงการเกม

คุณเสถียร: ผมชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็กแล้วครับ แต่มองว่าตัวเองไม่ได้เสียหาย ผมยังสามารถเอาเกมมาประยุกต์ใช้ในการสร้างธุรกิจได้ การได้ยินคนพูดถึงเกมแต่ด้านแย่ ๆ มันกลายเป็นแรงผลักดันให้ผมอยากดึงด้านดี ๆ ของเกมออกมา ผมไม่ได้มองว่าธุรกิจ E-Sports ที่ทำอยู่จะเติบโต มองแค่ว่าเราอยากโชว์ด้านดีของ E-Sports และเชื่อว่าทุกอย่างสามารถดึงข้อดีออกมาใช้ได้ ยิ่งตอนเริ่มทำธุรกิจ E-Sports ผมไม่ได้หวังกำไรเลย เพราะไม่ใช่ธุรกิจหลักของเรา ธุรกิจเราจริง ๆ คือการขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
ผมมอง E-sports เหมือนสนุ๊กเกอร์ในยุค 20 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นก่อนที่จะมีต๋อง ศิษย์ฉ่อย ผมเคยไปเล่นสนุ๊กเกอร์ที่โต๊ะสนุ๊กนอกเวลาเรียน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนแล้วแต่สารวัตรนักเรียนผ่านมาเจอ ผมโดนจับไปตีและถูกเรียกผู้ปกครองเพราะเขามองว่าโต๊ะสนุ๊กเป็นแหล่งซ่องสุม เป็นแหล่งการพนัน ร้านเกมช่วงหนึ่งก็ถูกมองเหมือนโต๊ะสนุ๊กช่วงนั้นครับ ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่จะต้องทำคือดึงภาพลักษณ์ที่ดีของเกมออกมา เราต้องหา ต๋อง ศิษย์ฉ่อยของวงการเกม เปลี่ยนโต๊ะสนุ๊กตอนนั้นให้เป็นโต๊ะสนุ๊กตอนนี้ นั่นคือเปลี่ยนร้านเน็ตให้เป็นสเตเดียมในการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Neolution เราเริ่มทำอย่างนี้มา 8 ปีแล้ว โดยไม่ได้มองว่ามันจะเติบโต แต่มองว่ามันมีด้านดี ซึ่งสุดท้ายมันกลับเติบโตจริง ๆ ก็ถือเป็นผลพลอยได้
ธุรกิจ E-Sports ในไทยจากมุมมองธุรกิจและผู้เล่น
Neolution E-Sports Academy
(เครดิตภาพ: Neolution E-Sport)

เข้าใจ Customer Insight เข้าไปยืนอยู่ในจุดเดียวกับเกมเมอร์

คุณเสถียร: ถ้าเราอยากขายของให้เด็กอายุ 13-28 ที่เล่นเกม เราก็แค่ไปเรียนรู้หรือไปอยู่ในจุดที่เป็นเขา คนกลุ่มนี้ไม่ดูทีวีแล้วและไม่ชอบดูอะไรนาน ๆ วัน ๆ เขาอยู่แต่บนดิจิทัล เล่นเกมเสร็จออกมาดูเฟซบุ๊ก แล้วคนกลุ่มนี้มักจะถูกมองว่าใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกม ทำให้ต้องแอบเล่น ผู้ใหญ่มักจะบอกว่ามันไม่ดี ทำให้เขามีภาพในหัวว่าเกมเป็นสิ่งไม่ดี
สิ่งที่เราต้องทำการตลาดเพื่อสื่อสารไปให้โดนใจคนกลุ่มนี้ คือ
  • สื่อสารไปยังช่องทางที่เขาใช้เป็นประจำ ซึ่งเราใช้หลักการ Digital Marketing ผ่านทาง Social Media ต่าง ๆ อย่างเดียวเลย
  • ในเมื่อทุกคนมีแต่ว่าเขา ดังนั้นเราต้องใช้วิธี Counter Logic ทำให้เขาภูมิใจและดึงด้านดีออกมาให้ได้ ในเมื่อเกมและ E-Sports ถูกมองว่าเป็นสิ่งไม่ดี ถ้าอย่างนั้นเราสร้างทีม E-Sports ขึ้นมาเลย เราพยายามทำกิจกรรม E-Sports ดี ๆ ขึ้นมา เช่น เราทำ E-Sport Academy ให้นักเรียนมาเรียนกับแชมป์โลก พยายามสอนเป็นกีฬา สอนเป็นการแข่งขันระดับโลก เพราะเราไม่ได้เข้าไปหาเขาแค่เพียงโฆษณา แต่เราเข้าไปสร้างประสบการณ์ร่วมกันกับเขา ทำให้เขาเกิดความภูมิใจใน Neolution ซึ่งทั้งสองข้อนี้เป็นหลักการทำการตลาดง่าย ๆ เลยครับ
ถ้าคุณอยากเข้าถึงกลุ่มคนชอบฟังเพลงคุณก็ต้องใช้ Music Marketing แต่ถ้าคุณอยากจะเข้าถึงกลุ่มคนเล่นเกมคุณก็ต้องใช้ E-Sports Marketing

EQ ในการเล่นเกมคือจุดที่แตกต่างระหว่างโปรเพลเยอร์ไทยกับต่างชาติ

คุณเสถียร: โปรเพลเยอร์ต่างชาติมีความรับผิดชอบมาก เขามีวินัยในการซ้อม และมี EQ ในการเล่นเกม มีความเป็นทีมเวิร์ก อย่างเรื่องน้ำใจนักกีฬาไทยเราจะสู้เขาไม่ได้เลย ทำให้ไม่เกิดโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขการเล่นระหว่างกัน อย่างตอนแข่ง เวลาพลาด ฝรั่งเขาจะใจเย็นมากครับ ผมเคยยืนอยู่หลังนักกีฬาแข่งชิงแชมป์โลก เขาจะค่อย ๆ แก้ เวลาพลาดจะค่อย ๆ หาวิธีคิดว่าจะกลับมายังไง แต่คนไทยเวลาพลาดมักจะอารมณ์เสียง่าย ฝรั่งพอใจเย็น เขาจะมี EQ ที่ดีและดึงทีมกลับมาสู่เกมได้ อย่างเกมฟุตบอลเวลาโดนนำ 3-0 จะตามกลับมาได้ถ้าคุณรู้จักควบคุมอารมณ์และมีทัศนคติที่ดีในการเล่น ซึ่งตรงนี้คนไทยขาดมาก ๆ ครับ

ธุรกิจเกมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ Cashless เร็วที่สุดในยุคนี้

คุณเสถียร: เมื่อก่อนการซื้อ - ขายเกม เขาซื้อเป็นเกมกล่อง การเติมเงินเกมใช้บัตร การแลกเปลี่ยนไอเทมใช้บัตร ตอนนี้ทุกอย่างทำในออนไลน์หมดแล้ว ซึ่งต่างชาติเขาจะมี Fintech ไว้ซื้อขายเกมโดยเฉพาะเลยครับ ตอนนี้มีโปรแกรมซื้อเกมออนไลน์ แล้วก็ดาวน์โหลดได้เลย อย่าง Steam เป็นต้น เพราะฉะนั้นการเข้ามาของทั้ง Fintech, E-commerce ต่าง ๆ ทำให้วงการ E-Sports เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากครับ ในมุมมองของผมธุรกิจเกมจึงเป็นธุรกิจ Cashless เร็วที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ เพราะไม่มีใครใช้เงินสดแล้วครับ

วงการ E-Sports ในไทย กำลังได้รับความสนใจจากแบรนด์ใหญ่ ๆ นอกวงการ

คุณเสถียร: เพราะผู้บริโภคอยู่ที่ไหนแบรนด์จะไปที่นั่น ตอนนี้คนที่เล่น E-Sports หรือว่าดูเกม ดูแคสต์เกมเหมือนดูฟุตบอลครับ ในประเทศไทยมีคนดูประมาณ 10 ล้านคน เราเป็นตลาด Top 20 ของโลก แต่สำหรับต่างประเทศภาพมันชัดเจนแล้วว่า E-Sports นั้นสามารถดึงแบรนด์ใหญ่ ๆ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ได้สำเร็จแล้ว สำหรับในไทยเองน่าจะภายใน 1-2 ปี ข้างหน้านี้แหละครับ เราจะได้เห็นแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่อยู่นอกวงการไอทีเข้ามาในวงการ E-Sports อย่างแน่นอน

นักพากย์เกม อาชีพแรกที่สามารถทำได้เต็มตัวในวงการ E-Sport ไทย

คุณเสถียร: หากถามถึงอาชีพแรกในวงการ E-Sports บ้านเราที่สามารถทำได้เต็มตัวเลยตอนนี้ ผมมองว่าเป็น “นักพากย์เกม” ครับ ตอนนี้มีคนดูเยอะมาก เพราะฉะนั้นเขาสามารถตั้งเป็นทีมพากย์ได้ง่าย ๆ ลองนึกถึงคุณพิศณุ นิลกลัด (นักพากย์กีฬา) อย่างนั้นเลยครับ มีคนสร้างเป็นทีมพากย์แล้วก็รับจ้างพากย์ รับสตรีมเกมได้เงินจาก YouTube จาก Twitch (Community สำหรับคนเล่นเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ตอนนี้นักพากย์ชื่อดังอย่าง Cyber Clasher หรือว่าคนดัง ๆ พากย์อย่างเดียวแล้วครับ ทำเป็นอาชีพหลัก ซึ่งตอนนี้ในไทยมี 40-50 คนแล้ว

ใครที่ตั้งใจจะเดินทางสายนี้ อย่าใช้ E-Sports เป็นตัวประกัน แต่จงมุ่งมั่นและรู้จักบาลานซ์ชีวิต

คุณเสถียร: อย่าคิดว่าผู้ใหญ่เขาต้องเข้าใจเรา ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเรา ผมมักจะเห็นน้อง ๆ ชอบเอา E-Sports เป็นตัวประกันแล้วเล่นเกม ซึ่งเล่นกัน 7-8 ชั่วโมง โดยเน้นแต่ความสนุกมากกว่าการฝึกฝน อย่าไปโทษผู้ใหญ่เลยครับ ถ้าลูกผมเล่นเกม 7-8 ชั่วโมง ผมก็เป็นห่วง คนที่เขาเป็นห่วงเราเนี่ยเพราะเขาหวังดีกับเรา แล้วเขาไม่เห็นมุมที่เราเห็น อย่าไปหาว่าเขาไม่เข้าใจเรา แต่ถ้าเราทำให้เขามั่นใจได้ เขาจะไม่ยุ่งเลยครับ พูดง่าย ๆ มีคนชอบเล่นดนตรี พ่อแม่ไม่เข้าใจ อยากเป็นนักดนตรี อยากเรียนโรงเรียนดนตรี ซ้อมดนตรี 8 ชั่วโมงไม่เรียนเลยเนี่ย ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจหรอกครับ แต่ถ้าการเรียนเราดี และเราก็เล่นเป็นเวลา รู้จักเลิก ไม่อารมณ์เสียเขวี้ยงเม้าส์แล้วกระโดดเตะจอ จุดนี้เองที่จะทำให้เขาเห็นได้โดยไม่ต้องพูดแล้วครับ
อีกประเด็นหนึ่งคือ E-Sports ในบ้านเรายังไม่ใช่กีฬา ยังไม่ได้เงินเป็นแสนเหมือนนักกีฬาอาชีพ ประเทศไทยมีคนที่แข่งแล้วเลี้ยงตัวเองได้เพียงหลักร้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าเล่นเพื่อเป็นความฝันที่อยากจะเป็นนักกีฬา E-Sports ความฝันต้องอยู่บนความจริงด้วยครับ ซึ่งความจริงตอนนี้มันยังไม่ใช่ เราจึงต้องเล่นเป็น Semi Pro League เล่นเหมือนนักกีฬาถ้วย ก. เมื่อก่อนนักกีฬาที่เล่นถ้วย ก. คือมีใจรักที่จะเตะบอล บางคนเขาจะต้องไปทำงานวิศวะก่อนแล้วมาเตะบอลยังมีเลยครับ ดังนั้นอย่าทิ้งการเรียน อย่าเอา E-Sports เป็นตัวประกันเพื่อให้คนเข้าใจ E-Sports ผิด แล้วก็เชื่อในความฝันได้แต่ต้องบาลานซ์ทั้ง 2 อย่าง การเรียน การทำงาน กับการเล่นเกมให้ดีครับ
ธุรกิจ E-Sports ในไทยจากมุมมองธุรกิจและผู้เล่น
“Miffy” ตำแหน่ง Support, Tank แห่ง Monori Bacon
(เครดิตภาพ: Garena Live)

ในมุมของโปรเพลเยอร์ หลังจาก กกท. ประกาศรับรอง E-Sports เป็นกีฬา จะส่งผลให้ภาครัฐและเอกชนหันมาสนับสนุนผู้เล่นมากขึ้น

คุณภาพิมล: คิดว่าเป็นอะไรที่ดีสำหรับ E-Sports เลยค่ะ เพราะก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยมีใครสนใจวงการนี้สักเท่าไร พอมีข่าวออกมาว่าผ่านการรับรองแล้ว ก็ทำให้คนรู้จัก E-Sports มากขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตอาจมีผู้ใหญ่มาสนับสนุนผู้เล่นหรือนักกีฬามากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน

จุดเปลี่ยนไปสู่การเป็นโปรเพลเยอร์ คือมองว่าการเล่นเกมสามารถทำเงินได้

คุณภาพิมล: เราเป็นคนชอบเล่นเกมอยู่แล้ว และคิดว่าการเล่นเกมมันไม่ได้เล่นเพื่อความสนุกอย่างเดียว เราอยากทำให้คนอื่นเห็นว่าเล่นเกมก็สามารถทำเงินให้เราได้เหมือนกัน จุดเปลี่ยนที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองจากเกมเมอร์มาเป็นโปรเพลเยอร์ก็คือ เกมที่เราเล่นอยู่มีการจัดการแข่งขันขึ้นมา มีเงินรางวัลให้ เลยทำให้เราอยากชนะการแข่งขันนั้น ๆ

ความได้เปรียบของโปรเพลเยอร์หญิงคือ ความใจเย็น และความรอบคอบ

คุณภาพิมล: ข้อได้เปรียบของโปรเพลเยอร์หญิงน่าจะเป็นเรื่องอารมณ์ และความใจเย็น ซึ่งผู้ชายมักจะใจร้อนกว่า หัวร้อนง่ายกว่า ผู้หญิงก็อาจจะละเอียดรอบคอบกว่า ส่วนข้อเสียเปรียบของผู้หญิงคือในเรื่องการตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาดพอเท่าผู้ชาย
ธุรกิจ E-Sports ในไทยจากมุมมองธุรกิจและผู้เล่น
ทีม Monori Bacon คว้าแชมป์ ROV รายการ Throne of Glory 2017 ที่เวียดนาม คว้าเงินรางวัลประมาณ 1,044,776 บาท
(เครดิตภาพ: Game Monday)

หลังจากคว้าแชมป์ ROV ในระดับนานาชาติ ครอบครัวและทุกคนให้การสนับสนุนมากขึ้น

คุณภาพิมล: ชีวิตเปลี่ยนไป มีคนติดตามเยอะมากขึ้นค่ะ มีสปอนเซอร์ติดต่อเราเข้ามาทำให้มีรายได้เพิ่ม จากแต่ก่อนที่คุณแม่ไม่ค่อยสนับสนุนในการเล่นเกมเท่าไร จะบ่นตลอดว่าไม่อยากให้เล่นเยอะ แต่หลังจากได้แชมป์คุณแม่ก็ตื่นเต้นมาก สนับสนุนมากขึ้น ไม่ค่อยว่าแล้ว

พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง

คุณภาพิมล: รายได้ของมุกหลัก ๆ เลย คือ หลังจากที่เราชนะการแข่งขันก็จะทำให้มีคนติดตามผลงานเรามากขึ้น เวลาเราสตรีมหรือไลฟ์สด เราก็จะได้เงินจากตรงนี้ มีแบรนด์ต่าง ๆ ติดต่อเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้เรา ส่วนเงินรางวัลที่ได้จากการแข่งก็เหมือนเป็นโบนัสมากกว่าค่ะ อย่างทุกวันนี้ในขณะที่มุกยังเรียนอยู่และสตรีมเกมไปด้วย มุกสามารถสร้างรายได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ค่อยมั่นคงเท่าไร ถ้ามองในระยะยาว เราก็ต้องพัฒนาตัวเองหาความแปลกใหม่ ทำตัวเองให้เล่นเก่งสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้มีคนติดตามเราอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมีพรสวรรค์ จงลงมือทำอย่างจริงจัง และรู้จักแบ่งเวลา แล้วความสำเร็จในวงการนี้จะอยู่ไม่ไกล

คุณภาพิมล: อยากให้น้อง ๆ พิจารณาจากฝีมือตัวเองว่าตัวเองมีความสามารถด้านไหนหรือเปล่า ถ้าเป็นเรื่องเกมก็พัฒนาตัวเองไปให้สุด แล้วคุยกับพ่อแม่ว่า “เนี่ยหนูเล่นเกมเก่งนะ หนูมีพรสวรรค์ หนูอยากจะไปให้ถึงเป้าหมาย” ถ้าน้อง ๆ รู้แล้วว่าตัวเองมีความสามารถทางด้านการเล่นเกม ก็อยากให้ตั้งเป้าหมายไปเลยว่า ฉันจะต้องเป็นที่ 1 อีกเรื่องเลยก็คือ อยากให้แบ่งเวลา ถ้าตัวเองมีหน้าที่ต้องทำงานหรือว่าเรียนหนังสือ ก็อยากให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาฝึกเล่นเกม
เห็นได้ชัดว่าทิศทางของวงการ E-Sports ในไทยกำลังเติบโตไปในทางที่ดี สำหรับใครที่กำลังมีฝันในเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเกมเมอร์หรือนักธุรกิจ ข้อคิดที่ได้จากบทสัมภาษณ์ทั้งสองท่านในบทความนี้ คงจะเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยให้คุณเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น ขอเพียงแค่ว่า ต้องลงมือทำและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow