ถามมา-ตอบไป “ประกันสังคมช่วง COVID-19” เยียวยาอะไรบ้าง?

ถามมา-ตอบไป “ประกันสังคมช่วง COVID-19” เยียวยาอะไรบ้าง?

By Krungsri Plearn Plearn
ผลกระทบจากโควิด 19 ระลอกใหม่ ทำให้เกิดโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงจะมีหลายคำถามที่คนทำงานอยากรู้ แต่ไม่รู้จะไปถามจากที่ไหน วันนี้เราสรุปคำถามที่พบบ่อยในเรื่องสิทธิประกันสังคม ที่เป็นประโยชน์ของคนทำงาน ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยจะมีคำถามไหนตรงใจเราบ้าง
“ลาออกแล้วจะได้สิทธิเหมือนเดิมไหม?”
Q: ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จะได้รับสิทธิ์ ต้องมีสถานะเป็นลูกจ้าง ณ วันที่เท่าไหร่ และหากปัจจุบันได้ลาออกจากงานแล้วจะยังได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาอยู่หรือไม่?
A: ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสถานะทำงานอยู่ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 และ ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 และ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 จะยังคงได้รับสิทธิ์จากมาตรการเยียวยาอยู่เหมือนเดิม
“จะรับสิทธิประกันสังคม..ต้องทำไง?”
Q: หากได้รับสิทธิ์มาตรการเยียวยา ผู้ประกันตนต้องดำเนินการอย่างไรหรือไม่?
A: ผู้ประกันตนมาตรา 33 ไม่ต้องจัดทำเอกสารใด ๆ แต่ต้องมีบัญชีธนาคาร เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์ (Prompt Pay) กับเลขบัตรประชาชน เท่านั้น รอเงินเข้าบัญชีได้เลย
“นายจ้างเช็กสิทธิ์แล้ว ต้องทำอะไรต่อ?”
Q: นายจ้างตรวจสอบผ่านหน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมพบว่าได้รับสิทธิ์ แล้วต้องดำเนินการอย่างไร?
A: นายจ้างจะได้รับแบบแสดงความจำนงที่สำนักงานประกันสังคมจัดส่งให้ ตรวจสอบข้อมูลพร้อมรับรองความถูกต้อง กรอกเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร แล้วส่งกลับคืนไปยังสำนักงานประกันสังคมจังหวัด เขต สาขา ที่นายจ้างตั้งอยู่
  1. นายจ้างนิติบุคคล ให้แนบสำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน (ชื่อบัญชีในนามนิติบุคคล รับรองสำเนาถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนามหรือรับรองพร้อมประทับตรา แล้วแต่ข้อกำหนดของนิติบุคคล)
  2. นายจ้างบุคคลธรรมดา ไม่ต้องแนบสำเนาบัญชีธนาคาร ให้ดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน สำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Prompt Pay) เท่านั้น
“จะได้รับเงินเยียวยาประกันสังคม เมื่อไหร่?”
Q: หากนายจ้างและผู้ประกันตนได้รับสิทธิ์ จะได้รับเงินเมื่อใด?
A: กรณีนายจ้างที่ส่งแบบแสดงความจำนงให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัด เขต สาขา ที่รับผิดชอบ ทำการบันทึกข้อมูลก่อนวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินเยียวยาในวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2564

กรณีนายจ้างที่ส่งแบบแสดงความจำนงให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัด เขต สาขา หลังวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินเยียวยาทุกวันศุกร์ในสัปดาห์ถัดไป จนถึงวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2564
“ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับสิทธิ์นี้ด้วยไหม?”
Q: หากลูกจ้าง/ผู้ประกันตนมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับสิทธิ์การเยียวยานี้หรือไม่?
A: ได้รับสิทธิ์การเยียวยา หากลูกจ้างนั้นมีสถานะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2654 และ ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 และ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2564
ถามมา-ตอบไป ประกันสังคมช่วง COVID-19 เยียวยาอะไรบ้าง?
“หากมีลูกจ้างต่างชาติ จะได้รับสิทธิประกันสังคมด้วยไหม?”
Q: กรณีนายจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา มีลูกจ้างต่างชาติ/ต่างด้าว ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จะนับรวมใน 200 คนแรก หรือไม่?
A: ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เป็นต่างด้าว/ต่างชาติ นายจ้างจะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาท/คน โดยนำมานับรวมให้ด้วย
“ถ้าบริษัทเช็กสิทธิ์ไม่ผ่าน แต่ลูกจ้างมีสิทธิ จะทำอย่างไรดี?”
Q: นายจ้างที่ได้ตรวจสอบผ่านทางหน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมแล้วไม่มีสิทธิ์ แต่ลูกจ้างในบริษัทฯ เข้าไปตรวจสอบแล้วมีสิทธิ์ ลูกจ้างจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่?
A: ให้นายจ้างยื่นข้อร้องทุกข์เพื่อให้ตรวจสอบสิทธิ์ตามเงื่อนไขต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัด เขต สาขา ที่รับผิดชอบดำเนินการ ส่วนของลูกจ้างไม่ต้องดำเนินการใด ๆ หากผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชนแล้ว ให้รอผลการตรวจสอบสิทธิ์ของนายจ้างก่อน
“อายุเกิน 60 ยังได้รับเงินเยียวยาจากประกันสังคมไหม?”
Q: ลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตอนอายุ 60 ปี จะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่?
A: ลูกจ้างใหม่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ แล้ว ไม่สามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนได้ จึงไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยา ส่วนกรณีลูกจ้างเดิมที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่แล้ว ทุกช่วงอายุ มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา
“ลูกจ้างต่างชาติ ไม่มีบัญชีพร้อมเพย์ จะทำอย่างไร?”
Q: นายจ้างเป็นชาวต่างชาติ ผูกพร้อมเพย์ไม่ได้ จะทำอย่างไร
A: ให้ยื่นเอกสารแสดงความจำนงไปที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด เขต สาขา ก่อน แล้วรอการพิจารณา สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาในส่วนของนายจ้างภายหลัง ผ่านช่องทางอื่นที่กำหนด
“ถ้านายจ้างไม่อยู่ ให้คนอื่นเซ็นต์รับรองเอกสารเยียวยาได้ไหม?”
Q: เอกสารเยียวยาที่นายจ้างต้องกรอกและส่งกลับสำนักงานประกันสังคม ผู้รับมอบอำนาจ ลงนามแทนได้หรือไม่
A: ผู้รับมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถลงนามแทนได้
“รอเอกสารจากประกันสังคมล่าช้า จะทันรับสิทธิ์ไหม?”
Q: นายจ้างตรวจสอบสิทธิ์เยียวยาผ่านหน้าเว็บไซต์แล้วได้รับสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้รับเอกสารจากสำนักงานประกันสังคม สามารถเข้าไปรับเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมได้หรือไม่ หากให้นายจ้างรอจดหมายจะทันเวลารับสิทธิ์หรือไม่
A: สำนักงานประกันสังคมจังหวัด เขต สาขา จะเริ่มส่งเอกสารให้นายจ้างทางไปรษณีย์ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 หากครบกำหนดเวลาแล้วยังไม่ได้รับเอกสาร จึงติดต่อรับที่สำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบ
“เงินเยียวยาจากประสังคม จ่ายแบบไหน?”
Q: เงินเยียวยาในส่วนของนายจ้างและส่วนของผู้ประกันตน จ่ายเป็นงวดหรือจ่ายครั้งเดียว
A: จ่ายให้กับนายจ้างและผู้ประกันตน ครั้งเดียวเต็มจำนวน โดยนายจ้างจะได้รับ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน 1 คน สูงสุดไม่เกิน 200 คน และผู้ประกันตนจะได้รับคนละ 2,500 บาท
“ถ้านายจ้างไม่ยื่นเอกสาร ลูกจ้างจะรับเงินได้ทางไหนบ้าง?”
Q: กรณีนายจ้างและผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา แต่นายจ้างไม่ประสงค์รับเงิน และไม่ยอมลงชื่อในเอกสารแสดงความจำนง แต่ลูกจ้างประสงค์รับเงิน ลูกจ้างต้องทำอย่างไร?
A: สิทธิ์ของนายจ้างและสิทธิ์ของผู้ประกันตนไม่มีความสัมพันธ์กัน กรณีนายจ้างไม่ประสงค์รับเงินเยียวยา สำนักงานประกันสังคมยังคงจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน
ถามมา-ตอบไป ประกันสังคมช่วง COVID-19 เยียวยาอะไรบ้าง?
ทั้งนี้หากนายจ้าง หรือลูกจ้างมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการรับเงินเยียวยาจากประกันสังคมตามมาตรา 33 สามารถเข้าไปได้ที่ sso.go.th สายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงที่ยากลำบากแบบนี้ อย่าพลาดที่จะรับสิทธิที่เป็นของเรากันนะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา