บูทส์ไอเดียสร้างสรรค์ให้ลูกน้องได้อย่างไร (ตอนที่ 2)

บูทส์ไอเดียสร้างสรรค์ให้ลูกน้องได้อย่างไร (ตอนที่ 2)

By Krungsri Guru

จากตอนที่แล้ว ผมได้แนะนำหลักการที่หัวหน้าสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเสริมสร้างให้ลูกน้องมีไอเดียสร้างสรรค์ ได้แก่ การปรับมุมมองของคน การสร้างความรู้สึก และการหาแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการทำงานแบบเต็มความสามารถ ซึ่งในการหาแรงจูงใจนี้ ผมได้แนะนำวิธี D-R-I-V-E ซึ่งผมจะขออธิบายเพิ่มเติม ดังนี้

 

D – Development

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการพัฒนาและฝึกอบรมเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับลูกน้องได้ นอกจากนี้ การเข้าร่วมการฝึกอบรมต่าง ๆ ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งนำมาสู่ความคิดที่สร้างสรรค์ มุมมองที่ได้จากการเข้าร่วมการฝึกอบรมที่แปลกใหม่ย่อมทำให้ลูกน้องมีมุมมองที่แตกต่าง และนำมาใช้พัฒนาความสามารถของตนเองได้อย่างแน่นอน
 

R – Relation

การสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างหัวหน้าและลูกน้องเป็นสิ่งที่หัวหน้างานห้ามวางเฉย เพราะความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและกันจะทำให้ลูกน้องมีความตั้งใจในการทำงานให้กับคุณอย่างจริงใจ มิใช่การทำตามหน้าที่ ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ร่วมงานสามารถทำได้ง่าย ๆ ตั้งแต่การเริ่มต้นทักทายลูกน้องก่อน การพูดคุยถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน การทำกิจกรรมร่วมกันในโอกาสพิเศษ เช่น วันปีใหม่ หรือวันสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้การพาลูกน้องไปเลี้ยงอาหารกลางวันหรืออาหารเย็นเนื่องในวันเกิด หรือเลี้ยงลูกน้องกรณีที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งยังเป็นการสร้างความคุ้นเคย และทำให้สัมพันธภาพระหว่างหัวหน้าและลูกน้องเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงการทำงานของลูกน้องในภาพรวมนั่นเอง (ลองอ่านกันครับว่าสุดยอดนายญี่ปุ่นสอนพนักงานใหม่ว่าอย่างไรบ้าง)
 

I – Individual Motivation

การวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกน้องแต่ละคน เนื่องจากแต่ละบุคคลย่อมมีบุคลิก ลักษณะนิสัย และความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งในการสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้องที่มีบุคลิกที่หลากหลาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิเคราะห์ลักษณะนิสัยเพื่อให้แต่ละบุคคลสามารถนำไอเดียและความคิดของตนเองมาใช้ในการทำงาน และเกิดเป็นแรงจูงใจในการทำงานได้นั่นเอง อย่าใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งกับลูกน้องหลาย ๆ คน เพราะแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน ถ้าพบว่าลูกน้องชอบแสดงความคิดสร้างสรรค์ งานที่มอบหมายควรเป็นงานที่ส่งเสริมให้พวกเค้าได้ใช้ความคิดและนำเสนอแนวคิดต่าง ๆ ได้ หรือหากลูกน้องของคุณเป็นคนเงียบ ๆ ไม่ชอบแสดงความคิดเห็น ในฐานะหัวหน้างานควรหาเวลาพูดคุยอย่างมีเหตุผลเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานของลูกน้องที่มีลักษณะแบบนี้
 

V – Verbal Communication

การสื่อสารระหว่างหัวหน้างานและลูกน้องมีผลต่อการทำงานอย่างมาก เพราะคำพูดที่ออกจากปากไปแล้วไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ ดังนั้นให้ระมัดระวังคำพูดที่เปรียบเสมือนดาบสองคมที่ส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ ควรหลีกเลี่ยงคำพูดในทางลบ เช่น คำพูดประชดประชัน เหน็บแนม คำสั่งที่ไม่มีเหตุผล คำพูดดูถูกความสามารถของคนอื่น ๆ คำพูดที่ปัดความรับผิดชอบ คำพูดนินทาหรือโยนความผิดให้กับลูกน้อง เพราะจะทำให้ลูกน้องขาดความเคารพในตัวหัวหน้า และแรงจูงใจในการทำงานได้ พยายามเลือกใช้คำพูดในทางบวก เพื่อสร้างสรรค์ สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้ลูกน้องอยากทำงานเพิ่มมากขึ้น เช่น คำพูดชมเชยเมื่อทำงานสำเร็จในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นงานใหญ่ หรืองานเล็ก ๆ คำพูดให้กำลังใจเมื่อเผชิญแรงกดดันหรือปัญหาในการทำงาน และการกล่าวคำขอบคุณเมื่อลูกน้องทำงานให้ รวมถึงการพูดถึงความสามารถที่ลูกน้องมีเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานต่อไป
 

E – Environment Arrangement

สภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างแรงจูงใจ ลองนึกดูว่าการต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม ๆ เป็นเวลาหลายปีอาจทำให้เกิดความจำเจ การปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การจัดวางโต๊ะ เก้าอี้ใหม่ หรือการสร้างมุมพักผ่อนเพื่อให้ลูกน้องมานั่งจิบชา กาแฟ พร้อมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระหว่างวันและเวลาทำงาน สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานได้แบบง่าย ๆ หรือการปรับสภาพแวดล้อมแบบใหม่ เช่น การปรับเปลี่ยนรูปโฉมออฟฟิศใหม่ การตกแต่งสภาพแวดล้อมภายในออฟฟิศ การสร้างมุมสีเขียวภายในตึกก็เป็นอีกแนวทางที่สร้างแรงจูงใจในการทำงานได้เช่นกัน
หากองค์กรใดมีการดำเนินการครบทั้ง 5 ตัวอักษร องค์กรนั้นถือเป็นองค์กรที่มีแนวโน้มว่ามีการกระตุ้นไอเดียและความคิดสร้างสรรค์แก่พนักงานในองค์กรในระดับดีเลยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow