แนวโน้มธุรกิจความงามกับตลาด AEC

แนวโน้มธุรกิจความงามกับตลาด AEC

By ดร.พิมพ์ขวัญ บุญจิตต์พิมล

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของความสวยความงามเป็นกิจวัตรที่หลายต่อหลายคนไม่สามารถจะเลี่ยงได้ เชื่อว่าใคร ๆ ก็อยากสวยและดูดีเสมอตลอดเวลา ทำให้ธุรกิจความงามเติบโตรุดหน้าอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงภูมิภาคต่าง ๆ ใน AEC ตลอดจนจีนและตะวันออกกลางด้วย อานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนเข้าสู่ยุค AEC สำหรับไทยนั้น เป็นที่เข้าใจกันดีว่าไทยมุ่งเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์และการขนส่งรวมทั้งพัฒนาความเป็น Medical Hub ตอบรับกระแส Medical Tourism แข่งกับสิงคโปร์อีกด้วย ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้เลยว่าอนาคตของไทยจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักลงทุนมากขึ้นในแง่ของการทำตลาดด้านความสวยความงาม ทางเลือกของธุรกิจในไทยจึงมีไม่มากนักหากไม่เลือกที่จะปรับตัวแล้วล่ะก็ คงต้องเตรียมความพร้อมรับมือในหลายด้าน เพราะเมื่อเปิดตลาดเสรี AEC แล้ว จะพบต่างชาติเข้ามาเปิดคลินิกความงามแข่งขันด้วยทุนที่หนาและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเป็นแน่แท้ ส่วนทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือ การขยายธุรกิจความงามของไทยพุ่งเป้าไปตีตลาดต่างชาติให้มากขึ้น เพราะอาเซียนคือตลาดที่ใหญ่ มีความต้องการสูงและมีกำลังจ่ายที่ดีมากทีเดียว ธุรกิจไทยจึงจำเป็นต้องศึกษาตลาดของแต่ละท้องถิ่นอย่างละเอียด เนื่องจากแต่ละประเทศนั้นมีพื้นฐานด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

 
ธุรกิจความงามแท้จริงแล้วสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ประกอบการไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าเงินหมุนเวียนที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี และคาดกันไว้ว่าในปี 2017 จะมีมูลค่าทั่วโลกราว ๆ 2.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยจะมีมูลค่าของปี 2017 ที่สูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท นั่นคือจะมีความต้องการวัตถุดิบเพื่อความงามจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มสูงขึ้น และมูลค่าค้าปลีกถีบตัวสูงไปถึง 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐได้เลยทีเดียว
สิ่งที่จะตามมาหลังจากการเปิดประชาคมอาเซียนก็คือ การเปิดเสรีด้านการลงทุนซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลเวียนสู่ภูมิภาคมากขึ้น ประโยชน์ที่ธุรกิจความงามจะได้รับสูงสุด คือ เรื่องของเครื่องมือแพทย์และยา รวมถึงเวชสําอางด้วย ทั้งนี้เพราะปัจจุบันธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ยา และเครื่องสําอางของไทย มีข้อเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก ตัวอย่างเช่น เรื่องการควบคุมที่เข้มงวดจากองค์การอาหารและยา (อย.) จนขาดความคล่องตัวในการขอจดทะเบียนและนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย หากกฎระเบียบเหล่านี้ผ่อนคลายลงบ้างก็จะทำให้เกิดความคล่องตัวและดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศมากขึ้นก่อให้เกิดการค้าระหว่างภูมิภาคสูงขึ้นตามไปด้วย
ดร.พิมพ์ขวัญ บุญจิตต์พิมล
ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าธุรกิจความงามในระยะแรกยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนนัก เพราะยังมีความไม่ชัดเจนสำหรับทางออกเรื่องการขอใบอนุญาตของแพทย์ไทยจะไปทํางานต่างประเทศหรือแพทย์ต่างประเทศจะเข้ามาทํางานในเมืองไทย ซึ่งประเด็นนี้ก็เหมือนกับกรณีของเครื่องมือแพทย์และเวชสำอาง หากมีการผ่อนปรนและกำหนดให้ชัดเจนแล้วน่าจะทำให้เห็นภาพของการลงทุนที่ชัดเจนขึ้น
สำหรับการเข้ามาทำตลาดในระดับภูมิภาค ในปัจจุบันจะสังเกตได้ว่ามีคลินิกความงามเปิดให้บริการในประเทศเพื่อนบ้านหลายราย คลินิกความงามส่วนใหญ่เป็นประเภทที่ไม่ได้ทําศัลยกรรม เพราะคลินิกที่ทําศัลยกรรมต้องพึ่งพาแพทย์มากเกินไป จึงขยายการลงทุนได้ยาก เนื่องจากแพทย์ต้องอาศัยทักษะและการฝึกอบรมเพื่อให้ผ่าตัดได้เก่ง เรียนรู้นานหลายปี ซึ่งจะต่างกับคลินิกที่ไม่ได้ผ่าตัดที่จะเน้นแค่การทําทรีตเมนต์และใช้เครื่องมือจําพวกเลเซอร์ไม่ต้องอาศัยฝีมือมาก คลินิกกลุ่มที่ว่านี้จึงสามารถขยายสาขาได้เร็วกว่าเพราะพึ่งพาแพทย์ทักษะสูง ๆ น้อยกว่า
 
อย่างไรเสีย ธุรกิจความงามก็ยังขาดความยั่งยืนในระยะยาว เพราะมีโอกาสที่จะเกิดคู่แข่งทางการค้าได้ง่าย และที่สำคัญเกิดการตัดราคากันเอง เพราะต้นทุนคล้ายกัน ใช้เครื่องมือคล้ายกัน และไม่ต้องอาศัยจุดเด่นอะไรชัดเจน
ดังจะเห็นได้จากการที่ทั้งแพทย์ ดารา เซเลบ นักลงทุน ต่างแข่งกันเปิดคลินิกความงาม โดยไม่รู้ว่าธุรกิจจะให้ผลตอบแทนอย่างไร นอกจากนี้ เนื่องจากการแข่งขันภายในประเทศที่สูงขึ้น ทําให้หลายคลินิกจำต้องขยายสาขาไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรักษายอดขายรวมไว้ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อสาขาเพิ่มขึ้น สัดส่วนการทํากําไรลดลงทุกปี ความเป็นไปได้ก็คือว่า ธุรกิจจะควบรวมกิจการกันมากขึ้น แต่กระนั้นแล้ว ธุรกิจคลินิกความงามก็ยังเป็นที่หมายปองของนักลงทุนหลายกลุ่มอยู่ นับจากนี้ไปจึงเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวสําหรับธุรกิจความงามของไทยเพื่อหาทางอยู่รอดในตลาดที่แข่งขันอย่างรุนแรง รวมถึงการปรับตัวเข้าสู่สนามแข่งขันใน AEC ในช่วง 2-3 ปีถัดไป
สำหรับกลยุทธ์การตลาดต่างประเทศนั้นจะต่างจากการทำตลาดในประเทศไทย เนื่องจากข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมและความพร้อมในแง่ต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่แปรผันตามสภาพภูมิประเทศด้วย จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องพยายามบุกตลาดอาเซียนอย่างจริงจัง รัดกุม และมีประสิทธิภาพ และหมายรวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ ตลอดจนสื่อมวลชนและหน่วยงานภาครัฐด้วย
สำหรับในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มองว่ายังต้องมีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการฝึกอบรมทักษะการใช้งานเพื่อให้บริการลกค้าที่ดีต่อไปด้วยเพราะผลิตภัณฑ์ที่ดีอย่างเดียวไม่สามารถก่อให้เกิดบริการที่ดีได้ ต้องอาศัยบุคลากรที่ทำงานด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง ความพร้อมในเรื่องของบุคลากรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างขาดเสียไม่ได้เลยทีเดียว เพราะการจะก้าวสู่มาตรฐานการบริการระดับนานาชาติได้นั้น จะต้องมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ รวมทั้งเน้นย้ำที่การบริหารจัดการธุรกิจให้ได้มาตรฐานด้วย หากอยากจะเปิดสาขาในต่างประเทศก็ควรจะต้องวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ก่อนเสมอค่ะ หากยังไม่พร้อมด้านเงินทุนก็ยังไม่ควรขยายตลาดสู่อาเซียน ควรเลือกที่จะพัฒนาตัวเองให้รับมือกับลูกค้าต่างชาติในอาเซียนในแต่ละปีให้ดีเสียก่อน เพราะประชากรภูมิภาคอาเซียนนั้นมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจด้านการรักษาและการดูแลสุขภาพจากแพทย์ไทยค่อนข้างสูง จนเกือบจะเทียบเท่าสิงคโปร์ได้เลยทีเดียว และอีกอย่างหนึ่งราคาก็ถูกกว่าสิงคโปร์ด้วย จึงมีผู้ป่วยและผู้ที่สนใจด้านความงามเดินทางมารักษากับโรงพยาบาลในเมืองไทยไม่น้อย และคาดว่าธุรกิจเกี่ยวกับความงามและสุขภาพในอนาคตนั้นจะต้องขยายการให้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน
สุดท้ายนี้อยากฝากถึงการบุกตลาดอาเซียนให้ยั่งยืน นั่นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้ประกอบการ นักการตลาด และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน และเน้นย้ำนโยบายหล่อหลอมบุคลากรในองค์กรเพื่อให้มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพทั้งกายและใจ สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็กจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริการและคุณภาพของการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อความสำเร็จในธุรกิจความงามในตลาด AEC ในระยะยาว
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา