6 ขั้นตอนจัดการหนี้บัตรเครดิตแบบเห็นผล หลังผ่านวิกฤตโควิด
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

6 ขั้นตอนจัดการหนี้บัตรเครดิตแบบเห็นผล หลังผ่านวิกฤตโควิด

icon-access-time Posted On 09 ตุลาคม 2557
By Krungsri Guru
หลังจากที่ได้เจอสถานการณ์วิกฤตโควิดระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง จากที่เคยมีรายได้ ก็กลับไม่มี จากที่เคยค้าขายดี ๆ ยอดขายก็น้อยลง เชื่อว่าหลายคนคงประสบกับปัญหาเหล่านี้อยู่ถึงแม้ว่า เจ้าโควิดจะค่อย ๆ ซาลงไปแล้ว แต่หลายคนก็ยังคงเคร่งเครียด วิตกกังวล และกลุ้มใจกับปัญหาหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น จนรายได้ และเงินเดือนที่ได้ต่อเดือนไม่สามารถผ่อนชำระอะไรได้อีกแล้ว แม้จะจ่ายขั้นต่ำแล้วก็ยังตกอยู่ในภาวะ “หนี้ท่วม”
วันนี้เราจะลองมาค้นหาวิธีการจัดการกับหนี้บัตรเครดิต หากจะเปรียบหนี้สินจากบัตรเครดิตเป็น “บาดแผล” เลือดที่ไหลออกจากแผลก็เหมือนกับ “ดอกเบี้ย” ที่ไหลออกจากชีวิตเรา ดังนั้นเราจะต้องหยุดเลือดที่ไหลออกโดยเร็ว และปิดปากแผลให้สนิท ป้องกันเลือดให้หยุดไหล วันนี้เรารวมวิธีการจัดการกับหนี้บัตรเครดิต แบบเห็นผลมาฝากกัน
ขั้นตอนกำจัดหนี้บัตรเครดิตขั้นแรก “หยุดจ่ายขั้นต่ำ”
เมื่อเราได้เริ่มต้นด้วยการหยุดจ่ายขั้นต่ำแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ เราต้องทยอยชำระหนี้สินคงค้างให้หมดครับ ด้วยการพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และนำเงินที่เราไม่ได้ใช้จ่ายกับสิ่งที่เกินจำเป็นมาชำระหนี้ ทยอยชำระให้หมดโดยเร็ว และต้องอดทนอย่าก่อหนี้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก
ขั้นตอนที่สอง “ทยอยชำระหนี้”
เมื่อเราได้เริ่มต้นด้วยการหยุดจ่ายขั้นต่ำแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ เราต้องทยอยชำระหนี้สินคงค้างให้หมดครับ ด้วยการพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และนำเงินที่เราไม่ได้ใช้จ่ายกับสิ่งที่เกินจำเป็นมาชำระหนี้ ทยอยชำระให้หมดโดยเร็ว และต้องอดทนอย่าก่อหนี้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก
ขั้นตอนที่สาม “ซื้อด้วยเงินสด”
หลายคนอาจจะติดใจการซื้อของ ซื้อสินค้า บริการ จ่ายค่าอาหารตามร้านอาหารด้วยบัตรเครดิต หากเราสามารถบริหารจัดการเงินที่ต้องจ่ายตอนบิลเรียกเก็บเงินมาด้วยเงินสด แบบนี้ก็ไม่มีปัญหาครับ แต่หากเราเริ่มมีปัญหาติดขัด ต้องจ่ายขั้นต่ำแล้ว แบบนี้ครั้งต่อๆ ไปในการซื้อสินค้าบริการควรจ่ายด้วยเงินสดครับ เวลาที่เราจ่ายด้วยเงินสดๆ เงินในกระเป๋าของเราจะลดไปทันที ทำให้เราสะดุดใจ และไม่กล้าจับจ่ายมากเกินจำนวนเงินที่เราหามาได้ เมื่อเราเริ่มซื้อของด้วยเงินสด เราจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง บิลที่ต้องจ่ายปลายเดือนจะน้อยลง วิธีการนี้ถือเป็นยาสมานแผลชั้นดีที่จะไม่ทำให้เราเพลิดเพลินกับการจ่ายด้วยเครดิตมากจนเกินไป
ขั้นตอนที่สี่ “ทำบัญชีจับจ่ายส่วนบุคคล”
การทำบัญชีจับจ่ายบุคคลจะช่วยให้เรา “มองเห็นปัญหา” ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น วิธีการทำบัญชีจับจ่ายส่วนบุคคลแบบง่ายๆ ก็คือการบันทึกรายรับ รายจ่าย แบบง่ายๆ ด้วยการเก็บบิลค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเอาไว้ และมาบันทึกเมื่อสิ้นสุดเดือน หากเรามีรายรับทางเดียวก็คือเงินจากงานประจำเราก็สามารถบันทึกเอาไว้ในส่วนของ “รายรับ” และเราควรแยกส่วนของรายจ่ายหลักๆ จะเป็น ค่ากิน ค่าที่พัก (ค่าบ้าน) ค่าเดินทาง และค่าท่องเที่ยว ทำแบบนี้เราจะมองเห็นชัดเจนว่าเราหมดค่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง และสามารถวางแผนตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้
ขั้นตอนที่ห้า “วางแผนทางการเงินส่วนบุคคล”
หลังจากที่เราเริ่มปิดปากแผลทางการเงิน หยุดจ่ายขั้นต่ำ ทยอยชำระหนี้ หยุดเลือดที่กำลังไหลได้สำเร็จ และเริ่มทำบัญชีส่วนบุคคล การป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลทางการเงินก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามนะครับ การป้องกันไม่ให้เกิดแผลอีกเราต้อง “วางแผนทางการเงินส่วนบุคคล” การวางแผนการเงินส่วนบุคคลนั้นไม่ยากครับ เราควรแบ่งเงินที่เป็นรายได้ของเราออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ เงินใช้จ่าย กับ เงินเก็บออม และแบ่งเงินเก็บออมเป็นเงินสำรองที่ต้องฝากธนาคารเอาไว้ห้ามนำออกมาใช้ กับเงินอีกส่วนที่เก็บออมเพื่อไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงย ทำได้แบบนี้ “หนี้สินกวนใจ” ก็จะหายไปไม่กลับมาหาเราอีกเลย
ขั้นตอนสุดท้าย “รักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด”
เมื่อเราทำทุกขั้นตอนมาจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ชีวิตทางการเงินของเราจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ บาดแผลเริ่มสมานกัน เลือดหยุดไหลแล้ว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาจะหมดความหมายทันทีหากเรากลับไปก่อหนี้สินใหม่ๆ อีก ปากแผลจะถูกเปิดออก เลือดจะกลับมาไหลอีกครั้ง ดังนั้นเราต้องรักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ถือว่า “สำคัญที่สุด” หากเราไม่อยากกลับไปเป็นหนี้อีกอย่าลืม “รักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด”
ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้อาจจะดูยากในตอนแรก แต่หากเราทำสำเร็จ โอกาสที่เราจะเริ่มต้นใหม่กับชีวิตทางการเงินที่ปราศจากหนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยาก การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นกำลังใจให้ทุกท่าน
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา